SocialWritings

2 ทางเลือกของผู้ท้องไม่พร้อม

เรื่อง: วิวิศนา อับดุลราฮิม

ภาพ: Kat Smith from Pexels

ในเมื่อตอนนี้กฎหมายรับรองการทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว ส่วนผู้ที่ท้องไม่พร้อมแล้วเลือกคลอดลูก ทางรัฐก็จัดสรรสวัสดิการให้ แล้วทำไมถึงยังคงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อมอยู่? 

ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีสองทางเลือกที่ถูกกฎหมายให้กับผู้ที่ท้องไม่พร้อม ทางแรกคือทำแท้ง และทางที่สองคือท้องต่อแล้วคลอดเด็กออกมา ทว่า ทางเลือกทั้งสองทางนี้ยังคงมีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย สวัสดิการที่พึงได้รับ รวมทั้งขั้นตอนต่าง ๆ ที่เป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ซึ่งยังคงไม่สามารถแก้ไขได้

ทางเลือกที่ 1. ทำแท้งถูกกฎหมาย

กว่ากฎหมายจะยอมให้การทำแท้งถูกกฎหมาย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้ก้าวสู่หนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายรองรับการทำแท้งถูกกฎหมาย โดยกำหนดให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ด้วยตัวเอง ส่วนผู้ที่ตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ กฎหมายระบุว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ต้องได้รับคำปรึกษาจากบุคลากรตามที่กฎหมายกำหนด 

ในประเทศไทยมีการผลักดันการทำแท้งถูกกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ซึ่งเข้าใกล้ความจริงที่สุดในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ พ.ศ. 2524 ทว่า พล.ต. จำลอง ศรีเมือง สมาชิกวุฒิสภาและเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกลับโน้มน้าวให้ประชาชนคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ โดยให้เหตุผลว่าคนไทยกำลังจะตกนรกทั้งประเทศ กฎหมายฉบับนี้กำลังสนับสนุนให้ชายหญิงขาดความรับผิดชอบ เมื่อเปิดโอกาสให้ทำแท้งง่ายขึ้น คนก็จะทำแท้งมากขึ้น 

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่าคนในยุค 2500 มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม กฎหมายห้ามทำแท้งก็เริ่มมาจากการมองว่าการทำแท้งเป็นบาปและผิดศีลธรรม โดยยกเว้นไว้เพียง 2 กรณีคือเหตุจำเป็นด้านสุขภาพของฝ่ายหญิงหรือถูกข่มขืน เมื่อถึงพ.ศ. 2548  มีการขยายกรอบออกไป โดยทางแพทยสภาออกข้อกำหนดว่าให้รวมเอาความจำเป็นด้านสุขภาพจิตด้วย แต่ต้องผ่านกฎเกณฑ์ของแพทยสภา ทำให้เห็นว่ากฎหมายเปิดช่องไว้น้อยมากและไม่เคยให้สิทธิแก่ผู้หญิงในการตัดสินใจ

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเสนอว่าควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

จากนั้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา 2 มาตรา คือมาตรา 301 ที่วางหลักไว้ว่าหากหญิงใดทำแท้ง จะมีความผิด และมาตรา 305 ที่วางหลักไว้ว่าหญิงสามารถทำแท้งได้หากมีปัญหาเรื่องสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการถูกข่มขืน โดยจะต้องได้รับการรับรองจากแพทย์และต้องทำโดยแพทย์ 

