LifestyleWritings

โลกไอที – ดราม่าวงดนตรี NFT กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังแก้ไม่ตก

เรื่อง: นิชดา พูลเพชร

วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 20 ปีที่อัลบั้มเปิดตัววง Gorillaz วงดนตรีเสมือนจากอังกฤษ ออกวางแผงเป็นครั้งแรก ซึ่งทางวงก็ได้มีการเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบครั้งนี้ด้วยการนำอัลบั้มมาตีพิมพ์ใหม่ (reissue) พร้อมกับปล่อยของที่ระลึกอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ตุ๊กตา และสิ่งลึกลับที่เรียกว่า NFT  

นี่ฟังดูเป็นข่าวดีสำหรับแฟนคลับของวง แต่เปล่าเลย

แฟนคลับของวงออกมาต่อต้านเจ้า NFT ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เกิดแคมเปญล่ารายชื่อ “Gorillaz ต้องหยุดผลิต NFT” ขึ้นบนเว็บไซต์ change.org แม้แต่เว็บไซต์ข่าวสารไอทีเจ้าใหญ่อย่าง The Verge ยังเผยแพร่บทความ “I do not Feel Good Inc about the Gorillaz NFTs” (ชื่อบทความล้อกับชื่อเพลง Feel Good Inc หนึ่งในซิงเกิลดังของวง)

“ในฐานะแฟน เนื้อหาเพลงของวง Gorillaz มีความหมายกับฉันมากมาตลอดหลายปี” Jamie Valentine ผู้สร้างแคมเปญรณรงค์เขียนไว้ในคำอธิบาย “NFT นั้นย้อนแย้งกับทุกอย่างที่ทางวงต่อต้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัลบั้มที่ 3 Plastic Beach ซึ่งอัลบั้มที่ออกมาต่อต้านมลภาวะและการทำลายสิ่งแวดล้อม”

แฟนคลับกว่า 3,700 คนพร้อมใจกันลงชื่อเพื่อสนับสนุนแคมเปญนี้ ในขณะเดียวกัน แฟนคลับคนอื่น ๆ ก็ส่งข้อความหาทางวงเพื่อขอให้พวกเขาหยุดผลิต NFT จนในที่สุด Jamie Hewlett หนึ่งในสมาชิกวงก็ออกมาประกาศผ่านทางแอ็กเคานต์อินสตาแกรมส่วนตัว ว่าจะไม่มีการผลิต NFT ขึ้นอีกต่อไป 

แต่เดี๋ยวก่อน แล้วเจ้า NFT นี่มันคืออะไร ทำไมตัวอักษรภาษาอังกฤษ 3 ตัวถึงสร้างความปั่นป่วนให้คนบนโลกออนไลน์ได้มากขนาดนี้

NFT คืออะไร

NFT ย่อมาจาก non-fungible token หรือแปลตรงตัวก็คือ ตราที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ 

การที่จะเข้าใจว่า NFT คืออะไร ก่อนอื่นเราต้องไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า blockchain ก่อน blockchain คือฐานข้อมูลประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากฐานข้อมูลปกติ คือ ข้อมูลจะถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบ ‘บล็อก’ ที่ทุก ๆ บล็อก ถูกเชื่อมเข้าหากันคล้ายการล่ามโซ่ ทำให้ไม่ต้องเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ server (เครื่องแม่ข่าย เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่ให้บริการกับเครื่องลูกข่าย เช่น เครื่องแม่ข่ายของ Facebook มีหน้าที่ประมวลผลหน้าเว็บก่อนจะส่งข้อมูลมายังเครื่องของเรา) เดียว ซึ่งจะแตกต่างจากฐานข้อมูลปกติ ที่ข้อมูลถูกจัดเก็บไว้ใน server เดียว หาก server นั้นเกิดความขัดข้อง หรือ server นั้นปิดตัวไป ข้อมูลที่อยู่บน server นั้น ๆ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงได้ทันที

