SocialWritings

การทารุณกรรม นรกที่เด็กหลายคนยังเผชิญอยู่

Trigger warning: child abuse (การทารุณกรรมเด็ก), rape (ข่มขืน), sexual violence (ความรุนแรงทางเพศ), violence (ความรุนแรงอื่น ๆ)

เรื่อง: วิวิศนา อับดุลราฮิม


แม้เด็กที่เคยโดนทารุณมาก่อนจะผ่านพ้นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายนั้นมาได้ แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้รอยยิ้มที่ถูกพลัดพรากไปในวัยเยาว์ของเด็กคนหนึ่งกลับคืนมาได้เหมือนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะความเจ็บปวดในวันนั้น ยังคงฝังรากลึกอยู่ในจิตใจของเหยื่อหลาย ๆ คน ในวันนี้ วารสารเพรสจึงขอพาผู้อ่านทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่อง ‘การทารุณกรรมเด็ก’ หรือ Child Abuse ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนานต่อชีวิตน้อย ๆ และมาพูดคุยกับคุณจินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก 1387 เพื่อให้เห็นปัญหานี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

การทารุณกรรมเด็ก หรือ Child Abuse สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือการกระทำหรือการไม่กระทำตามสิ่งที่เด็กสมควรได้รับ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางจิตใจ การให้หรือไม่ให้อะไรในสิ่งที่เด็กคนหนึ่งสมควรที่จะได้รับ ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงได้ทั้งหมด

ข้อมูลจากการรับแจ้งเหตุของศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 พบว่าตั้งแต่ ต.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงเฉลี่ยวันละ 5 คน และหากนับเฉพาะกรณีความรุนแรงในครอบครัวเฉลี่ย 3 คนต่อวัน การกระทำที่พบมากที่สุด คือ การทำร้ายร่างกาย โดยมีพ่อหรือแม่เป็นผู้กระทำ

ความรุนแรงในครอบครัว

ศาลเยาวชนและครอบครัว ระบุว่า หากเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายนั้นเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ แม้คู่ความจะยอมความหรือถอนฟ้องคดีไปแล้ว พนักงานสอบสวนยังอาจดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ต้องหาได้ แต่ผู้ที่กระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายกำหนดให้ผู้นั้นต้องรับโทษฐานกระทำความรุนแรงในครอบครัว และในความผิดฐานกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว กฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้ 

คดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นการทำร้ายกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวแตกต่างจากการทำร้ายร่างกายในคดีอาญาปกติ เพราะตามหลักของประมวลกฎหมายอาญา คือมุ่งลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเดียว แต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 จะมีวิธีการในการดำเนินคดีต่างหาก โดยมุ่งหวังให้ผู้กระทำผิดกลับตัวและยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัว

การจะเข้าไปแก้ไขที่ตัวพ่อแม่ห้ามทำร้ายลูกเป็นเพียงทฤษฎีที่ต้องเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะพ่อแม่เกือบทุกคนทราบอยู่แล้วว่าการทำร้ายลูกเป็นสิ่งไม่ดี หากทำร้ายลูก ลูกก็คงเสียใจ และอาจจะมีบาดแผล แต่เขาไม่จำเป็นต้องใส่ใจถึงผลกระทบต่อตัวเด็ก เพราะว่าสุดท้ายแล้วพ่อแม่แทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรในทางกฎหมาย ซึ่งถ้ามีกฎหมายที่เข้มงวดก็อาจจะช่วยชะลอความรุนแรงได้

กระบวนการการช่วยเหลือและเยียวยา

เพื่อให้เข้าใจปัญหาเรื่องทารุณกรรมเด็กมากขึ้น เราจึงไปคุยกับ คุณจินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก 1387 

คุณจินดา ให้สัมภาษณ์ว่า หลายครั้งที่เด็กไปแจ้งความแต่ตำรวจไม่รับแจ้ง และไม่ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่เด็ก เช่น เด็กไปแจ้งตำรวจว่าโดนพ่อตีซ้ำ ๆ สิ่งที่ตำรวจถามเด็กกลับมาคือ แล้วเด็กไปทำอะไรมา ไปดื้อหรือเกเรมาใช่ไหม ซึ่งมันเป็นคำถามในเชิงตัดสินว่าถ้าไม่ทำแบบนั้นพ่อคงไม่ตีหรอก จึงทำให้เด็กหลาย ๆ คนไม่อยากไปแจ้งความ เพราะสุดท้ายตำรวจก็โทรหาพ่อให้มานั่งคุยกันในโรงพัก แล้วใช้การประนีประนอมโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร 

