SocialWritings

โครงการโคกหนองนา: ความสุข หยาดเหงื่อ เงินทอง และความฝัน

เรื่องและภาพ : ณัชชา กลิ่นประทุม

ฉันคือวัยรุ่นคนหนึ่ง คือนักศึกษาที่ใกล้จะเรียนจบ นักศึกษาที่ไม่เคยคิดอยากจะทำงานเกี่ยวกับการเกษตรเลย เพราะมีภาพในหัวว่างานทางด้านนี้จะต้องร้อน ตากแดด เหนื่อย เสียเหงื่อ และต้องออกแรงเยอะ ฉันนึกภาพตัวเองไม่ออกในการทำงานสายนี้ ไม่เคยสนใจเรื่องพันธุ์ของต้นไม้ ไม่เคยสนใจว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการปลูก มันจะทำเงินได้เยอะสักแค่ไหน จนมาถึงจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งที่ทำให้ฉันเริ่มหันมาสนใจเรื่องของต้นไม้และพันธุ์ไม้มากขึ้น

วันหนึ่งในช่วงต้นกุมภาพันธ์ ปี 2564 ฉันจำได้ว่าฉันเห็นผู้หญิงที่ไม่คุ้นตาคนหนึ่งมาหาพ่อของฉันที่บ้าน หลังจากคุยกับพ่อว่าเธอคือใคร พ่อบอกว่าเธอคือคนที่จะมาคุยเรื่อง “โครงการโคกหนองนา” เป็นคนประสานงานระหว่างพ่อกับทางอำเภอ จะมาดูที่ดินที่พ่อจะเอาร่วมโครงการ ในภายหลังฉันรู้ว่าเธอชื่อ ของขวัญ หรือที่ฉันเรียกเธอว่า พี่ขวัญ และใช่ค่ะนักอ่านทุกท่าน หลังจากที่เกริ่นมาเสียยืดยาว สิ่งที่ฉันอยากจะเล่าให้ฟังในวันนี้ คือ ผลการมาเยือนของโครงการโคกหนองนาที่มีต่อฉัน (วัยรุ่นคนหนึ่ง) กับพ่อและแม่ (วัยทำงานที่ใกล้จะเกษียณ)

00

ขอเล่าก่อนว่าโครงการนี้คืออะไร อาจมีนักอ่านหลายคนที่ไม่ค่อยคุ้นกับชื่อโครงการนี้ เล่าโดยสรุป โครงการนี้เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานให้จัดขึ้น ชื่อเต็มของโครงการนี้คือ “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้ผู้ที่กำลังต้องโทษในเรือนจำยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ มีงานทำและมีข้าวกินหลังจากพ้นโทษแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าพ่อของฉันติดคุกหรือเปล่า ก็ต้องขอบอกว่าไม่ใช่นะ อย่าเข้าใจผิด แต่ที่พ่อของฉันได้ทำโครงการนี้ เพราะพ่อเป็นอีกหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการ เป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร คนในชุมชน บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับบ้านเกิดของตัวเอง

ก่อนที่จะเล่าต่อไปว่าโครงการนี้เข้ามามีบทบาทกับฉันและครอบครัวอย่างไร จะขอลงรายละเอียดการดำเนินงานแบบรวบรัดให้ทุกคนเห็นภาพมากขึ้น เริ่มแรกจากผู้ใหญ่บ้านส่งเรื่องมาทางแอปพลิเคชันไลน์ของหมู่บ้านว่าจะมีการทำโครงการนี้ในอำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยาของเรา หลังจากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการยื่นความต้องการของลูกบ้านที่ต้องการเข้าร่วมและการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ หลังจากที่ครอบครัวของฉันได้รับเลือก งานที่ตามมาคือการไปประชุมวางแผน ณ ที่ว่าการอำเภอท่าเรือ ว่าที่ดิน 3 ไร่ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องห้ามซื้อขาย ติดสัญญากับรัฐเป็นระยะเวลา 5 ปี และวางแผนงานว่าจะขุดหนอง (บ่อน้ำ) ตรงไหน ทำโคก (เนินดินสูง เอาดินจากการขุดมาถมกันเป็นโคก) ตรงไหน ต่อมาก็จะเป็นการจัดอบรม จัดกัน 5 วัน 5 คืน ที่ศูนย์เรียนรู้โคกหนองนา อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ในขั้นตอนนี้พ่อบอกว่า เรียกง่าย ๆ ว่า เขาสอน ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ทำปุ๋ยอย่างไร ดูทิศทางลม ดูทิศทางแดด เพื่อเอาไปออกแบบว่าจะปลูกต้นไม้อย่างไร ฯลฯ หลังจากนั้นก็จะคุยเรื่องแบบแปลนการขุดให้ชัดเจนอีกครั้ง และเริ่มลงมือขุดกันต่อไป

