LifestyleWritings

เดินทางผ่านเวลาไปกับบทเพลง: การบอกเล่าของเพลงจาก 4 ยุค

เรื่อง : ปุณยภา เรืองสุวรรณ, ณลินทิพย์ ตันทักษิณานุกิจ
ภาพประกอบ : ณลินทิพย์ ตันทักษิณานุกิจ

สบายดีหรือเปล่าข่าวคราวไม่เคยรู้
สืบดูเธอไม่อยู่แอบดูแวะมองหา
หายไปเลยไม่เคยหวนคืนมา
หายไปนานกับกาลเวลา
สบายดีหรือเปล่า — เอ็กซ์วายแซด (2530)

เนื้อเพลงคุ้นหูของใครหลายคนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเพลงสบายดีหรือเปล่า จากวงดนตรีแนวป๊อบอย่างวงเอ็กซ์วายแซด (xyz) ที่ออกในปี 2530 เพลงสบายดีหรือเปล่ามีทำนองเพลงสบายๆ น่าฟัง มีเนื้อหากินใจซึ่งเล่าถึงความรู้สึกคิดถึงแกมตัดพ้อเมื่อต้องห่างไกลจากเพื่อนเก่า ยากที่จะติดต่อ และยากที่จะกลับมาพบกันอีก

เพลงสบายดีหรือเปล่าได้สอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและบอกเล่าการเดินทางผ่านวันเวลาได้อย่างน่าสนใจผ่านการเล่าเรื่องราวง่ายๆ อย่างการ ‘แยกย้ายกันไปเติบโต’ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเพลงในยุค 80s ซึ่งถูกจัดอยู่ในฐานะเพลงฮิตจาก joox music อีกด้วย

ในครั้งนี้ผู้เขียนจึงย้อนเวลาผ่านการคัดเลือกบทเพลงดังของไทยจากทั้งหมด 4 ยุค ได้แก่ 80s, 90s, 00s และ 10s มานั่งฟังใหม่ เพื่อดูพัฒนาการของเนื้อเพลง เปรียบเทียบว่ามีความเหมือน ความแตกต่าง หรือสะท้อนความคิดหรือสังคมในแง่มุมใดบ้าง

เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 80s
เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 90s
เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 90s
เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 00s
เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 00s
เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 10s
เพลงฮิต 10 ลำดับจากยุค 10s

เพลงฮิต 10 ลำดับแรกของของแต่ละยุคนั้นมาจากการจัดลำดับโดยของ joox music แพลตฟอร์มฟังเพลงในรูปแบบสตรีมมิงซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยในปี พ.ศ.2559 ซึ่งมีผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ กว่า 45% ของข้อมูลที่นำเสนอในงานชิ้นนี้จึงเป็นข้อมูลที่มาจากความนิยมฟังเพลงผู้ใช้งานซึ่งอายุไม่เกิน 24 ปี

อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้เป็นเพียงมุมมองและความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น โดยวัตถุประสงค์หลักคืออยากชวนย้อนอดีตผ่านบทเพลงและหวังว่าจะมีอะไรๆ แลกเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน

ท่องกาลเวลา

หนึ่งสิ่งที่พบจากการไล่ฟังเพลงใน 4 ยุคคือ ไม่ว่าจะยุคไหน บรรดาเพลงส่วนมากมักมีความรักเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของเนื้อเพลงเหมือนกัน และเพลงเหล่านี้ก็เป็นที่ถูกอกถูกใจคนในสังคม ส่งผลให้แต่ละเพลงได้รับความนิยมทั้งในยุคสมัยที่เพลงนั้นถูกปล่อยออกมา และหลายเพลงก็ยังคงถูกพูดถึงจากบรรดาผู้ฟังในยุคปัจจุบัน

สำหรับยุค 80s (พ.ศ.2523-พ.ศ.2532) ผู้เขียนพบว่ากว่า 7 ใน 10 ของลำดับเพลงฮิต เป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไม่สมหวังในความรัก ซึ่งการถ่ายทอดอารมณ์ในบทเพลงนั้นมักจะกล่าวถึงสายลม และนก เพื่อแสดงถึงความอ้างว้าง เดียวดาย และเปล่าเปลี่ยว ยกตัวอย่างเช่น เพลงลมสวาท ของวงแกรนด์เอ็กซ์ เพลงนกเจ้าโผบิน ของจำรัส เศวตาภารณ์ หรือเพลงถามหาความรัก ของภูสมิง หน่อสวรรค์

