SocialWritings

ของขวัญจากความพยายาม

เรื่อง: ชนิสรา หน่ายมี

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

คุณเคยถามตัวเองหรือไม่ว่าความฝันของคุณคืออะไร?

ความฝันของใครหลายๆ คนอาจจะเป็นเรื่องการมีเงินทองมากมาย การเรียนหนังสือเก่ง การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ฯลฯ

แต่ความฝันสำหรับฉันตั้งแต่จำความได้คือการที่สามารถเดินได้และดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร

ฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่คลอดก่อนกำหนด ลืมตาดูโลกตั้งแต่อายุครรภ์ 7 เดือน น้ำหนักเพียงแค่ 9 ขีด ร่างกายจึงไม่แข็งแรง ทำให้หยุดหายใจไปช่วงหนึ่ง ส่งผลให้สมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนถูกทำลาย การทำงานของขา มือ เท้า หรือแม้กระทั่งการพูดผิดปกติ

โรคนี้มีชื่อเรียกว่า Cerebral Palsy หรือภาวะสมองพิการ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับเด็กได้หนึ่งในล้าน

ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ฉันยังเป็นเด็ก เมื่อถึงช่วงอายุที่เด็กต้องเดินได้ แต่ฉันกลับเดินไม่ได้ พ่อกับแม่จึงพาไปหาหมอ น่าแปลกมากที่ในตอนนั้นหมออธิบายอะไรตั้งมากมาย แต่ฉันเข้าใจเพียงประโยคเดียวคือ “ลูกสาวคุณไม่มีวันหายและไม่มีวันเดินได้”

 แม้ฉันจะอายุเพียงแค่ 4 ขวบ แต่เป็นประโยคที่ฉันไม่เคยลืมนับตั้งแต่วันนั้น

หลังจากวันนั้นฉันต้องเข้าโรงพยาบาลทุกอาทิตย์เพื่อฝึกกายภาพโดยตลอด ไม่ว่าใครจะแนะนำให้ไปรักษาที่ไหน พ่อแม่ก็จะพาฉันไปทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นหมอ พระ แม่ชีหรือแม้กระทั่งหมอสะกดจิต

เกือบทุกวันที่ฉันร้องไห้งอแงในเวลาทำกายภาพ เพราะเจ็บและต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำให้ได้ทุกท่าตามที่นักกายภาพบอกมา ตอนนั้นฉันไม่เข้าใจว่าทำไมฉันต้องทำกายภาพทุกวัน ในขณะที่ญาติพี่น้องเล่นกันอย่างสนุกสนาน แต่แม่ก็บอกทุกวันว่า “เชื่อแม่สิ ว่าถ้าลูกทำทุกวัน ลูกต้องเดินได้ ลูกไม่อยากเดินได้หรือ ลูกพยายามมากพอหรือยัง” นั่นเป็นคำสอนของแม่ที่พร่ำบอกเสมอ

อยู่มาวันหนึ่งฉันเริ่มเดินได้ด้วยการเกาะกำแพง ตอนฉันล้มลงฉันบอกกับตัวเองว่า “เธอต้องลุกขึ้น แค่นี้เองไม่เป็นไรหรอก” ฉันพยายามเกาะกำแพงลุกขึ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งตอนฉันอายุได้ 6 ขวบที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่ง วันนั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำ พระอาทิตย์กำลังตกดิน แม่ฉันให้ฝึกเดินระยะสั้นไปมาระหว่างพ่อกับแม่ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินด้วยตัวเองได้

 ฉันดีใจมากที่สุด เหมือนได้รับของขวัญอันมีค่าที่ฉันใฝ่ฝันมาตลอด

ฉันเริ่มมีกำลังใจในการฝึก ฉันเริ่มเดินได้ในระยะสั้นๆ แต่ก็ยังเดินได้ไม่ดีนัก เพราะเดินเขย่งเท้า หมอบอกว่าหากฉันผ่าตัด ฉันจะเดินเหยียบเต็มส้นเท้าได้  พ่อแม่จึงตัดสินใจให้ฉันผ่าตัดในช่วงปิดเทอม

