Ready-to-readWritings

สิ่งที่ “เห็น” ในข่าว อาจไม่ใช่สิ่งที่ “เป็น”

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

เมื่อผู้บริโภคเปิดรับข่าว ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะคาดหวังจะได้รับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างรอบด้าน ชัดเจน และสามารถนำพาสังคมไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าได้ ทว่าในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อาจสังเกตเห็นได้ว่าเรากำลังได้รับข่าวที่เจือปนไปด้วยข้อมูลเท็จ ปราศจากการตรวจสอบ เป็นข้อมูลด้านเดียว เป็นข้อมูลที่มีวาระซ่อนเร้น และอาจมีผลทำให้สังคมไม่สามารถหลุดพ้นไปจากวังวนแห่งสารพัดปัญหาได้

บทความเรื่องนี้ ซึ่งพัฒนามาโครงการวิจัยเรื่อง  “การจัดการของสื่อสถาบันที่นำเสนอเนื้อหาประเภทเรื่องจริงที่ไม่เป็นความจริงแท้” จะพาไปคุยกับนักข่าว 4 คน จากสำนักข่าว 4 แห่ง ที่มีประสบการณ์ในการทำข่าวที่แตกต่างกัน นับจากนักข่าวเบอร์สูงที่มุ่งมั่นฟันฝ่าในการนำเสนอข้อเท็จจริงจนสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนลงโทษได้ จนกระทั่งไปถึงนักข่าวที่ต้องเลือกนำเสนอข่าวด้านเดียว หรือนักข่าวที่ (ต้อง) ยอมปล่อยให้แหล่งข่าวพูดเท็จกับประชาชน โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทั้งนี้เพื่อที่พวกเราผู้บริโภคจะได้เข้าใจว่า นักข่าวและกองบรรณาธิการเหล่านั้นมีแนวทางในการจัดการข้อเท็จจริงในข่าวอย่างไร พวกเขามีเหตุผลอะไรในการกัดไม่ปล่อย หรือเหตุใดต้องยอมปล่อยให้ความเท็จลอยนวลสู่สาธารณะ และพวกเขามีข้อแนะนำอย่างไรเพื่อให้ข่าวมีสัดส่วนของข้อเท็จจริงให้มากขึ้น

 

ดา; แม้จะถูกขัดขวางข่มขู่ แต่ก็นำเสนอข่าวจนนำผู้ทุจริตเข้าสู่กระบวนการลงโทษได้

ดา (นามสมมติ) เป็นนักข่าวภูมิภาคของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ขณะเกิดเหตุการณ์ตามบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ เธอทำงานสื่อมาแล้ว 18 ปี เหตุการณ์ทุจริตที่เธอเปิดโปงคือว่า ปี 2561 ดาพบว่าหน่วยงานของรัฐสร้างฝายทดน้ำราคา 500 ล้านบาทแต่กลับชำรุดภายใน 1 ปีแรก และไปสร้างในจุดที่ไม่ก่อประโยชน์ ดาจึงเริ่มทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน และเผยแพร่รายงานข่าวอย่างต่อเนื่องในสถานีโทรทัศน์ที่ดาทำงานอยู่ ซึ่งดาก็พบว่าโครงการฝายนี้น่าจะมีการทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการกับผู้รับเหมามีความสนิทสนมกัน เข้าข่าย “ชงเอง กินเอง”

ระหว่างการทำงานข่าวเรื่องนี้ เธอต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย เช่น การถูกกดดันหว่านล้อมจากเพื่อนนักข่าวในจังหวัด บรรณาธิการในกรุงเทพฯ ซึ่งถูกวานจากผู้บริหารหน่วยงานที่กระทำทุจริตให้ไปบอกดาให้หยุดการทำข่าว รวมทั้งมีคนในเครื่องแบบนัด “ขอเคลียร์” เรื่องนี้กับดา ฯลฯ ขณะที่เพื่อนนักข่าวคนอื่นก็ถูกจ้าง และถูกขู่เอาชีวิต ฯลฯ จนกระทั่งเหลือดาเดินหน้าทำข่าวนี้กับเพื่อนอีกคนในสำนักข่าวอีกแห่ง