เดียวดายเหมือนนกไร้รัง
สิ้นหวังร้าวโรยแรง
เหนื่อยอ่อน
ร่ำไห้ดังใจจะขาดรอน
ทอดถอนสะอื้น
ถามหาความรัก — ภูสมิง หน่อสวรรค์ (2526)

ต่อมาในยุค 90s (พ.ศ.2533-พ.ศ.2542) เพลงฮิตในยุคนี้ก็ยังเป็นเพลงที่เนื้อหาเกี่ยวกับรัก และเนื้อหาเด่นๆ ก็ยังสื่อถึงการผิดหวังในความรัก แต่ในยุคนี้เริ่มเห็นว่าความผิดหวังมักเกิดขึ้นจากมือที่สาม หรือการเลิกราที่อีกฝ่ายเลือกไปหาคนอื่นมากขึ้น เช่น เพลงในลำดับที่ 2 เพลงเลิกรา ของแมว จิรศักดิ์ หรือเพลงในลำดับที่ 3 อย่างเพลงเปลือง ของวงเกิร์ล (girl)

เธอกับเขา
เกินเลยไม่เคยได้คิด
ปล่อยความใกล้ชิด
ทำร้ายใจเราเรื่อยมา
เลิกรา — แมว จิรศักดิ์ (2542)

ยุคนี้ยังเป็นยุคที่วงการเพลงไทยเจริญรุ่งเรือง ค่ายเพลงใหญ่อย่างอาร์เอสและแกรมมี่แข่งขันกันในตลาดเพลง เมื่อประกอบกับเทคโนโลยีที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ทั้งตลับเทปคาสเซต ซีดี และเครื่องเล่น ทั้งหมดเอื้อให้การฟังเพลงเข้าถึงคนทั่วไป จนนำมาสู่การเกิดศิลปินที่มียอดขายทะลุหนึ่งล้านตลับ อย่างควีนออฟแดนซ์ของเมืองไทย คริสติน่า อาร์กีล่าร์ ในอัลบั้มนินจา หรือ ควีนออฟป๊อบร็อค ใหม่ เจริญปุระ ในอัลบั้มความลับสุดขอบฟ้าที่ขายได้ถึงสองล้านตลับ

เมื่อถึงยุค 00s (พ.ศ.2543-พ.ศ.2552) เพลงฮิตในยุคนี้เริ่มปรากฏแนวเพลงที่มีเนื้อหาให้กำลังใจ อย่างเพลงความเชื่อของวงบอดี้สแลม (bodyslam) และเพลง live & learn ของบอย โกสิยพงษ์ นักร้องนักแต่งเพลง ที่โด่งดังเรื่องเพลงรัก โดยเลือกให้คุณกมลา สุโกศล แม่ของน้อย วงพรู (กฤษดา สุโกศล แคลปป์) และนักธุรกิจหญิง เป็นผู้ร้อง เพื่อถ่ายทอดความหมายของบทเพลง โดยให้เหตุผลว่าต้องการให้คุณกมลาที่ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมามากเป็นผู้สื่อสารความคิดออกไป

เพราะชีวิตคือชีวิต
เมื่อมีเข้ามาก็มีเลิกไป
มีสุขสมมีผิดหวัง
หัวเราะหรือหวั่นไหว
เกิดขึ้นได้ทุกวัน
อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน
เติมความคิดสติเราให้ทัน
อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด
live & learn — บอย โกสิยพงค์, กมลา สุโกศล (2546)

ในยุคนี้เริ่มเห็นความหลากหลายของแนวเพลงเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับมีรายการเพลงในโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงอย่างเดอะสตาร์ หรืออะคาเดมี่ แฟนเทเชีย จึงทำให้วงการเพลงถูกจับตามองโดยคนในสังคมเป็นวงกว้าง