ในตอนนั้นฉันอายุประมาณ 8 ขวบ ฉันกลัวมาก แต่ฉันก็หวังว่าจะดีขึ้น หลายคนถามว่ากลัวหรือไม่ แต่เพื่อความสบายใจของคนรอบข้าง ฉันจึงตอบไปว่าไม่กลัวหรอก

เมื่อถึงวันที่ฉันต้องเข้ารับการผ่าตัด พยาบาลพาฉันไปเจาะน้ำเกลือ เจาะประมาณ 6-7 ครั้งกว่าจะหาเส้นเลือดเจอ ฉันก็แอบมีน้ำตาไหลเหมือนกัน

หลังจากนั้นฉันถูกพาเข้าไปในห้องผ่าตัด พยาบาลและหมออยู่รอบตัวฉันประมาณ 10 คน ฉันจำได้ว่าถูกดมยาสลบและบล็อกหลัง ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต ฉันรู้สึกกลัวมากจนใจสั่น เพราะไม่รู้ว่าจะตื่นขึ้นมาหรือไม่ หลังจากนั้นฉันค่อยๆ หลับไป

พอฟื้นขึ้นมาฉันพบว่าตัวเองถูกใส่เฝือกตั้งแต่สะโพกลงไปถึงปลายเท้า หลังจากนั้น 2 วัน คุณหมอก็ให้กลับบ้าน ฉันต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด 3 เดือน จะเข้าห้องน้ำยังต้องให้คนที่บ้านช่วยอุ้ม จะกินจะนอนก็อยู่บนเตียงเท่านั้น ตอนนั้นฉันบอกกับตัวเองทุกวัน เดี๋ยวถอดเฝือกฉันจะเดินดีขึ้น

แต่พอหลังจากที่ฉันถอดเฝือก ฉันกลับเดินไม่ได้ เพราะการนอนอยู่บนเตียงนานๆ  ไม่ได้ใช้กำลังขา ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ตอนนั้นฉันคิดว่าฉันเคยเดินได้มาครั้งหนึ่งแล้ว ทำไมฉันจะทำอีกไม่ได้ ฉันจึงพยายามฝึกเดิน

ในช่วงนั้นเวลาฉันไปโรงเรียนต้องมีคอยคนพยุงเดินตลอดเวลา ฉันต้องใช้เวลาฝึกเกือบ 1 ปี จึงกลับมาเดินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องมีใครมาพยุง แต่การทรงตัวก็ยังไม่ดีเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ตามคำแนะนำของแพทย์ ฉันต้องผ่าตัดครั้งที่ 2 เพื่อให้ทักษะการเดินดียิ่งขึ้น เนื่องจากเส้นเอ็นขาตึง ตอนนั้นฉันอายุ 10 ปี หลังการผ่าตัดครั้งที่ 2 ฉันต้องใส่เฝือกตั้งแต่สะโพกลงไปถึงปลายเท้าอีกเช่นเดิม และเนื่องจากฉันต้องนอนอยู่บนเตียงนานเกือบ 3 เดือน ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง จึงต้องฝึกจนตัวเองกลับมาเดินได้ โดยไม่ต้องมีใครมาพยุง ซึ่งใช้เวลาอีกเกือบ 1 ปี แต่การทรงตัวก็ยังไม่ดีเหมือนเดิม

หลังจากการผ่าตัดครั้งที่ 2 หมอก็นัดติดตามอาการทุกๆ 6 เดือน จึงพบว่าเส้นเอ็นร้อยหวายตึง จึงต้องผ่าตัดในครั้งที่ 3

