Writings

การออกจากกรอบบทบาททางเพศ ในการแถลงข่าวของคณะโฆษกนายกรัฐมนตรี

เรื่อง : กัญญาภัค วุฒิรักขจร, นริศรา พรรณโนภาศ, ปาณัสม์ จันทร์กลาง และ สมิตา พงษ์ไพบูลย์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“One is not born, but rather becomes, a Woman.”

ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) เขียนไว้ใน The Second Sex ปี 1949 มีความหมายว่า บุคคลผู้หนึ่งไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง หากแต่กลายเป็นผู้หญิง

จากสังคมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน หล่อหลอมให้เกิดบทบาททางเพศขึ้น เพศหญิงต้องอ่อนหวาน ไมตรี เพศชายต้องเข้มแข็ง ดุดัน ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ที่นอกจากความเป็นตัวตนแล้ว ยังกำหนดหน้าที่ในการทำงาน งานนี้เหมาะกับผู้หญิงแต่ไม่เหมาะกับผู้ชาย งานนั้นเหมาะกับผู้ชายแต่ไม่เหมาะกับผู้หญิง

ประวัติศาสตร์ผู้หญิง

ผู้หญิงเคยเป็นรองผู้ชายในแทบจะทุกเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ อำนาจ แต่แล้วช่องว่างเหล่านี้ก็ค่อยๆ ลดลง ผู้หญิงขยับขึ้นมาเท่าเทียมมากขึ้น จากการเรียกร้องสิทธิสตรีในแต่ละครั้ง

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สตรีในประเทศอังกฤษรวมตัวกัน จนมาในปีค.ศ. 1928 ภายหลังเหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิสตรี รัฐบาลอังกฤษก็ได้ให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์และมีอายุ 30 ปีขึ้นไป เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของสตรีที่เข้าไปมีบทบาทในการเป็นแรงงานประจำภาคส่วนต่าง ๆ ทดแทนประชากรชายที่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ถือเป็นความสำเร็จในการการเรียกร้องต่อสู้เพื่อได้มาซึ่งสิทธิการเลือกตั้ง

เส้นทางการต่อสู้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกครั้งที่ผู้หญิงข้ามผ่านกำแพงชั้นแรก ก็ยังมีชั้นที่สอง ชั้นที่สาม และอีกมากมายนับไม่ถ้วนคอยขัดขวางอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกฎกติกา แนวคิด ความเชื่อ “ชายเป็นใหญ่” เป็นสิ่งกดทับผู้หญิง ไม่ให้ข้ามผ่านมาง่ายๆ

แต่ผู้หญิงจะไม่เป็นรองให้ผู้ชายอีกแล้ว

คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

คณะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 4 คนประกอบไปด้วย นายอนุชา บูรพชัยศรี อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ นางสาวทิพานัน ศิริชนะ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล สังกัดพรรคภูมิใจไทย มีเพียงนายอนุชาเท่านั้นที่เป็นเพศชาย และเป็นโฆษกฯ อีกสามคนที่เหลือเป็นเพศหญิงทั้งหมด และเป็นรองโฆษกฯ เป็นเรื่องน่ายินดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถมีบทบาทในหน้าที่การงานสายการเมืองได้

ทว่า ภายใต้เรื่องที่น่ายินดีนั้น ก็ยังไม่พ้น ‘การเมือง’ ที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผู้คนเหล่านี้คือ ‘โล่’ ที่คอยปกป้องชื่อเสียงของรัฐบาล ซึ่งการเลือกใช้ประโยชน์ของบทบาททางเพศที่สังคมมอบให้ ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สามารถนำมาใช้ได้ ผ่านกรอบการเจรจาลดความขัดแย้งที่มอบให้เพศหญิง และกรอบความมีอำนาจที่มอบให้เพศชาย

การศึกษาบทบาททางเพศ

ในเรื่องการเมือง วาทศิลป์เป็นอาวุธสำคัญของนักการเมือง เพื่อชักชวน เชื้อเชิญ หรือชี้นำให้ผู้ฟังเห็นดีเห็นชอบกับสิ่งที่นักการเมืองพูด ดังนั้นนักการเมืองจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับประชาชนและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ในรายวิชา วส.211 การสื่อข่าว ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้ศึกษาได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาบทบาททางเพศที่ปรากฏในการแถลงข่าวระหว่างโฆษกประจำสำนักรัฐมนตรีชายและโฆษกประจำสำนักรัฐมนตรีหญิง” เพื่อศึกษากรอบทางเพศกับการปฏิบัติหน้าที่การแถลงข่าวของโฆษกฯ ชายและหญิงว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

