SocialWritings

ถ้าเราทุกคน (ไม่ได้) ชอบไปโรงเรียน

เรื่อง: สุธิดา วุฒิกร

“ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะไม่อยากไปเจอครู” คงเป็นความคิดที่เกือบทุกคนน่าจะมีประสบการณ์ร่วม อาจจะโดยมีคนมาบ่นระบายให้ฟัง หรือเป็นผู้กล่าวคำนี้ด้วยตัวเอง ตลอดเวลาที่ผ่านมา มีเด็กไทยจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกบั่นทอนศักยภาพของตัวเองจากระบบการศึกษาที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในด้านของบุคลากรครู หรือการบริหารสถานศึกษา ทว่าถึงแม้ปัญหาเหล่านี้จะได้รับการบอกกล่าวโดยผ่านตัวเด็กนักเรียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สัญญาณที่บ่งบอกถึงทางออกของปัญหาก็ยังคงไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากนัก มีเด็กจำนวนมากมายถูกฝากรอยแผลภายในจิตใจที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็ยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้อยู่ดี

ผู้เขียนมีโอกาสได้พูดคุยกับนางสาวบี อายุ 20 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกระบบการศึกษาฝากรอยแผลเอาไว้ภายในจิตใจตั้งแต่เธอเริ่มเข้าเรียนอนุบาล เธอได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เธอได้รับและความรู้สึกขมขื่นที่ตกตะกอนอยู่ในใจตั้งแต่ช่วงเวลานั้นให้กับผู้เขียน พร้อมกับความคาดหวังที่จะทำให้ไม่มีใครต้องโชคร้ายแบบเธออีก

บีได้เข้าเรียนระดับชั้นอนุบาลในโรงเรียนเทศบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่เดิมเธอเป็นเด็กที่ชอบไปโรงเรียน และพร้อมที่จะเป็นเพื่อนกับทุกคน แต่การเข้ามาเรียนที่นี่ เปลี่ยนให้เธอกลายเป็นเด็กที่สูญเสียความมั่นใจในตนเอง และไม่สามารถไว้ใจใครได้ง่ายอีกต่อไป ถึงแม้ว่าเรื่องราวข้างต้นจะผ่านไปกว่าสิบปีแล้ว แต่บีก็ยังยืนยันว่ายังมีบางสิ่งบางอย่างที่ยังคงติดค้างอยู่ในใจจนถึงปัจจุบัน

จุดเริ่มต้นของเรื่องราว

เมื่อเริ่มเข้าเรียน บีได้เป็นเพื่อนกับเด็กคนหนึ่งที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวยากจน เพื่อนของเธอแต่งตัวค่อนข้างมอมแมม และเป็นเด็กที่ค่อนข้างซน ทั้งสองคนถูกเพ่งเล็งจากครูสีอ่อน (นามสมมติ) ซึ่งเป็นครูประจำชั้นของเธอเป็นพิเศษ และเริ่มถูกปฏิบัติตัวเฉกเช่นพลเมืองชั้นสอง ซึ่งก็คือการดูแลอย่างไม่ค่อยใส่ใจมากนัก แต่นี่ยังคงเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตวัยอนุบาลของเธอ

วันหนึ่งในวิชาการเรียนคัดลายมือ บีที่กำลังฝึกที่จะขีดเขียนตัวอักษรอยู่ ได้ถูกครูสีอ่อนถามขึ้นมาหลังจากที่ได้เห็นผลงานของเธอ “ลายมือเธอไม่สวยนะ สนใจเรียนพิเศษกับครูไหม”

หลังจากเธอได้เป็นเพื่อนกับเพื่อนใหม่คนนั้น จุดเปลี่ยนชีวิตของเธออีกครั้งหนึ่ง ก็คือการปฏิเสธการเรียนพิเศษกับครูสีอ่อน 

เธอกลับบ้านและเล่าให้แม่ฟัง ซึ่งแม่ของเธอคิดว่าการเรียนพิเศษสำหรับเด็กอนุบาลนั้นยังไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น จึงปฏิเสธที่จะส่งเธอไปเรียน วันรุ่งขึ้นเธอได้ไปบอกคำตอบของแม่ให้กับครูสีอ่อน ทำให้ครูไม่พอใจเป็นอย่างมาก และปฏิบัติกับเธอเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน อาจจะเป็นเพราะว่าครูสีอ่อนนั้นมั่นใจแล้ว ว่าบีไม่ใช่คนในกลุ่มชนชั้นที่เธอจะต้องเกรงใจ