01

กลับมาที่ครอบครัวของฉัน ต้องบอกเลยว่าหลังจากที่พ่อตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้ บ้านของเราก็มีการเปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง อย่างแรกที่เปลี่ยนไปคือเรื่องค่าใช้จ่าย ครอบครัวของเรามีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นซื้อพันธุ์พืชต้นไม้ ค่าอุปกรณ์การทำเกษตรยิบย่อย รวมกว่า 1 แสนบาทเข้าไปแล้ว

ขอลงลึกในส่วนนี้อีกเล็กน้อยให้คุณผู้อ่านมองเห็นภาพมากขึ้น เนื่องจากพ่ออยากได้เครื่องทุ่นแรง เราเลยเสียเงินกับส่วนนี้บ้าง ส่วนในเรื่องของพันธุ์พืชต้องบอกว่าโครงการนี้มีแจกพันธุ์พืชให้แต่สาเหตุที่เราต้องลงทุนซื้อพันธุ์พืชใหม่ เนื่องจากขนาดต้นที่โครงการให้มีขนาดเล็ก มีจำนวนน้อย และเหตุผลหลัก ๆ เลยคือพันธุ์พืชไม่ถูกใจ พ่ออยากปลูกทุเรียน แม่อยากปลูกลิ้นจี่ มังคุด ส่วนพวกไม้ใหญ่ก็อยากได้ต้นที่มีอายุมากกว่าที่ทางอำเภอแจกให้ ครอบครัวเราเลยยอมลงทุนเงินในส่วนนี้ค่อนข้างมาก

อย่างที่สอง คือ กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไป จากที่ในเวลาว่างพ่อกับแม่ก็จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพักผ่อน แม่ทำสวนเล็ก ๆ น้อย  ๆ ปลูกต้นกระบองเพชร พ่อก็จะเล่นหุ้นหรือใช้เวลาไปกับการนอน แต่พอมีโครงการนี้เข้ามา พ่อกับแม่ก็เปลี่ยนจากการพักผ่อนในเวลาว่างไปเป็นการทำสวนในเวลาว่างแทน ตอนเช้าที่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้า เสียงรถจักรยานยนต์คันใหญ่ก็จะดังขึ้นเป็นสัญญาณบอกว่าพ่อกับแม่กำลังจะไปที่สวนแล้ว เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาได้สักระยะหนึ่ง แดดเริ่มแรงขึ้น เสียงรถก็จะดังขึ้นอีกครั้งเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขากลับมาบ้านแล้ว และช่วงเย็นที่แดดร่มแล้วก็เช่นเดียวกัน

“เสาร์อาทิตย์ก็ออกไปแต่เช้ามืดจากปกติที่จะนอนตื่นสายหน่อย ส่วนวันธรรมดาหลังเลิกงานกลับบ้านมาก็ไปตรวจดูสภาพทั่วไปของมัน ต้นไม้ขาดน้ำมั้ย มีสัตว์มากินมั้ย” พ่อของฉันเล่า

อย่างที่สาม สภาพจิตใจเปลี่ยนไป ทำให้มีความสุขและอาจจะช่วยคลายความเหงา เนื่องจากยังมีงานประจำที่ต้องทำอยู่ทุกวัน พ่อบอกว่าไม่ได้รู้สึกเหงา แต่ในอนาคตหลังเกษียณ จากปกติที่ทำงาน 5 วัน ก็จะไม่ได้ทำแล้ว โครงการนี้ก็จะเข้ามาเติมเต็มเวลาว่างเหล่านั้น “พ่อออกแบบไว้แล้ว หลังจากเกษียณก็จะออกไปทำโคกหนองนา พอแดดเริ่มร้อนก็จะกลับมาเล่นหุ้น เย็นก็ออกไปนาใหม่ พ่อก็จะไม่เหงา วงจรชีวิตก็จะดำเนินต่อไปได้โดยปกติหลังจากเกษียณเพราะพ่อมีสิ่งที่จะทำอยู่”