เมื่อรวบรวมและวัดพื้นที่ข่าวคณะโฆษกฯ ที่เผยแพร่ในหน้าเว็บไซต์รัฐบาลไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 31 ตุลาคม 2565 ตามกรอบที่ต้องการศึกษา ตลอดระยะเวลา 2 เดือน พบข่าวทั้งหมด 498 ชิ้น แยกเป็นรายบุคคล โดยเป็นของนายอนุชา 196 ชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 39.3) นางสาวรัชดา 108 ชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 21.7) นางสาวไตรศุลี 108 ชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 21.7) และนางสาวทิพานัน 86 ชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 17.3)

กรอบทางเพศที่ต้องการศึกษาได้แก่ “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของเพศหญิง มีความอ่อนหวาน นุ่มนวล (Bem, 1981) แปรเปลี่ยนความขัดแย้งให้เกิดสันติสุข (อภิญญา ดิสสะมาน, 2563) เป็นการสื่อสารเพื่อต่อรอง เพื่อขอร้อง และเพื่อเชิญชวนให้ผู้รับสารยินยอมกระทำตามจุดประสงค์ของข่าว

ส่วนกรอบทางเพศอีกกรอบหนึ่งคือ “กรอบความมีอำนาจ” ซึ่งเป็นลักษณะที่พบมากในเพศชาย มีความเป็นผู้นำ กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ มีพลังอำนาจ (Bem, 1981) ที่สื่อถึงการสั่งการ บังคับ กำชับ กล่าวโจมตี เพื่อให้ผู้รับสารกระทำตามจุดประสงค์

ผลการศึกษาเป็นดังนี้

แผนภูมิเปรียบเทียบอัตราส่วนเนื้อหาข่าวที่นำเสนอของโฆษกนายกรัฐมนตรี ภายใต้กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง และกรอบความมีอำนาจ

จากแผนภูมิข้างต้น แสดงให้เห็นดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล

นางสาวไตรศุลีอยู่ภายใต้ “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” ซึ่งเป็นบทบาทหลักของผู้หญิง ที่ร้อยละ 53.8 ซึ่งสูงที่สุดในหมู่โฆษกฯ เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 23 กันยายน 2565 แถลงข่าว “อย่าหลงเชื่อ แอบอ้าง อนุทิน-ศักดิ์สยาม กว้านซื้อพืชกระท่อม เตือนภัย หลอกปลูกพืชกระท่อมระบาด แนะเกษตรกรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนลงทุน” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59584) และนางสาวไตรศุลีอยู่ภายใต้ “กรอบความมีอำนาจ” ที่ร้อยละ 46.2 เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 28 กันยายน 2565 แถลงข่าว “ย้ำเตือนข้อกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ห้ามสูบทั้งในโรงเรียนและที่สาธารณะ พร้อมเตือนห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59771)

นายอนุชา บูรพชัยศรี

รองลงมาเป็นนายอนุชา อยู่ภายใต้ “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” ที่ร้อยละ 43.74 เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 4 กันยายน 2565 แถลงข่าว “รัฐบาลห่วงใยประชาชนเสี่ยงป่วยจากยุงลายในช่วงฤดูฝน แนะปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อยุงลาย” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58792) และนายอนุชา อยู่ภายใต้ “กรอบความมีอำนาจ” ที่ร้อยละ 56.26 เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 6 ตุลาคม 2565 แถลงข่าว “โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ให้การช่วยเหลือ เยียวยาและดูแลครอบครัวผู้สูญเสียโดยด่วน” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60144)

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก

ถัดมาเป็นนางสาวรัชดา อยู่ภายใต้ “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” เพียงร้อยละ 30.57 เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 26 ตุลาคม 2565 แถลงข่าว “รัฐบาลจัดสายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 คุยไลน์ @1165huangyai ตอบทุกเรื่องเพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติด” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60867) และนางสาวรัชดาอยู่ภายใต้ “กรอบความมีอำนาจ” ที่ร้อยละ 69.43 เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 6 กันยายน 2565 แถลงข่าว “รองโฆษกรัฐบาลเตือนร้านธงฟ้า อย่าฉวยโอกาสจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตรวจพบดำเนินคดีตามกฎหมายทันที” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58872)

