SocialWritings

เสรีภาพสื่อไทย จากจุด (เคย) สูงสุด สู่ยุค…

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“เสรีภาพของสื่อไทยยังมีอยู่ไหม” กลายเป็นคำถามของประชาชนที่ท้าทายการทำงานของสื่อทุกวันนี้ ท่ามกลางสังคมที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ที่ไม่ว่าฝ่ายใดก็มักจะไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อ เช่น หาว่านำเสนอข่าวไม่รอบด้านบ้าง เข้าข้างเยาวชนบ้าง เข้าข้างรัฐบาลบ้าง ฯลฯ จนดูเหมือนสื่อใกล้จะหมดสภาพในการทำหน้าที่สานความสัมพันธ์ให้คนได้แลกเปลี่ยนและรับฟังกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีกัลยาณมิตรคนหนึ่งถามขึ้นท่ามกลางหมู่เพื่อนฝูงว่า สื่อสมัยก่อนเขามีเสรีภาพไหม เขาใช้เสรีภาพเพื่อประโยชน์ของสาธารณะมากน้อยเพียงใด

ผู้เขียนในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านการข่าวมาบ้างก่อนหน้านี้ ก็เลยอยากจะใช้เวทีนี้เล่าสู่กันฟังถึงเสรีภาพสื่อในอดีต ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ตั้งหลักให้ดี ก่อนที่จะช่วยกันพัฒนาสื่อไทยให้กลับมาแข็งแรง เป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนอีกครั้ง

เมื่อนึกถึงการใช้เสรีภาพของสื่อไทยในอดีต พบว่ามีสองเหตุการณ์ที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจ

เหตุการณ์แรกคือเหตุการณ์พฤษภามหาโหด ปี 2535 ตอนนั้นสังคมไทยค่อนข้างเห็นพ้องร่วมกันในการต่อต้านการรับตำแหน่งนายกฯ ของพลเอกสุจินดา คราประยูร

พลเอกสุจินดาเคยกล่าวหลังยึดอำนาจว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) จัดการปัญหาต่างๆ อันเป็นที่มาของการรัฐประหารและจัดการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับเข้ากรมกอง และสัญญาว่าเขาจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ

แต่สุดท้าย พรรคสามัคคีธรรม (อาจเทียบได้กับพรรคพลังประชารัฐในตอนนี้) ชนะการเลือกตั้ง และเชิญเขาเป็นนายกฯ เขาให้สัมภาษณ์น้ำตาคลอเบ้าว่า “ผมจำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติ” แต่มติชนขึ้นพาดหัวว่า “สุจินดา น้ำตาสอ”

หลังจากนั้นประชาชนพากันลงถนนขับไล่พลเอกสุจินดาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าแกนนำทั้งหลาย รวมทั้งพลตรีจำลอง ศรีเมือง ถูกทยอยจับเข้าคุก สื่อโทรทัศน์นำเสนอข่าวอะไรมากไม่ได้เพราะรัฐเป็นเจ้าของคลื่น จึงเหลือแต่หนังสือพิมพ์ที่พยายามนำเสนอความจริงอย่างไม่ลดละ

ในช่วงนั้นทหารเข้าควบคุมโรงพิมพ์ แต่กองบรรณาธิการบางแห่งก็แอบเอาต้นฉบับไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเซนเซอร์ สุดท้ายเมื่อมีการยิงประชาชนกลางพระนคร เหตุการณ์ก็จบลงด้วยการเข้าเฝ้าฯ พลเอกสุจินดาประกาศลาออก

จากเหตุการณ์ยิงประชาชน อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนเหตุการณ์พฤษภา 35 ได้สูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะลูกชายสงสัยว่าทำไมข่าวโทรทัศน์บอกว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนนิดหน่อย แต่หนังสือพิมพ์บอกว่ามีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ท้ายที่สุดด้วยความอยากรู้ความจริง ลูกชายจึงขออนุญาตพ่อออกไปดูเหตุการณ์การชุมนุม แล้วก็ไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย

การไม่มีเสรีภาพของสื่อ นำไปสู่การตายของคนได้เลยทีเดียว

 จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สังคมเรียกร้องให้เกิดสถานีโทรทัศน์ที่มีเสรีภาพ ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐ ในที่สุดเราจึงได้สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ขึ้นมาที่มีชื่อว่า ไอทีวี  โดยมีโมเดลคือ ให้เอกชนเป็นผู้ถือหุ้น 10 ราย รายละ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้มีใครมีอำนาจสั่งการได้เพียงลำพัง

ในเวลานั้น ไอทีวีได้กลายเป็นสถานีที่มีความโดดเด่นในด้านข่าวมาก คนที่ไม่รับความเป็นธรรม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ล้วนไปพึ่งไอทีวีให้ช่วยทำข่าวเพื่อเสนอปัญหาให้ ทำให้ไอทีวีเป็นสถานีที่นำเสนอข่าวอย่างเข้มข้น และเป็นที่พึ่งพาของสังคมได้ นักข่าวชื่อดังจำนวนมากก็เคยเป็นศิษย์เก่าไอทีวี เช่น เทพชัย หย่อง สรยุทธ์ สุทัศนจินดา กรุณา บัวคำศรี กิตติ สิงหาปัด ฐปนีย์ เอียดศรีชัย และนาตยา แวววีระคุปต์