การเรียกมานั่งคุยกันไม่ได้ทำให้เหยื่อและผู้กระทำรู้สึกดีขึ้น ตัวเหยื่อก็จะรู้สึกว่าถูกผลักให้กลับไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงเหมือนเดิม ส่วนตัวผู้กระทำก็รู้สึกว่ามีกฎหมายที่เอื้อประโยชน์กับเขาอยู่ เพราะฉะนั้นลูกต้องเชื่อฟัง ทำตาม แต่เมื่อลูกยังต่อต้าน รวมทั้งยังสร้างปัญหาให้เขาโดยการไปแจ้งความ ความรุนแรงในครอบครัวจึงดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น เพราะกระบวนการที่จะเข้าไปเยียวยาจิตใจเด็ก หรือให้ความรู้พ่อแม่ โดยให้พวกเขาเห็นถึงผลกระทบต่อเด็กมันไม่ได้เกิดขึ้นง่าย

ในทางทฤษฎี เมื่อมูลนิธิ หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่คุ้มครองเด็ก ซึ่งรวมถึงตำรวจได้รับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจากเด็กหรือผู้อื่นที่พบเห็น ต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ หาสาเหตุของปัญหา แล้วพยายามสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามประสานรอยร้าวโดยการทำแผนการช่วยเหลือระยะยาว

เจ้าหน้าที่จะประเมินว่าครอบครัวยังเป็นที่ปลอดภัยของเด็กไหม ถ้าในขณะนั้นเด็กไม่ปลอดภัยก็จำเป็นต้องแยกตัวเด็กออก ติดต่อหาญาติหรือผู้ปกครองคนอื่นที่เด็กสามารถอยู่ด้วยแล้วปลอดภัยและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่ถ้าไม่มีก็จะส่งเด็กไปที่บ้านพักซึ่งเป็นความดูแลของหน่วยงานรัฐ เช่นบ้านพักเด็ก บ้านพักฉุกเฉิน บ้านเมตตา บ้านกรุณา แต่สถานที่เหล่านี้ก็ไม่ต่างกับสถานพินิจหรือคุกเลย แม้เด็กไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ทั้งยังเป็นเหยื่อของความรุนแรง แต่เขาต้องเข้าไปอยู่ในกรอบการจัดระเบียบที่คล้ายกับระเบียบทหารซึ่งไม่เป็นมิตรกับเด็ก ดังนั้นการส่งเด็กกลับครอบครัวคือเป้าหมายสูงสุดในการความช่วยเหลือ

Sexual Abuse

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ในปี 2560 มีเด็กเกือบ 9,000 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้าย โดยส่วนใหญ่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

การทารุณกรรมทางเพศ คือปัญหาอย่างหนึ่งที่ยังไม่มีวิธีเยียวยาจิตใจเด็กผู้ตกเป็นเหยื่อได้ โดยคุณจินดา ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อก่อนมีเด็กที่มาแจ้งว่าถูกทารุณกรรมทางเพศโดยไม่เอาความ เพราะต้องการแค่มาระบายให้ฟังเท่านั้น แต่ตอนนี้เด็กเริ่มลังเลว่าควรดำเนินคดีทางกฎหมายหรือไม่ ควรจะให้เรื่องจบลงที่ตัวเขาเองแล้วแบกรับชะตากรรมนั้นไว้ หรือว่าควรจะให้คนที่ทำร้ายเขาได้รับโทษทางกฎหมาย 

เด็กที่โดนความรุนแรงทางเพศ แล้วต้องการฟ้องร้องคนร้าย เด็กคนนั้นต้องกล้ามาก ๆ ถ้าเขาไม่กล้า เขาจะสู้กับคดีไม่ได้เลย เพราะเหยื่อต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนไปถึงชั้นศาล ถูกทนายอีกฝั่งซักจนเหยื่อรู้สึกว่าตัวเขาเองนั่นแหละ คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการข่มขืนขึ้น 

การฟ้องร้องคดีการทารุณกรรมทางเพศที่มีเหยื่อเป็นเด็ก เหยื่อจะมีโอกาสทำให้คดีประสบความสำเร็จสูงมาก เนื่องจากผู้ใหญ่มักจะประเมินว่าการให้เด็กเล่าเรื่องเดิมหลาย ๆ ครั้งก็คงไม่เป็นอะไรเพราะพวกเขายังอายุน้อย แต่เมื่อเวลาล่วงเลยจนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แม้ตอนนั้นเขาจะชนะคดี  แต่ความโหดร้ายที่เขาเคยประสบมากลับไม่จางหาย อดีตที่ทุกข์ทรมานยังคงค้างอยู่ในจิตใจของพวกเขา เวลาไม่ได้ช่วยเยียวยาจิตใจของเด็กน้อยในวันนั้นเลย เรื่องราวต่าง ๆ ยังคงไม่ไปไหน เพราะก่อนหน้านี้เขาเล่าจนจำเรื่องราวเหล่านั้นฝังลึกอยู่ในจิตใจ และภาพเหล่านั้นยังคงติดตาพวกเขาอยู่

