Interview

ในวันที่ สงกรานต์-รังสรรค์ เป็นมากกว่าศิลปิน

สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2563

“หนักใจ จะรักษามาตรฐานตรงนี้เอาไว้ได้อย่างไร”

นั่นคือคำที่ สงกรานต์รังสรรค์ ปัญญาเรือง ตอบ เมื่อถามถึงความรู้สึกจากการเป็นเจ้าของเพลงไทยเพลงที่ 3 ที่มียอดวิวบนยูทูบถึง 100 ล้านวิว

จากเมื่อ 8 ปีก่อน ที่เพลง คงไม่ทัน ฮอตฮิตเป็นปรากฏการณ์ จนจุดกระแสให้เพลงร็อกกลายเป็นเมนสตรีม และทำให้เด็กวัยรุ่นสวมเสื้อยีนส์กันทั้งบ้านทั้งเมือง ปัจจุบัน สงกรานต์เป็นเจ้าของค่ายเพลงของตัวเองอย่าง Pyramid Records และเจ้าของกิจการร้านอาหาร แต่เขา “ก็ยังเป็นผู้ชายคนเดิม เปลี่ยนแค่เสื้อที่ใส่”

ต้องสูงกว่าพวกนั้นขึ้นมาอีก

“เมื่อก่อนตอน ‘คงไม่ทัน’ ดัง เสื้อเหลือง-เสื้อแดงยังประท้วงกันอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่เลย” สงกรานต์เล่าถึงเพลงที่ดังที่สุดของเขา ซึ่งปล่อยออกมาในช่วงที่กระแสเพลงไทยไปในทาง easy listening เสียส่วนใหญ่

“ตอนนั้นได้แชมป์ The Voice มา ทุกคนรู้จักพี่ แล้วปล่อยเพลงออกมา ป้าง! กลายเป็นว่าคนทำเพลงร็อกกันทั้งบ้านทั้งเมือง มีวงร็อกใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา ถ้าลองเสิร์ชหาเพลงพี่ใน YouTube จะมีเพลงของวงพวกนี้แนะนำตาม ๆ มาหมดเลย

“ถ้าเราเป็นผู้นำเทรนด์แล้ว เราต้องรักษามันไว้ให้ได้ด้วย ถ้ารักษาไว้ไม่ได้ วงที่เกิดมาใหม่อาจจะใกล้ชิดกับคนฟังมากกว่า เช่น พวกเขาอาจจะไปงานกาชาด ไปเจอชาวบ้านเลย ส่วนพี่นี่ไปแต่งานที่ผับ พี่ก็อาจจะกลายเป็นคนถูกลืม เพราะชาวบ้านชอบวงที่ใกล้ตัวกว่า

“ถ้าให้พี่ต้องวิ่งเข้าหาคน gen ใหม่ พี่คิดว่า พี่ต้องอยู่สูงกว่าพวกนั้นขึ้นมาอีก ภาพลักษณ์ ซาวนด์ดนตรี ต้องสูงกว่าเดิมหน่อยหนึ่ง ต้องอยู่เหนือห่วงโซ่ ต้องทำให้ฉีก ถ้าเราทำเหมือนเดิม มันก็ได้ผลลัพธ์เดิม มันไม่มีการได้ผลลัพธ์ใหม่จากการกระทำเดิม ๆ อยู่แล้ว

“ตอนนี้ถ้าให้พี่แต่งเพลงแนวจิ๊กโก๋อกหักเหมือนเดิม เทียบกันกับวงที่เกิดมาใหม่ พี่ว่าเด็กแถวบ้านก็เลือกวงใหม่มากกว่า วงพวกนั้นอยู่ใต้พี่มาตลอด พอมันอยู่ใต้ คนก็เอื้อมถึงได้ ฉะนั้น ถ้าให้พี่พูดเรื่องเดิม พวกนั้นกินขาดหมด พี่ก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง”

เปลี่ยนเสื้อ แต่ยังเป็นคนเดิม

เราถามสงกรานต์ว่าจะหาสมดุลระหว่างทำเพลงแบบใหม่ กับการเป็นตัวเองได้อย่างไร

“ไม่เหมือนเดิม ไม่ได้หมายความว่าเราเปลี่ยนตัวตน เรายังคงเรื่องเล่าเรื่องเดิมอยู่ แต่อาจจะเปลี่ยนเสื้อ”

การเปลี่ยนเสื้อของเขา ไม่ใช่แค่เสื้อที่ใส่อยู่จริง ๆ แต่หมายถึงดนตรีที่เปลี่ยนไป หรือซาวนด์ดีไซน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เพลงดูร่วมสมัยขึ้น “เหมือนผู้ชายที่เปลี่ยนเสื้อ แต่ก็ยังเป็นคนเดิม”