ดาบอกกับเพื่อนที่มา “ขอข่าว” ว่า “เอาตรงๆ นะมึง กูเล่นข่าวไปแล้ว ถ้ากูไม่ทำต่อ กูถูกตั้งข้อหาแน่ๆ ว่ากูรับเงินเขามา คือรับหรือไม่รับไม่รู้ แต่ทุกคนต้องคิดว่ากูรับมาแล้วแน่ๆ เอาเป็นว่ากูจะเล่นให้สุดก่อนก็แล้วกัน เค้า (ผู้ถูกพาดพิงในข่าว) จะชี้แจงอย่างไรก็ชี้แจงมา”

อุปสรรคอีกเรื่องหนึ่งที่ดาเจอคือ แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ตลอดๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้เรื่องซาลงไปได้ แต่จากการที่ดานำเสนอข่าวไม่ยอมหยุด ในที่สุดผู้บริหารของหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ออกมาอธิบายว่า ฝายเสื่อมโทรมไปตามธรรมชาติเพราะเจอแดดเจอฝน

จากบทสัมภาษณ์ที่ไม่เป็นจริงดังกล่าว ดาได้นำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งด้วยการแสดงข้อมูลและภาพข่าวให้เห็นว่า ฝายในโครงการหลายตัวเสียหายอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการก่อสร้างผิดสเป็ก เช่น แทนที่จะใช้หินแกรนิต กลับเป็นหินที่ขุดจากไซต์งานแถวๆ นั้น ฯลฯ ฝายจึงไม่ได้ชำรุดเพราะฝนฟ้าแต่อย่างใด

จากการนำเสนอข่าวของดา ที่ทำงานคู่ขนานไปกับการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในที่สุดเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตก็ให้การกับปปท.ว่า ไม่ได้ตรวจรับมอบงานให้ดีพอ ส่วนผู้รับเหมาก็ยอมรับว่าไม่ได้สร้างตามแบบจริง

ขณะนี้ทางราชการได้ดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว

ดามีข้อเสนอแนะว่า สภาวิชาชีพสื่อควรรณรงค์เรื่องการให้สื่อเข้าถึงข้อมูลของทางราชการโดยสะดวก เพื่อให้นักข่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและนำไปตรวจสอบกับข้อเท็จจริงได้ และเสนอให้ผู้รับสื่อเปิดรับสื่อให้หลากหลายเพื่อตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน รวมทั้งให้โรงเรียนนิเทศศาสตร์ควรเตรียมผู้เรียนให้เข้าใจว่าความสัมพันธ์ของคนในรูปแบบต่างๆ จะส่งผลให้นักข่าวเกรงใจ จนไม่กล้านำเสนอข่าวเชิงลบได้อย่างไรบ้าง

 

ปีโป้; เมื่อสื่อยอมให้ดาราใช้พื้นที่เพื่อแอบโปรโมตผลงาน

ปีโป้ (นามสมมติ) เป็น Content Creator โต๊ะข่าวบันเทิงให้เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง ขณะเกิดเหตุการณ์เธอทำงานสื่อมาแล้ว 10 ปี ท้องเรื่องคือว่า กลางปี 2563 “เอ” นักร้องสาว โพสต์เนื้อหาลงอินสตราแกรมดูเหมือนมีปัญหากับ “ซี” ดาราหนุ่มที่เป็นคนรัก สื่อหลายสำนักพากันนำเสนอข่าวนี้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตามการโพสต์ไอลงจีเป็นระยะๆ ของเอ กระทั่งในช่วงท้าย เอชี้แจงว่า กำลังโปรโมทเพลงใหม่ที่มีเนื้อหาเศร้าๆ การโพสต์ก่อนหน้าไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของเธอกับซี

และขออภัยที่อาจทำให้เข้าใจผิด

สำหรับการนำเสนอข่าวของปีโป้ เธอได้นำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวนี้จำนวน 4 ข่าวในหนึ่งสัปดาห์ วิธีทำข่าวของเธอคือนำเสนอเนื้อหาจากไอจีของเอ และความเห็นของชาวเน็ตต่อเรื่องนี้มาพัฒนาเป็นข่าว โดยข่าวของเธอจะมีการห้อยท้ายเตือนคนอ่านว่า น่าสงสัยว่าเป็นการเลิกกับแฟนจริงๆ หรือแผนโปรโมตเพลงใหม่กันแน่

