Art & CultureWritings

ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป กับคำถามว่า ‘โทษประหารชีวิตยังจำเป็นอยู่หรือไม่’

เรื่อง: วิวิศนา อับดุลราฮิม

ภาพ: จุฑารัตน์ พรมมา

ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป อีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกจากฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่เคยฝากผลงานไว้ในเรื่องปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ ฉบับแปลไทยเมื่อปี 2018 โดยในเรื่องนี้ผู้เขียนจะพาผู้อ่านทุกท่านไปร่วมค้นหาความจริงเบื้องหลังเหตุการณ์การฆาตกรรมหญิงสาวผ่านการเล่าเรื่องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกของตัวละครจนทำให้ผู้อ่านเข้าถึงจิตใจของพวกเขาได้ไม่ยาก และอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้เขียนหยิบยกขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กับการไขปริศนาฆาตกรรมก็คือการตั้งคำถามว่า “โทษประหารชีวิตยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในปัจจุบัน และควรชดใช้อย่างไรจึงจะเหมาะสม”

เรื่องไม้กางเขนบนเส้นทางบาปเล่าเรื่องผ่านมุมมองส่วนใหญ่ของนากาฮาระ ผู้ที่สูญเสียลูกไปในอดีตจากเหตุการณ์ฆาตกรรม และในอีกหลายปีต่อมา ในเวลาที่เขายังไม่สามารถทำใจกับการจากไปของลูกสาวได้ ก็ต้องมาสืบหาความจริงเบื้องหลังคดีฆาตกรรมอดีตภรรยาของเขาต่อ 

เรื่องราวดำเนินโดยเริ่มจากการเล่าถึงอดีตของนากาฮาระในตอนที่ครอบครัวของเขามีอยู่ด้วยกัน 3 คน พ่อแม่ลูก แต่อยู่มาวันหนึ่ง ในขณะที่ตัวเขากำลังทำงานอยู่ที่บริษัท ส่วนซาโยโกะ ภรรยาของเขาออกไปซื้อของเตรียมทำอาหารเย็น และให้มานามิ เด็กหญิงวัย 8 ขวบเฝ้าบ้านอยู่เพียงลำพัง ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น มีโจรบุกเข้าบ้านมาขโมยเงินและฆ่าลูกของเขา 

เวลาต่อมาไม่นาน ตำรวจจับ ฮิรูกาวะ คาซูโอะ ซึ่งเพิ่งถูกคุมประพฤติโดยการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในคดีปล้นฆ่าได้  โดยเขาเองก็รับสารภาพว่าฆ่าเด็กหญิงวัย 8 ขวบ และให้เหตุผลว่าขโมยเงินจำนวนหนึ่งหมื่นเยนและบัตรลดราคาของร้านอาหารครอบครัว เพื่อประทังชีวิตหลังออกจากคุก

นากาฮาระคิดว่า คนที่เคยถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเพราะความผิดฐานปล้นฆ่า หากก่อคดีปล้นฆ่าซ้ำระหว่างที่ได้รับการปล่อยตัวโดยมีการคุมประพฤติ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความเมตตาและจะได้รับโทษประหารอย่างแน่นอน แต่ถ้าผู้ต้องหามีท่าทีสำนึกผิด มีโอกาสที่จะกลับใจได้ หรือนานาเหตุผลที่ผู้พิพากษาสามารถอ้างถึงเพื่อเลี่ยงโทษประหารชีวิต ฆาตกรที่ฆ่าลูกสาวผู้น่าสงสารของเขาก็คงไม่ได้รับการพิพากษาโทษสูงสุดอย่างการประหารชีวิต

ในกระบวนการการพิพากษา ฝ่ายอัยการเน้นย้ำถึงความโหดร้ายของอาชญากร แต่ด้วยการชี้นำของทนายฝ่ายจำเลย (ทนายของฮิรูกาวะ) กลับทำให้ความโหดร้ายนั้นเบาบางลง เนื้อหาคำให้การก็ถูกเปลี่ยน จำเลยกล่าวว่ารู้สึกสำนึกผิด แต่นากาฮาระและซาโยโกะทราบดีว่าไม่มีทางเป็นเช่นนั้น เขายังสงสัยด้วยซ้ำว่าทำไมทนายถึงช่วยฆาตกร ถ้าลูกของทนายคนนั้นต้องเจอเหตุการณ์เช่นเดียวกันกับเขา ก็จะยังคงยืนกรานไม่ให้ลงโทษประหารหรือ

