InterviewWritings

น้ำเสียง สีหน้า และท่าที ‘จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์’ ในวันที่การนิยามว่าตัวเองคือใคร เป็นเรื่องไร้สาระ

เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา
แต่งรูปภาพ : วีริสา ลีวัฒนกิจ

“เจ๊คนนี้มันไม่ฉลาดเลยนะเนี่ยถามแหลกเลยคือสิ่งที่เรามองตัวเองเวลาถามคำถาม”

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ หัวเราะอย่างออกรสก่อนที่จะตอบคำถามว่าอะไรคือเทคนิคสำคัญของงานตั้งคำถามของเธอ ตลอดระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงของการพูดคุย มีทั้งประเด็นที่จริงจังจนทำให้เราเห็นสีหน้าของเธอไม่ต่างจากที่เคยเฝ้ามองผ่านโทรทัศน์ (จนแอบคิดว่าเรากำลังโดนเธอถามคำถามอยู่หรือเปล่า) และก็มีประเด็นที่ทำให้เธอหัวเราะ ‘เอิ๊กอ๊าก’ จนทำให้เราเผลอยิ้มกว้างไปด้วย

บทสนทนาที่ลื่นไหล พาเราพูดคุยในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจได้ยินจนคุ้นหูอย่างนิยาม บทบาท และวิธีการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของวิธีการสัมภาษณ์แบบจอมขวัญ ประเด็นเรื่องความเท่าทันสื่อ ยาวไปจนถึงประเด็นเรื่องของเหล่าบัวในพระพุทธศาสนา (มาได้อย่างไร หัวเราะ) และสุดท้ายบทสนทนาของเราก็มาหยุดลงที่การพูดถึง ‘ชาวเน็ต’ ในนิยามที่เธอเคยเจอมา

คุณเคยทำงานที่เนชั่นมา 13 ปี และไทยรัฐมาอีก 5 ปี ปัจจุบันคุณก็กำลังร่วมงานกับสื่อออนไลน์ The Matter คุณคิดว่าในสถานการณ์ปัจจุบันบทบาทนักข่าว นักสื่อสารมวลชน ในประเทศไทยเป็นอย่างไร

อือ (นิ่งคิด) ขอพูดถึงเมื่อตอนที่ยังอยู่ในสังกัดดีกว่านะคะ ไม่ว่าจะสังกัดชื่ออะไรก็ตาม คืออยู่ในรูปโฉมที่ชัดเจนว่าเป็นสื่อ เราคิดว่าในช่วงที่มันเกิดดิสรัปชั่น (การถางเส้นทางใหม่) ของเทคโนโลยีในระยะที่ผ่านมาส่งผลทำให้สื่อ ‘ตัวเล็กลง’ แต่หน้าที่การงานต้องใหญ่กว่าเดิม

ที่ว่าตัวเล็กลงคือคุณ (สื่อ) ไม่ได้มีอำนาจ อิทธิพล โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อเนื้องานเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้แปลว่าเมื่อก่อนไม่ดีหรือไม่รับผิดชอบนะ แต่จะเห็นว่าเมื่อก่อนมีความจำกัดความของช่องทางการสื่อสาร จึงทำให้ความสำคัญของสื่อมีมาก เช่น เข้าถึงอุปกรณ์ แหล่งข่าว และการดำรงตนในฐานะสื่อที่อยู่ในกลไกของสังคม แต่พอเทคโนโลยีมันดิสรัปต์ การดำรงตนในฐานะสื่อก็ค่อนข้างมีอำนาจ มีอิทธิพลน้อยลง และต้องคอยตอบคำถามสังคมมากขึ้น

อย่างในสมัยที่ส่ง SMS มาที่หน้าจอก็ยังมีการคัดกรองข้อความที่ขึ้นมาบนหน้าจอทีวีนะ ตอนนั้นคุณก็จะเห็นฟีดแบ็ก (ข้อเสนอแนะ) ว่าผู้ชมรู้สึกอย่างไร แต่จะเป็นข้อเสนอที่ทีมงานคัดเลือกมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราเลยบอกว่าปัจจุบัน สื่อตัวเล็กลง เราไม่สามารถบอกว่า เราสำคัญ เราเจ๋ง เราคูลขนาดไหนในกลไกของสังคม ที่พูดมายังไม่รวมถึงเมื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เข้ามา เราจะเห็นได้ว่าการตอบรับวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อการทำงานของสื่อแต่ละที่ แต่ละคนมันเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันความสำคัญของสื่อก็ยังมีอยู่ และถูกเรียกร้องให้มันมีน้ำหนักมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ความหมายก็คือเรา (สื่อ) ต้องไม่อยู่กับตัวตนของตัวเองเหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ยึดติดว่าฉันเป็นใคร อยู่ในกลไกไหนของสังคม แต่เราต้องอยู่กับคุณค่าของงานเราที่มันจะมีต่อสังคมต่อสาธารณะให้มากขึ้น เพราะสาธารณะมีช่องทางที่จะสื่อสารกับคุณมากขึ้น บวกกับ ความเป็นสื่อในนิยามอื่น ๆ ที่มันมากับเทคโนโลยี ทำให้สื่อต้องพัฒนาตัวเองเพื่อตอบโจทย์กับสังคมมากขึ้นไปอีกค่ะ