การถูกเหยียด และประจานท่ามกลางเพื่อน

บีเล่าให้ฟังว่า เธอได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน เพราะถูกตีตราว่าเป็นเด็กยากจนไม่มีเงินเรียนพิเศษ ในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นของเธอแทบทุกคนจ่ายเงินให้ครูสีอ่อนและเรียนพิเศษกับเธอ วันหนึ่งในขณะที่ทุกคนเข้าแถวตามเลขที่ มีเพื่อนคนหนึ่งที่มีฐานะ ขอสลับที่เพื่อที่จะได้ยืนใกล้ๆ เพื่อนสนิท บีตอบตกลงด้วยความไร้เดียงสา และไปยืนแทนที่ในตำแหน่งของเพื่อนคนนั้นทันที แต่ทว่าครูสีอ่อนกลับตวาดใส่บีด้วยน้ำเสียงที่น่ากลัวทันทีที่เห็น ดุด่าบีที่ขัดคำสั่งในการเข้าแถวเรียงลำดับเลขที่ แต่กลับหลับตาข้างหนึ่งและไม่มีการดุด่าว่ากล่าวเพื่อนที่ขอสลับที่เลยสักคำ

เหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำขึ้นอีกครั้ง ขณะที่บีนั่งอยู่ในแถวตามคำสั่งของครูสีอ่อน แต่ครั้งนี้บียืนกรานที่จะไม่สลับที่กับเพื่อนคนนั้นอีกต่อไป เธอจึงถูกเพื่อนคนนั้นฉุดกระชากออกจากที่จนกระเด็นออกไปนอกแถว ครูสีอ่อนได้ตวาดใส่บีอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเธอขัดคำสั่ง แม้ว่าจะเกิดจากการถูกกระชากจนกระเด็นก็ตาม และเป็นอีกครั้งที่ครูสีอ่อนเลือกที่จะปิดตาข้างหนึ่งกับเพื่อนคนนั้น

ยิ่งเวลาผ่านไป เหตุการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ  อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ยังคงฝังใจบีอยู่ วันหนึ่งในช่วงนอนกลางวัน มีเพื่อนในห้องคนหนึ่งอุจจาระราด และปิดบังไว้ไม่บอกครูสีอ่อน เมื่อมีกลิ่นโชยออกมา ครูสีอ่อนกล่าวโทษบีว่าเป็นผู้ที่อุจจาระราด บีปฏิเสธ แต่ครูก็ไม่เชื่อ และเลือกที่จะพิสูจน์ความจริงด้วยการเปิดกระโปรงของบีท่ามกลางสายตาของเพื่อนในห้องเรียน

เส้นสายครูประจำชั้น และการนินทาที่ลามไปทุกห้อง

ความรุนแรงเริ่มลุกลามไปถึงครูคนอื่นๆ เมื่อครูสีอ่อนสั่งให้เด็กนักเรียนนำปลามาโรงเรียนคนละหนึ่งชนิด แต่แม่ของบีสงสัยในจุดประสงค์ของครูและมองว่าเด็กอนุบาลไม่น่าจะสามารถดูแลปลาตัวเป็น ๆ ได้ตลอดทั้งวัน จึงไปซื้อโปสเตอร์ความรู้เรื่องปลามาให้บีนำไปโรงเรียน

วันต่อมาเพื่อนแทบทุกคนทำตามคำสั่งและนำปลาตัวเป็นๆ มากันหมด ทำให้บีถูกครูสีอ่อนต่อว่าอีกครั้ง ว่าเป็นเด็กไม่มีสมอง เมื่อแม่ของบีรับรู้ถึงเหตุการณ์นี้จึงบุกมาถึงห้องเรียนในวันถัดไป

ครูสีอ่อนคุยกับแม่ของบีด้วยกริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อยจนทำให้เรื่องราวที่บีเจอนั้นราวกับเป็นเรื่องโกหก ครูพูดจาอย่างอ่อนน้อมเพื่อให้แม่ของบียอมกลับบ้านไป ซึ่งหลังจากนั้นแทนที่เรื่องราวจะเงียบลง การเข้ามาที่โรงเรียนของแม่ของบีนั้นทำให้บีโดนครูสีอ่อนเพ่งเล็งยิ่งกว่าเด็กคนไหนๆ ชื่อเสียงของบีกลับกระจายไปทั่วทั้งระดับชั้น เนื่องจากครูสีอ่อนนำเรื่องของเธอไปเล่าให้กับครูคนอื่นที่เป็นเพื่อนของเธอฟัง

