Art & CultureLifestyleWritings

อยากหนีความจริงไปใช้ชีวิตใน ‘เกม’ : เหตุผลในการเข้าสู่โลกเสมือนของคนรุ่นใหม่

เรื่อง : ปุณยภา เรืองสุวรรณ
ภาพประกอบ : จุฑารัตน์ พรมมา

ถ้าเข้าไปอยู่ในเกมได้ก็คงดี

นั่นเป็นความคิดที่เกิดขึ้นได้ เมื่อใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันที่หาความสุขได้ยากกว่าที่เคย ทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทำให้นึกท้อใจ สถานการณ์โรคระบาดที่ก็ไม่รู้ว่าจะจบลงวันใด วัคซีนซึ่งยังไม่รู้จะได้ฉีดเมื่อไร รวมถึงผลกระทบในระยะยาวอย่างเรื่องเศรษฐกิจที่ดูท่าจะยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในประเทศมากขึ้นกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น มาตรฐานของชีวิตซึ่งถูกคาดหวังไว้สูงขึ้นจากสังคมรอบข้าง ทั้งด้านการเรียน การทำงาน กระทั่งมาตรฐานความงาม ทำให้ความหวังและความฝันที่เคยมียิ่งดูเลือนรางจนยากที่จะเป็นจริง

นั่นทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงการหลบหนีไปยังโลกเสมือนดินแดนแห่งความอิสระ ซึ่งจะได้ตามใจตัวเอง ทำอะไรที่อยากทำ เป็นอะไรที่อยากเป็น

โลกเสมือนแห่งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เกมออนไลน์ ซึ่งเป็นโลกที่เชื่อมต่อกันแบบไร้สาย และถูกออกแบบมาอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นตัวภารกิจ การแก้ปัญหา องค์ประกอบศิลป์ ฯลฯ เป็นพื้นที่เปิดอิสระ จะเลือกอยู่คนเดียว หรือเล่นด้วยกันกับเพื่อนก็ได้ เป็นโลกที่สามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ ของผู้เล่น

เกมออนไลน์สามารถแบ่งได้หลายประเภท เช่น เกมประเภทจำลอง (simulation) เป็นเกมที่ให้เราใช้ชีวิตในสถานการณ์บางอย่างตามที่เกมกำหนดมาให้ ไม่ว่าจะเป็น การเป็นเจ้าของฟาร์ม หรือการบริหารโรงแรม ฯลฯ อีกแบบหนึ่งคือ เกมสวมบทบาท (role-playing) เป็นเกมที่ให้เราได้สวมบทบาทเป็นตัวละครในเกม โดยอาจจะมีภารกิจให้ทำ หรือมีคำถามให้เราเลือกตอบ เป็นต้น เหล่านี้คือตัวอย่างที่น่าจะทำให้เห็นภาพการใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นโลกเพื่อการหลบหนีได้มากที่สุด

แนวคิดการหลบหนีจากโลกความเป็นจริงไปอยู่ในเกมไม่ได้เพิ่งมีมาเร็วๆ นี้ แต่การเล่นเกมเพื่อหลบหนี (escapism) นั้นถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ในงานวิจัยเรื่อง motivations of playing online games โดย nick yee งานวิจัยระบุว่า มีแรงจูงใจ 3 ประการหลักที่ทำให้ผู้คนเล่นเกมออนไลน์ ได้แก่ แรงจูงใจด้านความสำเร็จ (achievement) แรงจูงใจด้านสังคม (social) และแรงจูงใจด้านความเพลิดเพลินและเป็นคนอื่นในโลก ‘แฟนตาซี’ (immersion) ซึ่งการเล่นเกมเพื่อหลบหนีนั้นอยู่ในแรงจูงใจประเภทที่สาม เนื่องจากการเล่นเกมเพื่อหลบหนีมักถูกใช้เพื่อพาตัวผู้เล่นหลีกหนีออกจากโลกความเป็นจริง หลบเลี่ยงปัญหาที่มี โดยผลที่ได้คือความผ่อนคลาย

ในช่วงแรก ผู้เขียนสงสัยว่าหลายคนใช้เกมเพื่อหลบหนีจริงหรือไม่ และการที่คนจะเล่นเกมนั้น เป็นเพราะเขาหรือเธออยากทำอะไรที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงแบบสุดขั้วหรือเปล่า เช่น ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในคณะนิติศาสตร์ แต่กลับชอบเล่นเกมสวมบทบาทเป็นโจรที่ทำผิดกฎหมาย แต่พอได้ลองส่งแบบสอบถามออกไป กลับพบว่าการคาดเดาในตอนแรกไม่ถูกต้อง

