LifestyleSocialWritings

ทำไมเราต้องปฏิบัติต่อ ‘ก้อนหิน’ อย่างมีจริยธรรม ?

เรื่องและภาพประกอบ : สาธิต สูติปัญญา

“ทำไมเราต้องปฏิบัติต่อก้อนหินอย่างมีจริยธรรม?”

บางคนอาจคิดว่าคำถามนี้ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีคำตอบ เหมือนจะรู้คำตอบ แต่ไม่รู้ว่าจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดอย่างไร ส่วนบางคนอาจหาคำตอบไม่ได้ เพราะคุ้นเคยว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรืออย่างดีที่สุดก็มนุษย์กับสัตว์ (?)

ก่อนจะให้เหตุผลว่าทำไมเราต้องปฏิบัติต่อก้อนดิน หิน ปูนอย่างมีจริยธรรม การสำรวจจุดยืนของผู้อ่านระหว่างแนวคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลางและแนวคิดมองประโยชน์ของโลกธรรมชาติเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง

แนวคิดแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง หรือ anthropocentric ประกอบจากรากของคำสองคำคือ anthrope ซึ่งแปลว่ามนุษย์ และคำว่า centric หรือ center ที่แปลว่าศูนย์กลาง พอแปลโดยรวมแล้ว คำดังกล่าวจึงหมายถึงแนวคิดที่มองจุดยืน และมองประโยชน์ของมนุษย์เป็นสำคัญ ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งที่มองโลกธรรมชาติเป็นศูนย์กลางหรือ eco-centric จึงเป็นแนวคิดขั้วตรงข้ามของแนวคิดแบบ anthropocentric

น่าสนใจว่า แนวคิดแบบยึดมนุษย์ หรือ ‘ผลประโยชน์ของมนุษย์’ เป็นศูนย์กลางนั้นพัฒนาขึ้นมาและไปได้ดีกับแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการนำพื้นที่ป่าบริเวณเขารอบ ๆ ภูเขาหรือทะเลมาทำเป็นห้องชุด ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือการไถพื้นที่ที่เคยเป็นป่าเพื่อนำมาสร้างห้างสรรพสินค้าหรือสนามกอล์ฟ เหล่านี้เป็นการกระทำที่ยึดผลประโยชน์มนุษย์เป็นศูนย์กลาง มิได้คำนึงถึง ‘สิทธิ์’ ที่ธรรมชาติเหล่านั้นจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีใครมาทำลาย (continued existence)

อัลโด ลีโอโพลด์ ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่เชี่ยวชาญเรื่องธรรมชาติวิทยา นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เหตุผลผ่านหนังสือ ‘A Sand County Almanac’ (1981) ไว้ว่าแนวคิดแบบมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางนั้นถือเป็นการมองสิ่งต่าง ๆ แบบแยกส่วน หรืออนุภาคนิยม คือการมองสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองเพียงมุมมองเดียว ส่วนการมองแบบธรรมชาติเป็นศูนย์กลางคือการมองแบบองค์รวม (holism) กล่าวคือมองความเป็นไปของธรรมชาติโดยพิจารณา ดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมาประกอบการพิจารณาว่าจะกระทำ-ไม่กระทำสิ่งใด เนื่องจากสรรพสิ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์และสมดุล

ศาสตราจารย์รายนี้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการมองธรรมชาติแบบองค์รวมและผลกระทบของการมองโลกธรรมชาติแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ไว้ในงานเขียนของเขา ในหัวข้อ ‘The Land Pyramid’ หรือพีระมิดของแผ่นดิน ไว้ว่า พลังงานที่ไหลเวียนไปทั่วทั้งผืนแผ่นดิน (energy flowing) เป็นสิ่งที่ทำให้ผืนดินหรือระบบนิเวศทั้งระบบดำรงอยู่อย่างมีสุขภาพที่ดี เริ่มต้นจากดวงอาทิตย์ให้พลังงานความร้อนจนกระตุ้นเม็ดสีคลอโรฟิลล์ในพืชให้สังเคราะห์แสง สร้างพลังงานมาสะสมไว้ที่ต้น ใบ และราก จากนั้นสัตว์เล็กสัตว์น้อยจึงบริโภคพืชพรรณเหล่านั้น และสะสมพลังงานอีกทอดหนึ่ง

จากนั้นผู้ล่าลำดับถัดมาจึงบริโภคสัตว์กินพืช และผู้ล่าลำดับถัด ๆ ไปก็บริโภคต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งการบริโภคกันเป็นทอด ๆ นั้นถือเป็นการถ่ายเทพลังงานจากดวงอาทิตย์ให้ไปถึงสรรพสิ่งต่าง ๆ ในแผ่นดินอย่างสมดุล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทุกสรรพสิ่งต้องนำใช้ทรัพยากรในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มาก ไม่น้อยจนทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล

อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์มองธรรมชาติแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง พวกเขาจึงนำใช้ทรัพยากรต่าง ๆ แบบ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’ เพื่อทำให้ตนเองได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรนั้น ไม่ว่าจะเป็นการถางป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย การล่าสัตว์เพื่อนำมาทำอาหารอย่างเกินพอดี หรือแม้กระทั่งการใช้น้ำบริสุทธิ์อย่างเกินความจำเป็น การกระทำอันเกินพอดีดังกล่าวทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล

เช่น ถ้าชาวประมงล่าฉลามเพื่อตัดครีบของพวกมันมาทำเมนูหูฉลาม จากนั้นปล่อยฉลามลงสู่ทะเล ท้ายที่สุดฉลามที่ไร้ครีบเหล่านั้นจะไม่สามารถว่ายน้ำได้ และจะถูกฉลามตัวอื่น ๆ กินเป็นอาหาร การกระทำเช่นนี้มีผลโดยตรงทำให้ระบบนิเวศในท้องทะเลเสียสมดุล เนื่องจากเมื่อผู้ล่าอย่างฉลามมีปริมาณน้อยลง อาจทำให้สัตว์ที่เคยเป็นอาหารของฉลาม (ตามธรรมชาติ) มีมากขึ้น และส่งผลให้สัตว์อีกชนิดที่เป็นอาหารของสัตว์ที่เคยถูกฉลามล่า มีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากผู้บริโภคสำดับสูงสุดอย่างฉลามลดลง ท้ายที่สุดสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลจะมีปริมาณที่ไม่สมดุล และอาจถึงขั้นที่สัตว์บางชนิดจะถูกล่ามากเกินไปจนสูญพันธุ์

ดังนั้นการที่จะสร้างสำนึกทางธรรมชาติ และสร้างสมดุลให้ระบบนิเวศ จึงต้องปรับเปลี่ยนการทำงานทางความคิดกับมนุษย์ ให้มนุษย์มองว่าโลกธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาจะสามารถหาผลประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองตามมุมมองแบบ anthropocentric เพราะสรรพสิ่งอื่น ๆ ในโลกธรรมชาติล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งหน่วยที่ทำงานผสานกันให้โลกชีวะ (biotic community) มีสุขภาพดี และสมดุล และไม่มีสรรพสิ่งใดมีอำนาจหรือมี ‘สิทธิ์’ ที่จะนำใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จนทำให้ขาดสมดุลแห่งโลกชีวะ

หนึ่งข้อเสนอที่อัลโด ลีโอโพลด์เสนอเพื่อรักษาสมดุลของโลกธรรมชาติคือการ ‘ขยายขอบเขตของจริยศาสตร์’ จากเดิมที่จริยศาสตร์เป็นเรื่องของการปฏิบัติต่อมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับสัตว์บางชนิด เขาเสนอให้ จริยศาสตร์กินความไปจนถึงมนุษย์และสรรพสิ่งอื่น ๆ อย่างก้อนหิน ดิน ทราย และต้นไม้ ใบหญ้า เพื่อป้องกันการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ จนธรรมชาติเสียสมดุล

รองศาสตราจารย์เนื่องน้อย บุณยเนตร ศาสตราจารย์คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำแนวคิดของของอัลโด ลีโอโพลด์มาขยายต่อในหนังสือ ‘จริยศาสตร์สภาวะแวดล้อม : โลกทัศน์ในพุทธปรัชญาและปรัชญาตะวันตก’ (1994) ตอนหนึ่งว่า นักปรัชญาบางสำนักมองว่ามนุษย์ต้องปฏิบัติต่อมนุษย์อย่างมีจริยธรรมเนื่องจาก มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่าในตัวเอง (intrinsic value) และเป็นจุดหมาย มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง (end in itself) มากไปกว่านั้นมนุษย์ยังมีความสามารถทางภาษา มีการสำนึกในตัวตน (self-consciousness) มีความสามารถในการใช้เหตุผล และมีความปรารถนา ซึ่งต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อย่างต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน ดินทรายที่ไม่มีความสามารถดังกล่าว

ด้วยคำอธิบายนี้เองจึงมีมนุษย์บางกลุ่มที่อ้างว่า ในเมื่อสรรพสิ่งอื่น ๆ อย่างก้อนหิน ดิน ทราย และต้นไม้ ใบหญ้า ไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้นเหมือนมนุษย์ เราจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อสรรพสิ่งที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านั้นอย่างมีจริยธรรม อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์เนื่องน้อย ยกข้อโต้แย้งของลีโอโพลด์ขึ้นมาอ้างในหนังสือของเธอว่า

