SocialWritings

สีขาวหมายถึง…? : อดีต ปัจจุบัน อนาคต กับบทบาทของสถาบันศาสนาในสังคมไทย

เรื่องและภาพ : ปุณยภา เรืองสุวรรณ

สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ คำพูดที่ใช้สอนสั่งเด็กนักเรียนไทยมาเป็นเวลานาน กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของสีธงไตรรงค์ ธงชาติของประเทศไทย กับสามสถาบันหลักของประเทศ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน ทั้งสามสถาบันถูกตั้งคำถามถึงสถานะและบทบาทที่มีต่อสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศต้องพบเจอวิกฤตต่าง ๆ เรียกได้ว่าวิกฤตโรคระบาดยังไม่ทันหาย วิกฤตทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วมก็ซัดเข้ามาเต็ม ๆ ยังไม่นับวิกฤตต่อเนื่องด้านอื่น ๆ เช่น วิกฤตทางการเมือง วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

จากบริบทของสังคมไทย อ้างอิงจากศาสนาพุทธ ภาพรวมวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา เราต่างเห็นการเคลื่อนไหวขององค์กรศาสนาอิสระ เช่น คณะสงฆ์และวัดพุทธในพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเท่าที่ทำได้ อย่างการเข้ามาเป็นผู้ประสานงานกลางในการช่วยแจกจ่ายปัจจัยสี่แก่ผู้ที่ประสบภัยทั้งโรคระบาดและอุทกภัย หรือเข้ามาเป็นปลายทางของผู้เสียชีวิตจากโรคระบาด ซึ่งยังเป็นสิ่งที่คลางแคลงใจว่า การกระทำเหล่านี้เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของสถาบันศาสนาหรือไม่ และผลที่ตามมาจากการเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้คืออะไร และนำมาสู่การตั้งคำถามต่อว่า แท้จริงแล้ว ณ ตอนตอนนี้ สีขาวที่หมายถึงศาสนาอยู่ตรงจุดไหนในสังคมไทยและมีบทบาทอย่างไรในช่วงวิกฤตกันแน่? วันนี้ เราจึงขอพาทุกคนไปรู้จักสีขาวผ่านมุมมองของ รศ.ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเข้ามาของสีขาว และความสัมพันธ์ของสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน

อาจารย์สุมาลีกล่าวว่า เมื่อพูดถึงสามสถาบันหลักของคนไทย คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ส่วนใหญ่คนก็จะเข้าใจกันว่าศาสนาหมายถึง ศาสนาที่คนในประเทศนับถือมากที่สุด แม้เราจะบอกว่าประเทศให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ตาม แต่เราก็ยังให้เกียรติศาสนาที่มีคนนับถือมากเป็นอันดับแรก ดังนั้นเมื่อพูดถึงสถาบันศาสนา จึงหมายถึงศาสนาพุทธที่มีคนนับถือ 95% ของประชากรไทย (ข้อมูลในปี 2561 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ซึ่งหากให้อธิบายว่าสถาบันทางศาสนากลายมาเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของสังคมไทยได้อย่างไร โดยอ้างอิงพุทธศาสนา ศาสนาพุทธก็มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมไทยมายาวนาน ซึ่งจะเห็นภาพชัดตั้งแต่ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง โดยวัดเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางของชุมชน ศูนย์กลางทางการศึกษา และรัฐใช้สถาบันพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนความเป็นชาติ และสถาบันกษัตริย์ด้วย นี่จึงทำให้ศาสนากลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของไทย

เมื่อพูดถึงสถาบันพุทธศาสนา จะมี 2 ความหมาย คือ ความหมายตั้งต้น (original meaning) ซึ่งหมายถึงตัวหลักธรรมคำสอนดั้งเดิม และได้พัฒนากลายเป็นความหมายที่สอง คือความหมายเมื่อศาสนาเปลี่ยนเป็นสถาบันแล้ว (institutional meaning) ซึ่งผู้ปกครองจะใช้สถาบันทางพุทธศาสนาที่เข้ามาในประเทศไทยก่อนศาสนาอื่นและสามารถค้ำจุนตัวเองได้โดยการเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง เป็นเครื่องมือในการตอบสนองต่อนโยบายต่าง ๆ ซึ่งพุทธศาสนาทำได้ดีมาโดยตลอด ถึงแม้เมื่อเวลาผ่านไป รัฐจะนำนโยบายสมัยใหม่มาใช้ เช่น การที่รัฐเข้ามาจัดการศึกษาเองซึ่งเคยเป็นบทบาทของสถาบันศาสนา แต่ความสำคัญของพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

อาจารย์สุมาลีกล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้ประโยชน์ของสถาบันพุทธศาสนาว่า รัฐใช้พุทธศาสนาเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของคนไทย เอามาเชื่อมโยงความเป็นคนไทยเข้าด้วยกัน ผ่านระบบของการศึกษาและเครือข่ายทางการเมือง โดยในอดีตจะทำผ่านการศึกษา เพราะ ในอดีตจะจัดการเรียนการสอนที่วัด หากผู้มีอำนาจต้องการให้ประชาชนรับรู้อะไร หรือรัฐต้องการ propaganda (กลยุทธ์โฆษณาชวนเชื่อที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง) อะไร รัฐจะทำผ่านวัด ยกตัวอย่างเช่น หลักความกตัญญู โดยทำให้สถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนพ่อแม่ แล้วก็ตอกย้ำคำสอนว่า ต้องกตัญญูต่อพ่อแม่แต่เป็นพ่อแม่ในระดับโครงสร้าง ซึ่งพุทธศาสนาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีและประสบความสำเร็จมาก ทำให้ได้ประโยชน์สองต่อ คือ ประชาชนจะศรัทธาพุทธศาสนา และศรัทธาในสถาบันอื่นซึ่งสนับสนุนสถาบันพุทธศาสนาอีกที นี่จึงเป็นเหตุผลที่ สีแดง สีขาว สีน้ำเงินไม่แยกจากกัน

การเปลี่ยนแปลงของสีขาว : สถาบันศาสนากับค่านิยมสมัยใหม่

รัฐค่อย ๆ ลดความสำคัญของพุทธศาสนาลง ต่อมาเมื่อรัฐนำพุทธศาสนาเข้ามาเป็นสถาบัน มันจึงมีประโยชน์ทางสังคมและการเมือง โดยผู้ปกครองก็จะคัดเลือกคุณธรรมบางชุดที่เหมาะสำหรับการปกครอง เช่น ความกตัญญู ความมีวินัย ความมีศรัทธามั่นคงต่อ ความเชื่อมั่นในรัฐ ความเชื่อมั่นในความดีของชนชั้นสูง มาใช้เพื่อสื่อสารผ่านสถาบันพุทธศาสนาในระบบการศึกษา แต่ต่อมาก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีกเมื่อรัฐรับค่านิยมสมัยใหม่ และหันมาจัดระบบการศึกษาเอง สถาบันพุทธศาสนาก็ต้องปรับตัว และรัฐจึงเปลี่ยนไปใช้สถาบันพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนสถาบันชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมีเอกภาพและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

แต่เพราะรัฐควบคุมและใช้งานสถาบันพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐมาโดยตลอด ทำให้พุทธศาสนาไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐ หรือไม่สามารถออกนอกเส้นทางที่รัฐวางไว้ จึงทำให้สถาบันพุทธศาสนาอ่อนแอลงมาก ยกตัวอย่างเช่น สถาบันพุทธศาสนาหลักอย่างเถรสมาคมที่แทบจะไม่มีอำนาจเหลืออยู่ ต้องอาศัยรัฐหรือชนชั้นปกครองเข้ามาสนับสนุน คุ้มครอง และปกป้อง เมื่อถึงเวลาหนึ่ง รัฐก็ไม่ต้องการสถาบันศาสนาเข้ามาสนับสนุนอีก เพราะรัฐหันไปใช้ ‘IO (Information Operations : การปฏิบัติการข่าวสาร)’ ใช้กลยุทธ์ทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทำหน้าที่ได้ดีกว่าแทน