“หากถามว่าเอประสบความสำเร็จไหมจากการโพสต์ไอจี อย่างน้อยคนที่ติดตามข่าวในช่วงนั้นก็จะรับรู้นะว่ามีเพลงใหม่ของเอออกมาก ซึ่งสำหรับเรา แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว”

แม้ว่าปีโป้พอจะรู้ทันการสร้างกระแสรักร้าวของเอ แต่ปีโป้ก็ไม่สามารถรอตรวจสอบจนให้ได้ข้อเท็จจริงก่อนว่าเอเลิกกับซีจริงหรือไม่ ก่อนที่จะนำเสนอข่าวออกไป ปีโป้อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้เธอรอไม่ได้ และต้องรายงานความเคลื่อนไหวทุกอย่างเป็นข่าวออกไปทันที มาจากปัจจัยต่อไปนี้

ประการแรก นโยบายการทำงานของเว็บไซต์ของเธอที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ไม่สามารถมอบหมายให้นักข่าวออกสนามไปค้นหาความจริงได้มากนัก จึงต้องใช้การเกาะกระแสจากสื่อสังคมออนไลน์ของดารามาเขียนเป็นข่าวเท่านั้น “นักข่าวออกสนามหนึ่งวัน อาจจะได้ 1-2 ข่าว ขณะที่ Content Creator ซึ่งคอยเช็คกระแสข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ อาจผลิตข่าวได้ 1-3 ข่าวภายในครึ่งวัน”

ประการที่สอง ปีโป้อธิบายว่า งานข่าวบันเทิงตัดสินกันที่ความเร็วในการนำเสนอ “เว็บไซต์มันแข่งกันหลักนาที คือถ้าเกิดกระแสข่าวนี้ขึ้นแล้วเราไม่รีบรายงาน คนก็จะไปอ่านข่าวของเว็บไซต์อื่น แล้วมันจะทำให้คนเข้ามาอ่านข่าวของเราน้อยลง ดังนั้นเราจะรอให้ข่าวมันเฉลยก่อนแล้วค่อยรายงานไม่ได้”

ประการที่สาม การเสนอข่าวดาราปั่นกระแสแอบโปรโมตแบบนี้ ปีโป้เห็นว่าหลายหนที่สื่อก็รู้ว่าเป็นการสร้างกระแส แต่สื่อก็ยังนำเสนอเพราะว่าเป็นข่าวที่วินวินทุกฝ่าย “สื่อก็ได้ข่าว ได้ยอดผู้เข้าชม ดาราได้กระแส ได้พื้นที่ข่าวตามที่ดาราต้องการ ผู้ชมก็ได้ชมข่าวที่ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของตัวเอง”

ปีโป้แสดงความเห็นว่า ดารามีวิธีสร้างกระแสหลายอย่าง เช่น ถ่ายรูปวาบหวิว การแกล้งปฏิเสธว่าไปทำหน้ามา การลงรูปคู่ให้เข้าใจว่าจิ้นกัน และข่าวรักๆ ใคร่ๆ “ดารามีอยู่กี่ร้อยกี่พันคน ถ้าไม่มีกระแสข่าว ก็ไม่มีทางได้พื้นที่ข่าว ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณเล่นละครดี แต่ไม่มีกระแสข่าวช่วย มันก็ไม่ใช่ว่าคุณจะดัง ไม่ใช่ว่าใครจะเชิญไปออกงานอีเว้นท์ ซึ่งได้ค่าตอบแทนมากกว่าผลงานละครด้วยซ้ำ

“มันเหมือนเป็นวัฏจักรของวงการบันเทิงที่ยิ่งฉาว ยิ่งดี ยิ่งมีงาน”