การผ่าตัดครั้งที่ 3 เมื่อฉันอายุ 12 ปี  ในตอนแรกฉันต้องใส่เฝือกตั้งแต่สะโพกลงไปถึงปลายเท้าอีกเช่นเดิมเหมือนสองครั้งแรก ตอนนั้นฉันกลัวว่าจะต้องเริ่มต้นฝึกเดินใหม่อีกครั้ง แต่หลังจากผ่าตัดได้สองเดือนหมอก็เปลี่ยนให้ใส่เฝือกแค่ครึ่งเข่าลงไปถึงปลายเท้าทำให้งอเข่าได้ ซึ่งแตกต่างจากสองครั้งแรกตรงที่ฉันต้องใส่เฝือกตั้งแต่ ตั้งแต่สะโพกลงไปถึงปลายเท้า ทำให้ไม่สามารถงอเข่าและเดินไม่ได้

ดังนั้นครั้งนี้ ฉันจึงถามหมอว่า “หมอคะ หนูสามารถฝึกเดินได้โดยที่ยังใส่เฝือกอยู่หรือไม่คะ”

พอหมออนุญาต ฉันจึงฝึกเดินทั้งเฝือกเลย เพราะเมื่อเปิดเทอมแล้วฉันไม่อยากหยุดเรียน ที่โรงเรียนไม่มีลิฟต์ และคนที่ไปส่งก็อุ้มขึ้นบันไดไม่ไหว เนื่องจากห้องเรียนฉันอยู่ชั้น 4

การฝึกเดินขึ้นบันไดแบบใส่เฝือกครั้งแรกด้วยตนเอง ฉันรู้สึกว่ามันลำบากและต้องใช้ความพยายาม รวมถึงใช้เวลานานกว่าปกติ แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ฉันเดินได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ในที่สุดฉันจึงสามารถเดินขึ้นตึก 4 ชั้นได้ แม้จะยากจนน่ากลัว

 ฉันพบว่า เมื่อคนเรากล้าที่จะลองทำครั้งหนึ่งแล้ว เราจะกล้าทำมันตลอดไป

หลังจากถอดเฝือกออก ฉันเดินได้โดยไม่ต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แต่ยังต้องทำกายภาพเพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้สามารถเดินเองและดูแลตัวเองได้จนถึงทุกวันนี้ ถึงจะยังไม่ได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มก็ตาม

เมื่อเวลาผ่านไปจวบจนฉันได้เข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยใช้รถเข็นมาก่อนในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นไฟฟ้าหรือรถเข็นธรรมดา เพราะฉันคิดว่าถ้าฉันใช้รถเข็น ฉันจะเดินไม่ได้ แต่เมื่อเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัย ฉันต้องใช้รถเข็นไฟฟ้า เพราะระยะทางในการเดินไปในแต่ละสถานที่ค่อนข้างไกล ไม่งั้นจะไปเข้าเรียนไม่ทัน

เมื่อฉันใช้รถเข็นไฟฟ้า ในช่วงแรกฉันขับชนบ่อยมาก วันหลายๆ ครั้ง บางครั้งชนกำแพง ชนโต๊ะ ชนต้นไม้

มีอยู่วันหนึ่งฉันขับรถเข็นไฟฟ้าไปซื้ออาหารกลางวันที่โรงอาหารกลาง เมื่อซื้อเสร็จฉันต้องขับขึ้นทางลาดเพื่อจะไปยังโต๊ะอาหาร แต่เนื่องจากทางลาดแคบมาก ล้อข้างหนึ่งตกขอบ ทำให้รถคว่ำ

ด้วยความตกใจ ฉันยกจานข้าวไว้ไม่ให้หก แต่ที่ข้อศอกมีบาดแผลเลือดออก ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นตกใจเข้ามาช่วยยกฉันขึ้น และพาฉันไปยังโต๊ะเพื่อทานอาหาร ระหว่างนั้นก็มีพนักงานมาทำแผลให้ที่โต๊ะ

ตอนนี้นึกย้อนกลับไปยังนึกขำตัวเองอยู่เลย ที่รถคว่ำทั้งคันแต่ข้าวไม่หกสักเม็ด

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ฉันเรียนรู้ว่า ถ้าหากเรามีความฝันและพยายามทำด้วยความตั้งใจ ไม่ว่าใครจะตัดสินเราเช่นไร

 ความฝันของเราสามารถเป็นไปได้เสมอ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
8
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save