ในขณะเดียวกันก็เกิดสถาบันพุทธศาสนาแบบอิสระขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจจะมีอำนาจมากกว่าเถรสมาคม และถ้าหากกลุ่มสถาบันอิสระใหม่เหล่านี้ยังเดินตามทางที่รัฐต้องการ รัฐก็จะรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐจะดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและได้รับการยอมรับเป็นสถาบันทางศาสนาพุทธให้สามารถทำหน้าที่ต่อไป และทำหน้าที่ในเชิงประสานงานเป็น io ให้แก่รัฐด้วย

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์สุมาลีกล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงของโลก หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นซึ่งไม่เอื้อต่อการรวมศูนย์ของศาสนา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของคน เมื่อเข้าสู่ยุคเจเนอเรชันวาย (บุคคลซึ่งเกิดระหว่างปี 2523-2540) ที่มีลักษณะไม่ดำเนินตามขนบเดิมและมีทางเลือกอื่นเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะทำให้การสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นไทยภายใต้กรอบศีลธรรมชุดต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้น จึงทำให้สถาบันศาสนาต้องปรับตัว

อย่างไรก็ตาม สถาบันศาสนาไม่มีทางหายไป แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการของมนุษย์ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของทุนนิยม ศาสนาจะมีบทบาทในการสนับสนุนความต้องการของมนุษย์ทั้งทางกายและจิตใจ เช่น การบูชาวัตถุมงคลเพราะต้องการถูกล็อตเตอรี่ สีมงคลของกระเป๋าเงิน เป็นต้น ซึ่งถ้ารัฐต้องการประโยชน์จากทุนนิยม รัฐก็จะไม่ปฏิเสธหรือจะไม่ไปทำลายความเชื่ออะไรก็ตามที่มันตอบสนองความต้องการของมนุษย์ รัฐถึงขั้นให้ ‘ผี’ หรือ ‘พราหมณ์’ ที่ไม่ใช่พุทธศาสนาเข้ามาสอดแทรก ตราบเท่าที่ไม่ทำให้คนออกนอกลู่นอกทางจากทิศทางที่รัฐต้องการเพื่อให้ทุนนิยมขับเคลื่อนต่อไปได้

“สถาบันทางศาสนามันเป็น construct (ประกอบสร้าง) มันไม่ใช่ truth (ความจริง) มันไม่ใช่ reality (ความเป็นจริง) มันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นถูกกำหนดค่าขึ้น มันถูกให้ค่าโดยรัฐก็ดี หรือกลุ่มชนชั้นสูงก็ดี ถามว่าเมื่อมันเป็น construct มันมีสิทธิ์ที่จะหายไปได้ไหม มันหายไปได้ แต่ว่ามันจะหายไปได้ในลักษณะที่อันหนึ่งมันเปลี่ยนรูปตัวมันเองหรือ transform (เปลี่ยนรูปแบบ) ตัวมันเองไปยังรูปแบบใหม่ เพื่อตอบสนองโจทย์ใหม่ ตามยุคตามสมัย มันจะหายไป completely (อย่างหมดจด) ไหม อาจารย์คิดว่าชื่อสถาบันบางชื่อก็อาจจะหายไปตามเวลา แต่มันก็อาจจะมีชื่อสถาบันทางศาสนาใหม่ ๆ งอกขึ้นมา ตราบเท่าที่คนยังมีความต้องการทางด้านจิตใจที่ยังต้องการศาสนา รวมทั้งตราบใดที่รัฐยังรู้สึกว่าสถาบันทางศาสนาเหล่านี้ยังใช้ประโยชน์ได้”