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอยกตัวอย่างการใช้งาน blockchain ที่เป็นที่แพร่หลายมากที่สุด นั่นก็คือ สกุลเงินดิจิทัล เช่น bitcoin หรือ ethereum นั่นเอง สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ ทำงานโดยที่แต่ละเหรียญนับเป็น 1 บล็อก ในแต่ละบล็อกจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ ของเหรียญนั้น ๆ เช่น ผลิตขึ้นมาเมื่อไหร่ ผ่านกระเป๋าเงินใครมาแล้วบ้าง ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีนี้ก็คือ ระบบจะสามารถรู้ได้ว่า เหรียญนั้น ๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร เคยใช้ซื้อสินค้ามาแล้วหรือไม่ โดยไม่ต้องตรวจสอบกับ server ส่วนกลาง และเนื่องจากข้อมูลที่อยู่ใน blockchain ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับ server ใด ๆ ทำให้ข้อมูลการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลเหล่านี้ไม่มีวันสูญหายไปได้ (แต่ไม่ได้หมายความว่า คนจะไม่ไปหลอกเอาเงินดิจิทัลของคนอื่นกันนอกรอบนะ) 

NFT เองก็ทำงานเหมือนกับสกุลเงินดิจิทัล เพียงแค่เปลี่ยนจากเหรียญเงินเป็นตราสัญลักษณ์ที่สามารถนำไป ‘แปะ’ ไว้กับไฟล์ใด ๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียง วิดีโอ หรือแม้แต่ข้อความบนทวิตเตอร์ 

สิ่งที่ NFT แตกต่างจากสกุลเงินดิจิทัลทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด คือการที่มัน ‘แลกเปลี่ยนไม่ได้’ เนื่องจาก NFT แต่ละชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์ในตัวเองสูง เปรียบคือ เงินดิจิทัลนั้นก็เหมือนธนบัตรทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ว่าจะมีสภาพต่างกันอย่างไร ตัวธนบัตรจะขาด ยับยู่ยี่ หรือมีคนเอาปากกามาเขียนบนตัวธนบัตร ขอแค่เลขบนธนบัตรนั้นเท่ากัน มูลค่าของธนบัตรก็จะเท่ากัน แต่ NFT เป็นเหมือนภาพวาดดอกไม้ ถ้าคุณมีภาพวาดดอกไม้ 1 ภาพ แล้วมีคนมาขอแลกด้วยภาพวาดดอกไม้อีกภาพหนึ่ง คุณก็ไม่สามารถให้คน ๆ นั้นเอาภาพของเขาแลกกับของคุณได้ เพราะภาพของคุณนั้นมีความแตกต่างกับของเขา ไม่ว่าจะเป็นประเภทของดอกไม้ในรูป สีที่ใช้ หรือรอยฝีแปรงบนตัวภาพ แม้จะเป็นภาพดอกไม้เหมือนกันแต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว จะเห็นได้ว่า เพราะ NFT แต่ละชิ้นมีความแตกต่างกันเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้มันมีค่าในฐานะตราสัญลักษณ์เพื่อยืนยันเอกลักษณ์ของไฟล์ใด ๆ หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ NFT ก็เหมือนกับ ‘ใบรับรอง’ ยืนยันว่าไฟล์ ๆ หนึ่งนั้นเป็นไฟล์ต้นฉบับของแท้แน่นอนนั่นเอง

ผู้คนเริ่มมาสนใจ NFT มากขึ้น หลังจากที่มีการผลิตและซื้อขายงานศิลปะต่าง ๆ ที่มีการ ‘แปะ’ เจ้า NFT นี้ไว้ แล้วกวาดรายได้เป็นสกุลเงินจริงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักประมูล christie’s ประมูลงานของศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Beeple โดยผู้ชนะประมูล ได้ไปในราคา 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออีกเคสของ Grimes ศิลปินผู้เป็นอดีตแฟนสาวของ Elon Musk ผู้ก่อตั้ง tesla ขายคลิปวิดีโอเพลงของเธอไปได้ราว 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แน่นอนว่าพอเห็นตัวเลขมหาศาลขนาดนี้ ศิลปินดิจิทัลหลาย ๆ คนก็อยากจะร่วมวงทำ NFT ขายกัน บางคนก็ทำจริง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกทัวร์ลงเหมือน Gorillaz

ภาพ EVERYDAYS: THE FIRST 5000 DAYS โดย Beeple ที่ประมูลไปได้ 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เข้าถึงเมื่อ 27 ต.ค. 2564 จาก https://onlineonly.christies.com)

มาถึงตรงนี้ยังไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเกิดดราม่าได้เลย

NFT ในตัวมันเองไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอก ถ้าไม่ติดว่ามันกำลังทำลายระบบนิเวศของโลกน่ะ