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ

สุดท้ายเป็นนางสาวทิพานัน ที่อยู่ภายใต้ “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” เพียงร้อยละ 28.26 เท่านั้น เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 2 กันยายน 2565 แถลงข่าว “’ทิพานัน’เชิญชวนสตรีไทย-องค์กรสตรี ร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจBCG มุ่งลดเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58727) แต่นางสาวทิพานันกลับอยู่ภายใต้ “กรอบความมีอำนาจ” ร้อยละ 71.24 ซึ่งสูงที่สุดในหมู่โฆษกฯ เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 14 กันยายน 2565 แถลงข่าวตอบโต้พรรคเพื่อไทย “”ทิพานัน” แจงถกกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ไทยไม่เสียเปรียบการค้า ยกประเด็นสำคัญ4 ข้อ วอนเพื่อไทยอย่าโยง-จินตนาการเกินจริง ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59224)

โฆษกรัฐบาลข้ามกรอบทางเพศ กับ ผลประโยชน์ทางการเมือง

นายอนุชา โฆษกฯ ชาย นางสาวรัชดาและนางสาวทิพานัน รองโฆษกฯ หญิง มีความเด่นด้าน “การข้ามกรอบทางเพศ” โฆษกฯ ชายสามารถทำหน้าที่ด้วยความนุ่มนวลและเป็นมิตร รองโฆษกฯ หญิง ก็สามารถใช้อำนาจ สั่งการ และถ่ายทอดคำสั่งดั่งชายได้ เป็นการใช้จุดเด่นของกรอบทางเพศโดยข้ามกรอบที่ตนควรกระทำ สามารถมีได้ทั้งความเป็นชายและความเป็นหญิงตามสถานการณ์ที่เหมาะสมในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

การศึกษาพบว่านายอนุชาไม่เป็นไปตามกรอบของผู้ชายที่มีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง  จากอัตราส่วนการแถลงข่าวภายใต้กรอบความมีอำนาจ มีน้อยกว่านางสาวรัชดาและนางสาวทิพานันที่เป็นผู้หญิงเสียอีก แม้เป็นการดีที่นายอนุชาพยายามข้ามกรอบและพิสูจน์ว่าสามารถทำในสิ่งที่เด่นภายใต้กรอบของผู้หญิง อย่างการเจรจาต่อรองได้ แต่สังคมยังคงมอบกรอบทางเพศให้ ว่าเป็นคนซื่อๆ ไม่สมกับเป็นผู้ชาย สู้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่ได้ ทำได้เพียงแถลงข่าวไปเรื่อยเท่านั้น (Twitter @supersu36302950, 2565)

ส่วน “กรอบความมีอำนาจ” ที่นางสาวไตรศุลีเลือกใช้น้อยกว่าโฆษกฯ คนอื่นๆ นั้น เพราะเลือกใช้กรอบ “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” เพื่อทำหน้าที่ปกป้องนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะจากกรณีนโยบายกัญชามากกว่า นางสาวไตรศุลีเป็นโฆษกฯ เพียงคนเดียวที่ทำหน้าที่นี้เนื่องมาจากการสังกัดอยู่ในพรรคภูมิใจไทย เช่น ตัวอย่างข่าววันที่ 23 กันยายน 2565 นางสาวไตรศุลีแถลงข่าว “อย่าหลงเชื่อ แอบอ้าง อนุทิน-ศักดิ์สยาม กว้านซื้อพืชกระท่อม เตือนภัย หลอกปลูกพืชกระท่อมระบาด แนะเกษตรกรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนลงทุน” (เข้าถึงได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59584)

ส่วนนางสาวรัชดา มุ่งเน้นไปทาง “กรอบความมีอำนาจ” ของเพศชาย เป็นการแถลงข่าวส่งต่อคำสั่ง แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่จะออกจาก “กรอบการเจรจาลดความขัดแย้ง” ของเพศหญิงได้เช่นกัน