บทบาทของสีขาวในสังคมไทย : ศาสนากับประเด็นความ ‘ศรัทธา’ ในภาวะวิกฤต

สำหรับประเด็นความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมไทยตอนนี้ อาจารย์สุมาลีกล่าวว่า ในปัจจุบันเห็นความแตกต่างทางความคิด คือ ขั้วที่เป็นประชาธิปไตยกับขั้วที่เป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งถ้าหากผู้มีอำนาจไม่ต้องการหาแนวทางในการเคารพความแตกต่าง หรือคิดว่าการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างจะไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่รัฐต้องการ ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อพูดถึงสถาบันทางศาสนา ก็มีบทบาทเชื่อมโยงกับประเด็นความแตกต่างทางความคิดค่อนข้างน้อย เพราะรัฐกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสถาบันทางศาสนามาโดยตลอด และปัจจุบันพุทธศาสนายังต้องอาศัยอำนาจรัฐในการคุ้มครองปกป้องตัวสถาบันด้วย เพราะฉะนั้นสถาบันทางศาสนาก็จะต้องพยายามทำอะไรก็ได้ที่ไม่ให้ตัวเองกลายเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ไม่เช่นนั้นสถาบันทางศาสนาอาจจะไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ โดยอาจจะยอมเป็นภัยต่อประชาชน ซึ่งทางขั้วที่เป็นประชาธิปไตยก็จะมองว่า ตรงนี้ศาสนานั้นน่าสิ้นหวัง เพราะศาสนาไม่สนับสนุนประชาชน

ในประเด็นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง อาจารย์สุมาลีกล่าวถึงบทบาทของสถาบันทางศาสนาในประเด็นนี้ว่า องค์กรทางศาสนาคือวัด และอาจจะรวมถึงองค์การทางศาสนาอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาท อย่างวัดก็รับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามที่ข่าวรายงานว่าเมรุเสียหาย รวมทั้งเปิดวัดให้เป็นศูนย์พักคอย ช่วยเอาของดำรงชีพแจกจ่ายประชาชน อย่างไรก็ตามบทบาทเหล่านี้พบเห็นจากสถาบันทางศาสนาอิสระ ในแง่ที่ว่า ‘วัดไหนพร้อม วัดนั้นก็ทำ’ มากกว่าที่จะเป็นบทบาทของสถาบันทางศาสนาหลักที่จะเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ ส่วนในด้านการสนับสนุนทางด้านจิตใจของสถาบันทางศาสนา อาจารย์สุมาลีกล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันทางศาสนามีบทบาทน้อยในการช่วยเหลือด้านจิตใจ อย่างกรณีสวดมนต์ไล่โควิด ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และได้รับการต่อต้านกลับมาด้วยซ้ำ เพราะโรคระบาดมีลักษณะเป็นเชิงวิทยาศาสตร์มาก บทบาททางจิตใจของสถาบันทางศาสนาจึงมีประสิทธิภาพน้อย หรือไม่มีประสิทธิภาพเลย

ส่วนประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเรื่องน้ำท่วมที่กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนในช่วงนี้ รวมทั้งมีประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ‘การสวดมนต์’ เพื่อไล่พายุ เมื่อถามถึงประเด็นนี้อาจารย์จึงเชื่อมโยงต่อจากประเด็นวิกฤตด้านโรคระบาดว่า เนื่องจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมันเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนเห็นว่ามันเกิดขึ้น และมันยังเป็นเรื่องปกติปกติมากกว่าโรคโควิด-19 ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมันเป็นปกติ พระก็สวดมนต์เป็นปกติอยู่แล้วเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้อาจารย์สุมาลียังกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเราจะไม่พูดถึงเรื่องการสวดมนต์ บทบาททางด้านจิตใจของสถาบันทางศาสนาก็ยังไม่สามารถทำได้อยู่ดีที่จะไปบอกประชาชนว่า ‘อนิจจัง (ความไม่เที่ยง) ทุกขัง (ความทุกข์ที่เกิดจากความไม่สามารถคงอยู่ในสภาพเดิมได้) อนัตตา (ความไม่ใช่ตัวตนและไม่สามารถควบคุมได้)’