สุดท้าย ในยุค 10s (พ.ศ.2553-พ.ศ.2562) วงการเพลงมีความหลากหลายของแนวเพลงมากขึ้น มีนักร้องหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ประกอบกับยุคสื่อใหม่ที่สามารถเผยแพร่ผลงานได้หลากหลายช่องทางจึงทำให้เพลงเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย และมีสถิติจากยอดดาวน์โหลดและยอดผู้เข้าฟังเป็นตัวการันตีความสำเร็จของบทเพลงและผู้สร้างสรรค์ผลงาน สำหรับเนื้อหาเพลงฮิตในยุคนี้มีการผสมกันระหว่างเพลงรักที่สมหวังและผิดหวัง รวมทั้งมีเพลงแนวให้กำลังใจอย่าง แสงสุดท้าย ของวง bodyslam ที่ออกมาในปี 2552

รักเปลี่ยนไป

จากการรวบรวมข้อมูล ผู้เขียนเห็นว่าบทเพลงรักสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่คนในยุคนั้นๆ มีต่อความรัก

ในยุค 80s ผู้เขียนเห็นความกล้าในเนื้อเพลง กล้าที่จะชัดเจนกับความรู้สึกของตัวเอง กล้าที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์ กล้าที่จะบอกรักออกไป หรือกล้าที่จะยอมรับเจ็บปวดหากรักไม่สมหวัง เช่น เพลงทาสรักของวงแกรนด์เอ็กซ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เนื้อเพลงมักพูดถึงความไม่มั่นใจในความรัก กลัวที่จะมีความรัก รักข้างเดียวโดยไม่กล้าแสดงออกเพราะกลัวจะผิดหวังเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มขึ้นของเพลงรักในแนวไม่สมหวังที่กลายมาเป็นเพลงฮิต อาทิ เพลงต่อหน้าฉัน (เธอทำอย่างนั้นได้อย่างไร) ของวงดีทูบี (d2b) เพลงแทงข้างหลัง ทะลุถึงหัวใจของออฟ ปองศักดิ์ หรือเพลงคำยินดีของวงเคลียร์ (klear) เป็นต้น

จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่าความรักในยุคปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นยากกว่าเดิม และมีโอกาสไม่สมหวังมากกว่าในอดีตหรือไม่ หรือเพลงในแนวเศร้า อกหัก รักไม่สมหวังนั้นกินใจคนในปัจจุบันมากกว่า ไม่ว่าใครฟังก็อินตามไปด้วยได้ทั้งนั้น ซึ่งก็มาจากเหตุผลที่ว่าการฟังเพลงเศร้าจะช่วยพาเราย้อนอดีตหวนนึกถึงความทรงจำที่มีต่อบทเพลง จนทำให้เรามีอารมณ์ร่วมขณะฟัง ความรู้สึก ‘อิน’ จึงมาจากตรงนี้

ผู้เขียนยังสังเกตเห็นการทำลาย ‘กรอบของคำว่ารัก’ รูปแบบเดิมๆ ในช่วงปี 10s อย่างเพลง ยินดีที่ไม่รู้จัก ของวงทเวนตีไฟฟ์อาเวอส์ (25 hours) ซึ่งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง กวนมึนโฮ ของผู้กำกับคนดังอย่าง โต้ง—บรรจง ปิสัญธนะ ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปีพ.ศ.2553 ด้วย เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงความรักที่ไม่มีกฎเกณฑ์ ซึ่งต่างจากเพลงในอดีตที่มักพูดถึงความรักตามแบบฉบับ ที่มักเริ่มต้นจากความรักที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น นำไปสู่การทำความรู้จัก จนสุดท้ายเกิดเป็นความสัมพันธ์ดีๆ แต่ยินดีที่ไม่รู้จักกลับถ่ายทอดความรักที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน แต่ให้จดจ่อกับปัจจุบันที่มีความรักให้กันมากกว่า ซึ่งเข้ากับบริบทสังคมในยุคใหม่ที่ความรักมีรูปแบบหลากหลาย ไม่ตายตัว และไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน

ภาษารัก

ผู้เขียนเห็นการสอดแทรกวิธีการจีบที่ต่างกันในแต่สมัย เช่น ในยุคเก่าเนื้อเพลงที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจและอยากจะสร้างความสัมพันธ์แบบคนรัก มักจะใช้ภาษาในเชิงให้เกียรติอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกที่มี เช่นเพลงใจรัก ของสุชาติ ชวางกูร

เมื่อดวงใจมีรัก
มอบแด่ใครซักคน หมดทุกห้องหัวใจ
ขอให้เธอมั่นใจรักจริง
ฉันจะยอมมอบกายพักพิง
แอบแนบอิงนิรันดร์

ใจรัก — สุชาติ ชวางกูร (2526)

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน กลับพบเห็นการถ่ายทอดความรู้สึกในแนว ‘ซึน’ หรือการกระทำแบบปากไม่ตรงกับใจ รู้สึกอย่างไรกลับแสดงออกไปอีกอย่าง ซึ่งน่าจะมีผลมาจากความเปลี่ยนแปลงที่คนในยุคใหม่ไม่ค่อยมั่นใจในการแสดงออกด้านความรักอย่างที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น

เฮ้ เธอทำไมตัวเธอถึงด๊ำดำ
โอ้แม่งามขำ
ดำเป็นดินสอขนาดสองบี
หน้าอกหน้าใจก็ดูเหมือนจะไม่มี
จอแบนอย่างนี้
หมอเกาหลีคงไม่รับทำ
ท่อนแขนก็จัดว่าใหญ่
ผู้หญิงอะไรขาโต
ใครทำให้เธอโมโห
คงคอหักตาย
ไม่รู้น้ำหนักเท่าไหร่
กล้าชั่งให้ดูไหมนี่
จะเอาเธอมาแยกมองแต่ละที
ไม่เห็นจะมีอะไรสวยเลย
แต่ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน
คนมีเสน่ห์ — ป้าง นครินทร์ (2559)

แต่ก็น่าสังเกตว่า เพลงฮิตในรูปแบบซึนๆ อย่างเพลงคนมีเสน่ห์ที่อยู่ในลำดับที่ 8 ของเพลงฮิตยุค 10s นั้น แฝงไปด้วยการวิจารณ์ ล้อเลียน รูปร่างลักษณะภายนอก บนร่างกายของบุคคลอื่น (body shaming) ผสมกับการใช้กรอบมุมมองความงามแบบ beauty standard ของสังคมไทยมาวัดค่าคำว่า ‘สวย’ เพื่อที่สุดท้ายจะเผยความในใจว่าชอบฝ่ายตรงข้าม

ทั้งที่ปัจจุบันผู้คนในสังคมพยายามพูดคุยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในประเด็นดังกล่าว จนทำให้คนในสังคมตระหนักแล้วว่า การใช้คำพูดในแนว body shaming อย่างคำว่าตัวด๊ำดำหรือขาโตที่ปรากฏในเนื้อเพลง เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ และในขณะเดียวกันกรอบความคิดเกี่ยวกับ beauty standard ในรูปแบบเดิมกำลังถูกตั้งคำถาม และหลายฝ่ายก็กำลังผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเช่นเดียวกัน

สื่อกลางของความรัก

การเข้ามาของเทคโนโลยีทางการสื่อสารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และก็มีผลต่อความรักของผู้คนในสังคมนั้นด้วย และแน่นอนว่าในบทเพลงต่างๆ ก็มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องมือสื่อสารที่คนรักกันใช้ลงไปในเนื้อเพลงเช่นเดียวกัน

ตัวอักษร จำได้เสมอ
อบใจเธอ ที่ยังห่วงใย
คำว่ารัก อักษรา ค่ายิ่งใหญ่
โปรดเห็นใจ ฉันเช่นกัน
เอ่ยคำลา ว่าจะกลับมาเร็ววัน
เพื่อพบกัน ใจมั่นสัญญา

ยากยิ่งนัก — ชาตรี (2523)