แต่ด้วยความแข็งแกร่งของไอทีวีซึ่งชอบตรวจสอบอำนาจรัฐ ทำให้รัฐไม่พอใจ ผนวกกับวิกฤติเศรษฐกิจ จึงมีการแก้ไขโมเดลอนุญาตให้ไอทีวีมีผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ หลังจากนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลก็บีบบังคับให้ไอทีวีไม่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ

ไอทีวีจึงเสื่อมลงนับจากนั้น

 อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจคือ เหตุการณ์ในช่วงรัฐบาลทักษิณสอง (พ.ศ.2548) ภายหลังจากที่พรรคการเมืองของคุณทักษิณชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่เมื่อใช้อำนาจมาก สังคมก็เริ่มตั้งคำถามต่อพฤติกรรมการที่ส่อเค้าไปในทางทุจริต หาผลประโยชน์เพื่อพวกพ้อง กลไกการถ่วงดุลอำนาจรัฐทั้งหลาย เช่น สส.สว.ปปช.กกต.สตง. ล้วนถูกแทรกแซงจนอ่อนแรงเกินกว่าที่จะไปตรวจสอบรัฐได้

ดังนั้นจึงเหลือแต่เพียงสื่อมวลชนเท่านั้นที่จะรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชน อย่างไรก็ตามสื่อวิทยุและโทรทัศน์ยังอยู่ในสภาพเช่นเหตุการณ์พฤษภามหาโหดคือ รัฐยังเป็นเจ้าของคลื่น การสั่งปลดกองบรรณาธิการ การถอดโฆษณา ฯลฯ ทำให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ไม่กล้าทำอะไรกับรัฐมากนัก

ว่ากันว่าในยุคนั้น นักวิชาการ หรือเอ็นจีโอที่ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ จะได้รับการบอกเล่าก่อนออกอากาศว่า “หากอยากจะพูดอะไรที่วิจารณ์รัฐบาลก็ให้พูดออกไปเลย เพราะพิธีกรจะไม่ถาม”

ในที่สุดจึงเหลือเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่ยังสามารถใช้เสรีภาพได้คล่องตัวกว่าสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในการตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ในที่สุดสื่อไทยทั้งปวงก็ทะยอยถูกอำนาจรัฐและทุนเข้าแทรกแซงอย่างเข้มข้นด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายหลักสิบล้าน การให้เอกชนเข้าถือหุ้นสื่อเพื่อเข้าไปควบคุมกองบรรณาธิการ การสั่งปลดบรรณาธิการที่ชอบตรวจสอบรัฐ การสั่งเปลี่ยนนักข่าวสายทำเนียบฯ ที่ชอบถามซักไซ้ หรือการอ้างชาติโดยบอกว่าสื่อที่ตรวจสอบรัฐบาลคือสื่อที่ไม่คิดถึงประโยชน์ของประเทศ หรือการสร้างเหตุการณ์ใหม่เพื่อให้สื่อและสังคมสนใจจนลืมประเด็นที่รัฐกำลังมีปัญหา (หรือที่เรียกว่าสปินข่าว) รวมทั้งการสร้างความหวาดกลัวในแวดวงราชการ หากข้าราชการคนใดพูดกับสื่อในลักษณะที่ตรวจสอบรัฐ จะโดนเด้ง-โดนย้าย หรือการใช้ความรุนแรงทางตรงคือ มีกองกำลังไปปิดล้อมสำนักข่าวแห่งหนึ่งตลอดคืนโดยที่ไม่มีหน่วยงานใดๆ ของรัฐไปให้ความช่วยเหลือเลย

ความไม่มีเสรีภาพของสื่อ จนกระทั่งแทบตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้นี่เอง ทำให้องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) จัดลำดับเสรีภาพของสื่อไทยจากอันดับ 59 ในยุคทักษิณหนึ่ง ร่วงกลายมาเป็นลำดับที่ 107 ในยุคทักษิณสอง

หลังจากนั้นสื่อไทยในยุครัฐบาลต่อมา ก็ถูกจัดอันดับ “ร้อยขึ้น” มาโดยตลอด เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลำดับที่ 153, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลำดับที่ 137 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลำดับที่ 136

ก่อนหน้าโน้น สื่อไทยเคยได้รับการจัดอันดับด้วยเลข “สองหลัก” เช่น สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เคยได้รับการจัดอันดับที่ 65 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาคประชาสังคมและสื่อสามารถใช้เสรีภาพตรวจสอบการทุจริตจนรัฐมนตรีต้องโทษจำคุก

ทว่าการจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ในลักษณะที่สื่อไทยเคยได้อันดับเป็นเลขสองหลักแบบในอดีต ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย

ตราบเท่าทุกวันนี้

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save