Social

สวัสดิการและประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่เข้าไม่ถึง ไปถึงไม่รู้ว่าตัวเองควรได้

เรื่องและภาพ: เจตณัฐ  พิริยะประดิษฐ์กุล และ พรรณรมณ ศรีแก้ว

แรงงานข้ามชาติ นับว่าเป็นแรงงานสำคัญอย่างยิ่งในสังคมไทย เพราะพวกเขาเข้ามาเติมช่องว่างแรงงานในประเทศไทย ทำงานที่คนไทยไม่นิยมทำ เช่น งานอันตราย งานที่ต้องใช้แรง หรืองานที่ต้องเจอกับสิ่งสกปรก แรงงานข้ามชาติมักจะเป็นแรงงานสัญชาติพม่า ลาว หรือกัมพูชา ซึ่งสัญชาติที่แตกต่างไม่ได้ส่งผลเพียงปัญหาด้านการสื่อสาร การทำงาน รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันแต่ยังส่งผลไปถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานข้ามชาติควรจะได้รับด้วยเช่นกัน

ปัญหาของแรงงานข้ามชาติเริ่มตั้งแต่การเตรียมตัวเข้ามาทำงานภายในประเทศไทย ทั้งค่านายหน้าราคาแพง การทำเอกสารต่างๆ เช่นพาสปอร์ต วีซ่าทำงาน เมื่อได้ทำงานแล้วก็ยังถูกลิดรอนสิทธิและสวัสดิการของแรงงามข้ามชาติ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ตนเองมีสิทธิหรือสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติอย่างไร และจะสามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้อย่างไรบ้าง

ปัญหาสวัสดิการและประกันสังคมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย แรงงานข้ามชาติหลายคนถูกละเมิดสิทธิประกันสังคมโดยที่นายจ้างได้หักค่าแรงบางส่วนและอ้างว่าจะนำไปจ่ายเป็นค่าประกันสังคม แต่กลับไม่ได้ส่งชื่อแรงงานข้ามชาติที่ถูกหักค่าแรงเข้าระบบตามที่อ้างไว้ ทำให้แรงงานข้ามชาติบางคนไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสังคมได้ เมื่อเจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องเข้ารักษาภายในโรงพยาบาล ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคม ทำให้มีค่ารักษาพยาบาลในราคาสูงจนไม่สามารถจ่ายได้ไหว แรงงานข้ามชาติบางคนอาจยอมใช้เงินเก็บของตนเองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย แต่บางคนที่ไม่สามารถจ่ายเองไหวก็ต้องยอมรับชะตากรรมแล้วอดทนต่ออาการเจ็บป่วยโดยที่ไม่มีใครเอื้อมมือเข้ามาช่วย ในขณะที่นายจ้างบางคนก็อาจจะช่วยเพียงพาแรงงานมาที่สถานพยาบาล แต่ก็ไม่ได้ช่วยเหลือค่ารักษาแต่อย่างใด

สาเหตุส่วนหนึ่งของอาการบาดเจ็บในแรงงานข้ามชาติก็มาจากความเสี่ยงจากงานที่ทำอยู่ เช่น งานภายในโรงงานที่มีเครื่องจักร งานก่อสร้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บหนัก  พวกเขาก็ต้องหาเวลาว่างนอกเหนือจากเวลางานเพื่อไปโรงพยาบาลหรือคลินิก หากบาดเจ็บไม่มากนักและยังสามารถทำงานหารายได้ก็ดีไป แต่หากเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่ต้องใช้เวลาพักรักษาตัว นั่นก็หมายถึงรายได้ที่จะหายไป เพราะแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันไหนที่ได้ทำงานก็จะมีรายได้ วันไหนไม่ทำงานก็ไม่มีรายได้ หรือหากทำงานไม่ครบตามที่นายจ้างกำหนดก็จะถูกหักค่าแรงอีก โดยไม่สนว่าแรงงานคนนั้นมีเงื่อนไขทางสุขภาพอย่างไร

