Art & CultureLifestyleWritings

รายากับมังกรตัวสุดท้าย ส่งเสริมวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือยำใหญ่ผ่านสายตาฮอลลีวูด?


เรื่อง : นิชดา พูลเพชร
ภาพประกอบ : oilapisr

เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมแล้ว สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดจาก walt disney studio อย่าง รายากับมังกรตัวสุดท้าย (raya and the last dragon) ที่ ณ วันที่ 8 มีนาคม 2564 กวาดรายได้ไปถึง 52 ล้านบาทแล้ว

รายากับมังกรตัวสุดท้าย พาเราผจญภัยไปกับรายา เจ้าหญิงแห่งเผ่าหัวใจ ที่ออกเดินทางไปทั่วดินแดนคูมันตราเพื่อตามหาซิซู มังกรตัวสุดท้าย ซึ่งมีพลังพิเศษทำให้พ่อของเธอกลับมาเป็นมนุษย์อีกครั้งหลังถูกสัตว์ประหลาดดรูนทำให้กลายเป็นหิน และเพื่อรวบรวมเผ่าต่างๆ ในคูมันตรา ให้กลับมารวมกันเป็นหนึ่งให้ได้ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากจะสอดแทรกข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับความเชื่อใจคนใกล้ตัวไว้แล้ว จุดขายที่ทำให้คนไทยต้อง ‘กรี๊ด’  คือการที่ดิสนีย์หยิบเอาวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเป็นตัวชูโรงเป็นครั้งแรกในรอบ 97 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งดิสนีย์เลยทีเดียว

เจ้าหญิงดิสนีย์ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรก

สำหรับเด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ไม่ได้มีลักษณะภายนอกตรงตามแบบ ‘ค่านิยมของคนขาว’ ซึ่งเป็นรูปแบบที่มักได้รับการถ่ายทอดในสื่อ การได้เห็นตัวละครที่มีลักษณะคล้ายกับตัวเองโลดแล่นอยู่บนจอเงินในฐานะฮีโร่ผู้กอบกู้โลกถือเป็นการเสริมสร้างการยอมรับและความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กๆ และอาจทำให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อไปในอนาคต เพราะพวกเขาได้เห็นจากสื่อว่า คนที่ ‘เหมือนเขา’ ก็เป็นฮีโร่ได้ ในทางตรงกันข้าม การที่เด็กๆ เห็นสื่อนำเสนอตัวละครที่เหมือนพวกเขาในทางลบ หรือนำเสนอวัฒนธรรมของพวกเขาอย่างไม่ถูกต้อง นั่นย่อมส่งผลร้ายต่อการมองโลกและมองตัวเองของพวกเขาต่อไป เช่น การนำเสนอภาพว่าคนเอเชียนั้นฉลาดของชาติตะวันตก ทำให้เกิดภาพจำว่าคนเอเชียไม่ได้ถูกมองในแง่ลบ ส่งผลทำให้คนมองข้ามปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่คนเอเชียต้องประสบพบเจอจนทุกวันนี้

ดังนั้น หากจะมีภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งที่เข้ามาเป็น ‘ตัวอย่างที่ดี’ ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเราๆ ก็คงจะดีไม่น้อย ยิ่งถ้าหากภาพยนตร์เรื่องนั้น มีผู้สร้างเป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์ ที่หลายคนเมื่อได้ยินชื่อก็ต้องนึกถึงภาพยนตร์คุณภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ก็ย่อมสร้างผลกระทบไปได้ในวงกว้าง สร้างแรงบันดาลใจในการเป็นฮีโร่แก่ผู้ชม สร้างภาพลักษณ์ดีๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราให้ไปสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า รายากับมังกรตัวสุดท้าย ได้เข้ามาทำหน้าที่เหล่านั้นให้เราแล้ว

รายาคือตัวละครเจ้าหญิงคนล่าสุดที่ดิสนีย์สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนในการนำเสนอผู้คนและวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโลกที่รายาอาศัยอยู่อย่างดินแดนคูมันตรานั้น ได้ ‘แรงบันดาลใจ’ (ขอให้เก็บคำนี้ไว้ในใจก่อน) มาจากวัฒนธรรมของ 11 ประเทศในภูมิภาคผสมผสานกัน ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นเบญจา ผู้เป็นพ่อของรายาทำต้มยำ และรายาต่อสู้ด้วยศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมของภูมิภาค

น่าสนใจว่าทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้หลายคนมีเชื้อสายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียนบทร่วม qui nguyen และ adele lim ซึ่งมีเชื้อสายเวียดนามและมาเลเซีย รวมไปถึง ฝน-ประสานสุข วีระสุนทร head of story คนไทย ทั้งหมดค่อนข้างต่างไปจากภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ดิสนีย์ทำเกี่ยวกับวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่อเมริกัน โดยมาก ดิสนีย์มักใช้วิธีให้คนเขียนบท ที่ส่วนมากหรือทั้งหมดเป็นคนขาวและไม่ได้คุ้นเคยใกล้ชิดกับตัววัฒนธรรมนั้นๆ มาก่อน ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของประเทศที่จะนำเสนอแล้วจึงนำข้อมูลนั้นมาเขียนเป็นบทภาพยนตร์ ดังนั้น ครั้งนี้อาจถือได้ว่าดิสนีย์มีความพยายามจะนำเสนอวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ออกมาสมจริง และตรงใจคนในภูมิภาคนั้นจริงๆ บทจึงถูกเขียนโดยคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ทั้งนี้ nguyen ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกาอย่าง nbc ไว้ว่า “สำหรับพวกเรา การที่คุณมองเห็นว่ามีวัฒนธรรมของคุณอยู่ในหนังเรื่องนี้ มันก็เหมือนเจอไข่อีสเตอร์น่ะ เราอยากให้เห็นว่า วัฒนธรรมตะวันออก ก็นำมาประยุกต์เป็นบทหนังดีๆ สักเรื่องก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาจากวัฒนธรรมตะวันตกเสมอไป”

หม้อหลอม หรือยำเละ?

ไม่ใช่ทุกคนจะมองว่าการที่ดิสนีย์นำวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาผสมผสานกันออกมาเป็นโลกแฟนตาซีหนึ่งเดียวนั้นดีเสมอไป aja romano คอลัมนิสต์เชิงสังคมของเว็บไซต์ข่าวอเมริกัน vox เขียนไว้ในรีวิวของเขาว่า

“การที่ทีมผู้สร้างศึกษาค้นคว้าวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กันมาอย่างดิบดีนั้น จริงๆ ทำไปเพื่อที่จะได้เอาวัฒนธรรมอันหลากหลายของภูมิภาคนี้มาหลอมรวมกัน จับความหลากหลายมากมายมากลั่นกรองจนเหลือแค่ห้าเผ่า”

การที่ดิสนีย์เลือกนำเสนอวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรูปแบบหม้อหลอมนั้นทำให้สูญเสียรายละเอียดเล็กน้อยซึ่งมีความสำคัญไปเป็นจำนวนมาก เช่น สถาปัตยกรรมต่างๆ ในเรื่องที่ดูมินิมอล ไม่ค่อยมีการตกแต่ง (นึกถึงผนังวัดไทย ที่จะต้องมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังประดับเต็มทุกด้าน) เสื้อผ้าที่ตัวละครสวมดูไม่ค่อยมีลวดลายฉูดฉาด และแน่นอน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ ‘แรงบันดาลใจ’ มาจากวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่า การเรียกสิ่งนี้ว่าแรงบันดาลใจจะเป็นเหมือนการ ‘ปัดความรับผิดชอบ’ หากนำเสนอวัฒนธรรมออกมาได้อย่างไม่เต็มที่ ไม่ตรงตามจริง หรือเปล่า

อีกหนึ่งตัวละครที่ถูกวิจารณ์อย่างมาก คือ ซิซู มังกรตัวเอกของเรื่อง ที่ถูกชาวเน็ตหลายคนมองว่าหน้าตาเหมือนยูนิคอร์น ไม่ก็เอลซ่าจาก frozen ตัวละครซิซูนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากพญานาค สัตว์ในตำนานพื้นบ้านของภูมิภาคเรานี้เอง น่าสังเกตว่า ภาพ concept art ของ scott watanabe ผู้เป็น visual development artist ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ออกแบบให้ตัวละครซิซูนั้นมีความใกล้เคียงกับพญานาคที่เราคุ้นเคยกันมากกว่าซิซูที่เราได้เห็นในตัวภาพยนตร์จริงๆ จึงน่าตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมดีไซน์ของตัวละครซิซูถึงถูกปรับจนกลายเป็นตัวมังกรนุ่มฟูอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์ไปเสียได้ และถ้าคุณเดาว่าเป็นเพราะดิสนีย์ทำดีไซน์ให้น่ารักๆ เผื่อทำเป็นตุ๊กตาขายเด็กๆ เราเดาเหมือนคุณ

ภาพ concept art โดย Scott Watanabe
ซิซูในภาพยนตร์

อีกหนึ่งประเด็นดราม่าของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการที่นักพากย์ตัวละครหลัก มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ kelly marie tran ผู้ให้เสียงรายา ที่มีเชื้อสายเวียดนาม ส่วนนักพากย์คนอื่นๆ มาจากฝั่งเอเชียตะวันออกกันทั้งหมด เช่น awkwafina ผู้ให้เสียงซิซู เป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีนและเกาหลี ซึ่งนำไปสู่คำวิจารณ์ว่า ในสายตาของดิสนีย์นั้นมองเอเชียทั้งทวีปเป็นสังคมและวัฒนธรรมเดียวกันไปหมดหรือไม่ และการเลือกที่จะให้พื้นที่กับนักพากย์เอเชียตะวันออกมากกว่านักพากย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งถูกคนในวัฒนธรรมอเมริกันเป็นใหญ่ (americancentric) จำนวนหนึ่งตีตราว่าเป็น ‘เอเชียป่า’ ซึ่งเป็นภาพจำของคนอเมริกันตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ว่าคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ ‘ศิวิไลซ์’ เท่าฝั่งเอเชียตะวันออก เพราะคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผิวสีเข้มกว่าคนเอเชียตะวันออก มาโดยตลอด มันมีนัยยะอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ 

แล้วคุณควรไปดู ‘รายากับมังกรตัวสุดท้าย’ หรือไม่?