ปีโป้เห็นว่า การทำข่าวฉาวๆ แบบนี้ในระยะยาวอาจจะมีผลทำให้ข่าวบันเทิงพัฒนาไปสู่การนำเสนอข่าวในลักษณะอื่นได้ยาก ข้อเสนอแนะคือ ผู้ชมควรเท่าทันว่าข่าวดาราอาจจะเป็นข่าวปั่นกระแสที่สร้างรายได้มหาศาลให้แก่ดารา ส่วนกองบก.และสภาวิชาชีพน่าจะหาทางพัฒนาการนำเสนอข่าวบันเทิงในแบบอื่นๆ ด้วย

 

มูน; ไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาของกลุ่มเยาวชนในการขอให้ปฏิรูปสถาบันฯ ได้ครบถ้วน

มูน (นามสมมติ) เป็นนักข่าวสายการเมืองและสังคมให้กับสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ขณะเกิดเหตุในบทสัมภาษณ์นี้ มูนมีอายุการทำงานสื่อ 8 ปี ท้องเรื่องคือว่า เดือนสิงหาคม 2563 มีการชุมนุมประท้วงและตัวแทนผู้ชุมนุมอ่านข้อเสนอ 10 ประการในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ กระบวนการนำเสนข่าวนี้คือแทนที่จะใช้การรายงานสดตลอดเวลา กองบก.ใช้การรายงานสดการชุมนุมเป็นระยะๆ เพื่อลดโอกาสการนำเสนอภาพ ป้ายข้อความ และเสียงจากที่ชุมนุมที่ “คาดเดาไม่ได้” และอาจละเมิดกฎหมาย ผสมกับการนำเสนอเนื้อหาคำปราศัยของผู้ชุมนุมที่ผ่านการกลั่นกรองโดยตัวมูน และกองบก. โดยหลีกเลี่ยงการนำเสนอเนื้อหาที่พาดพิงสถาบันฯ เนื่องจากไม่ต้องการให้ขัดต่อ ม.112

ส่วนเนื้อหาการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ 10 ประการ มูนใช้การรายงานสรุปแบบภาพรวม พร้อมทั้งแนบลิงก์ที่เป็นทางการของผู้จัดการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้อง 10 ประการ ให้ผู้รับสารเปิดอ่านเอง

“นักข่าวที่อยู่ในภาคสนามตอนนั้น ทุกคนก็ช็อค ช็อคว่าจะนำเสนออย่างไร… คืนนั้นสื่อต่างๆ ก็วุ่นวายกันพอสมควร… ก็ต้องหาเพดานที่คิดว่ามันเป็นเซฟโซนที่สุด ก็เลยรายงานสรุปออกมาว่ามีการเรียกร้องข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันฯ และแนบลิ้งก์ที่ระบุคำปราศรัยของกลุ่มผู้ชุมนุม 10 ข้อ ซึ่งเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเผยแพร่หลังจบการปราศรัย เผื่อไว้สำหรับผู้อ่านที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดต่อ”

มูนบอกว่า เขาเห็นในคุณค่าของเสรีภาพการสื่อสาร และสังเกตเห็นว่า สังคมเริ่มกดดันสื่อให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ขณะเดียวกันมีปัจจัยเชิงลบคือ สังคมยังมีความหวาดกลัวต่อ ม.112 และสื่อขาดแนวทางที่ชัดเจนในการนำเสนอที่ไม่ละเมิดกฎหมาย สื่อจึงเกิดการเซนเซอร์ตัวเองในระดับหนึ่ง

มูนมีข้อเสนอแนะคือ ผู้รับสารต้องเข้าใจว่าสื่อทำงานภายใต้ ม.112 และขอให้ฝ่ายอนุรักษนิยมเปิดใจกว้างขึ้นต่อความเห็นที่แตกต่าง ส่วนกองบก.สภาวิชาชีพสื่อ และโรงเรียนนิเทศศาสตร์ควรศึกษาแนวทางการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ละเมิดกฎหมาย 112 และไม่กระทบเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อ

 

แตงโม; นำเสนอข่าวคนจูบกันปิดท้ายงานแถลงข่าวที่รัฐสภา แต่ ส.ส.บอกว่าไม่ได้จัดฉาก

แตงโม (นามสมมติ)  เป็นนักข่าวสายการเมืองที่สถานีโทรทัศน์ดิจิทัลแห่งหนึ่ง ขณะเกิดเหตุในงานการสัมภาษณ์ครั้งนี้ แตงโมทำสื่อมาได้ 5 ปี ท้องเรื่องคือว่า ปลายปี 2562 เครือข่ายความหลากหลายทางเพศไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อคุ้มครองการสมรสในครอบครัวเพศหลากหลาย