เขาเล่าว่า เมื่อก่อนเขาแต่งเพลงโดยเริ่มจาก ‘ตัวเอง’ เขียนเนื้อเพลงมาก่อน ค่อยเรียบเรียงทำนองตาม ต่างจากปัจจุบันที่เริ่มเขียนเพลงจาก ‘ดนตรี’ ก่อน แล้วตัวเขาจะตามมาทีหลัง ซึ่งขั้นตอนใหม่ทำให้เขาต้องทำการบ้าน คิดหาเนื้อเพลงที่เข้ากับดนตรีให้ได้ “เมื่อก่อนพี่เขียนเพลง มีพี่แค่คนเดียว แต่ตอนนี้คิดดนตรีก่อน ซึ่งมันมีคนคิด 4 คน มันก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น…คิดให้เยอะ แต่ทำให้น้อย”

เขายกตัวอย่างวงร็อกฝั่งอังกฤษอย่าง Coldplay ที่เพลงอัลบั้มแรกกับอัลบั้มล่าสุดต่างกันโดยสิ้นเชิง “แต่เรื่องที่เล่า ถ้าแปลความออกมาแล้ว ยังเป็นผู้ชายคนเดิม”

“มีคนเคยถามพี่ว่า ทำไมไม่เขียนเพลงแบบ ‘คงไม่ทัน’ อีก พี่ก็บอกไปว่า กูทำไม่ได้แล้ว กูทำได้ครั้งเดียว ณ วันนั้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว กูอาจจะมีความรู้สึกแบบนั้น นี่มันผ่านมา 7 ปีแล้ว มึงให้กูเขียนคงไม่ทันอีกรอบเหรอ มันไม่ได้”

เขียนเพลงให้คนอื่น ก็ต้องสวมบทเป็นคนอื่น

นอกจากจะเขียนเพลงให้ตัวเองร้องเอง สงกรานต์ยังรับหน้าที่เขียนเพลงให้คนอื่นด้วย ซึ่งกว่าจะได้มาสักเพลงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

“พี่ต้องไปนั่งฟังตั้งแต่อัลบั้ม ใต้ดิน” เขาพูดถึงขั้นตอนการแต่งเพลง คนตายพูดไม่ได้ ให้กับวง EBOLA

“พี่เปรียบศิลปินเป็นเหมือนคน ๆ หนึ่ง พี่ต้องมาคิดว่า ผู้ชายคนนี้ คนที่ชื่ออีโบล่า เขาพูดถึงเรื่องอะไร เวลาเขาอกหัก เวลาเขามีความรัก เวลาที่เขาจะสอนใครสักคนมันเป็นอย่างไร สรุปใจความออกมาได้ว่า อีโบล่าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่รับบทเป็นพี่ชายให้คนฟัง เพลงของเขา คนฟังจะต้องรู้สึกว่าแพ้ไม่ได้เว้ย ต้องสู้เว้ย ไม่สู้ก็ตายเว้ย”

“ถ้าพี่ไปเขียนให้อีโบล่าแบบ เธอทิ้งฉันไปทำไม ใจฉันจะขาดอยู่แล้ว เฮ้ย เสียเลย”

สงกรานต์เล่าให้ฟังว่า ประสบการณ์การแต่งเพลงให้คนอื่นที่ตื้นตันใจมากที่สุด คือตอนที่เขาเข้าร่วมแข่งขันในรายการสงครามทำเพลง ซึ่งต้องปะทะกับตัวท็อปของวงการหลายคน เพื่อแต่งเพลงให้นักแต่งเพลงระดับตำนานอย่างแอ๊ด คาราบาว ซึ่งสุดท้าย เพลงที่แอ๊ดชอบที่สุด คือเพลงของเขา คนที่เด็กที่สุดในรายการ

สำหรับเขา เพลงที่แต่งให้แอ๊ด คาราบาวนั้นเป็นมาสเตอร์พีซเลยก็ว่าได้ เพราะคิดมาแล้วทุกประโยค ทุกท่อนมีกิมมิกและชั้นเชิงอยู่ “แต่เพลงแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะดังนะ เราแค่ต้องการเขียนให้คน ๆ นี้ชอบเท่านั้น”

“ถ้าให้แต่งเพลงให้ใครร้องก็ได้ อยากแต่งให้เจ้านายพี่ พี่ฟองเบียร์ (ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม นักแต่งเพลงและเจ้าของค่าย ME Records ที่สงกรานต์สังกัดอยู่) เพราะถ้าแต่งแล้วเขาชอบ มันเหมือนเราได้ก้าวไปอีกขั้น เหมือนตอนที่แต่งให้น้าแอ๊ดแล้วเขาชอบ ตอนนั้นคิดว่า เฮ้ย กูเด็กบ้านนอก แต่น้าแอ๊ดชอบเพลงกูเว้ย กูก้าวไปอีกขั้นแล้ว”