โอเค มันไม่ใช่ความผิดของ NFT เสียทีเดียว ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสกุลเงินดิจิทัล (ซึ่งรวมถึง NFT ด้วย) คือ วิธีการ ‘ขุด’ เหรียญแต่ละเหรียญขึ้นมา ซึ่งมีวิธีการคือ ระบบของสกุลเงินดิจิทัลจะตั้งสมการคณิตศาสตร์ขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้คอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ คำนวณหาคำตอบของสมการชุดนี้ หากเครื่องไหนสามารถหาคำตอบได้สำเร็จ ระบบจะให้รางวัลกับคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นเป็นเหรียญดิจิทัลจำนวนหนึ่ง ระบบการให้รางวัลนี้เรียกว่า proof of work (PoW) ซึ่งในสมัยที่สกุลเงินดิจิทัลนั้นเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ ๆ การหาคำตอบของสมการเหล่านี้นั้นง่ายดาย เพราะระบบนั้นถูกออกแบบมาให้ในช่วงเริ่มแรก สมการสามารถหาคำตอบได้โดยง่าย แต่ยิ่งเวลาผ่านไป และเหรียญดิจิทัลถูกขุดขึ้นมามากขึ้นเรื่อย ๆ สมการคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการขุดหาเหรียญดิจิทัลก็ยิ่งทวีความยากขึ้นตามไปด้วย 

แน่นอนว่า เมื่อสมการที่ใช้ในการขุดหาเหรียญดิจิทัลมันยากขนาดนั้น คอมพิวเตอร์ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการคำนวณมากไปด้วย ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้นั้น จะเป็นพลังงานสะอาด ไม่ใช่พลังงานจากการเผาถ่านหินหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบได้ทั้งหมด

NFT ก็เจอปัญหาเดียวกัน การผลิตตรา NFT ขึ้นมาสักชิ้น ก็ต้องผ่านกระบวนการเดียวกับการผลิตเหรียญ การซื้อขาย NFT หนึ่งชิ้น แม้คุณจะไม่ได้เป็นคนผลิตตราขึ้นมาเอง แต่ตามหลักแล้วก็นับว่าคุณมีส่วนร่วมกับการมีอยู่ของเจ้าตรา NFT ชิ้นนี้ ส่วนถ้าถามว่ามันกินไฟขนาดไหน จากการวิเคราะห์ของ Memo Akten ศิลปินสายเทคโนโลยี ผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ NFT เป็นคนแรก ๆ กล่าวว่า NFT หนึ่งชิ้นที่เขาได้วิเคราะห์ ใช้พลังงานไปเท่ากับชาวยุโรปคนหนึ่งใช้ไฟฟ้าทั้งเดือนเลยทีเดียว

แต่สิ่งที่ทำให้ NFT กลายเป็นประเด็นถกเถียงมากกว่าสกุลเงินดิจิทัล แม้จะใช้พลังงานมหาศาลเหมือนกัน น่าจะเป็นเพราะ NFT นั้น ‘ยังไม่มีประโยชน์เท่าไหร่’ ในขณะที่สกุลเงินดิจิทัลสามารถใช้งานแทนสกุลเงินปกติได้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ณ ขณะนี้ NFT ยังเรียกได้ว่า มีค่าแค่เอาไว้อวดชาวบ้านว่าคุณมีเงินซื้อมัน (คนที่ซื้อ NFT อาจบอกคุณว่า เขาซื้อมาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ metaverse – โลกเสมือนที่สำคัญพอ ๆ กับโลกความจริง –  ซึ่งหลาย ๆ คนรวมถึงตัวผู้เขียนเองมองว่านั่นเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเท่าไหร่)

ถ้ามันไม่ดีขนาดนั้น ทำไมศิลปินยังผลิต NFT ขึ้นมาอยู่อีกล่ะ

Akten กล่าวไว้ในบทความของเขาว่า ศิลปินที่ทำ NFT อาจจะไม่รู้จริง ๆ ก็ได้ว่าเจ้าตราสัญลักษณ์นี้มันกินไฟแค่ไหน ซึ่งในเวลานั้นที่เขาเผยแพร่บทความ (เดือนธันวาคมเมื่อ พ.ศ. 2563) ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของ NFT นั้นยังหายากนัก แถมฝั่งเจ้าของเทคโนโลยียังไม่ออกมาให้ข้อมูลอีกด้วย 