ในปัจจุบัน มีมาตรการให้บันทึกวิดีโอการให้ปากคำของเด็กไว้ เพื่อปกป้องไม่ให้เด็กต้องนึกถึงความโหดร้ายเหล่านั้นซ้ำ ๆ แต่ในทางปฏิบัติ เด็กก็ต้องพูดต่อหน้าศาลอยู่ดี จึงทำให้เหยื่อหลายคนต้องการปกปิดหรือว่าบางครั้งเขาก็ไม่อยากพูด เพราะมันเจ็บกว่าเดิม

การช่วยเหลือจากสังคมเป็นสิ่งจำเป็น

คุณจินดา กล่าวว่าการช่วยเหลือเด็กที่โดนทารุณไม่ว่าทางไหนก็ตาม แค่ลำพังตัวเด็กหรือครอบครัวเองไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ บางครั้งเพียงแค่คนที่เขาไว้ใจยื่นมือเข้ามาช่วย ก็อาจจะเป็นหนทางที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขามีคนคอยเป็นกำลังใจให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลาโหดร้ายนี้ไปได้

ปัจจุบัน ทางมูลนิธิได้รับรายงานจากเพื่อนบ้านหรือคนรอบข้างมากขึ้น เพราะว่าน้อยมากที่เหยื่อ หรือคนในครอบครัวจะแจ้งเรื่องความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจาก หนึ่งเขายังไม่มีความพร้อมที่จะออกมาจากครอบครัวนั้น สองเขากังวลว่าหากแจ้งความไปแล้วมันจะแย่กว่าเดิมไหม หรือสามกังวลเรื่องอนาคต จึงยอมทนต่อความรุนแรงต่อไป  

เมื่อไหร่ที่ความรุนแรงเกิดขึ้น แล้วตัวเหยื่อต้องการความช่วยเหลือ เขาไม่เคยรู้เลยว่ามีหน่วยงานไหนที่สามารถเข้าถึงได้บ้างนอกจากตำรวจ แต่ถามว่าตอนนี้ ประชาชนมีความเชื่อมั่นในตำรวจมากน้อยเพียงไร เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่เข้ามาสอดส่อง เหยื่อไม่ออกมาส่งเสียง และสังคมยังไม่เข้ามาช่วยเหลือ เหยื่อก็จะไม่มีวันหลุดพ้นจากขุมนรกที่เรียกว่า ‘การทารุณกรรม’

การที่เราเห็นว่ามีเด็กคนหนึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน สังคมอาจจะต้องลุกขึ้นมาแล้วช่วยเหลือเด็กคนนั้น เพราะหลายคนจะคิดว่ามันเป็นปัญหาของครอบครัวเขา ไม่อยากไปยุ่ง พ่อแม่มีสิทธิที่จะสั่งสอนลูกได้ แต่ทุกคนเป็นพลเมืองไทย ทุกคนมีสิทธิที่จะช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งยังมีสิทธิที่จะเข้าไปช่วยดูแล แล้วก็ให้ความปลอดภัยกับคนอื่นตามที่ตนสามารถทำได้

“หลาย ๆ คนที่ออกมาเปิดเผยว่าเขาคือเหยื่อ เขาเรียกตัวเองว่าผู้เป็น survivor แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เล่าเรื่องแล้วยังรู้สึกสะเทือนใจ แสดงว่าพวกเขาก็ยังเป็น victim ที่ควรได้รับการเยียวยา”


อ้างอิง

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
5
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
4
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

Social

“FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn” 

เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร “FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn”  TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่แสดงเนื้อหาแบบคลิปสั้น ความยาวไม่เกิน 15 ...

Writings

ตากใบ 2547 ความเงียบที่(อยากให้)ดังที่สุด

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนีภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์ ‘ตากใบ’ คำที่เราอาจบังเอิญได้ยินจากใครสักคนหนึ่งพูดขึ้น หรืออาจเป็นคำที่เราบังเอิญได้เห็นจากบทความที่วิ่งผ่านตาไปบนโลกอินเทอร์เน็ต คุณนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึงตากใบ แล้วตากใบแบบไหนที่คุณรู้จัก  สำหรับฉัน เมื่อวัย 19 ...

Writings

สารคดี ‘คนกล่อมช้าง’ ได้รางวัล Oscar ในวันช้างไทย

เขียน สมิตา พงษ์ไพบูลย์ งานออสการ์ประจำปี 2023 ครั้งที่ 95 ในหมวดสารคดีสั้น “เรื่องที่ได้รับรางวัลคือ … The Elephant Whisperers” ชื่อไทยว่า ‘คนกล่อมช้าง’ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save