ขยายความคำว่าสื่อต้องปรับตัวเองเพื่อตอบโจทย์สังคมได้ไหม

ตอนนี้เวลาที่เราจะนิยามใครว่าเป็นสื่อ เราว่าคนอาจจะเสียดสีมากกว่าชื่นชมด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าคุณเป็นสื่อแล้วคุณทำแบบนี้ คุณเป็นสื่อแล้วคุณทำได้แค่นี้ สังคมจะบอกคุณเองว่าคุณมีคุณค่าพอสำหรับเขาหรือเปล่า

ภาพรวมทั้งหมดที่พูดมาคือกำลังจะบอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการเปลี่ยนผ่านของสถานะสื่อที่ชัดเจนมากขึ้น เราไม่ได้สำคัญเท่าเดิมอีกต่อไป แต่งานเราจะสำคัญกว่าเดิม เพราะจะมีคนคอยตรวจสอบเราได้อย่างตรงไปตรงมา ง่ายด้วยระยะที่สั้นกว่าเดิม และคุยกับเราได้ชัดเจนกว่าเดิม (ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีคนคอยคัด SMS ขึ้นจอให้อ่าน) เพราะฉะนั้นนี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เห็นคือการที่สื่อต้องปรับตัวเองเพื่อตอบโจทย์สังคม

แล้วมุมมองตอนนี้ที่ออกมาทำออนไลน์ล่ะ

พอมาอยู่ในออนไลน์ ถ้าพูดแบบง่าย ๆ มันเหมือนจะเป็นคนละสาย แต่มันก็ไม่ได้แตกต่างกันจนขาดกันเลยเสียทีเดียว ป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เคยถามว่าเรานิยามตัวเองว่าเป็นอะไร เราก็บอกว่าอย่าเรียกว่าเป็นสื่อเลย เพราะขี้เกียจจะเถียงในเรื่องต่าง ๆ นึกออกใช่ไหมคะ เราเลยแบบ ช่างมันเถอะ ไร้สาระ

เรารู้สึกว่ายังคงทำงานในด้านเนื้อหาอยู่แต่อาจจะด้วยรูปแบบ รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป รูปแบบที่เราจะสนุกกับมันมากขึ้น ส่วนในมุมของคนที่จะเลือกใช้งานสิ่งที่เราทำ งานเราก็จะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่จะทำให้เขา (ผู้ชม) เลือกใช้ เรานิยามตัวเองแบบนั้น

เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าวันนี้เราเป็นสื่อไหม ก็ไม่ แต่ว่าถ้าถามว่าสถานะหรือโพสิชั่นของสื่อเป็นอย่างไร ตอนที่เรายังใส่เสื้อสื่อ เราคิดอย่างที่ว่าไป แต่พอตอนนี้เราไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นสื่อ ก็อาจจะเขิน ๆ ที่จะพูดว่าโพสิชั่นสื่ออยู่ตรงไหนของสังคม

พอคุณนิยามว่าตัวเองไม่ใช่สื่อมวลชน แล้วคุณใช้หลักยึดอะไรเวลาคุณเล่าเหตุการณ์ เรื่องราว หรือแม้กระทั่งข่าวให้ผู้ชมคุณฟัง

ยึดหลักอะไรเหรอคะ (นิ่งคิด)
เรายึดหลัก ‘สิ่งที่ควรจะเป็นของเนื้อหาเพื่อสาธารณะ’ พื้นฐานมีแค่นี้เอง และตอนที่เราทำงานก่อนที่จะมาอยู่ออนไลน์เราก็ยึดหลักแบบนี้นะ เพราะเรารู้สึกว่าเวลามันถกเถียงกันด้วยกรอบ ด้วยวิธีคิดที่ผ่านมา หรือแว่นของความเป็นสื่อ ‘มันแกว่ง’ เราเลยคิดว่าควรใช้วิธีคิดที่เป็นพื้นฐานที่สุดของคนทำงานเนื้อหาจะทำให้ทำงานง่ายกว่าค่ะ

เรารู้สึกว่าการที่จะเลือกป้ายมาแปะตัวเองว่า ‘คืออะไร’ มันไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เราทำออกไปว่า ‘มันคืออะไร’ เพราะฉะนั้นถ้าคนจะเรียกใช้งานเราหรือเลือกใช้เนื้อหาที่เรานำเสนอให้ไปเป็นทางเลือก เขาก็คงเลือกจากคุณค่าของงาน

สุดท้ายเราเลยไม่ได้ยึดติดว่าเราเป็นใคร แล้วสิ่งที่เราทำเรียกอะไร ตัดตอนไม่ต้องคิดว่าเราเป็นใคร แต่ให้ดูที่เนื้อหาของเราเลยดีกว่าว่าคนดูจะเลือกหยิบไปใช้ไหม ถ้าคุณคิดว่ามันมีคุณค่าหรือมีประโยชน์คุณเอาไปใช้เลย แบบนี้จะดีกว่า

จำได้ว่าตอนเป็นนักข่าว คุณบอกคุณสนใจด้านสาธารณสุขกับการศึกษามากที่สุด

ใช่ โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามันเป็นพื้นฐานของปัญหาสังคมทุกเรื่อง แต่มันก็ไม่สามารถแยกออกจากเรื่องอื่นได้ทั้งหมด แต่ถ้าอธิบายให้มันเป็นรูปธรรมก็คือเรารู้สึกว่าการศึกษาเปลี่ยนชีวิตคนได้ และสาธารณสุขก็ทำให้คนปลอดภัยมั่นคง ไม่ว่าคุณจะอยู่ช่วงไหนของชีวิต ดังนั้นสองเรื่องนี้เลยเป็นเรื่องที่เราสนใจ