Joanie Lemercier ศิลปินชาวฝรั่งเศส เคยถามไปถึงที่ nifty gateway ซึ่งเป็นตลาดขาย NFT เจ้าหนึ่ง ถึงผลกระทบของ NFT ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเขาก็ไม่ได้คำตอบกลับมา หลังจากนั้นเขาจึงตัดสินใจวางขายภาพงานของตัวเองในรูปแบบ NFT ซึ่งขายหมดภายในเวลาไม่กี่นาที ก่อนจะมาทราบทีหลังว่า NFT ของเขาปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกไปถึง 80 กิโลกรัมเลยทีเดียว ทำให้ความพยายามของเขากว่า 2 ปีที่จะลด carbon footprint (ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ อันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ) ของตัวเขาเองพังทลายไปในพริบตา 

“ตอนนั้นผมโมโห โมโหมาก ๆ ผมพยายามอย่างที่สุดแล้ว ตั้งแต่ผมขอข้อมูลจาก nifty gateway ผ่านไป 4-5 เดือน พวกเขาก็ยังไม่ตอบกลับมา” Lemercier กล่าว

ในขณะเดียวกัน ไม่ใช่ทุกคนที่มองว่า NFT มันเลวร้ายไปเสียหมด ฝั่งที่สนับสนุน NFT นั้นมองว่า ถ้าจะกล่าวหาว่า NFT นั้นทำลายสิ่งแวดล้อม ก็ควรจะโทษพวกที่ขุดหาเหรียญดิจิทัลดีกว่า เพราะพวกนั้นต่างหากคือพวกที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาลเพื่อขุดหาเหรียญ

ทีมผู้พัฒนาเว็บไซต์ superrare ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตลาดขาย NFT กล่าวไว้ว่า ระบบ ethereum ซึ่งเป็นระบบ blockchain ที่ NFT เกือบร้อยทั้งร้อยผูกติดอยู่ ก็เหมือนกับรถไฟที่มีตารางเวลาแน่นอน แม้ว่าจะมีคนใช้บริการมากน้อยแค่ไหน หรือไม่มีเลย แต่รถไฟก็จะยังออกจากชานชาลาตามตารางเวลาอยู่ดี เช่นกันกับ NFT แม้จะไม่มีใครผลิตหรือซื้อขาย แต่ระบบก็จะยังทำงานของมันไปเรื่อย ๆ และใช้พลังงานเท่าเดิม นอกจากนี้ แม้ในขณะนี้เทคโนโลยี NFT จะไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมจริง แต่ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นจนปัญหานี้ถูกขจัดหมดไปได้ 

ethereum เองก็กำลังทดสอบการเปลี่ยนวิธีการสร้างเหรียญและตรา เป็นระบบที่เรียกว่า proof of stakes (PoS) โดยระบบใหม่นี้จะกินพลังงานน้อยลงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้จริงภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน blockchain บางระบบ เช่น tezos ก็ได้มีการใช้ระบบการสร้างเหรียญแบบ PoS อยู่แล้ว แต่น่าเสียดายที่ tezos ยังไม่ได้รับความนิยมเท่ากับ blockchain เจ้าอื่น ๆ 

ส่วนใครคนไหนที่ยังใช้ ethereum ในการสร้างและซื้อขาย NFT แล้วรู้สึกว่ามันกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็สามารถซื้อ offset หรือการลงทุนกับโครงการเพื่อพลังงานสะอาดตามประเทศต่าง ๆ โดยมี offsetra เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในด้านนี้

สรุป

อย่างที่ Valentine พูดในแคมเปญ change.org ของเขาว่า “NFT นั้นย้อนแย้งกับทุกอย่างที่ทางวงต่อต้านมาโดยตลอด” เพราะ Gorillaz เป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหากล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอัลบั้ม plastic beach ชื่ออัลบั้มหมายถึงเกาะห่างไกลผู้คนที่เกิดจากขยะพลาสติกไหลตามกระแสน้ำทะเลมารวมกัน นั่นก็คงไม่แปลกที่จะทำให้แฟนคลับ (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ไม่พอใจที่ทางวงจะออกมาสนับสนุนเทคโนโลยีที่ขัดแย้งกับภาพลักษณ์วงขนาดนี้ 