“ปัญหาของข้ออ้างเช่นนี้อยู่ที่มันทำให้มนุษย์หลายกลุ่มถูกตัดออกจากอาณาจักรของสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง เนื่องจากมิอาจปฏิเสธได้เลยว่ามีมนุษย์หลายกลุ่มที่มิได้มีลักษณะตามที่ถูกอ้างว่าเป็นลักษณะบ่งบอกคุณค่าในตัวเอง เช่น คนพิการทางสมอง คนชราที่หลงแล้ว หรือแม้กระทั่งเด็กทารก นั้นหมายความว่าหากยังยึดลักษณะเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกคุณค่าในตัวเอง เราก็คงต้องยอมให้มนุษย์กลุ่มดังกล่าวถูกปฏิบัติเหมือนเป็นวิถีไปถึงจุดหมาย (means to an end) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องยอมให้ปฏิบัติต่อมนุษย์เหล่านี้เป็นเสมือนวัตถุหรือเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มีคุณค่านอกตัว (instrumental value) เช่น กำจัดได้ หากการกำจัดจะก่อให้เกิดประโยชน์ ผ่าตัดทั้งเป็นเพื่อการศึกษาทางสรีรวิทยา จับมาล่าเพื่อความสนุก”

ดังนั้น เพื่อหาคำตอบของคำถามซึ่งปรากฏอยู่ในบรรทัดแรกของบทความ ว่า “ทำไมเราต้องปฏิบัติต่อก้อนหินอย่างมีจริยธรรม?” เราจึงอาจนำแนวคิดข้างต้นมาใช้อธิบายได้ว่า หากเราอ้างว่ามนุษย์สามารถปฏิบัติต่อสรรพสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากมนุษย์อย่างไร้จริยธรรมได้ เนื่องจากจริยธรรมเป็นเพียงเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์ หรืออย่างดีที่สุดคือ มนุษย์กับสัตว์ หรือเนื่องจากสิ่งอื่นใดที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นไม่มี ‘คุณค่าในตัวเอง’ สิ่งเหล่านั้นมีค่าเพียงเพราะพวกมันสร้างประโยชน์ให้มนุษย์ การมองดังกล่าว อาจเป็นการมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านมุมมองที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลางในการให้คุณค่า ซึ่งเป็นมุมมองที่แคบจนเกินไป และเป็นมุมมองที่ขัดต่อความเป็นจริงตามธรรมชาติ เนื่องจากทุกสรรพสิ่งในจักรวาลต่างดำรงอยู่อย่างเชื่อมร้อยกัน ถ้ามนุษย์ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างไร้จริยธรรม ท้ายที่สุด การกระทำดังกล่าวอาจนำเราไปสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนกลับมาได้

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
3
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Lifestyle

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

Writings

ห้ามพลาดกับศึกที่ไม่มีครั้งที่ 2 ใน Haikyuu!!  เดอะมูฟวี่ “ศึกตัดสินแห่งกองขยะ”

เขียนและภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ Haikyuu (ハイキュー!!) หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนักเรียนม.ปลายในญี่ปุ่น ผลงานของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shonen ...

Writings

ตุ๊กตาหมีกับการเป็นสัญลักษณ์ความอบอุ่น 

เขียน : จิตริณี แก้วใจ  ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์  หลายคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ชื่นชอบสิ่งที่เรียกว่าตุ๊กตาหมี  เพราะการมีตุ๊กตาหมีให้กอดหรืออยู่เคียงข้างกายนั้น สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย คลายความเหงา และสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี  ซึ่งอาจเป็นเพราะความสามารถพิเศษเหล่านี้ของเจ้าตุ๊กตาหมี ทำให้มีวันที่เรียกว่า ...

Writings

Girls And Boys by Jenny Han เด็กหนุ่มเด็กสาวในแบบฉบับของเจนนี่ ฮานส์

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : จิรัชญา นุชมี และ ศิรประภา ศรีดาจันทร์ หากใครเป็นสาวกซีรีส์ฝรั่งก็คงจะเคยได้ยินชื่อ To All The ...

Writings

เมื่อมาตรฐานผู้ตัดสินและVAR กำลังทำลายมนต์ขลังแห่งวงการลูกหนังพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

เขียน : กัญญพัชร กาญจนเจตนี และ ธนพ อัมพะวัต ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ เป็นอีกครั้งที่ระบบ VAR และมาตรฐานผู้ตัดสินฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (Premier ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save