แสดงว่าคุณทำสองเรื่องนี้เยอะ

สนใจก็ไม่ได้หมายความว่าสัดส่วนเนื้องานจะต้องอยู่ตรงนั้นทั้งหมด ไม่ได้แปลว่าเราต้องทำนะคะ แต่ว่าเราให้ความสนใจ คอยดูมันไปเรื่อย ๆ ถ้าการศึกษาสามารถพัฒนาให้ดีได้จริงจนตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของสังคม มันจะแก้ปัญหาได้เยอะ สาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน แต่สองเรื่องนี้ก็ไม่สามารถแยกขาดออกจากเรื่องอื่น ๆ ในสังคมเช่นกัน ทุกเรื่องมันเชื่อมโยงไปถึงเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องกฎหมาย มันนัวกันหมด

ตอนที่เป็นนักข่าว สองเรื่องนี้คนขี้เกียจฟังและไม่ชอบดูมากที่สุดเพราะมันไม่ฉูดฉาด ถ้ามันไม่มีกิมมิค (ลูกเล่น) ให้มันตื่นตาตื่นใจ คนจะไม่ดูเลย อีกอย่างมันเป็นเรื่องยากค่ะ สองเรื่องนี้มีความเป็นเทคนิคพอสมควร แล้วในตัวประเด็นที่มันเป็นโครงสร้างเชิงสาธารณะ มันก็ไม่น่าสนุกอยู่แล้ว

แสดงว่าคนดูชอบเรื่องที่ฉูดฉาด

มันคือท่าทีค่ะ เราอาจจะต้องหาท่าทีที่ย่อยง่ายขึ้น เป็นหนึ่งในมิติงานที่คนทำงานด้านเนื้อหาต้องคิด เช่น คิดว่าสิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับคนรับสารควรจะเป็นแบบไหน ในท่าทีที่ไม่ได้ยัดเยียดจนเกินไป จะสังเกตได้ว่าเนื้อหาที่เราทำไม่ค่อยแตะเรื่องสีสันเท่าไรนะคะ แต่ว่าเวลาที่จำเป็นต้องเลือกหยิบขึ้นมาพูด เราจะพูดถึงเรื่องโครงสร้างควบคู่กันไปด้วย เราจะไม่พูดถึงเพียงปรากฏการณ์ของเรื่องนั้น

ก่อนที่เราจะออกมาจากไทยรัฐมีประเด็นเรื่องทรงผมบังเพื่อน คือ ในรายการแขกรับเชิญท่านหนึ่งพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วถ้าเข้าไปดูในเนื้อใน เราอาจจะรู้สึกว่าสามารถหยิบเอาชั้นของความเป็นสีสันของเหตุการณ์มาพูดได้ เช่น เครื่องแต่งกาย เรื่องทรงผม แต่เราไม่ทำ ในรายการเราจะพยายามพูดถึงเรื่องข้อเรียกร้องที่มีว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไร

ณ วันนั้นหน่วยงานราชการที่มาออกรายการ อธิบายให้ฟังหลังจากการประชุมว่าจะมีวิธีการปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องนี้กระจายให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแล เรื่องนั้นให้หน่วยงานนี้เป็นคนดูแล เหล่านี้คือมิติที่เรานำเสนอ แต่เรื่องที่พยายามพูดให้มีกิมมิค ให้มีสีสัน ทำให้คนสนใจ ก็ต้องยอมรับว่าต้องใช้อันนั้นควบคู่กันไป เพราะถ้าสมมติเราพูดเรื่องโครงซ้างโครงสร้าง คนไม่ดูค่ะ

แล้วเนื้อหาที่ดีควรเป็นแบบไหน

เราเชื่อว่าถ้าเราจะนิยามว่าเนื้อหาที่ดีเป็นแบบไหน เนื้อหาที่ดีคือเนื้อหาที่ไปถึงผู้รับสาร เพราะถ้าเนื้อหามันดีในนิยามแบบขนบเดิม มันจะลอยอยู่แบบนั้น มันย่อยยากเว้ย (หัวเราะ)

ต่อให้มันดีอย่างไร ถ้าไม่ถึงคนรับสาร แล้วยังไงต่อ ถ้าเรายอมประนีประนอมเพื่อให้เกิดผล ประนีประนอมระหว่างเนื้อหากับท่าทีให้มันไปด้วยกันได้ เราคิดว่าได้มากได้น้อย ดีกว่าไม่ได้เลย

คุณบอกว่าเนื้อหาที่ดีคือเนื้อหาที่ไปถึงผู้รับสาร แล้วในรายการของคุณ หน้าตากลุ่มคนดูเป็นอย่างไรและสารของคุณไปถึงกลุ่มคนอื่นที่ไม่ใช่คนรุ่นใหม่หรือไม่

ถ้าเราเชื่อว่าในทุกเจนเนอเรชั่นมีคนที่มีความคิดแตกต่างกัน มีบุคลิกแตกต่างกัน มีวิธีการมองแตกต่างกัน เราคิดว่าอย่างไรก็ถึง เป็นตัวอย่างว่ามีเจนฯ เดิมไม่น้อยที่ดูรายการ แต่เราไม่สามารถอ้างได้ว่ามากหรือน้อยกว่าเจนฯ ใหม่ที่ดูรายการ