เมื่อถามถึงประเด็นวิกฤตของความศรัทธา อาจารย์สุมาลีกล่าวว่า สถาบันทางพระพุทธศาสนานั้นปรับตัวช้า และมักจะมองว่าปัญหาวิกฤตศรัทธาเกิดมาจากปัจจัยภายนอก เช่น การเข้ามาของศาสนาอื่น แต่ไม่ได้มองว่าวิกฤตศรัทธานั้นเกิดจากโครงสร้างที่มันมีปัญหาข้างใน เช่น โครงสร้างที่อนุรักษนิยมเกินไป ถูกรัฐควบคุมมากเกินไป ซึ่งพอมองวิกฤตศรัทธามาจากข้างนอก จึงทำให้มองไม่เห็นปัญหาของตัวเรา ว่าที่จริงแล้วความเสื่อมศรัทธาเกิดจากอะไร เกิดจากข้างนอกจริง ๆ หรือเกิดจาก ความที่สถาบันทางศาสนาอ่อนแอจนถึงที่สุดแล้วจากการเป็นเครื่องมือของรัฐและอภิสิทธิ์ชน ดังนั้นจึงยังไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาได้ เพราะยังวิเคราะห์ปัญหาไม่ตรงจุด อ้างอิงคำพูดของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าเราไม่ได้ secularize (การทำให้เป็นฆราวาส) พิธีกรรมทางพุทธให้มันเชื่อมกับ atheist  (ผู้ไม่นับถือศาสนา) จำนวนมาก และไม่ได้มองในแง่ที่ว่าเราไม่เคยปรับตัวเองเพื่อไปเชื่อมกับโลกข้างนอก ไม่เคยเปิดพื้นที่สำหรับให้คนนอกศาสนาหรือให้คนที่เป็น atheist (ผู้ไม่นับถือศาสนา) เข้ามามีความรู้สึกซึมซับแบบไม่ต้องเป็นพุทธ แม้จะรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนดีเป็นคนฉลาดมาก เป็นนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง แต่ก็ไม่เคยสนใจประเด็นนี้เพื่อดึงคนเข้ามา เราไม่เคยพูดถึงสาระที่แท้จริงของการที่ทำไมถึงเข้าพรรษาแล้วไม่กินเหล้าแต่เราไปบังคับร้านไม่ให้ขายเหล้า

“ในแง่หนึ่ง ถ้าเอาตามภาษาอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) คือเราไม่ได้ secularize ไม่ได้พยายามจะทำให้พุทธเป็นสากล ให้สำหรับชาวโลกที่เขาจะมีส่วนร่วมกับพุทธ กับสถาบันทางพระพุทธศาสนา หรือไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับ doctrine (หลักธรรม) ของพุทธ เรากลับสร้างกำแพงโอบล้อมตัวเองว่าของฉันนี่มันบริสุทธิ์มากจนใคร ๆ ก็จ้องจะทำลาย งั้นก็ปิดประตูอยู่กันเองแล้วกัน”

จากทุก ๆ ประเด็นที่ รศ.ดร.สุมาลี มหณรงค์ชัย เล่าให้เราฟัง จึงนำไปสู่การติดตามและชวนวิเคราะห์ถึงบทบาทและจุดยืนในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยของสถาบันทางศาสนาในอนาคตว่าจะมีการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรต่อไป


อ้างอิง

http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/04.aspx
https://www.thansettakij.com/politics/452223
https://www.thansettakij.com/columnist/234315
https://thaihealthlife.com/ไตรลักษณ์/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save