หลังการแถลงข่าว มีผู้มีความหลากหลายทางเพศ 2 คนจูบกันต่อหน้านักข่าว ซึ่งได้เผยแพร่ข่าวการจูบกันออกไปสู่สาธารณะในทำนองที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ จนกลบสาระของหลักที่ขอให้มีการแก้ไขกฎหมายการสมรสเท่าเทียม

เย็นวันเดียวกัน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (ในขณะนั้น) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการเด็กฯ แถลงขอโทษภายหลังจากปรากฏภาพดังกล่าว ธัญวัจน์ บอกว่ากมธ. ไม่ได้ตระเตรียมการและไม่มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

แต่เมื่อผู้สื่อข่าวไปดูเทปบันทึกเหตุการณ์ พบว่า การจูบกันนี้น่าจะมีการเตรียมการล่วงหน้า

“หลัง ส.ส.ธัญ (วัจน์) ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในวงแถลงก็คุยกันว่า จะไม่ใช่การเตี๊ยมกันได้อย่างไรในเมื่อ ส.ส.ธัญ (วัจน์) เองนั่นแหละที่เป็นคนนับให้สัญญาณ 5-4-3-2-1 เพื่อให้เด็กทั้งสองคนจูบกัน แถมยังปรบมือหลังให้สัญญาณ”

จากเหตุการณ์ดังกล่าว สื่อพากันนำเสนอว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการเตรียมการหรือไม่ ทว่าแตงโมไม่ได้นำเสนอข่าวนั้นเพราะเป็นนโยบายของสถานีที่จะไม่นำเสนอเนื้อหาใดๆ ของพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากสถานีเห็นว่าพรรคนี้เคยนำเสนอข้อถกเถียงที่ล่อแหลม

ต่อมาอีก 2 วัน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ติติงเหตุการณ์จูบกันดังกล่าวว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และอาจมีบางคนใน กมธ. และผู้แถลงข่าวเตรียมการกันมาล่วงหน้า

แตงโม ซึ่งได้รับอนุญาตจาก บก. จึงนำเสนอบทสัมภาษณ์ดังกล่าวของชวน โดยมีภาพการแถลงข่าวที่มีธัญวัจน์ยืนประกอบอยู่ โดยไม่ได้ระบุชื่อธัญวัจน์ และชื่อพรรคอนาคตใหม่ในข่าวตามนโยบายของช่อง

แตงโมบอกว่า เนื้อหาของข่าวไม่ได้มีเป้าหมายที่จะจับผิดการกระทำของธัญวัจน์ ไม่ได้ต้องการเจาะข่าวเพิ่มเติม เป็นเพียงรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของรัฐสภา เพราะแตงโมเห็นว่าเป็นข่าวฉาบฉวย ข่าวสีสัน ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย และแตงโมเองก็รู้สึกชินชากับการโกหกของนักการเมือง

“เรามองว่าในหลายๆ เรื่อง นักการเมืองก็โกหกจนเป็นนิสัย บางทีเราก็เหนื่อยที่ต้องไฟท์ (fight) ประเด็นไร้สาระกับ บ.ก. เพราะตัวเราเองอยากได้ประเด็นอะไรใหญ่ๆ มากกว่า หรือบางทีได้ประเด็นใหญ่ๆ มา นักการเมืองก็ยังโกหกเราเลย เช่น ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ปี 2560) ที่บอกว่าจะตั้ง ส.ส.ร.  (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) สุดท้ายก็ล้ม เราก็เลยชินชากับการโกหกของนักการเมือง”

แตงโมเสนอว่า การกำกับดูแลสื่อที่มีประสิทธิภาพคือ กลไกการตรวจสอบภายในองค์กรสื่อ และพลังของผู้บริโภคที่ต้องกดดันให้สื่อทำหน้าที่ให้มากขึ้น แต่หากยังดูแลไม่ได้ ก็อาจจจำเป็นต้องใช้อำนาจทางกฎหมายเพื่อควบคุมสื่อ