เราอาจจะบอกเรื่องความแตกต่างของเจนฯ ได้เป็นภาพใหญ่ ๆ เป็นภาพจำนะคะ แต่เราไม่สามารถเหมารวมได้ทั้งหมด ซึ่งความจริงก็ไม่สามารถเหมารวมแบบนี้ได้ในทุกเรื่องเช่นกัน ตอนที่เราทำรายการ เราก็พยายามคิดว่าการสื่อสารของเราจะไปถึงใครบ้าง ซึ่งในทางออนไลน์ข้อมูลมันบอกเราอยู่แล้วบางส่วนค่ะ

เอาเป็นว่าคนที่ชอบท่าทีแบบนี้น่าจะเป็นคนเจนฯ ใหม่เยอะ และจากข้อมูลที่ทำงานออนไลน์มาก็อาจจะบอกได้บางส่วนว่าผู้ชมส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ค่ะ

ถ้าถามว่าเราห่วงไหมว่าสารจะไปไม่ถึงเจนฯ อื่นในบูมเมอร์ (คนที่มีอายุประมาณ 57-75 ปี) หรือเจนฯ เดียวกับเราอย่างเจนฯ X ปลาย ๆ (คนที่มีอายุประมาณ 42-56 ปี) เราไม่ห่วงนะคะ เราคิดว่าท่าทีของเราในออนไลน์ต่างจากในทีวีแค่เรื่องการแต่งหน้า การทำผม หรือเสื้อผ้าที่ใส่ แต่เวลาที่ต้องพูดเรื่องจริงจัง เราก็จริงจังไม่น้อยกว่าตอนอยู่ในทีวี เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าสารมันจะไปถึงเจนฯ อื่นค่ะ ไม่มากก็น้อย

ในรายการมาเถอะจะคุยตอนที่ 24 คุณถาม พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจควบคุมฝูงชน และมีช่วงหนึ่งที่โฆษกฯ บอกกับคุณว่า ‘อย่างพึ่ง (อารมณ์)ขึ้น’ คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

เราอาจจะดูเป็นคนดุค่ะ เพราะว่าโดยเนื้อเสียง โดยวิธีการพูด และสีหน้าดูเป็นคนดุดัน เราไม่ใช่ภาพจำของผู้หญิงในสื่อแบบขนบเดิม

เราพูดถึงขนบเดิมที่คนส่วนหนึ่งมีภาพจำของผู้หญิงที่ทำงานข่าวแบบหนึ่ง แต่เอาจริง ๆ ก็มีนักข่าวผู้หญิงไม่น้อยที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบเดิมนะ อย่างไรก็ตามเราเข้าใจว่าท่วงทำนองของเรา อาจจะดุเหนือค่าเฉลี่ยพอสมควร และเนื่องจากมันเป็นออนไลน์ ปัจจัยต่าง ๆ ไม่เหมือนคนนั่งคุยกันต่อหน้าที่จะสามารถตรวจสอบระดับเสียงกันและกันได้ พอมันเป็นออนไลน์สัญญาณมันสวนกัน มันดีเลย์ คงมีผลทำให้คนคิดว่าเราดุ

อย่างเวลาอยู่ในออนไลน์เราถามคำถามไปแล้ว แต่กว่าอีกฝั่งจะตอบมัน ดีเลย์ประมาณหนึ่งวินาที พออีกฝั่งยังไม่ตอบ เราก็เลยถามย้ำไปอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่อีกฝั่งก็อาจจะรู้สึกว่า ทำไมเร่งเร้าจังเลย ซึ่งมันคือปัญหาของการทำงานออนไลน์

แต่เราคิดว่าสัดส่วนปัจจัยจากออนไลน์ก็อาจมีส่วน แต่น้อย เราคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคลิกของเรา แต่เอาตามตรงเราก็ไม่ได้ตั้งใจ เราเป็นคนแบบนี้จริง ๆ เรามองตัวเองว่าเป็นคนใจดีมาก ๆ เพราะเราเป็นคนให้เกียรติมนุษย์

อย่างไรก็ตามแม้เราจะเป็นคนให้เกียรติมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะประนีประนอมกับทุกเรื่อง แล้วก็ไม่ได้แปลว่า เราจะรับฟังแบบไม่ได้มีความคิดความเห็นกับคำตอบของอีกฝ่าย เพราะว่าบางคำตอบหรือบางคำอธิบาย มันไม่ใช่

ไม่ใช่ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าคนพูดเป็นใคร แต่หมายความว่าถ้าคุณใช้ตรรกะนี้ในการอธิบาย มันไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องสาธารณะทั้งหมด ดังนั้นถ้าคุณสร้างมาตรฐานบางอย่างกับเรื่องสาธารณะด้วยตรรกะแบบนี้ มันไม่ใช่ มันไม่ได้ (เน้นเสียง)

ทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราเป็นคนตัดสินคนนะ แต่บางคำอธิบายมันไม่ใช่จริง ๆ เช่น คุณบอกว่าสามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมืออย่างนี้กับผู้ชุมนุมได้ แต่แบบ เดี๋ยว! แบบนี้ต้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดคือการมีความรู้สึกร่วมค่ะ ส่วนตัวเราอาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยห่วงภาพลักษณ์ว่าสีหน้าท่าทางของตัวเองมันจะออกไปแล้วเป็นอย่างไร เรารู้สึกว่าเราให้พื้นที่กับความเป็นมนุษย์ของตัวเองพอสมควร