วงการเพลงที่เปลี่ยนไปในยุคโซเชียล

“วงการเพลงมันเปลี่ยนไปร้อยเปอร์เซ็นต์” เขายืนยัน “เมื่อก่อนใครได้ออกเทปคือดังแล้ว ใครได้ออกซิงเกิลคือดังแล้ว”

ในฐานะศิลปิน ทุกวันนี้สงกรานต์ต้องคิดถึงว่าเพลงจะสามารถเป็นไวรัลได้ไหม คนจะเอาไปเล่นใน TikTok ได้หรือเปล่า

เขาเล่าว่า วันหนึ่งเขากับเพื่อนกลับไปโรงเรียนที่จบมาเพื่อถ่าย vlog เขาเดินเข้าไปถามเด็ก ม.6 กลุ่มหนึ่งว่าทำอะไรกันอยู่ ภาพในหัวคือเด็ก ๆ ตื่นเต้นเพราะได้เจอคนดังอย่างสงกรานต์ แต่กลับกลายเป็นว่า “เด็กเงยหน้าขึ้นมาตอบว่า ทำรักการอ่านอยู่ครับ แล้วพี่เป็นใคร”

เขากลับกรุงเทพฯ มาประชุมกับค่ายว่า ถ้าเขายังทำอัลบั้มไม่ดี เสื้อยังไม่เปลี่ยนสีใหม่ เขาจะไม่ออกอัลบั้ม เพราะฐานลูกค้าในอนาคตยังไม่รู้จักเขาเลย

สงกรานต์เซ็งกับการเปลี่ยนไปของวงการเพลง แต่เซ็งอยู่ได้ไม่นานก็ต้องลุกขึ้นมาทำงานต่อ เขาปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเพลง ทำการตลาดทุกอย่าง “เหมือนร้านขายของ สมมติพี่เป็นตาสีตาสา มานั่งพูดว่า โอ๊ย ออนไลน์อะไรไร้สาระ…ได้นั่งตบยุงแปะ ๆ เลยนะ” พูดจบเขาตบมือเป็นเสียงประกอบ

“วันนั้น JOOX มาหาที่ค่าย บอกว่าเพลงเดี๋ยวนี้ คนมันเลือกฟังตั้งแต่ชื่อแล้ว ชื่อแบบ โลมาไม่ใช่ปลา หนีห่าง แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร มันมีเพลงหนึ่งอยู่บนชาร์ตชื่อ คนที่รอคอยคือผู้ลอยคอ… (หัวเราะ) คนคิดอาจจะไม่ตั้งใจ แต่มันก็กลายเป็นกระแสไปแล้ว”

สำหรับเขา เพลงไม่ใช่แค่จิตวิญญาณ แต่เป็นธุรกิจด้วย เพราะฉะนั้นวิธีการคิดจะไม่เหมือนกับการทำดนตรีเพียงเพราะอยากทำเฉย ๆ “พี่ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ คิดน้อยไม่ได้”

เราถามว่า เป็นศิลปินในยุคนี้ อยู่จากรายได้จากสตรีมมิ่งอย่างเดียวได้จริง ๆ เหรอ “สตรีมมิ่ง พี่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องรายได้ แต่มองว่ามันเป็นสื่อมากกว่า ทุกวันนี้สตรีมมิ่งกลายเป็นสื่อใหญ่ เมื่อก่อนสื่อใหญ่คือทีวี ทุกวันนี้ถามว่ากลับบ้านมาดูทีวีไหม” เราหัวเราะ

“ให้สตรีมมิ่งเป็นตัวกระจายผลงาน ถ้ามันกระจายออกไปแล้วงานจ้างจะมาหาเราเอง”

สงกรานต์ในฐานะเจ้าของค่ายเพลง

ปัจจุบัน สงกรานต์เป็นเจ้าของค่ายเพลง Pyramid Records ซึ่งวิธีการเลือกวงมาเข้าค่ายของเขานั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเหมือนกับขั้นตอนอื่น ๆ ของการทำเพลง เขาเลือกวงที่น่าสนใจมาเข้าค่าย ไม่ได้เลือกแค่แนวเพลงของวงนั้น ๆ อย่างเดียวแล้ว

เราถามว่า ทุกวันนี้เลือกวงไม่ต้องดูที่แนวเพลงเหมือนเมื่อก่อนแล้วเหรอ

“ทุกวันนี้คนฟังไม่ได้ฟังที่ค่าย” เขาตอบ “อย่างตอนนี้เบอร์ใหญ่ ๆ ของพี่เป็นวงร็อกหมดเลย แต่ร็อกไม่ได้อยู่ในเทรนด์ปีนี้ ถ้าเรามีแต่วงร็อกในค่ายอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้”