 

เมื่อข่าวที่ “เห็น” ไม่ใช่สิ่ง “เป็น” — ใครทำอะไรได้บ้างไหม

จากการให้สัมภาษณ์ของดา ปีโป้ มูน และแตงโม สะท้อนให้เห็นว่า ข่าวที่เราเห็นมี “ดีกรีของข้อเท็จจริง” ในระดับที่ต่างกันไป กรณีของดา ที่เปิดเผยการทุจริตการสร้างฝาย ผู้สื่อข่าวต้องยอมเสี่ยงชีวิต เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงมานำเสนอแก่ประชาชน กรณีปีโป้ ที่เตือนคนอ่านว่าดารากำลังปั่นกระแสเพื่อโปรโมทเพลง กรณีมูน ที่ผู้สื่อข่าวต้องเซนเซอร์ตัวเองเพราะติดขัดด้านกฎหมาย และกรณีแตงโมที่ผู้สื่อข่าวไม่เจาะข่าวต่อเพราะนโยบายของสถานีที่ปิดกั้นการนำเสนอเนื้อหาบางอย่าง ฯลฯ สถานการณ์แบบนี้ ใครทำอะไรได้บ้างไหม?

ประการแรก งานทำข่าวสืบสวนสอบสวนหรือข่าวเจาะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะผู้มีอำนาจรัฐบางส่วนก็มีแนวโน้มปกปิดข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเมื่อมีการทุจริตเกิดขึ้น

การทำงานข่าวเจาะอาจจะมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามด้าน ด้านแรกคือ ทัศนคติที่มุ่งมั่นของนักข่าว เช่น กรณีของดาที่ต้องการตีแผ่การกระทำอันทุจริตสู่สาธารณะ ทัศนคติแบบนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำข่าวเจาะที่ดี

ด้านที่สองคือ นโยบายของกองบก.ต่อการทำข่าวเจาะ การทำข่าวเจาะเป็นกิจกรรมที่มีต้นทุนสูงกว่าการทำข่าวทั่วไป ดังนั้นการส่งเสียงเรียกร้องของประชาชนจะทำให้สื่อมั่นใจว่า ประชาชนต้องการข่าวเจาะที่มีคุณภาพ สื่อจึงพร้อมที่จะลงทุนในด้านนี้ ในทางตรงข้าม ข่าวเบา ข่าวซุบซิบ ที่ต้นทุนต่ำ แต่ประชาชนบางส่วนชอบติดตาม จะเป็นการส่งสัญญาณให้สื่อไม่ยอมลงทุนกับข่าวหนัก เพราะพบว่าข่าวซุบซิบ ข่าวเบา ยังขายได้ง่ายกว่า

ด้านที่สาม การทำข่าวเจาะของสื่อ ควบคู่ไปกับการทำงานของหน่วยงานตรวจสอบทุจริต จะทำให้งานข่าวและตัวคดีมีความคืบหน้า

ประการที่สอง ประชาชนผู้รับสื่อควรรับสื่อให้หลากหลาย แต่ก็ต้องอดทนต่อความจุดยืนที่แตกต่างหลากหลายให้มากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันก็ควรกำกับดูแลสื่อ โดยร้องเรียนต่อองค์กรสื่อ และสภาวิชาชีพสื่อ หากพบเห็นสื่อที่ฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อ รวมทั้งงดการเสพสื่อที่เอาเปรียบผู้บริโภค สื่อที่นำเสนอเนื้อหาไม่รอบด้าน หรือใช้ช่องทางกฎหมายเท่าที่จำเป็นในการควบคุมสื่อ ฯลฯ

ประการที่สาม หน่วยงานรัฐ ควรเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด และมีการเสริมสร้างบรรยายกาศแบบเปิดที่เป็นประชาธิไตย เพื่อให้สื่อและสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น

ประการสุดท้าย โรงเรียนนิเทศศาสตร์ควรเตรียมผู้เรียนให้เข้าใจว่าความเกรงใจจะตามมาหลังจากสื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กับแหล่งข่าว ขณะเดียวกันโรงเรียนฯ ก็ควรพัฒนาแนวทางการนำเสนอข่าวในมิติต่างๆ เช่น การนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ละเมิดกฎหมาย