02

ตอนที่ฉันคุยกับพ่อว่าทำไมถึงยอมที่จะเสียเงิน เสียแรงและอาจจะต้องยอมเสียเวลาบางส่วนไปกับการต้องปลูกต้นไม้เอง ต้องขุดดินเอง พ่อบอกกับฉันว่า มันเป็นความสุขทางใจและมันมีความยั่งยืน

“ต้นไม้เขียว ๆ มันก็พักผ่อนหย่อนใจ ไปนั่งดูมันเช้า ๆ เย็น ๆ ตอนที่แดดไม่ร้อน เห็นธรรมชาติ เห็นนก เห็นปลา เห็นความเป็นไปของธรรมชาติ มีนกมากินแมลง มากินเม็ดข้าวอะไรต่าง ๆ สิ่งที่ได้ ณ ปัจจุบันคือความสุขทางใจ เราพอใจในสิ่งที่ทำ เรามองเห็นแล้วว่าข้างหน้าเรามีความยั่งยืนแน่ เราเห็นน้ำ เราเห็นต้นไม้ เราเห็นปลา เราอยู่ได้สบาย ๆ”

หลังจากนั้นพ่อก็พูดต่อว่า

“ทุกคนมีความฝันของตัวเอง วัยรุ่นอะ พ่อชอบที่ทุกคนมีความฝัน พอมีฝันเราก็จะมีจินตนาการ ไม่ได้บอกว่าให้ทิ้งความฝันแล้วมาทำ แค่คิดว่าวันหนึ่งถ้าทำคู่กันไปกับงานประจำ ให้มันมีที่พักพิง เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแรง ๆ โรงงานล่ม คนที่มีธุรกิจเองก็ล่ม อะไรที่ว่ายั่งยืนมันไม่ยั่งยืนหรอก ถามว่ารวยไหม ไม่รวย ถ้าอยากรวยก็ต้องทำอาชีพอื่น แต่ถ้าอยากมีความสุข ต้นสักอายุ 40 ปี ก็เป็นแสน ปลูกเอาไว้สักร้อยต้น มูลค่าจะเท่าไร”

คำพูดนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้มุมมองของฉันที่มีต่อโครงการนี้เปลี่ยนไป ในช่วงปีที่ผ่านมาตอนที่เกิดเหตุการณ์โรคระบาด ฉันรู้สึกว่าฉันจำเป็นต้องโตขึ้นมาก ๆ การปรับตัวในเวลาที่แสนสั้นทำให้ฉันเกิดความเครียดและความกังวล แต่คุณนักอ่านที่รัก พอพ่อบอกว่าไม่จำเป็นต้องสนใจพวกต้นไม้มากก็ได้ ทำทิ้งไว้ให้เป็นที่พักพิงเวลาหลังชนฝาแล้วก็ได้ ฉันเริ่มรู้สึกว่าก็แค่เหนื่อยตอนเริ่มปลูกตอนแรก หลังจากนั้นก็ทิ้งมันไว้ ก็เป็นสิ่งที่น่าลงทุนดีนะ มันช่างเหมาะเหลือเกินสำหรับคนที่ไม่สนใจที่จะปลูกต้นไม้อย่างฉัน (หัวเราะ) แน่นอนว่าความเครียดกับความกังวลยังคงมีอยู่ แต่ฉันมีความรู้สึกอย่างหนึ่งเพิ่มขึ้นมาว่าอย่างน้อยเราก็ยังพอมีหนทางอยู่บ้างนะ เหมือนมันเป็นอีกทางออกหนึ่งในชีวิตตอนนี้