ในขณะที่นางสาวทิพานันเลือกใช้ “กรอบความมีอำนาจ” สูงกว่าโฆษกฯ คนอื่นๆ แสดงออกซึ่งคุณสมบัติแข็งกร้าว สามารถสู้รบปรบมือกับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้งฝ่ายค้านและอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวทิพานันถูกสื่อเรียกด้วยฉายา “รองโฆษกฯ สายฟาด” (workpointTODAY, 2565) สะท้อนว่าเธอก้าวข้ามบทบาททางเพศออกมาได้ แต่ในเวลาเดียวกันนางสาวทิพานันยังคงอยู่ในบทบาทของเพศหญิงด้วย เช่นการถูกนำเสนอผ่านสื่อว่า “รองโฆษกทรงเครื่อง ไม่ว่าจะสายบู๊หรือสายหวาน” (สยามรัฐออนไลน์, 2565) ที่พฤติกรรมการบู๊ช่วยให้เป็นตัวแทนในการทำงานในพื้นที่ของผู้ชาย แต่การเหลือความหวานไว้ก็อาจช่วยให้การดำเนินงานราบรื่นขึ้น กล่าวคือแม้นางสาวทิพานันจะเลือกใช้กรอบเพศชายในการกล่าวโจมตี แต่การอิงอาศัยอยู่ภายใต้กรอบเพศหญิง บางครั้งกลับกลายเป็นผลดีกับการทำหน้าที่เป็นโฆษกฯ ที่เพศหญิงต้องได้รับการปกป้อง ไม่ควรหาเรื่องด้วย ทำให้สามารถโจมตีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโดยมี ‘ความสวย’ ของเพศหญิงเป็นพรีวิลเลจ ช่วยเป็นเกราะกำบังให้อีกชั้น ซึ่งเป็นบรรทัดฐานความงามที่เพศชายเข้าถึงได้น้อยกว่า

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปรากฎการณ์การข้ามกรอบทางเพศของนายอนุชาและนางสาวทิพานัน เป็นส่วนช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายของวาระการดำรงตำแหน่ง คือการรักษาภาพลักษณ์โดยนายอนุชา และการลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายค้านโดยนางสาวทิพานัน เพื่อรักษาคะแนนนิยมเตรียมตัวเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง

สังคมดึงกลับให้เข้ากรอบทางเพศ

บทบาททางเพศของนายอนุชาและนางสาวทิพานันดูเหมือนจะสลับกันแล้ว แต่ยังไม่พ้นถูกสังคมบางส่วนขีดเส้นกรอบ คาดหวังให้กลับมาปฏิบัติภายใต้บทบาททางเพศเดิม

สังคมคาดหวังที่จะให้นายอนุชามีแถลงข่าวด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว ดุดัน ฟาดฟันฝ่ายค้านให้สมกับความเป็นชาย มากกว่าการแถลงด้วยท่าทีนุ่มนวล เจรจา ขอร้อง ต่อรอง

ส่วนนางสาวทิพานัน แม้จะแสดงออกภายใต้กรอบเพศชายแบบเด่นชัด แต่ยังคงได้รับการปกป้องจากสังคมที่มองว่าเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอกว่าอยู่ดี

มรกต ณ เชียงใหม่ และคณะ (2563)  เสนอว่า สังคมควรเปิดโอกาสให้ผู้หญิงแสดงความสามารถในการทำงานได้ในแบบของพวกเธอ โดยไม่ควรนําเอามาตรฐานของผู้ชายมาเป็นตัวตั้ง เพราะเท่ากับเป็นการสร้างกดขี่ให้กับตัวผู้หญิงเอง ดังนั้นการเปรียบเทียบหรือการแข่งขันที่มีมาตรฐานแบบผู้ชายนั้นจึงหมายถึงความเหลื่อมล้ำที่ไม่มีวันเท่าเทียม ผู้หญิงควรได้รับโอกาสให้ออกแบบชีวิตในแบบของตนเอง ไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้าน และหากมนุษย์เชื่อในความหลากหลายในสังคม รวมถึงการให้เกียรติกัน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีเพศสรีระอย่างไร มนุษย์ไม่ควรนําเอาเรื่องชนชั้น เชื้อชาติ หรือความแตกต่างทางเพศมาเป็นตัวตัดสินชีวิตของมนุษย์ด้วยกันเอง การกระทำเช่นนี้จะสามารถนําผู้คนในสังคมไปพบกับสันติสุขและความเท่าเทียมที่เป็นธรรม

ดังนั้นแล้ว แม้การก้าวข้ามกรอบทางเพศเดิมๆ ที่มักเป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการดำเนินชีวิต มีแววจะเปิดกว้างและสร้างความน่ายินดีในสังคม แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวผ่านแบบสุดกรอบได้โดยไร้ขอบเขตและปัญหา

เพราะสังคมยังคงมีกำแพงหนากั้นอยู่ นั่นคือกรอบบรรทัดฐานทางเพศ ความคิด และความเชื่อ

ว่าผู้ชายสำคัญกว่า


บรรณานุกรม

@supersu36302950. (2565, 23 สิงหาคม). https://twitter.com/supersu36302950/status/
1561982823640465408?s=61&t=qThnjfzwcQSN8FWWnL9weg