ขยายความได้ไหม เรื่องแบบไหนที่คุณจะไม่ประนีประนอม

ถ้าคำว่าประนีประนอมคือการพยายามไม่หักหาญ ไม่ต้องการให้มีใครแพ้-ชนะกันไปข้าง อย่างไรเราก็ประนีประนอม แต่ที่ไม่ประนีประนอมคือวิธีคิดที่ไปรุกรานคนอื่น เพราะเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสากล มันไม่ใช่รสนิยมมันไม่ใช่จริต

อย่างเช่น เราเห็นคำอธิบายว่าการใช้กระสุนยางของสากลและหลักการฝึกของตำรวจควบคุมฝูงชนในประเทศไทยเป็นแบบหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น และฝ่ายตำรวจให้เหตุผลว่าทุกอย่างถูกตัดสินใจที่หน้างาน นี่คือสิ่งที่เราจะไม่ประนีประนอมกับคำตอบที่ว่า ‘ก็ทำไปตามหลักสากล’ ตกลงหลักสากลให้ทำอย่างนี้ได้เหรอคะ (ทำหน้าสงสัย) ซึ่งการที่เรายังตั้งคำถาม เราเรียกว่าการประนีประนอมแล้ว เพราะเรายังรอฟังคำตอบ เราไม่ได้วิจารณ์ ด่า หรือเลือกที่จะไม่คุยด้วย

เราทำงานสัมภาษณ์เป็นหลัก เราเลยรู้สึกว่าการที่เราสามารถคุยกับใครได้ เราเรียกมันว่าประนีประนอม ถึงแม้ว่าเราจะรู้สึกว่าการกระทำแบบนี้มันรับไม่ได้ คุณจะสร้างมาตรฐานแบบนี้ในสังคมไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะคุย

หลายคนบอกคุณเป็นคนถามตรง ๆ

เราไม่เคยรู้ตัวเองว่าเป็นคนถามตรงนะ เราว่ามันอาจจะเป็นเพราะชื่อรายการ และเราไม่ได้เป็นคนตั้งชื่อรายการ เราไม่รู้ด้วยว่ารายการมันตั้งมาจากไหน (หัวเราะ)  

ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้ถามตรงไปกว่าคนอื่น บางครั้งคำถามจะไม่ได้ตรงซะด้วยซ้ำ แต่ถ้าในมุมของการไม่เลี่ยงที่จะถาม แบบนี้อะใช่ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะต้องถามตรงซะจนไปหักหาญอีกฝ่าย (แต่นี่เรามองตัวเองนะคะ คนที่รับคำถามอาจจะมองอีกแบบหนึ่งได้) ฉะนั้นการถามของเราคือสงสัยก็ถาม อยากได้คำตอบก็ถาม หรือเราอยากได้คำอธิบายก็แค่ถาม ซึ่งนั่นแปลว่าเราก็กำลังเปิดประตูการพูดคุยอยู่นะ (ยิ้ม)

หลายคนบอกคุณตั้งคำถามเก่ง

เราไม่คิดว่าเราตั้งคำถามเก่ง ทั้งหมดเราแค่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องดูฉลาดตลอดเวลา มีคนเคยถามเราว่า หลายคำถาม เรารู้คำตอบอยู่แล้วใช่ไหมแต่ถามไปเหมือนไม่รู้ เราก็ตอบไปว่า ใช่ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหัวโล่งไปเพื่อถาม แต่เราก็ไม่ได้แอคติ้ง (แสดง) นะ แต่บางคำถามต้องถามเพื่อให้เกิดการอธิบายโดยเจ้าตัวเองหรือเพื่อการตรวจสอบด้วยซ้ำ ตรวจสอบว่าข้อมูลที่เราได้มามันถูกไหม สิ่งที่เรารู้มาอาจจะถูกแต่สิ่งที่เขาพูดมาอาจจะผิด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยิ่งข้อมูลทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกัน มันจะยิ่งทำให้มีมุมให้ถามเพื่อไปต่อได้ ถึงแม้ข้อมูลที่ได้มาจะเหมือนกัน มันก็จะสามารถคอนเฟิร์ม (ยืนยัน) กันได้และก็จะไปต่อได้ในอีกแบบหนึ่ง

‘เจ๊คนนี้มันไม่ฉลาดเลยนะเนี่ยถามแหลกเลย’ คือสิ่งที่เรามองตัวเองเวลาถาม ที่เล่ามามันเป็นฐานสำคัญมากนะคะสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวการตั้งคำถาม จากประสบการณ์ที่เราทำงานมา ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดก็ได้ เราพบว่าหลายคนเวลาต้องทำงานหน้าจอ หรือต้องทำงานในที่ที่คนอื่นมองเห็น เขาจะค่อนข้างกลัวว่าตั้งคำถามแบบนี้จะดูโง่ไหม ดูไม่ฉลาดหรือเปล่า ถ้าคนที่ตอบคำถามสวนเรามาแบบนี้กลางรายการล่ะ จะทำอย่างไร

ดิฉันเจอมาตลอดแหละค่ะ (หัวเราะ) การที่คนคนหนึ่งด่าเรากลางรายการว่าเป็นคนอย่างไร ดูถูกดูแคลนคุณ มันไม่ได้เปลี่ยนข้อเท็จจริงที่คุณเป็น ถ้าคุณเป็นจริงอย่างที่เขาว่า อ้าว! ก็คุณเป็น ดังนั้นมันก็ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาว่าคุณแล้วคุณไม่ได้เป็น มันก็แปลว่าคุณไม่ได้เป็นไง