บีกลายเป็นคนดังของระดับชั้นในช่วงเวลาไม่นาน แต่เป็นความดังในทางที่ไม่ดีนัก เธอไม่มีเพื่อนคนไหนกล้าคบหาด้วย และถูกครูเพื่อนสนิทของครูสีอ่อนอีกสองคนเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ครูคนหนึ่งจ้องที่จะทำโทษบีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งโทษที่มักจะโดนคือการตีมือด้วยความแรงระดับที่ควรจะเรียกว่า ‘หวด’ เสียมากกว่า และครูอีกคนหนึ่งก็มักจะพูดจาด่าทอบั่นทอนกำลังใจอยู่ตลอดเวลา บีได้เปรียบเปรยระดับความรุนแรงของคำพูดที่เธอโดนจากครูคนนี้ว่า “ทำให้เด็กคนหนึ่งหมดกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ได้”

มองอดีตด้วยตัวตนปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่าสิบปีแล้ว แต่บางสิ่งบางอย่างก็ยังคงติดค้างอยู่ในใจจนถึงตอนนี้ ถึงแม้ว่าเธอจะจำเรื่องราวบางส่วนไม่ได้แล้ว แต่ว่าความรู้สึกเหล่านั้นได้ตกตะกอนกลายเป็นหนึ่งในบุคลิกภาพของเธอเอง “ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง self esteem ต่ำมาก กลัวทุกอย่างบนโลกใบนี้ เพราะว่าเวลาทำทุกสิ่งทุกอย่างจะรู้สึกว่าตัวเองผิด รู้สึกหัวใจไม่ได้ปลอดภัย เหมือนกระต่ายตื่นตูมตลอดเวลา” เธอยังคงยืนยันว่าตอนนี้เธอต้องประสบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้น แม้ว่าจะมีบางสิ่งที่เธอสามารถก้าวผ่านไปได้แล้วบ้าง อย่างเช่นความรู้สึกอยากตาย แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่เธอต้องพยายามก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้

บีบอกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอสามารถข้ามผ่านความคิดด้านลบอย่างการฆ่าตัวตาย ก็คือเมื่อเธอเติบโตขึ้นและย้ายเข้าสู่โรงเรียนใหม่ในวัยมัธยม เธอได้พบกับเพื่อนใหม่และผู้คนรอบตัวที่คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเธออยู่เสมอ เมื่อเธอหลุดออกมาจากสภาพแวดล้อมเดิมได้ จิตใจที่บอบช้ำก็ได้รับการเยียวยาให้เธอเป็นคนที่เข้มแข็งมากขึ้น และมีกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกครั้ง

“บีก็แค่ตัวแทนของคนที่ถูกบูลลี่ มีคนที่ถูกบูลลี่มากกว่าบีอยู่แล้ว” เธอกล่าวขึ้นด้วยความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กคนอื่นที่ได้เผชิญกับชะตากรรมเดียวกับเธอ หรือแม้กระทั่งเลวร้ายกว่า ให้หลุดพ้นจากวงจรอันบิดเบี้ยวของระบบการศึกษาเช่นนี้ให้ได้

ผลกระทบต่อเด็กที่ถูกทำร้าย และรากเหง้าของปัญหา

ในงานวิจัยของ Jacqueline G.F.M. Hovens ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากปมฝังใจในวัยเด็ก ได้ระบุว่าผู้ที่มีปมปัญหาฝังใจในวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นจะมีโอกาสมีภาวะซึมเศร้าและภาวะวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และนอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้กล่าวว่ามีงานวิจัยอื่นที่ระบุถึงปัญหาของเด็กที่เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่งปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กเหล่านี้ก็คือ ความไม่มั่นใจในตนเอง ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง(PTSD) พฤติกรรมทำร้ายตนเอง และปัญหาด้านการรับประทานอาหาร

แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้ครูมีพฤติกรรมสร้างปมฝังใจให้เด็ก?

ดร.Gwendolyn Keita อดีตผู้อำนวยการบริหารด้านผลประโยชน์สาธารณะของ American Psychological Association ได้ให้สัมภาษณ์ลงในบทความภายในเว็บไซต์ขององค์กรเอง ถึงสาเหตุของการเลือกปฏิบัติของมนุษย์ เมื่อเดือนมีนาคม 2016 ว่า มนุษย์นั้นมักจะถูกกระตุ้นให้จัดหมวดหมู่ผู้คนหรือสิ่งของต่าง ๆ โดยธรรมชาติ แต่การเลือกปฏิบัติเป็นอะไรที่มากกว่านั้น มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าทัศนคติของผู้ที่กระทำการเลือกปฏิบัตินั้นเป็นภาพสะท้อนของตัวแปรที่ซับซ้อนหลายอย่าง เช่น ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทางสังคม ความกดดันทางเศรษฐกิจ กระแสสังคม อิทธิพลจากสังคมและครอบครัว 