การประหารไม่ได้เยียวยาจิตใจครอบครัวของเหยื่อ

นากาฮาระคาดหวังว่าหากศาลตัดสินประหารชีวิตฆาตกร ตัวเขาและภรรยาคงทำใจต่อการสูญเสียครั้งนี้ได้ ซึ่งบทสรุปก็เป็นไปตามที่คาด ศาลตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตฮิรูกาวะ แต่การสูญเสียในครั้งนี้ยังคงเป็นแผลในใจของครอบครัวที่เอ่อล้นเกินกว่าใครจะเข้ามาเยียวยา ความรู้สึกว่าสูญเสียสิ่งมีค่าในชีวิตกลับเพิ่มพูนขึ้น ก่อนหน้านี้พวกเขามีชีวิตอยู่เพื่อรอเห็นฆาตกรที่ฆ่าลูกสาวของเขาหายไปจากโลกนี้ แต่เมื่อเป้าหมายนั้นสำเร็จแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อไปดี 

สังคมเชื่อว่าโทษประหารจะทำให้ความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อหายไป หรืออย่างน้อยก็เบาบางลงบ้าง แต่ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ ความเจ็บปวดเหล่านั้นยังคงสลักลึกลงในจิตใจของพวกเขา ฆาตกรที่ถูกประหาร เป็นเพียงเครื่องยืนยันว่าความสูญเสียนั้นได้เกิดขึ้นจริง ๆ ดังเช่นที่ Marietta Jaeger Lane ครอบครัวของเหยื่อที่ถูกฆาตกรรมให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Yes Magazine เมื่อปี 2011 ว่า เธอรู้ว่าการฆ่าฆาตกรที่พรากชีวิตลูกสาวเธอไป ไม่ได้ทำให้ชีวิตของลูกสาวเธอกลับคืนมา มันเป็นเพียงแค่เครื่องมืออันชอบธรรมเพื่อฆ่าคนตายอีกหนึ่งคน และทำให้เกิดครอบครัวที่เศร้าโศกอีกครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แม้ครอบครัวของเหยื่อจะรู้สึกแค้น แต่กฎหมายก็ไม่ควรเป็นช่องทางที่เอาไว้เพื่อแก้แค้นเช่นกัน โดยหลังจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในครั้งนั้น เธอก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านโทษประหารชีวิต รวมทั้งยังได้รับเชิญไปบรรยายประเด็นนี้ในหลากหลายประเทศอีกด้วย

โทษประหารไม่สามารถยับยั้งอาชญากรได้

“ถ้าฆ่าคน ต้องโดนประหาร- ข้อดีข้อใหญ่สุดของการกำหนดแบบนี้คือ คนร้ายรายนั้นจะไม่ไปฆ่าใครอีก” (จากหนังสือไม้กางเขนบนเส้นทางบาป)

จากการศึกษาของ American Civil Liberties Union องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ก่อตั้งเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐอเมริการับรอง พบว่าไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าโทษประหารชีวิตยับยั้งอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขของการเกิดอาชญากรรมไม่เกี่ยวข้องกับการมี หรือไม่มีโทษประหารชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการศึกษาของ Amnesty หน่วยงานอิสระที่ร่วม รณรงค์ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนพบว่า แม้กล่าวว่าการลงโทษประหารชีวิตจะตัดโอกาสที่ผู้ต้องโทษจะกระทำผิดซ้ำ แต่ก็ไม่มีหลักประกันใด ๆ เลยว่า การประหารชีวิตอาชญากรหนึ่งคนจะช่วยยับยั้งป้องกันไม่ให้มีคดีฆาตกรรมหรือคดียาเสพติดรายใหม่เกิดขึ้น ทั้งผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องควรตั้งคำถามและสำรวจข้อเท็จจริงกันอย่างจริงจังและเป็นระบบ เพื่อแสวงหาวิธีการป้องกันอาชญากรรม ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ และสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิผล แทนการแก้ปัญหาที่ปลายทาง

Amnesty ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า มีงานศึกษาเปรียบเทียบอัตราการฆาตกรรมในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ใน 2 ประเทศซึ่งมีขนาดพื้นที่และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันอย่าง ฮ่องกงและสิงคโปร์ โดยการศึกษาระบุว่าฮ่องกงซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว เทียบกับสิงคโปร์ซึ่งมีอัตราการประหารชีวิตที่สูง พบว่าการมีโทษประหารชีวิต แทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจำนวนอาชญากรรมเลย โดยสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะแนวโน้มและแบบแผนอาชญากรรมในแต่ละประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายในที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังพบอีกว่าความปลอดภัยของสาธารณะและอัตราการเกิดอาชญากรรมนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ อัยการ ศาล และหน่วยงานระดับชาติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ชดใช้อย่างไรจึงเหมาะสม