สิ่งที่สำคัญของงานตั้งคำถามคืออย่าใส่ใจแต่ตัวเองให้มองที่ตัวประเด็น พอเรายึดหลักตรงนี้แล้ว          เวลาสงสัยอะไรให้ถามไปเลย และอีกสิ่งที่สำคัญที่สุดของการสัมภาษณ์คือการฟัง พอเราฟังแล้วเราจะรู้ว่ามันต้องร้อยต่อไปแบบไหน ต่อให้คำตอบของบางคน เรารู้ว่าเขาโกหก แต่ถ้าเราไม่ล้มเลิกหรือว่าไม่ท้อถอยก่อนที่จะถาม สุดท้ายตัวคำตอบจะสะท้อนให้ผู้พูดได้ยินเสียงตัวเองว่าคำตอบของเขาที่ออกมา เขามีความเชื่อแบบไหน มีตรรกะแบบไหน เราคิดว่าที่มาของคำตอบก็สำคัญพอ ๆ กับคำถามนะ

แล้วคุณให้แขกรับเชิญดูคำถามไหม

ให้ค่ะ แล้วเวลาเขาขอดูเราก็บอกไปตรง ๆ ว่ายังไม่ได้ตั้งเลย กระดาษโล่งเลยค่ะ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่สิ่งที่จดในกระดาษจะมีแค่ข้อมูลหรือจดประเด็นของเนื้อเรื่องนั้น จะสังเกตว่าคำถามในรายการเราเป็นลูกต่อเนื่องเยอะ และไม่มีการเช็คลิสต์คำถามเลย

แต่ก็จะมีแขกรับเชิญบางท่านที่ต้องการขอบเขตของการสัมภาษณ์ที่ชัดเจน เนื่องจากต้องเตรียมเนื้อหาเตรียมข้อมูล เตรียมตัวเลขมาตอบ ในกรณีนั้นเราจะให้คำถามไปทั้งหมด เราจะบอกไปล่วงหน้าว่าจะคุยกันเรื่องอะไรบ้าง และส่วนใหญ่คนที่เราเชิญต้องรู้เรื่องที่จะพูดอยู่แล้ว ดังนั้นจะไม่มีกรณีเซอร์ไพรส์แขกรับเชิญเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามเราไม่คิดว่าทุกคนจะต้องจำทุกอย่างที่เป็นงานของตัวเองได้ มีแขกรับเชิญที่ไม่สามารถจำตัวเลขบางตัวเลขได้ เราคิดว่ามันโอเค มันเกิดขึ้นได้ และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาขาดความรับผิดชอบนะ

แต่ก็ไม่ใช่ว่าถามอะไรก็ไม่รู้สักอย่าง ถามอะไรก็บอก ไม่รู้ไม่รู้ไม่รู้ไม่รู้ไม่รู้ไม่รู้ไม่รู้ แบบนี้คือไม่ได้ (หัวเราะ)

เท่าที่ติดตามรายการโทรทัศน์ แหล่งข่าวหลายคนปฏิเสธการขอสัมภาษณ์ เนื่องจากวิธีการสัมภาษณ์ วิธีการถามตรง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องออกมาตอบคำถามสังคม พอมาเป็นรายการออนไลน์ ปัญหานี้เป็นอย่างไรบ้าง

อ่อ จอมขวัญคนเดิมค่ะ เจอเหมือนเดิม คือเขาไม่ได้รังเกียจรายการ เขารังเกียจดิฉันนี่แหละค่ะ (หัวเราะ)

ส่วนหนึ่งมันก็อาจจะเป็นเพราะว่าวิธีการถามของเรา แขกรับเชิญไม่ชอบสไตล์เรา หรือไม่ชอบจุดยืนของเรา ซึ่งเขาก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจแบบนั้น แต่เราก็ไม่ลดละที่จะพยายามติดต่อ เพราะอย่าลืมว่าเวลาเราคุยกับเขา เราคุยกับเขาในบทบาทที่เขาเป็น

เราพูดเสมอว่า เราไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์คุณประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ในฐานะทหารเกษียณ เราวิพากษ์วิจารณ์เพราะว่าเขาเป็นนายกฯ ถ้าคุณเป็นทหารเกษียณปกติ ใครจะไปตามดูชีวิตคุณ ใครจะไปตามดูว่าชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร คุณจะตลกแค่ไหน เช่นเดียวกันกับหน่วยงานราชการค่ะ อย่าคิดว่าที่เราโทรไปตื๊อเพราะว่าเรื่องอื่นนะ ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนี้ มีบทบาท หรือรับผิดชอบหน้าที่เหล่านี้ คุณคิดว่าใครจะไปคุยกับคุณเรื่องพวกนี้

ในรายการมีเรื่อง Live ตอนที่ 5 คุณคุยเรื่องเกียรติตำรวจไทยซึ่งเชื่อมโยงกับคดีของอดีตผู้กำกับโจ้ คุณพูดขึ้นมาว่าคนปล่อยวิดิโอจากกล้องวงจรปิดจะปลอดภัยไหม เพราะเดี๋ยวเรื่องก็เงียบ ทำไมคุณคิดว่าเรื่องจะเงียบ