ปัญหาของมาตรา 301 และ 305

แม้ว่ากฎหมายจะเปิดกว้างเรื่องการทำแท้งมากขึ้น แต่ประมวลกฎหมายอาญาที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ ดูเหมือนว่ายังคงมีปัญหาเรื่องสิทธิการยุติการตั้งครรภ์ของผู้ที่ท้องไม่พร้อมอยู่ โดยคุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา รักษาการผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม1663 ให้สัมภาษณ์ว่าการท้องไม่พร้อมสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เพิ่งรู้ว่าท้อง หรือจากพร้อมก็กลายเป็นไม่พร้อม ดังนั้นการที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาเพียงแค่ 12 สัปดาห์ที่ให้สามารถยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายได้ จึงเป็นปัญหา ดังเช่นตามมาตรา 301 ที่ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในมาตรา 305 ที่วางหลักไว้ว่าหากผู้ที่กระทำความผิดตาม มาตรา 301 (ทำแท้ง) หรือมาตรา 302 (ผู้อื่นทำให้แท้ง) เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้กระทำไม่มีความผิด โดย (5) ระบุว่า หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

คุณสมวงศ์ให้ความเห็นต่อกฎหมายมาตรา 305 นี้ว่า ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้ต้องการคำปรึกษา พวกเธอต้องการยุติการตั้งครรภ์ แต่เมื่ออายุครรภ์เกิน สิทธิของพวกเธอก็จะตกไปอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ แต่ในบางครั้งการตรวจเจอความผิดปกติของตัวอ่อนก็ต้องใช้เวลา 20 สัปดาห์ขึ้นไป นอกจากนี้ แม้รัฐบาลจะกำหนดว่าถ้าแพทย์คนใดที่ไม่ทำแท้งให้ต้องส่งต่อให้สถานพยาบาลอื่น ซึ่งช่วงที่ส่งต่อก็จะมีปัญหาเรื่องของระยะเวลาว่าจะเกินที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แพทย์บางคนที่มีทัศนคติคัดค้านเรื่องการทำแท้งก็อาจจะประวิงเวลา เกลี้ยกล่อมไม่ให้ผู้หญิงคนนั้นได้รับบริการตามสิทธิที่พึงได้ “ถ้าตัดสินใจว่าอันนี้คือสิทธิอันชอบธรรมของผู้หญิง ก็กำหนดให้เป็นสิทธิของผู้หญิงไปเลย ไม่จำเป็นต้องมาจำกัดว่ากี่สัปดาห์” 

แพทย์กับกฎหมายทำแท้ง

การทำแท้งคือการรักษาผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อให้เขามีสุขภาพที่ดี แต่ตราบใดที่การทำแท้งยังไม่ถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา มันย่อมไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ของแพทยสภา และไม่มีการบังคับให้แพทย์ต้องทำแท้งให้

คุณสมวงศ์กล่าวว่า กฎหมายแค่รับรองว่าถ้าแพทย์ที่ทำแท้งให้จะไม่มีความผิด แต่กฎหมายไม่ได้บังคับว่าแพทย์ต้องยุติการตั้งครรภ์ให้ หลายหน่วยงานที่เปิดให้บริการจึงไม่ได้ประกาศให้เป็นที่รับรู้ทั่วไป เพราะเป็นเรื่องความไม่สบายใจของหน่วยบริการ แพทยสภาก็ไม่บังคับว่าต้องทำ การทำแท้งให้จึงกลายเป็นความสมัครใจรายบุคคล ซึ่งมันไม่ใช่ระบบปกติของการให้บริการทางการแพทย์

คุณสมวงศ์มองว่า หากต้องการแก้ปัญหาให้ผู้ที่ท้องทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ได้ อย่างแรกคือต้องออกมาประกาศให้รู้โดยทั่วกันว่าการทำแท้งไม่ผิดกฎหมาย สอง โรงพยาบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าเป็นระบบปกติ มีการสนับสนุนแพทย์และพยาบาลที่ให้บริการการรักษา สาม ยายุติการตั้งครรภ์ (Medabon) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงควรจะมีการจำหน่าย และพยายามให้ข้อมูลเรื่องยานี้ให้มากที่สุด