เนื้อเพลงในปีแรกของยุค 80s พูดถึงเรื่องราวความเศร้าของรักทางไกล โดยมีสื่อกลางเป็นจดหมายเพื่อบอกเล่าเรื่องราว แสดงถึงความรัก ความห่วงใยที่มีให้ต่อกัน รวมถึงการให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับมาพบกัน วันเวลาผ่านไปจนถึงปลายยุค 80s เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างโทรศัพท์ค่อยๆ เข้ามาในสังคม ผู้คนส่วนหนึ่งสามารถเข้าถึงการใช้โทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์สาธารณะได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง

จะโทรก็ไม่โทรมา
ไม่มีแม้เวลาจะบอกลาเพื่อนเก่า
ถ้าหากจะลืมกันไป
ไม่เป็นไรเพื่อนเรา
แค่อยากเห็นเธอโชคดี
สบายดีหรือเปล่า
— เอ็กซ์วายแซด (2530)

ต่อมา การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ก็เข้าแทนที่สื่อกลางอย่างจดหมาย และในบรรดาเพลงฮิต 10 ลำดับในยุคหลังจากนั้น ก็ไม่มีการกล่าวถึงจดหมายอีก

จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกครั้ง เมื่อโทรศัพท์มือถือชื่อดังอย่าง blackberry เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทย รวมถึงการเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ในยุคแรกอย่าง hi5 ดังนั้นเพลงรักในยุค 00s จึงปรากฏลักษณะบางส่วนของการสื่อสารในช่องทางนี้ด้วย

แม้การสื่อสารในยุคใหม่สื่อสังคมออนไลน์ยังไม่ปรากฏในเนื้อเพลงที่ติดลำดับเพลงฮิตของ joox music โดยตรง แต่ก็ปรากฏให้เห็นผ่านการใช้ภาษาที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีรูปแบบใหม่นี้ วัยรุ่นมีการปรับภาษาให้ทันสมัย สะดวก และเข้ากับช่องทางการสื่อสาร จนเกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนมาก คำศัพท์และภาษาเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง อย่างเพลง love love ของโฟร์-มด จากค่ายกามิกาเซ่ ที่กลุ่มเป้าหมายหลักของเป็นกลุ่มวัยรุ่นอยู่แล้ว

ก็ได้แต่ไอ ก็ได้แต่ไอ อะ อะ ไอ มิส ยู
ใจกะตึก ใจกะตึก ใจกะตัก ใจกะตัก ยังไงก็ไม่รู้
เพียง เธอมาใกล้กัน ใจมันสั่นๆๆและค่อนข้างเหงา
เกิดอาการวิงๆ เธอจะรักกันจริงหรือเปล่า
โรคหัวใจกำเริบ เลิฟ ละๆ เลิฟๆๆ
ดูสิมันกำเริบ เลิฟ ละๆ เลิฟยู
เห็นแล้วใจมันอ่อนอ๊อน
อยากจะอ้อนเธอน่าดู
ช่วยมาดูแลรักษากันหน่อยเหอะ

love love — โฟร์-มด (2549)

อุปกรณ์สื่อสารของคนรักกันปรากฏในเนื้อเพลงเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นในเนื้อหาหลักหรือองค์ประกอบภายในบทเพลงก็ตาม เนื้อเพลงเหล่านี้ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของการสื่อสารในแต่ละยุคสมัยทำให้เพลงรักในแต่ละยุคมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง หากจะให้ยกตัวอย่างเพลงที่อ้างอิงการสื่อสารในปัจจุบันมากที่สุด ผู้เขียนคงนึกถึงเพลงปลายนิ้ว (my black mirror) ของวง tilly birds ที่ออกในปี 2563 ซึ่งกล่าวถึงความรักที่ผิดหวัง โดยเล่าเรื่องผ่านการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ตโฟนและสื่อสังคมออนไลน์ที่เราสามารถเห็นรูปหรือความเคลื่อนไหวของคนรักเก่าผ่านหน้าจอโทรศัพท์ และได้ใกล้ชิดกันมากที่สุดแค่เพียงปลายนิ้วเท่านั้น