03

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างสุดท้าย คือ ความฝันที่เปลี่ยนไป ในมุมมองของพ่อก็อาจจะต้องบอกว่าไม่เปลี่ยนไปมากเท่าไรเนื่องจากเขาวางแผนอยากจะทำสวนอยู่ในแล้วในชีวิตหลังเกษียณ แต่สำหรับมุมมองของฉันและแม่แล้ว มันค่อนข้างจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว เริ่มจากแม่ที่มีภาพความฝันหลังเกษียณชัดมากขึ้นหลังจากที่เธอยังไม่เคยคิดถึงมันอย่างจริงจังเนื่องจากยังอีกหลายปีกว่าที่เธอจะเกษียณอายุจากงานประจำ แม่เริ่มคิดว่าจะเอาความสามารถที่เธอถนัดอย่างการทำอาหารไปพัฒนาต่อยอดรวมกับสวนที่เป็นผลพลอยได้จากการทำโครงการโคกหนองนา

“เราอาจจะทำร้านอาหาร เป็นคนชอบทำอาหาร ชอบปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้สวยงาม ก็เคยคิดว่าถ้าเกษียณอาจจะอยากมีร้านที่เป็นร้านเล็ก ๆ ที่สามารถนั่งได้แบบสบาย ๆ ในสวน โดยที่เราใช้แรงครอบครัว เป็นกิจการครอบครัว แต่สวนสวยน่านั่ง ตอนนี้คือต้องทำตรงนั้นให้มันเป็นรูปเป็นร่าง ถ้าโคกหนองนาเราดูดีร่มรื่น มันอาจจะขยายใหญ่ไปเป็นบ้านพัก เป็นโฮมสเตย์เล็ก ๆ ก็ได้”

แม่พูดต่อไปอีกว่า สิ่งที่อยากเห็นจากการลงแรงในครั้งนี้คือสวนผลไม้ที่อยู่ได้จริง ที่จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องวัตถุดิบมากขึ้น “เดินลงบันไดบ้านไป สามารถหากินได้ อยู่ได้เลยโดยที่เราไม่เสียเงิน เพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้อยู่ในแบบหรู อาหารเหลา แต่เราจะอยู่ในสไตล์เราแบบที่เราชอบ ถามว่าเหนื่อยไหมกับการทำโครงการนี้ เหนื่อย ต้องตากแดด ใช้แรงขนของ ขุดดิน แต่มันไม่ได้เหนื่อยแบบที่ใครเขามาจ้างให้เราเหนื่อย เราอยากทำ เพราะเรามองเห็น เราวาดหวังว่าในอนาคตมันจะต้องเป็นแบบที่เราคิด และก็คิดว่ามันน่าจะเป็นแบบนั้น แต่เป็นไหมไม่รู้นะ (หัวเราะ) ตอนนี้เป็นแค่ความหวังก่อน”

ส่วนในมุมมองของฉัน หลังจากที่ได้รับรู้ความฝันของแม่แล้ว ฉันก็เริ่มคิดถึงทางเดินชีวิตของตัวเองในแง่มุมที่จริงจังมากขึ้น ฉันเป็นนักศึกษาวารสารศาสตร์ เรียนจบไปแล้วก็วางแผนไว้ว่าจะทำงานในสายอาชีพที่เรียนมา แต่ฉันไม่ได้มีความฝันเพียงอย่างเดียว ฉันมีความฝันที่อยากจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารด้วย เรียกได้ว่าความฝันของแม่เข้ามาเติมไฟให้กับความฝันของฉันก็ไม่ผิด เหมือนกับว่าเรามีพรรคพวกที่สนใจในเรื่องเดียวกัน ไม่ได้มีแค่เราที่วางแผนเรื่องนี้ไว้อยู่คนเดียว

04

นอกเหนือจากโครงการนี้จะเข้ามามีอิทธิพลต่อครอบครัวของฉันแล้ว โครงการนี้ยังทำให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ด้วย อย่างการเปิดรับสมัครนักพัฒนาชุมชนต้นแบบ (นพต.) ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในอำเภอและอำเภอใกล้เคียงเข้ามาทำงานจำนวน 10 คน ได้เงินเดือน เดือนละ 9,000 บาท โดยทั้ง 10 คนนี้จะคอยดูแลประสานงานระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 23 คน รวมทั้งหมด 23 แปลง หรือคิดครอบคลุมพื้นที่ใน อ.ท่าเรือกว่า 5 ตำบล ประสานงานตรงกับทาง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เป็นพ่องานใหญ่ของโครงการนี้