ทางเลือกที่ 2. ท้องต่อ

สวัสดิการที่ยังไม่ฟังก์ชัน

การทำแท้งในปัจจุบัน แม้จะมีกฎหมายรับรองและมีการให้ข้อมูลอยู่เสมอว่าสามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ ซึ่งถ้าหากผู้ที่ท้องไม่พร้อมเลือกทางนี้ ในประเทศไทยก็มีสวัสดิการบ้านพักสำหรับผู้ท้องไม่พร้อม รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีสวัสดิการ ให้ค่าเลี้ยงดูเด็กเดือนละ 600 บาท หรือถ้ายากจนฉุกเฉินก็ให้ 2,000 บาท โดยในหนึ่งปีให้เงินฉุกเฉินได้ไม่เกิน 2 ครั้ง 

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานรัฐที่จัดหาพ่อแม่อุปถัมภ์ให้ เนื่องจากมีผู้ท้องไม่พร้อมหลายคนที่ไม่อยากทำแท้ง แต่ไม่พร้อมเลี้ยงลูก และอยากให้เด็กได้อยู่ในครอบครัวที่มีความสามารถมากกว่านี้ โดยคุณสมวงศ์กล่าวว่า ระบบการหาพ่อแม่อุปถัมภ์ของประเทศไทยยังไม่ฟังก์ชัน ด้วยทัศนคติของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐที่เชื่อในความสัมพันธ์พ่อ แม่ ลูก ครอบครัวถึงจะสมบูรณ์ จึงมีกฎว่าถ้าคลอดมาแล้ว ต้องเลี้ยงลูกด้วยตัวเองก่อน 2-3 เดือน ซึ่งขัดข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กบางคนต้องกลับไปเรียนหนังสือ หรือต้องไปหางานทำ จึงกลายเป็นว่าเขาต้องเอาเด็กไปทิ้งแทน

การละเมิดสิทธิของผู้ที่เลือกท้องต่อ

ประเทศไทยมีกฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิของวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด เข้าไม่ถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์ หรืออนามัยเจริญพันธุ์ และต้องการรักษาสิทธิของเด็กในด้านต่าง ๆ โดยใน มาตรา 5 วางหลักไว้ว่า วัยรุ่นมีสิทธิตัดสินใจด้วยตนเอง และมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้ ได้รับการบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ได้รับการจัดสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาคและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ 

จากข้อมูลของสายด่วนฯ 1663 พบว่า ระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 – มีนาคม พ.ศ. 2564 มีวัยรุ่นที่มาปรึกษาและร้องเรียนเรื่องการถูกละเมิดสิทธิ จำนวนทั้งสิ้น 20 ราย โดยในจำนวนนี้มีวัยรุ่นที่ถูกกดดัน ถูกบังคับให้หยุดเรียน และถูกบังคับให้ลาออกจากสถานศึกษา จำนวน 10 ราย ถูกหน่วยบริการของรัฐปฏิเสธการทำแท้งและไม่ส่งต่อให้หน่วยบริการอื่น 7 ราย ถูกเรียกเก็บเงินค่าคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรจากโรงพยาบาลรัฐ 1 ราย ถูกกีดกันให้ออกจากงานเพราะตั้งครรภ์ 1 ราย และกังวลว่าโรงเรียนใหม่จะไม่รับเข้าเรียนต่อเพราะตั้งครรภ์ 1 ราย

คุณสมวงศ์กล่าวว่า หากเด็กพักการเรียนเมื่อไหร่ โอกาสที่จะกลับมาเรียนอีกครั้งเหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีเด็กเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ผู้ปกครองสนับสนุนให้เรียนต่อ “ยิ่งคุณท้อง ยิ่งต้องเรียน เพราะคุณต้องรีบจบเพื่อมาเลี้ยงลูก …ยิ่งให้เด็กหยุดนานเท่าไหร่ อนาคตของเด็กอีกคนที่เด็กคนนี้คลอดมาก็ยิ่งมืดมนเท่านั้น”