สำหรับผู้เขียน รายากับมังกรตัวสุดท้าย เป็นภาพยนตร์ดิสนีย์ที่ดำเนินเรื่องตามสูตรสำเร็จเดิมๆ ที่มีตัวละครเจ้าหญิงเป็นตัวเด่น มีตัวละครรองน่ารักๆ ออกผจญภัยในดินแดนอัศจรรย์ อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ยกเว้นว่า    รายาไม่ได้ร้องเพลงเลยในเรื่อง ต่างจากเจ้าหญิงดิสนีย์คนอื่นๆ งานภาพสวยงามตามมาตรฐานดิสนีย์ ตัวละครน่ารักแต่ยังขาดมิติไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครรองอย่างบุญ ทอง และน้อย ที่เหมือนมีไว้เป็นเครื่องมือช่วยรายาให้ประสบความสำเร็จ มากกว่าเป็นตัวละครที่มีเรื่องราวของตัวเอง ส่วนในแง่มุมการนำเสนอวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ยังนับว่า ‘ดีกว่าไม่ทำ’

แต่เรายังต้องการให้ดิสนีย์ซึ่งเป็นบริษัทอเมริกันเป็นกระบอกเสียงให้เราอยู่อีกหรือ ในเมื่อปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพผลิตภาพยนตร์ดีๆ เทียบเท่ามาตรฐานโลกได้แล้ว โดย hoai-tran bui นักวิจารณ์ภาพยนตร์จากเว็บไซต์ slashfilm กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์กับช่องวิทยุ npr ว่า

“ตอนนี้เราได้เห็นเรื่องราวต่างๆ เล่าผ่านมุมมองของคนเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นแล้ว ดังนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องรอเศษขนมปังจากฮอลลีวูดอีกต่อไป”

อ้างอิง

vox.com
scottwatanabeart.com
npr.org

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

Nobuo Uematsu นักประพันธ์ปีศาจผู้เป็นเงาเบื้องหลังซีรีส์เกม ‘Final Fantasy’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ในที่สุด!! บอสก็ตายสักที” ผมวางจอยเครื่องเกม PlayStation ลงบนพื้นก่อนที่จะชูมือขึ้นด้วยความดีใจ ด้วยระบบของเกม ‘Final Fantasy VII’ ที่ทำให้ต้องจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ผมเลยรู้สึกว่าการต่อสู้กับบอสตัวนี้ใช้เวลานานและสูญเสียพลังงานไปมากเหลือเกิน ...

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

Writings

ฉันที่ว่าเก่ง ก็ยังเจ๋งไม่เท่าเธอเลย: ว่าด้วยตัวละครรองที่คอยเสริมพลังให้เหล่าตัวละครหลักคนเก่งจากภาพยนตร์แนว Chick Flick

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี  หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนภาพยนตร์ที่นำมาเล่า เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนว Chick Flick หรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ คือมีผู้หญิงรับบทตัวหลักของเรื่อง มูดแอนด์โทนของงานศิลป์และเสื้อผ้าของตัวละครที่ส่วนใหญ่จะเน้นสีชมพู สีฟ้าเป็นหลัก ...

Writings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส  เมื่อเราฟังดนตรี ...

Writings

เมื่อเหล่าตัวละครรองในอนิเมะอยากลองสมัครงาน

เรื่องและภาพ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ และ ปิยะพร สาวิสิทธิ์ “ถ้าหากไม่มีพวกเรา ไอ้พวกตัวละครหลักที่คนชอบเยอะๆ คงไม่อยู่รอดจนถึงตอนจบหรอก!” คงจะมีอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราวที่เหล่าตัวละครประกอบในอนิเมะนึกคิดประโยคดังกล่าวขึ้นด้วยความน้อยใจ เพราะอันที่จริงแล้ว ตัวประกอบอย่างพวกเขาก็มีบทบาทที่เก่งกาจและสลักสำคัญไปไม่น้อยกว่าตัวละครหลักเลยเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่รัศมีความโดดเด่นของพวกเขาไม่สามารถสว่างเจิดจ้าได้เท่ากับเหล่าตัวเอกเท่านั้นเอง พอเล่นบทคนเก่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save