BBC News ไทย. (2561). “อังกฤษรำลึกร้อยปีชัยชนะของขบวนการสตรีซัฟฟราเจ็ตต์”. https://www.bbc.com/thai/international-42976461

de Beauvoir, S. (1949). Le Deuxième Sexe.

workpointtoday. (2565, 29 สิงหาคม). เปิดใจ ‘ทิพานัน ศิริชนะ’ รองโฆษกฯ สายฟาด กับงานสายตรงจากรัฐบาล. https://workpointtoday.com/politics-tipa29082565/

ปณตพร พงษ์อนันตโยธิน. (2544). ทฤษฎีสกีมาด้านเพศของ Bem.

มรกต ณ เชียงใหม่, กิตติกร สันคติประภา, และปฐมาภรณ์ บุษปธำรง. (2563). การทำความเข้าใจปฏิบัติการความเป็นชายในพื้นที่งานหญิงเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศด้วยการศึกษาวิจัยชาติพันธุ์วรรณาแนวสตรีนิยม. วารสารสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาเชิงพุทธ, 5(9), 200-213.

รัฐบาลไทย. (2565, 14 กันยายน). “ทิพานัน” แจงถกกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก ไทยไม่เสียเปรียบการค้า ยกประเด็นสำคัญ4 ข้อ วอนเพื่อไทยอย่าโยง-จินตนาการเกินจริง ทำลายภาพลักษณ์ประเทศ. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59224

รัฐบาลไทย. (2565, 2 กันยายน). ‘ทิพานัน’เชิญชวนสตรีไทย-องค์กรสตรี ร่วมเป็นเจ้าภาพที่ดีประชุมเอเปคด้านสตรีและเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจBCG มุ่งลดเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58727

รัฐบาลไทย. (2565, 23 กันยายน). อย่าหลงเชื่อ แอบอ้าง อนุทิน-ศักดิ์สยาม กว้านซื้อพืชกระท่อม เตือนภัย หลอกปลูกพืชกระท่อมระบาด แนะเกษตรกรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนลงทุน. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59584

รัฐบาลไทย. (2565, 26 ตุลาคม). รัฐบาลจัดสายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 คุยไลน์ @1165huangyai ตอบทุกเรื่องเพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติด. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60867

รัฐบาลไทย. (2565, 28 กันยายน). เตือนข้อกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา ห้ามสูบทั้งในโรงเรียนและที่สาธารณะ พร้อมเตือนห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59771

รัฐบาลไทย. (2565, 4 กันยายน). รัฐบาลห่วงใยประชาชนเสี่ยงป่วยจากยุงลายในช่วงฤดูฝน แนะปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อยุงลาย”. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58792

รัฐบาลไทย. (2565, 6 กันยายน). รองโฆษกรัฐบาลเตือนร้านธงฟ้า อย่าฉวยโอกาสจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตรวจพบดำเนินคดีตามกฎหมายทันที. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58872

รัฐบาลไทย. (2565, 6 ตุลาคม). โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ให้การช่วยเหลือ เยียวยาและดูแลครอบครัวผู้สูญเสียโดยด่วน. https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/60144

สยามรัฐ. (2565, 4 กันยายน). “ทิพานัน ศิริชนะ” รองโฆษกรัฐบาล สายบู๊. [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=8bjletCgTcI

อภิญญา ดิสสะมาน. (2563). บทบาทของสตรีกับการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธีในประเทศไทย.วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์, 37(2), 1-18.

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Writings

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

When the party’s over, what do we need to recover? งานธรรมศาสตร์แฟร์ ทิ้งปัญหาอะไรไว้ให้เราบ้าง

เรื่องและภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง “ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ” คำพูดที่มีความหมายว่า แม้จะเจออะไรที่แย่ขนาดไหน แต่หลังจากที่มันผ่านไป ก็จะมีสิ่งดีตามมาเสมอแต่สำหรับงานธรรมศาสตร์แฟร์ (Thammasat Fair) เหมือนว่าจะไม่ใช่แบบนั้น งานธรรมศาสตร์แฟร์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ...

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 2

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, ทยาภา เจียรวาปี, ภัสรา จีระภัทรกุล และ พนิดา ช่างทอง เชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีผู้หญิงเก่งในใจตัวเองกันทั้งนั้น แต่จะเป็นใคร มีลักษณะนิสัยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัว ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save