ใช่ค่ะมันอาจจะเงียบ แต่ถ้าสื่อไปเฝ้ามองเฝ้าตามความคืบหน้าก็อาจจะดีขึ้น อย่างเรื่องผู้กำกับโจ้ มันเป็นเรื่องที่ถ้าเราไม่ไร้เดียงสา แต่เวลาเราถามเราต้องถามแบบไร้เดียงสา (หัวเราะ) เราจะทราบว่าการที่ผู้กำกับโจ้ขึ้นมาเป็นผู้กำกับในโรงพักระดับแบบนี้ ด้วยวัยแค่นี้มันไม่ปกติหรอกค่ะ มันไม่ธรรมดา และการที่ผู้กำกับโจ้ถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดี จากภาพข่าวซึ่งชัดขนาดนั้น ก็ยังอาจถูกสงสัยได้เลยว่าจะบิดพลิ้วจนผู้กำกับโจ้รอดคดี

หรือแม้กระทั่งพอมีเรื่องอื่นทับถมมาเรื่อย ๆ มันก็อาจทำให้เรื่องนี้ถูกส่งเสียงน้อยลงได้ จะสังเกตได้ว่าในช่วงที่มีข่าวผู้กำกับโจ้ ก็จะมีข่าวลุงพลถูกปล่อยออกมา เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องเป็นนักข่าวมาแปดปี สิบปี สังคมก็รู้ค่ะ อ๋า! ข่าวใหม่มาอีกแล้วเหรอคะ อ๋า! มีเรื่องนี้ออกมาตอนที่กำลังมีข่าวนี้เหรอคะ ดังนั้นการที่เราถามว่าเรื่องอาจจะเงียบไป ก็เป็นมาตรฐานปกติของการเอ๊ะของเหตุการณ์ในสังคมค่ะ

คุณบอกว่าถ้าสื่อเฝ้ามองเฝ้าตาม มีสื่อที่ไม่เฝ้ามองเฝ้าตามด้วยหรือ

มีค่ะ มี! เดี๋ยวตีเลยมาถามแบบนี้ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้มีสื่อที่อยู่ในกลุ่มที่แตกต่างกันเยอะ ไม่ได้หมายความว่าจุดยืนทางการเมืองนะคะ แต่เป็นในแง่ของสื่อที่มีความเป็นขนบมาก ๆ สื่อที่พยายามที่จะอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งให้ได้โดยพยายามให้ไม่ถูกกล่าวหาว่าเอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง สื่อที่เราเห็นว่าจุดยืนของผู้บริหารเป็นแบบใดแบบหนึ่งอย่างเปิดเผยก็มี หรือผู้บริหารบางคนที่แสดงออกแบบหนึ่งก็จริง แต่พยายามที่จะไม่แสดงออกผ่านองค์การของเขาก็มี คือมันมีเยอะมาก นี่ยังไม่รวมถึงเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ด้วยนะ

ทั้งหมดทำให้เราคิดว่าการไปจัดระเบียบสื่อเหล่านี้ยากมาก หรืออาจจะจัดระเบียบไม่ได้เลยด้วยซ้ำ ดังนั้นเราเลยคิดว่าความเท่าทันสื่อ (literacy) ของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่สำคัญ และอาจง่ายกว่าการไปจัดระเบียบ

มีคนเคยบอกว่าการเพิ่มความเท่าทันสื่อให้ประชาชนเป็นเรื่องยากเพราะขนาดบัวยังมี 5 เหล่า ผู้รับสาร (audience) ก็เช่นกัน คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้

ก็ไม่เป็นไรค่ะ (หัวเราะ)

สองมิตินะคะ มิติแรกคือเรื่องเหล่าบัว เชิญไปถกกับนักวิชาการพุทธที่เขาศึกษาพระไตยปิฎกนะคะ ยังไม่รวมถึงวิธีการถ่ายทอดความคิด ความเชื่อเรื่องคนกับเหล่าบัวของคนในอดีต ที่ทำให้ยังมีภาพจำของคนกับเหล่าบัวอยู่ เชิญไปถกกับนักวิชาการค่ะ (หัวเราะ)

มิติต่อมาคือการใช้วิธีคิดแบบนี้ ก็ได้นะคะ ก็ได้ (นิ่งคิด) แต่ถ้าเราบอกว่าผู้รับสารมีหลายเหล่า ดิฉันก็ถามกลับว่าแล้วสื่อไม่ได้มีหลายเหล่าเหรอคะ เพราะถ้าคุณมีวิธีคิดแบบนี้คุณก็ต้องคิดว่าสื่อก็มีหลายเหล่าเหมือนกันนะ มีสื่อมากมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เพื่อประชาชน สื่อบางสื่อก็เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นไอโอ (information operation) แล้วคุณจัดสื่อเหล่านั้นอยู่ในเหล่าไหนของบัวล่ะ นี่เราพยายามคิดบนฐานของเหล่าบัวที่ว่ามานะคะ

อะไรที่คุณกำลังทำเพื่อเพิ่มความเท่าทันสื่อให้ผู้รับสารของคุณอยู่

มีหลายลักษณะ หลังจากที่เราออกมาจากทีวีก็พยายามที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาค่ะ เราพยายามจะเสนอเนื้อหาที่มันไม่ใช่กระแสหลัก โดยใช้ข้อมูลคุยกัน ใช้ความรู้คุยกัน อันนั้นก็แบบหนึ่ง หรืออีกแบบคือเราก็พยายามที่จะหยิบเรื่องราวที่สนุก มีสีสัน แต่ก็พยายามเติมหลักฐาน เติมข้อมูลเข้าไป