มา ยา เทาะ แรงงานเชื้อสายพม่าที่ทำงานโรงงานอะไหล่รถยนต์ และเป็นอาสาสมัครเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network; MWRN) เล่าให้ฟังว่า เคยมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขาหักจากการทำงาน แต่ไม่ได้ค่าแรงชดเชย

“เขาต้องหยุดงานไป 27 วัน ไม่ได้ค่าแรง นายจ้างก็ช่วยแค่ค่ารักษา ผมเลยพาเขาไปขอความช่วยเหลือที่สวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ไม่รับร้องเรียน เพราะเจ้าตัวไม่มีประวัติการแพทย์ และผมเองก็เป็นแค่อาสาสมัคร ทางสวัสดิการเขาคงคิดว่าคำพูดเราไม่มีน้ำหนัก แต่ก็บอกว่าเจ้าตัวควรได้รับค่าแรงชดเชยนะ นายจ้างต้องจ่ายนะ ให้รอดูตอนเงินออกและให้ไปติดต่อที่โรงงาน พอไปติดต่อโรงงานเขาก็บอกไม่มีรายชื่อ เพราะไม่ได้ทำงาน สุดท้ายเจ้าตัวเลยคิดว่ามันยุ่งยาก ถ้าไม่ได้ก็ไม่เอาแล้ว เอาเท่าที่นายจ้างให้ ตอนนี้เขาก็หายดีแล้ว เปลี่ยนงานแล้ว ไม่ได้ไปทำงานที่เดิมแล้ว”

แม้ว่ารายได้ที่แรงงานข้ามชาติได้รับมักจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำภายในประเทศไทย แต่นั่นก็เป็นค่าแรงที่มากพอที่จะทำให้พวกเขาเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพราะแรงงานภายในประเทศของพวกเขายังต่ำกว่าประเทศไทย และนอกจาก ค่ากินอยู่สำหรับตัวเองแล้ว แรงงานบางส่วนก็ยังต้องเงินกลับไปให้กับครอบครัวที่ประเทศของตัวเองด้วย เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่มีรายได้ คนที่ได้รับผลกระทบจึงไม่ใช่แค่ตัวแรงงาน แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวของพวกเขาด้วยเช่นกัน

เทเท แวน แรงงานเชื้อสายพม่าที่ทำงานเป็นแม่บ้านที่โรงงานแห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เลือกเข้ามาทำงานที่ไทยเพราะได้เงินดีกว่าประเทศของตนเอง “เราทำงานที่นี่ เราได้วันละ 330 อยู่ที่พม่าได้ไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ ราคาของก็แพงกว่าที่ไทยอีก ทั้งหมู น้ำมัน ผัก คนไทยบอกว่าเศรษฐกิจที่ไทยไม่ดี แต่จริงๆ แล้วที่พม่าแย่กว่านี้เยอะ”

แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะพบเจอปัญหาละเมิดสิทธิและสวัสดิการ แต่พวกเขาก็ไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะแรงงานข้ามชาติมักเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงานหารายได้ การต่อสู้ผ่านการฟ้องร้องหรือวิธีการอื่นๆ นั้นต้องใช้เวลา กำลังใจและกำลังเงิน ซึ่งไม่ใช่แรงงานข้ามชาติทุกคนจะมีเวลาและเงินที่จะใช้ในการต่อรู้เรียกร้องสิทธิของตัวเอง แรงงานบางส่วนจึงเลือกที่จะไม่ตอบโต้ บางคนอาจจะเปลี่ยนงาน บางคนก็ยอมทนโดยหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาสุดท้าย

นอกจากปัญหาเรื่องสิทธิและสวัสดิการทั่วไปแล้ว แรงงานข้ามชาติก็ยังต้องพบปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของเชื้อชาติ ทั้งถูกตั้งแง่ ถูกสื่อมวลชนนำเสนอในแง่ลบ ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด แรงงานข้ามชาติก็ยังถูกเลือกปฏิบัติและถูกมองว่าเป็นตัวแพร่เชื้อโรค ไม่ป้องกันตัวจากโรคโดยไม่สนใจว่าพวกเขามีเงื่อนไขด้านการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง ไปจนถึงเข้าไม่ถึงสิทธิการใช้บริการต่างๆ เพราะไม่มีเอกสารที่จำเป็น แรงงานบางคนก็ถูกนายจ้างยึดเอกสารไว้ ทำให้พวกเขากลายเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตน ไม่สามารถทำอะไรได้ถ้านายจ้างไม่อนุญาต