“คนร้ายตายแล้วผู้เสียหายจะฟื้นคืนชีพหรือ ถ้าคิดแค่นั้น แล้วจะร้องขออะไรดีเล่า ครอบครัวผู้เสียชีวิตต้องได้สิ่งใดจึงจะถือว่าได้รับการเยียวยา การเรียกร้องให้ลงโทษประหารชีวิตมีขึ้นเพราะไม่อาจหาวิธีการช่วยเหลืออื่นใดได้เลย ถ้าบอกว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิต ขอถามว่าถ้าอย่างนั้น จะใช้อะไรแทน” (ตอนหนึ่งจากหนังสือที่ซาโยโกะเขียน)

หลังจากที่ศาลตัดสินโทษประหารชีวิตแก่ฮิรูกาวะ นากาฮาระและซาโยโกะ สองสามีภรรยาก็แยกทางกันเพราะไม่สามารถแบกรับความเจ็บปวดจากการสูญเสียได้ ซาโยโกะผันตัวจากแม่บ้านมาเป็นนักเขียนและผู้สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต ส่วนนากาฮาระก็ทำธุรกิจรับจัดงานศพให้แก่สัตว์เลี้ยง แม้ทั้งคู่จะแยกจากกันด้วยดี แต่ก็ไม่ได้ส่งข่าวหากันเลย จนวันหนึ่ง มีนายตำรวจเข้ามาหานากาฮาระเพื่อแจ้งว่าซาโยโกะ อดีตภรรยาของเขาเสียชีวิตจากการฆ่าชิงทรัพย์ ซึ่งฆาตกรเข้ามาสารภาพผิดแล้ว แต่ตำรวจยังคงหาความเชื่อมโยงใด ๆ เกี่ยวกับฆาตกรและซาโยโกะไม่เจอ

นากาฮาระเริ่มตามสืบชีวิตของอดีตภรรยาหลังจากที่หย่าร้างกัน จนพบว่าภรรยากำลังเขียนหนังสือเรียกร้องให้มีโทษประหารชีวิต และมีส่วนหนึ่งของต้นฉบับที่เป็นบทสัมภาษณ์ของทนายผู้เคยว่าความให้ฮิรูกาวะ ฆาตกรที่พรากชีวิตลูกสาวของเขาไป แต่เหมือนว่าซาโยโกะจะเขียนไม่จบ

ในบทสัมภาษณ์ ซาโยโกะถามทนายว่าทำไมเขาจึงยอมว่าความให้กับฆาตกร ซึ่งทนายก็ตอบว่า “…จำเลยถูกจับให้ยืนอยู่ตรงริมหน้าผาสูงชัน ไม่มีเบื้องหน้าแล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้น ผมในฐานะทนายก็มีแต่จะต้องคลำหาหนทางให้จำเลยถอยกลับลงมาให้ได้มากที่สุด ถ้าพอจะมีที่ว่างให้ลงมาได้ แม้จะแค่ก้าวเดียวของขาข้างเดียว ผมก็อยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อพาเขามาถึงตรงนั้นให้ได้ นั่นคือการว่าความครับ”

ผิดจริงหรือแค่แพะ?

“ผมคิดว่าความเห็นที่มีพลังมากที่สุดในบรรดาแนวคิดยกเลิกโทษประหารชีวิต คือ โทษประหารมีความเสี่ยงที่จะฆ่าแพะ” (จากบทสัมภาษณ์ของทนายความในต้นฉบับของซาโยโกะ)

ในการศึกษาเรื่อง ‘การลงโทษประหารชีวิต’ ของชนินันท์ ศรีธีระวิศาล เมื่อปี 1980 พบว่า จุดประสงค์ในการลงโทษแบ่งออกเป็น 4 ข้อใหญ่ ได้แก่ เพื่อเป็นการแก้แค้น เพื่อข่มขู่หรือเพื่อยับยั้ง เพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไข และเพื่อเป็นการตัดโอกาสไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก ซึ่งแน่นอนว่าการประหารชีวิตมีไว้เพื่อตัดโอกาสไม่ให้คนร้ายกระทำผิดซ้ำอีก แต่ปัญหาที่ตามมาคือกระบวนการยุติธรรมจะแน่ใจได้มากเพียงไรว่าคนที่ต้องโทษประหารไม่ใช่ ‘แพะ’ ผู้บริสุทธิ์