แต่ก็ไม่ลดทอนสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อด้วย

*หมายเหตุ บทความนี้ปรับปรุงมาจากโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดการของสื่อสถาบันที่นำเสนอเนื้อหาประเภทเรื่องจริงที่ไม่เป็นความจริงแท้” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัย (คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2564

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Ready-to-read

ศาสนา ป้ายหาเสียง การเลือกตั้ง

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี ภาพโดย จิรัชญา นุชมี ใกล้เข้ามามากแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟ กำแพง ตามท้องถนน โดยแต่ละพรรคการเมืองก็เลือกใช้สีที่โดดเด่นและเขียนชูนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน ...

Writings

มนต์รักทรานซิสเตอร์: การเกณฑ์ทหารที่ทำให้ชีวิตต้อง “ผิดแผน”

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์คือเครื่องบันทึกร่องรอยของสภาพสังคมที่เรื่องราวนั้นถูกสร้างขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงทำให้คนหวนคิดถึงวันวาน หลายเรื่องสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายเรื่องก็ชวนฝันถึงอนาคต แต่จะมีภาพยนตร์สักกี่มากน้อยที่สามารถตีแผ่สังคมได้ตั้งแต่วันที่เข้าฉาย แล้วยังลอยละล่องเหนือกาลเวลา ทำหน้าที่สะท้อนสังคมซึ่งให้หลังไปอีกกว่า 20 ปี ...

Writings

วันสงกรานต์ที่ไม่ได้กลับบ้าน

เรื่อง ปาณัสม์ จันทร์กลาง ภาพ เก็จมณี ทุมมา ในคืนของวันที่ 10 เมษายน ผมกลับห้องมาด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ตลอดทั้ง 3 วันที่ต้องเป็นสตาฟฟ์จัดงานกีฬาของมหาวิทยาลัย แม้งานจะจบไปได้ด้วยดีทำเอาชื่นใจ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความอยากนอนของผมได้ ...

Writings

‘เวลา’ เรื่องราวของความรัก ใต้เวรกรรมทางการเมือง

เรื่อง สมิตา พงษ์ไพบูลย์ ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์เป็นสื่อที่บันดาลใจใครหลายคน หากเปรียบสื่อนี้เป็นอาหาร การได้เดินผ่านโรงภาพยนตร์ ก็นับเป็นหนึ่งรสชาติที่ทำให้ก้อนเนื้อในอกเริ่มเคลื่อนไหวด้วยจังหวะที่รวดเร็วขึ้น แต่ความรู้สึกสงบหลังภาพสีฉูดฉาดของหนังจบลง แล้วทาบทับด้วยผืนภาพสีดำเข้มใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชื่อของผู้มีส่วนร่วมในการสร้าง นี่สิที่ยิ่งกว่า…นี่เป็นช่วงเวลาได้ตกผลึก และไตร่ตรองถึงเนื้อเรื่องที่ถูกขมวดเล่าผ่านกรรมวิธีที่งดงาม ได้นั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ...

Writings

สังคมที่บีบให้ดอกหญ้าต้องโตในป่าปูน

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา เพลงคือผลผลิตจากคนที่เติบโตขึ้นในสังคม เพลงจึงถ่ายทอดความสุข ความทุกข์ และชีวิตของคน กระทั่งสะท้อนถึงสภาพสังคมที่คนต้องเจอ โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความโดดเด่นในการเล่าถึงชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” เพลงดอกหญ้าในป่าปูนเป็นเรื่องราวของผู้หญิงต่างจังหวัดที่ต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ ...

Writings

สิ่งที่ นักเรียนสื่อ – คนสอนสื่อ – คนทำสื่อ ควรหาทำ

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ก่อนจะเปิดเทอมใหม่ ก็มีวาระที่ผมและเพื่อนๆ ที่ทำงานสอนในโรงเรียนสอนคนทำสื่อจะมานั่งสุมหัวกันเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และหาแนวทางปรับปรุงการทำงานของพวกเราให้ดีขึ้น รัดกุมขึ้น มีทิศทางที่แม่นยำขึ้น เช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save