บีบี แรงงานเชื้อสายพม่าที่ทำงานในโรงงานเสื้อผ้า เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ก็เคยถูกคนไทยแสดงท่าทีรังเกียจและพูดจาดูถูก “เราถูกหาว่าเป็นคนสกปรก เป็นตัวแพร่เชื้อโรค ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเชื้อโรคมันก็ติดกันได้จากทุกคน  ไม่ใช่แค่จากแรงงาน อยากให้คนไทยหยุดแบ่งแยก ช่วงนั้นรู้สึกแย่มาก เพราะเราก็ตกงานด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปัญหาการละเมิดสิทธิและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติก็เริ่มมีหน่วยงานบางแห่งให้ความสำคัญและพยายามแก้ปัญหา เช่น เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network : MWRN) มูลนิธิรักษ์ไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่พยายามช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหาการละเมิดสิทธิ เช่น ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ถูกกดค่าแรง และให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติภายในประเทศไทย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับรู้ถึงสิทธิและสวัสดิการของตน เพื่อที่จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น จึงเป็นสัญญาณอันดีอย่างหนึ่งว่าปัญหาของแรงงานข้ามชาตินั้นยังมีผู้ให้ความสนใจและพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขอยู่

สุดท้ายแล้ว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเป็นฟันเฟืองสำคัญในอุตสาหกรรมแรงงานในไทย แต่พวกเขาก็ยังพบเจอปัญหาการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการจนทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาไม่ดีเท่าที่พวกเขาควรได้รับ ซึ่งผู้ที่จะแก้ไขปัญหานี้ก็ไม่ใช่ตัวแรงงานโดยลำพัง แต่เป็นรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะปัญหาสิทธิและสวัสดิการของแรงงานข้ามชาติเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในไทย

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Social

“FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn” 

เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร “FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn”  TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่แสดงเนื้อหาแบบคลิปสั้น ความยาวไม่เกิน 15 ...

Writings

ตากใบ 2547 ความเงียบที่(อยากให้)ดังที่สุด

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนีภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์ ‘ตากใบ’ คำที่เราอาจบังเอิญได้ยินจากใครสักคนหนึ่งพูดขึ้น หรืออาจเป็นคำที่เราบังเอิญได้เห็นจากบทความที่วิ่งผ่านตาไปบนโลกอินเทอร์เน็ต คุณนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึงตากใบ แล้วตากใบแบบไหนที่คุณรู้จัก  สำหรับฉัน เมื่อวัย 19 ...

Writings

สารคดี ‘คนกล่อมช้าง’ ได้รางวัล Oscar ในวันช้างไทย

เขียน สมิตา พงษ์ไพบูลย์ งานออสการ์ประจำปี 2023 ครั้งที่ 95 ในหมวดสารคดีสั้น “เรื่องที่ได้รับรางวัลคือ … The Elephant Whisperers” ชื่อไทยว่า ‘คนกล่อมช้าง’ ...

Writings

ขานรับ #EmbraceEquity ในวันสตรีสากล เมื่อความเท่าเทียมยังไม่เพียงพอ?

เรื่อง : ณัฐวุฒิ ศรีเรือง ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา เว็บไซต์ International Women’s Day (IWD) ได้แจ้งแคมเปญรณรงค์สำหรับวันสตรีสากล ประจำปี ...

Writings

Miss Universe สร้างคุณค่าให้ผู้หญิงจริงหรือ?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา การประกวด Miss Universe นับว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีการประกวดที่ถูกผู้คนจับตามองทุกปี โดยเฉพาะในประเทศไทย หลายคนอาจติดตามเพราะเป็นการตอบสนองต่อแนวคิดชาตินิยมในสังคมโดยการสนับสนุนผู้เข้าประกวดจากประเทศตนเอง หรือแม้กระทั่งติดตามเพราะความบันเทิง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save