ตอนที่ทำรายการถามตรง ๆ กับไทยรัฐ เราพยายามเข้าไปถึงแก่นของเรื่อง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตอนเราทำประเด็นเรื่องหวยสามสิบล้าน เราตามเรื่องนี้เป็นเดือน  โดยเราอยู่กับประเด็นนี้โดยไม่จมไปกับความดราม่าหรือสีสันของมันเท่านั้น เราพยายามเจาะไปที่ประเด็นว่า ตำรวจสภ.พื้นที่คิดอย่างไร รวบรวมหลักฐานอย่างไร ผู้บัญชาการภาคคิดอย่างไร หลักฐานแบบนี้มันมีน้ำหนักแค่ไหนเวลาสู้คดี หรือตำรวจรวบรวมหลักฐานแบบนี้มันถูกต้องหรือไม่ แล้วถ้าไม่มีพยานบุคคล จะใช้พยานอะไรได้อีกไหม เหล่านี้คือความพยายามที่เราทำตอนที่ต้องทำข่าวสีสัน ทำข่าวกระแสค่ะ

ตอนที่คุณเริ่มทำรายการมาเถอะจะคุยแรก ๆ ยาวเกือบ 3 ชั่วโมง แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 1.30 ชั่วโมง นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณเรียนรู้ใช่ไหม

ใช่ค่ะ แต่มันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติไม่ได้มีการวางแผนอะไรเลยนะคะ หลังจากที่เกิดโควิด-19 จึงต้องเปลี่ยนเป็นรายการออนไลน์เพื่อตอบรับกับการทำงานที่บ้าน พอเป็นรายการออนไลน์ พอยาวมาก ๆ มันจะไม่เหมือนมนุษย์คุยกัน ก็เลยต้องทำให้รายการกระชับขึ้น

เนื่องจากคุณเข้ามาจับงานออนไลน์ คุณคิดอย่างไรกับวลี​ ‘ชาวเน็ต’ และชาวเน็ตมีผลกับการทำงานคิดเนื้อหารายการของคุณอย่างไร

เวลาที่พูดถึงชาวเน็ตเราพูดด้วยสุ้มเสียงแบบไหน ถ้าในมุมของชาวเน็ตโดยทั่วไปที่รวมถึงผู้ชม ผู้อ่าน ประชาชน สาธารณชน ถ้าเป็นในนิยามนี้ ทุกครั้งเวลาที่เราผลิตงาน เราคำนึงถึงพวกเขาตลอด แต่ถ้าพูดกันจริง ๆ ชาวเน็ตก็มีทั้งเซ็ตอัพ (จัดตั้ง) และไม่เซ็ตอัพ เอาแบบไม่เซ็ตอัพเนอะ (หัวเราะ)  

ถ้าพูดถึงเรื่องการได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจากคนดู มันเป็นเรื่องปกติค่ะ เราจิตตกได้ เพราะเราก็ไม่ใช่พระอรหันต์มั้ง เราก็ผิดได้ เราก็พลาดได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องฝ่าไปค่ะ งานด้านการทำเนื้อหา เป็นงานสาธารณะ เป็นเรื่องปกติที่จะได้รับคำวิจารณ์ และเราก็ว่ามันยุติธรรมมากพอตรงที่ว่า เวลามีคนชมงานเรา ก็ไม่ได้มีแค่หัวหน้างานเราที่ชอบ สาธารณะเขาก็ชมงานเราด้วยเหมือนกัน ส่วนเวลาที่มีคนด่างานเรา มันก็มีทั้งคู่เช่นกัน

เรามักจะบอกน้อง ๆ ที่ทำงานด้วยกันเสมอว่าเราเป็นมนุษย์ค่ะ เราจิตตกได้ ตกแล้วเก็บขึ้นมา ปล่อยมันตกบ้าง ไม่ต้องไปถือมันไว้ตลอดเวลา

สำหรับเรา เวลาได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ เราเป็นคนกรองเป็น เรารู้ว่าอันไหนจัดตั้ง อันไหนไม่จัดตั้ง อันไหนออร์แกนิค (ธรรมชาติ) บางคนก็วิจารณ์จากเหตุผลจากอารมณ์หรือจากพื้นความเชื่อของเขา มันมีทุกแบบ ดังนั้นต้องหัดกรองให้เป็นและเราจะสามารถอยู่กับมันได้ พอถึงจุดหนึ่งเราจะแข็งแกร่ง ต่อให้จิตตกแต่เดี๋ยวก็จะเก็บขึ้นมาเร็วขึ้นค่ะ (ยิ้ม)

สุดท้าย แล้วชาวเน็ตแบบจัดตั้งล่ะ

ก็ไม่เป็นไรค่ะ เขาต้องทำมาหากินแหละ


ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
10
Love รักเลย
4
Haha ตลก
2
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

Writings

กว่าจะได้ทำหนัง และความช่วยเหลือจากอาจารย์ใหญ่

เขียนและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร กลางวัน / ภายใน / คาเฟ่สักที่ บลูนั่งกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่ ท่ามกลางเสียงพูดคุยของผู้คน กำแพงด้านข้างประดับไฟคริสต์มาส XCU ปากที่กำลังจรดขอบแก้วกาแฟ2 SHOT ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save