Amnesty รายงาน เมื่อปี 2014 ว่า ตั้งแต่ปี 1973 สหรัฐอเมริกามีนักโทษประหารทั้งหมด 1,227 คน ตัดสินผิดพลาด 138 คน ซึ่งการตัดสินผิดพลาดคิดเป็นถึงร้อยละ 10 ของการตัดสินประหารทั้งหมด หนึ่งในนั้นคือ Cameron Todd Willingham 

Cameron Todd Willingham ถูกประหารชีวิตในเท็กซัสเมื่อปี 2004 เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผาลูกสาว 3 คนของเขา ซึ่งเขายืนยันว่าตนเองบริสุทธิ์ตราบจนลมหายใจสุดท้าย แต่หลังจากการประหารชีวิต เจ้าหน้าที่ได้พบหลักฐานเพิ่มเติมที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์ Cameron ตายไปพร้อมกับความผิดที่เขาไม่ได้ก่อ นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมนี้ ก็ไม่สามารถทำให้ Cameron ฟื้นกลับคืนชีพได้อีกแล้ว 

โทษประหารชีวิตมันไร้พลัง

“ผมรู้สึกสงสัยโทษประหารเป็นเพราะคิดว่ามันไม่ได้คลี่คลายเรื่องอะไรเลย…ทั้ง ๆ ที่คดีเป็นคนละเรื่องกัน แต่ผลสรุปกลับจบด้วยคำเพียงคำเดียวคือประหารชีวิต ผมคิดว่าแต่ละคดีจะมีตอนจบที่เหมาะสมกับแต่ละคดีครับ” ทนายที่ว่าความให้ฮิรูกาวะอธิบายเหตุผลว่าทำไมตนจึงไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร และเมื่อซาโยโกะถามต่อไปว่าแล้วตอนจบที่เหมาะสมคืออะไร ทนายคนนั้นก็ตอบกลับมาว่า “ไม่รู้เหมือนกัน” แล้วหน้ากระดาษนั้นก็เว้นว่างไว้ 

นากาฮาระตามสืบจนได้เจอกับทนายของฮิรูกาวะ และได้พูดคุยเรื่องคดีของลูกสาวในอดีต โดยทนายผู้นั้นเล่าว่าสาเหตุที่ฮิรูกาวะไม่ต่อสู้ในชั้นศาลต่อไปเพราะเขามองว่ากระบวนการต่อสู้นี้มัน ‘ยุ่งยาก’ โทษประหารคือชะตากรรมอย่างหนึ่งที่เขาต้องได้รับ เพราะไม่ว่าอย่างไร มนุษย์ทุกคนล้วนต้องตาย การที่มีคนกำหนดวันตายให้เขาก็คงเป็นเรื่องที่ดี 

“เมื่อคุณทราบว่ามีการลงโทษ แล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงไหมครับ” ทนายถามนากาฮาระ ซึ่งเขาก็ตอบทันทีว่าไม่มีเลย ทนายจึงอธิบายต่อว่า ฮิรูกาวะก็เช่นกัน ท้ายที่สุดฆาตกรผู้นั้นก็จากไปโดยไม่ได้มีแม้แต่เศษเสี้ยวของความคิดที่รู้สึกสำนึกกับความผิด 

“โทษประหารชีวิตมันไร้พลังครับ” ทนายกล่าว


ข้อมูลหนังสือ

ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป

ชื่อเรื่อง: ไม้กางเขนบนเส้นทางบาป

แปลจากหนังสือ: 虚ろな十字架

ผู้เขียน: ฮิงาชิโนะ เคโงะ 

ผู้แปล: เจ้าของผ้าพันคอลายแมว

สำนักพิมพ์: JClass

จำนวนหน้า: 316 หน้า ปกอ่อน

พิมพ์ครั้งที่ 1 – เมษายน 2563

(ข้อมูลและรูปภาพจาก https://readery.co/9786168110195)


อ้างอิง 

– แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. (2557). 10 ความเชื่อและความจริง… เหตุผลทำไมไม่ควรมีโทษประหารชีวิต?.สืบค้น 9 ตุลาคม 2564. จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/43/

-แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. ยุติโทษประหารชีวิต. สืบค้น 9 ตุลาคม 2564. จาก https://www.amnesty.or.th/our-work/death-penalty/

– แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย. (2563). แอมเนสตี้ตอบคำถามเรื่อง #โทษประหารชีวิต ที่คุณ(อาจ)สงสัย. สืบค้น 9 ตุลาคม 2564. จาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/829/

– American Civil Liberties Union. (2021). THE DEATH PENALTY: QUESTIONS AND ANSWERS. สงสัย. สืบค้น 9 ตุลาคม 2564. จาก https://www.aclu.org/other/death-penalty-questions-and-answers

– ชนินันท์ ศรีธีระวิศาล. (2523). การลงโทษประหารชีวิต. สืบค้น 9 ตุลาคม 2564. จาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/18273 

– MARIETTA JAEGER-LANE told to journalist Lynsi Burton. The Night I Forgave My Daughter’s Killer: How a grieving mother put compassion before vengeance, and found closure along the way. สืบค้น 9 ตุลาคม 2564. จาก https://www.yesmagazine.org/issue/beyond-prisons/opinion/2011/05/28/the-night-i-forgave-my-daughters-killer

– Death Penalty Information Center. (2021). Victim Impact Evidence. สืบค้น 12 ตุลาคม 2564. จาก https://deathpenaltyinfo.org/policy-issues/victims-families/victim-impact-evidence

– PIRAPORN WITOORUT. (2020). แก้แค้น สะใจ หรือช่วยลดอาชญากรรม? ว่าด้วยความจำเป็นของโทษ ‘ประหารชีวิต’. สืบค้น 12 ตุลาคม 2564. จาก https://thematter.co/social/death-penalty-in-thailand/97966

– American Civil Liberties Union. (2021). THE CASE AGAINST THE DEATH PENALTY. สืบค้น 12 ตุลาคม 2564. จาก https://www.aclu.org/other/case-against-death-penalty

– Innocence Project. (2009). Cameron Todd Willingham: Wrongfully Convicted and Executed in Texas. สืบค้น 14 ตุลาคม 2564. จาก https://innocenceproject.org/cameron-todd-willingham-wrongfully-convicted-and-executed-in-texas/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
7
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

Nobuo Uematsu นักประพันธ์ปีศาจผู้เป็นเงาเบื้องหลังซีรีส์เกม ‘Final Fantasy’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ในที่สุด!! บอสก็ตายสักที” ผมวางจอยเครื่องเกม PlayStation ลงบนพื้นก่อนที่จะชูมือขึ้นด้วยความดีใจ ด้วยระบบของเกม ‘Final Fantasy VII’ ที่ทำให้ต้องจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ผมเลยรู้สึกว่าการต่อสู้กับบอสตัวนี้ใช้เวลานานและสูญเสียพลังงานไปมากเหลือเกิน ...

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

Writings

ฉันที่ว่าเก่ง ก็ยังเจ๋งไม่เท่าเธอเลย: ว่าด้วยตัวละครรองที่คอยเสริมพลังให้เหล่าตัวละครหลักคนเก่งจากภาพยนตร์แนว Chick Flick

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี  หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนภาพยนตร์ที่นำมาเล่า เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนว Chick Flick หรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ คือมีผู้หญิงรับบทตัวหลักของเรื่อง มูดแอนด์โทนของงานศิลป์และเสื้อผ้าของตัวละครที่ส่วนใหญ่จะเน้นสีชมพู สีฟ้าเป็นหลัก ...

Writings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส  เมื่อเราฟังดนตรี ...

Writings

เมื่อเหล่าตัวละครรองในอนิเมะอยากลองสมัครงาน

เรื่องและภาพ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ และ ปิยะพร สาวิสิทธิ์ “ถ้าหากไม่มีพวกเรา ไอ้พวกตัวละครหลักที่คนชอบเยอะๆ คงไม่อยู่รอดจนถึงตอนจบหรอก!” คงจะมีอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราวที่เหล่าตัวละครประกอบในอนิเมะนึกคิดประโยคดังกล่าวขึ้นด้วยความน้อยใจ เพราะอันที่จริงแล้ว ตัวประกอบอย่างพวกเขาก็มีบทบาทที่เก่งกาจและสลักสำคัญไปไม่น้อยกว่าตัวละครหลักเลยเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่รัศมีความโดดเด่นของพวกเขาไม่สามารถสว่างเจิดจ้าได้เท่ากับเหล่าตัวเอกเท่านั้นเอง พอเล่นบทคนเก่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save