สายด่วนฯ 1663 เคยให้คำปรึกษานักศึกษาที่ถูกให้พักการเรียนในคณะที่ตัวเองกำลังไปฝึกสอน ด้วยเหตุผลว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีให้นักเรียน ทั้งที่นักศึกษาวางแผนแล้วว่าไม่ทำแท้ง เมื่อฝึกสอนเสร็จก็จะเรียนจบพอดี หลังคลอดเสร็จจะได้ไปทำงาน แต่สุดท้ายก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เพราะว่าอยู่นอกเหนือกฎหมายแล้ว เนื่องจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ครอบคลุมเฉพาะบุคคลที่อายุไม่เกิน 20 ปีเท่านั้น

ทั้งนี้สำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 20 ปีขึ้นไป) ให้ใช้กฎหมายแรงงาน ซึ่งมีการบัญญัติไว้ว่าการท้องไม่ได้ทำให้คนนั้นต้องออกจากงาน คุณสมวงศ์เสนอว่าต้องมีการคุ้มครองคนที่มีอายุมากกว่า 20 ปี โดยต้องมีนโยบายของรัฐมาช่วยเหลือ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมกับความเป็นจริง สุขภาพจิต มีนโยบายคุ้มครองแม่และลูก เพราะเมื่อรัฐยังไม่เห็นปัญหาของคนที่ท้องไม่พร้อมอย่างจริงจัง เด็กก็โตมาอย่างไม่มีคุณภาพ

คุณสมวงศ์เสนอว่า การจะให้พ่อแม่คนหนึ่งจะเลี้ยงลูกได้ดี ประเทศต้องมีรัฐสวัสดิการ เพราะถ้ามีรัฐสวัสดิการ อย่างน้อยผู้ที่ท้องก็ยังมีรายได้ที่เพียงพอ หากมีบำนาญผู้สูงอายุ ก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะให้พ่อแม่เดือนละเท่าไหร่ ก็สามารถลดปริมาณเงินที่จะให้พ่อแม่ แล้วนำมาเลี้ยงดูลูกได้ และให้เรียนฟรี 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้ารัฐมีสวัสดิการให้จนคนเป็นแม่มั่นใจว่าลูกเราได้เรียนหนังสือ มีงานทำ ครอบครัวมีเงินเก็บ คนก็พร้อมจะมีลูก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ท้องแล้วอยากทำแท้งทุกราย ซึ่งไม่ใช่แค่การช่วยผู้ที่ท้องไม่พร้อม แต่รัฐต้องช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมันคือเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตแม่และเด็ก 

กล่าวโดยสรุป แม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะมีสวัสดิการให้ผู้ที่ท้องไม่พร้อมทั้งให้เงินช่วยเหลือ มีกฎหมายที่ช่วยรักษาสิทธิของวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อม และล่าสุดที่อนุญาตให้ทำแท้งถูกกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม สวัสดิการที่รัฐมอบให้และกฎหมายที่มีอยู่ยังคงมีช่องโหว่ และยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่ท้องไม่พร้อมอย่างเต็มที่


อ้างอิง

  • จากการบรรยายออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Microsoft Team วส.211 วิชาการสื่อข่าว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รักษาการผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วน 1663 ที่ให้การปรึกษาเรื่องเอดส์และท้องไม่พร้อม วันที่ 7 กันยายน 2564
  • จากการสัมภาษณ์คุณสมวงศ์ อุไรวัฒนา วันที่ 23 กันยายน 2564
  • https://www.youtube.com/watch?v=Zzf2_P5Lw5k
  • https://prachatai.com/journal/2017/11/74086
  • https://www.bbc.com/thai/thailand-55799852
  • https://ilaw.or.th/node/5816
  • นโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2
  • หนังสือเรื่อง: สวัสดิการและสิทธิเพื่อผู้หญิงท้องไม่พร้อม กรณีท้องต่อ โครงการ พัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดย กฤตยา อาชวนิจกุล, จิตติมา ภาณุเตชะ, สุมาลี โตกทอง, กันยายน 2563
  • https://www.posttoday.com/politic/report/482560
  • พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559
  • ประมวลกฎหมายอาญา

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
11
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
2
Angry โกรธ
1

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save