คุณนักอ่านที่รัก แม้ว่าฉันจะไม่ได้ลงลึกมากนักในส่วนกระบวนการดำเนินงาน แต่ฉันก็อยากจะแบ่งปันปัญหาความยากลำบากที่พบเจอในการดำเนินงานนี้สักเล็กน้อย เผื่อว่าจะช่วยปรับปรุงโครงการนี้ให้ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคต ในการทำงานที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เราพบอุปสรรคเล็กน้อยในการดำเนินงานขุด ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศในช่วงการขุดที่เป็นช่วงที่ฝนตกหนักมาก ทำให้ดินแฉะ รถขุดเข้าไปขุดได้ยาก ทำให้งานขุดล่าช้ากว่ากำหนดการที่วางไว้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องผู้รับเหมาขุดที่ไม่ค่อยมีความเข้าใจเรื่องแปลนการขุดมากเท่าไร แน่นอนว่าสภาพอากาศเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เราอาจจะทำได้เพียงใส่ใจในการพยากรณ์อากาศมากขึ้นอีกนิด หรือจะเปลี่ยนแผนงานขุดให้อยู่ในช่วงที่ไม่ใช่ฤดูฝน ส่วนในประเด็นผู้ว่าจ้างขุด ฉันคิดว่าเราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ โดยอาจจะจัดหาทีมขุดใหม่ที่ดีกว่าเดิม 

ในมุมมองของพี่ขวัญ นักพัฒนาชุมชนต้นแบบที่ดูแลแปลงของพ่อ มีข้อเสนอแนะต่อโครงการนี้ว่าอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนจัดการระบบการทำงานให้ดีมากกว่าเดิม “อาจเพราะโครงการนี้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก ระบบและการจัดการยังไม่ลงตัวทำให้ข้อมูลบางอย่างคลาดเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงบ่อย เช่น ไม่มีการวางแผนการดำเนินงานหรือเตรียมการไว้ก่อนการขุด ทำให้เกิดความล่าช้า ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการวางแบบแผนการจัดการระบบให้ดีกว่านี้ จะได้พัฒนาโครงการในปีถัดไปให้ดีมากขึ้น”

บทสรุปของเรื่องที่ฉันนำมาแบ่งปันในวันนี้ ก็อยากจะนำเสนอให้คุณนักอ่านทุกท่านเห็นว่าโครงการโคกหนองนาเข้ามามีบทบาทในครอบครัวของฉันอย่างไร ในฐานะที่เป็นนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ ฉันค้นพบว่าโครงการนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มองไว้ก็ไม่เสียหาย คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนในมุมมองของพ่อกับแม่ โครงการนี้เข้ามาเติมเต็มความฝัน และเข้ามาจุดประกายให้ความฝันที่มีอยู่เดิมแล้วพัฒนาต่อยอดมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง แม้ว่าจะมีอุปสรรคบ้างเล็กน้อยในระหว่างทาง แต่โดยภาพรวม ในระยะเวลาเกือบ 8 เดือนที่เริ่มโครงการนี้มาแล้ว เราพบว่าอุปสรรคเหล่านี้เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยเท่านั้น

“พ่อเริ่มทำช้าแต่ก็ไปได้กับลูก อย่างปลูกต้นสักตอนนี้พ่ออาจจะไม่ได้ใช้หรอก คนที่ได้ใช้คือหนู ถามว่าพ่อไม่ได้อะไรเลย แต่พ่อได้ความสุขทางใจไง เลือกได้นะ พ่อจะทำตั้งแต่อายุ 20 แล้ว” พ่อฉันทิ้งท้าย 🙂

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

Social

“FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn” 

เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร “FikFap” เว็บไซต์สื่อลามกรูปแบบใหม่ เรียกตัวเองเป็น “The TikTok of Porn”  TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่แสดงเนื้อหาแบบคลิปสั้น ความยาวไม่เกิน 15 ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save