ดังจะเห็นได้ในข้างต้นว่ารากเหง้าของปัญหาการเลือกปฏิบัตินั้นสาเหตุมาจากหลากหลายปัจจัย และสิ่งที่สะท้อนออกมาโดยผ่านตัวพฤติกรรมของตัวครูก็คือโครงสร้างสังคมที่ยังคงมีความบกพร่อง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา ตั้งแต่การอบรมบุคลากรครูให้มีมาตรฐานและมองมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม การคัดเลือกบุคลากรเพื่อจะมาบรรจุเป็นครูที่ไม่ดีพอ โดยเฉพาะกับเด็กอนุบาลซึ่งเป็นวัยที่อ่อนไหวต่อการปฏิบัติตัวของครูซึ่งเป็นผู้ดูแลเป็นอย่างมาก เด็กจะเติบโตไปพร้อมกับปัญหาด้านพัฒนาการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และจะมีโอกาสกระทำสิ่งที่ผิดพลาดซ้ำเช่นสิ่งที่เขาได้ถูกกระทำในอดีต ต่อเด็กในอนาคตต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น

นอกจากนี้ หากมองในแง่มุมด้านสังคมวัฒนธรรม อีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญของปัญหา ซึ่งส่งผลให้เกิดค่านิยมการเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ก็คือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมนิยมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งมีมาตั้งแต่การปกครองในระบบศักดินาในสมัยก่อน รศ.เอกศักดิ์ ยุกตะนันท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง การพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทย ว่า “แม้ระบบการเมืองจะกำหนดให้ระบบการศึกษาและการประชาสัมพันธ์ของรัฐต้องทำหน้าที่สร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตย แต่กลไกของรัฐเองก็สามารถกระทำการในทุกช่องทางที่เป็นไปได้ในการสร้างความอ่อนแอให้กับจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย” กระแสอนุรักษ์นิยมทำให้กลไกของรัฐได้ปลูกฝังวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ลงไปในระบบการศึกษา ซึ่งมีตั้งแต่การกำหนดหลักสูตรการศึกษา ไปจนถึงการปฏิบัติตนของผู้ขับเคลื่อนระบบการศึกษาอย่างครูอาจารย์เอง เนื่องจากสิ่งเหล่านี้นั้นได้เอื้อประโยชน์ให้ตนได้รับประโยชน์จากสถานะทางสังคมที่ได้เปรียบมากกว่า

การปลูกฝังในลักษณะนี้ส่งผลให้เยาวชนไม่สามารถพัฒนาความคิดด้านประชาธิปไตยได้ และยังส่งผลให้ตัวของเยาวชนนั้นขาดทักษะในการเคราะห์วิจารณ์สิ่งต่างๆ รวมถึงสร้างจิตสำนึกทางศีลธรรมที่เป็นเท็จ (False Consciousness) ซึ่งจะคอยบิดเบือนมาตรฐานทางจริยธรรม ทำให้มองไม่เห็นการกดขี่ผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าว่ามีความผิด และทำให้มองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังถูกกดขี่จากผู้มีอำนาจอยู่ 

สาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย ที่เกี่ยวโยงไปถึงปัญหาด้านค่านิยมและวัฒนธรรม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้คอยทำร้ายและขัดขวางพัฒนาการของเยาวชนซึ่งทำให้กระบวนการเติบโตและพัฒนาการทางด้านการคิดวิเคราะห์เกิดขึ้นอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวยังส่งผลให้เด็กที่เติบโตมามีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

มีเด็กอีกมากมายที่ได้รับบาดแผลที่มองไม่เห็นเช่นเดียวกับบี แต่พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้ออกมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้สังคมได้รับฟัง หลายคนจำต้องทุกข์ทรมานอยู่กับบาดแผลเช่นนี้โดยลำพังมาตลอดชีวิต ถึงเวลารึยังที่สังคมจะยอมเปิดกว้างและรับฟังปัญหาที่พวกเขาได้เผชิญ และออกมาลงมือหยุดยั้งการสร้างบาดแผลในใจของเด็กที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาในอนาคต

และเพื่อให้พวกเขาพูดอย่างเต็มใจได้ว่า “พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน” 

Source

https://www.apa.org/topics/keita-discussing-discrimination
https://onderwijsdatabank.s3.amazonaws.com/downloads/Proefschrift_JGFM_Hovens.pdf
http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/8236548bae13f289917316723a26521b

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

4 Comments

  1. Your point of view caught my eye and was very interesting. Thanks. I have a question for you.

  2. Thanks for sharing. I read many of your blog posts, cool, your blog is very good.

  3. Your article helped me a lot, is there any more related content? Thanks!

  4. Your point of view caught my eye and was very interesting. Thanks. I have a question for you.

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save