แต่เมื่อไปเจอภาพเธอในกระจกสีดำ
ทุกความทรงจำของเราก็หวนกลับคืนทุกครั้ง
ยิ่งทนยิ่งฝืนเท่าไรให้ลืมเธอได้สักวัน
ภาพเธอปรากฏอีกครั้งบนหน้าจอของฉัน
ใบหน้าเธอ
นั้นใกล้เพียงปลายนิ้วมือ
นี่คือทางเดียวที่จะได้เจอ
ยังแอบเผลอคิดไป ว่าเราได้อยู่ใกล้กัน
เมื่อปลายนิ้วฉันได้อยู่ใกล้เธอ

ปลายนิ้ว (my black mirror) — tilly birds (2563)

น่าสนใจว่า การสื่อสารนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองความรักของผู้คน จึงไม่น่าแปลกใจที่บริบทของเทคโนโลยีการสื่อสารจะสอดแทรกให้เห็นในเนื้อเพลง เหล่านั้นก็เพื่อให้คนในสังคมรู้สึกเข้าใจและเชื่อมโยง จนมีอารมณ์ร่วมกับเพลง ซึ่งความใกล้ชิดนี้อาจจะให้ผลแตกต่างกันออกไปหากให้คนต่างยุคสมัยสลับกันฟังเพลงที่ใช้การสื่อสารต่างรูปแบบกันเช่นนี้

เพลงรักในแต่ในยุคสมัยไม่ได้เป็นเพียงแค่สื่อกลางบอกความรู้สึกอย่างเดียว แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนฟังได้เห็นความเป็นอยู่ สภาพสังคม ได้เรียนรู้ผ่านมุมมองความรักที่แตกต่าง และได้ฟังประสบการณ์ความรักที่หลากหลาย

การได้ย้อนเวลาผ่านการฟังเพลงรักเก่าๆ เป็นเหมือนการได้กลับไปฟังเสียงจากอดีตที่บอกว่าเราไม่ได้รู้สึกรัก เหงา เศร้าอยู่เพียงผู้เดียวแต่ในต่างช่วงเวลา ยังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลังรู้สึกแบบเดียวกัน

ถ้าผู้อ่านอยากจะลองเข้าไปฟังเพลงที่กล่าวถึงในบทความนี้ สามารถเข้าไปชมได้จากลิงค์ด้านล่างนี้เลย !
ฟังเพลย์ลิสต์ เดินทางผ่านเวลาไปกับบทเพลง บน JOOX

อ้างอิง

thaipbs.or.th

thairath.co.th

today.line.me

ryt9.com

psychologytoday.com

thematter.co

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Lifestyle

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

Writings

ห้ามพลาดกับศึกที่ไม่มีครั้งที่ 2 ใน Haikyuu!!  เดอะมูฟวี่ “ศึกตัดสินแห่งกองขยะ”

เขียนและภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ Haikyuu (ハイキュー!!) หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนักเรียนม.ปลายในญี่ปุ่น ผลงานของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shonen ...

Writings

ตุ๊กตาหมีกับการเป็นสัญลักษณ์ความอบอุ่น 

เขียน : จิตริณี แก้วใจ  ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์  หลายคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ชื่นชอบสิ่งที่เรียกว่าตุ๊กตาหมี  เพราะการมีตุ๊กตาหมีให้กอดหรืออยู่เคียงข้างกายนั้น สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย คลายความเหงา และสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี  ซึ่งอาจเป็นเพราะความสามารถพิเศษเหล่านี้ของเจ้าตุ๊กตาหมี ทำให้มีวันที่เรียกว่า ...

Writings

Girls And Boys by Jenny Han เด็กหนุ่มเด็กสาวในแบบฉบับของเจนนี่ ฮานส์

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : จิรัชญา นุชมี และ ศิรประภา ศรีดาจันทร์ หากใครเป็นสาวกซีรีส์ฝรั่งก็คงจะเคยได้ยินชื่อ To All The ...

Writings

เมื่อมาตรฐานผู้ตัดสินและVAR กำลังทำลายมนต์ขลังแห่งวงการลูกหนังพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

เขียน : กัญญพัชร กาญจนเจตนี และ ธนพ อัมพะวัต ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ เป็นอีกครั้งที่ระบบ VAR และมาตรฐานผู้ตัดสินฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ (Premier ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save