ในขณะเดียวกัน NFT ในสายตาของใครหลาย ๆ คน ก็เป็นแค่ตราสัญลักษณ์บางอย่างที่ไร้ค่า ย้อนกลับไปที่เนื้อหาก่อนหน้าที่เราเปรียบเทียบ NFT เป็นภาพวาดดอกไม้ ในขณะที่ภาพวาดบนกระดาษนั้น ยังไงก็ไม่สามารถวาดให้เหมือนกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไฟล์ดิจิทัลกลับสามารถทำซ้ำได้เพียงแค่คลิกเมาส์ขวาแล้วเลือก copy > paste แบบไม่มีความแตกต่างใด ๆ นอกเหนือไปจากที่ไฟล์ต้นฉบับมีตรา NFT แปะไว้เท่านั้น และหลาย ๆ คนยังมองว่า NFT เป็นของเล่นของคนรวยให้เอาเงินมาถลุงเล่น หรือมองว่าไม่ต่างจากการแชร์ลูกโซ่ด้วยซ้ำ

ในยุคปัจจุบันที่มีการคาดการณ์ว่า หากไม่ทำอะไรสักอย่าง ภาวะโลกร้อนจะทำให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นจนเกิดภัยธรรมชาติอันเป็นหายนะต่อมวลมนุษยชาติ ภายในปี ค.ศ. 2030 ทำให้หลาย ๆ คนตั้งคำถามว่า เราสามารถรอให้เทคโนโลยีที่อาจจะไม่จำเป็นต่อชีวิตผู้คนเท่าไหร่นักอย่าง NFT พัฒนาขึ้นจนมันไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ หรือ


อ้างอิง

Cointelegraph. (n.d.). Proof-of-stake vs. proof-of-work: Differences explained., สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564, จากhttps://cointelegraph.com/blockchain-for-beginners/proof-of-stake-vs-proof-of-work:-differences-explained

Jonathan Watts (2018). We have 12 years to limit climate change catastrophe, warns UN., สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2564, จาก https://www.theguardian.com/environment/2018/oct/08/global-warming-must-not-exceed-15c-warns-landmark-un-report

Justine Calma. (2021). The Climate Controversy Swirling Around NFTs., สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564, จาก https://www.theverge.com/2021/3/15/22328203/nft-cryptoart-ethereum-blockchain-climate-change

Memo Akten. (2020). The Unreasonable Ecological Cost of #CryptoArt (Part 1)., สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564, จาก https://memoakten.medium.com/the-unreasonable-ecological-cost-of-cryptoart-2221d3eb2053

Mitchel Clark. (2021). NFTs, explained., สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564, จาก https://www.theverge.com/22310188/nft-explainer-what-is-blockchain-crypto-art-faq

Shanti Escalente-De Mattei (2021). Should You Worry About the Environmental Impact of Your NFTs?., สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม 2564, จาก https://www.artnews.com/art-news/news/nft-carbon-environmental-impact-1234589742/SuperRare Labs Team (2021). No, CryptoArtists Aren’t Harming the Planet., สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2564, จาก https://medium.com/superrare/no-cryptoartists-arent-harming-the-planet-43182f72fc61

ภาพประกอบจาก www.freepik.com

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Lifestyle

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

Writings

ห้ามพลาดกับศึกที่ไม่มีครั้งที่ 2 ใน Haikyuu!!  เดอะมูฟวี่ “ศึกตัดสินแห่งกองขยะ”

เขียนและภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ Haikyuu (ハイキュー!!) หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนักเรียนม.ปลายในญี่ปุ่น ผลงานของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shonen ...

Writings

ตุ๊กตาหมีกับการเป็นสัญลักษณ์ความอบอุ่น 

เขียน : จิตริณี แก้วใจ  ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์  หลายคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ชื่นชอบสิ่งที่เรียกว่าตุ๊กตาหมี  เพราะการมีตุ๊กตาหมีให้กอดหรืออยู่เคียงข้างกายนั้น สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย คลายความเหงา และสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี  ซึ่งอาจเป็นเพราะความสามารถพิเศษเหล่านี้ของเจ้าตุ๊กตาหมี ทำให้มีวันที่เรียกว่า ...

Writings

Girls And Boys by Jenny Han เด็กหนุ่มเด็กสาวในแบบฉบับของเจนนี่ ฮานส์

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : จิรัชญา นุชมี และ ศิรประภา ศรีดาจันทร์ หากใครเป็นสาวกซีรีส์ฝรั่งก็คงจะเคยได้ยินชื่อ To All The ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save