นอกจากการทำเพลงแล้ว เขายังผลักดันให้วงในสังกัดทำอย่างอื่นให้เข้ากับกระแสดิจิทัลด้วย เช่น แคสต์เกม “อย่างตอนนี้แคสต์เกมมันกำลังดัง เราก็ให้น้อง ๆ เล่นเกมไปร้องเพลงไป คนที่เข้ามาดูก็อาจจะแบบ เอ๊ะ มันร้องเพลงอะไร”

ในวันที่สงกรานต์ต้องเป็นมากกว่าศิลปิน

ตลอดเวลาสัมภาษณ์ สงกรานต์พูดถึงปัจจัยด้านเงิน ๆ ทอง ๆ ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการทำเพลงขึ้นมาสักชุด (“ทุกวันนี้ ใครได้ออกอัลบั้ม แปลว่าต้องมีทุน”) หรือการจะเป็นเจ้าของค่ายเพลงสักค่าย (เมื่อเราถามเขาว่า จะเปิดค่ายเพลงต้องทำอย่างไร เขาถามกลับทันทีว่า มีนายทุนไหม) สำหรับเขา ดนตรีไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่เป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงตัวเอง ครอบครัว และคนอื่น ๆ ที่พึ่งพาเขาอยู่

คำถามสุดท้าย เราถามเขาว่า ถ้าให้เขาแนะนำตัวเอง จะแนะนำว่าอย่างไร

“พี่เป็นคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว และคนอื่น ๆ ถ้าต้องทำอะไรก็ตามที่ทำให้ได้เงินมา พี่ก็ทำ” เขาตอบ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

Dream Hunter ปฏิบัติการล่าเงินแสน ต่อยอดฝัน วัยรุ่นเจน Z

เรื่องและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร Dream Hunter ปฏิบัติการล่าเงินแสน ต่อยอดฝัน วัยรุ่นเจน Z “สวัสดีค่ะ ชื่อตันหยง เสาชัย ตอนนี้อยู่ปี 4 ...

Writings

เสียงสะท้อนจากคนในระบบการศึกษา เมื่อตำรวจคุมศึกษาธิการ

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร แด่นักเรียนผู้ต้องไม่ยอมจำนน อำนาจนิยม หรือระบอบที่มีชนชั้นระหว่างผู้บังคับบัญชา – ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นระบอบที่จำกัดเสรีภาพทางความคิดและการกระทำของบุคคลใต้บังคับบัญชา เช่น ...

Interview

การสันทนาการในปัจจุบันยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

เรื่องและภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์ การสันทนาการในปัจจุบันยังจำเป็นอยู่หรือไม่? สันทนาการ หรือ นันทนาการ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือกิจกรรมที่ทำตามความสมัครใจในยามว่าง เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และผ่อนคลายความตึงเครียด ดังนั้นในการจัดกิจกรรมใดขึ้นมาเลยมักมีการนำการสันทนาการมาเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรม แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ...

Interview

‘ชายแท้’ ย้ายถิ่น  ชวนวิเคราะห์พฤติกรรมการคุกคามทางเพศของ ‘ชายแท้’

เรื่อง : จิตริณี  แก้วใจ ภาพ : จิรัชญา นุชมี ‘ชายแท้’ หรือกลุ่มคนที่ถูกนิยามขึ้นผ่านทางโซเชียลมีเดียนั้น แม้จะเป็นนิยามที่ถูกพัฒนาขึ้นมาไม่นาน  แต่ในปัจจุบันมีความหมายเป็นไปในเชิงลบและใช้กันอย่างแพร่หลาย จนสามารถถูกใช้เป็นคำอธิบายหรือคำด่าต่อผู้ที่มีทัศนคติ แนวคิด และพฤติกรรมที่มีความเป็นชาย ...

Writings

ภาพจำการแต่งตัวของนักการเมือง ก่อนเก็บป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 2566

เขียน        สมิตา พงษ์ไพบูลย์ ภาพ         กัญญาภัค วุฒิรักขจร ภาพจำการแต่งตัวของนักการเมือง  ก่อนเก็บป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 2566 การเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2566 กำลังจะมาถึง ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้  ...

Interview

“ส้มมั้ยจ๊ะ” ข้อความที่มีเสียง ที่เด็กมธ. รังสิตต่างคุ้นเคย

เรื่อง: เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุลภาพ: เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล, ณัฐธนาวดี วงศ์วารห้อย และปาณัสม์ จันทร์กลาง “ส้มมั้ยจ๊ะ ส้มมั้ยจ๊ะ ส้มมั้ย ส้มมั้ยจ๊ะ” เสียงพูดเร็วๆ ซ้ำๆ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save