กลุ่มตัวอย่าง 138 คน ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาระดับอุดมศึกษา และวัยทำงานตอนต้น เป็นผู้ตอบแบบสอบถาม ‘อยากหนีความจริงไปใช้ชีวิตในเกม…!!!’ โดยคำถามคือ ถ้าเลือกได้ จะเลือกเข้าไปใช้ชีวิตในเกมอะไร พร้อมให้ระบุเหตุผล ทุกๆ คำตอบให้เหตุผลที่น่าสนใจ และให้มุมมองที่แตกต่างจากสมมติฐานแรกที่เคยตั้งไว้

เมื่อลองวิเคราะห์และจัดกลุ่มของเหตุผลของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่ามี 8 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในเกม ดังนี้

8 เหตุผลหลักๆ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกที่จะหลบหนีเข้าไปอยู่ในเกม

1.สานฝัน

          ผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุว่าเข้าไปใช้ชีวิตในเกมเพื่อทำตามความฝัน และเมื่อวิเคราะห์คำตอบแล้วพบว่า สามารถแบ่งความฝันดังกล่าวออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

          1.1 ความฝันที่น่าจะเป็นไปได้ในปัจจุบัน แต่ด้วยอุปสรรคหรือข้อจำกัดบางอย่างทำให้อาจจะยังทำไม่ได้ในตอนนี้ หรือมีความน่าจะเป็นน้อยมากที่จะทำความฝันนั้นให้สำเร็จ

          เป็นต้นว่า การใช้จ่ายตามใจเพื่อหาความสุขให้ตัวเองเป็นได้แค่เพียงฝัน เพราะความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องทำงานหนัก แต่ทำอย่างไรก็ไม่มีทางมั่งคั่งขึ้นมาได้  นักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งจึงเลือกเข้าไปอยู่ในเกม ‘LINE Let’s Get Rich’ เกมประเภทการ์ดที่เรามักรู้จักกันในชื่อเกมเศรษฐี ซึ่งเป็นเกมที่ผู้เล่นมีโอกาสได้ถือครองทรัพย์สินอย่างเงิน หรือที่ดินได้ เขาให้เหตุผลว่าเมื่อรวยในชีวิตจริงไม่ได้ ขอรวยแบบเสี่ยงดวงในเกมก็ยังดี

เมื่อลองมองคำตอบต่างๆ ให้ลึกขึ้นยังพบว่า ความฝันที่คนส่วนใหญ่ต้องการ มักเป็นความฝันเกี่ยวกับความมั่งคั่งร่ำรวย ความฝันเกี่ยวกับอาชีพที่อยากทำ ทั้งที่ตรงสายและไม่ตรงสายที่เรียนมา ความฝันเกี่ยวกับความงามและแฟชั่น เช่น อยากสวย อยากลองแต่งตัว หรือแม้แต่ความฝันที่อยากทำผิดกฎหมาย เช่นที่ ผู้ทำแบบสอบถามให้เหตุผลของการเข้าไปอยู่เกม ‘Need For Speed Heat’ ที่เป็นเกมประเภทแข่งรถว่า ‘อยากขับรถหนีตำรวจ’

         1.2 ความฝันที่เป็นไปไม่ได้ในโลกความเป็นจริงอย่างแน่นอน

          ความฝันประเภทนี้มักเป็นความฝันเกี่ยวกับตัวละครสมมติที่มีอยู่ในเกม อย่างที่นักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง เลือกเข้าไปอยู่ในเกม ‘Cookie Run : Kingdom’ ซึ่งเป็นเกมสวมบทบาทเพื่อผจญภัยและทำภารกิจ โดยมีเหตุผลว่า “อยากเป็นคุกกี้” หรือ นักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเลือกเข้าไปอยู่ในเกม ‘Digimon Story’ ที่มีลักษณะเป็นเกมสวมบทบาท โดยมีเหตุผลว่า อยากเป็นเพื่อนกับ ดิจิมอน (ตัวละครสมมติที่เป็นสิ่งมีชีวิตจากโลกในอีกมิติหนึ่ง)

2. อิสระ ใช้ชีวิตง่าย ไม่ต้องคิดอะไร

          เมื่อโลกแห่งความเป็นจริงถูกจำกัดให้ต้องดำเนินไปตามแบบแผน ระหว่างทางมีปัญหาให้แก้ไม่จบไม่สิ้น ผู้คนจึงต้องการหลบเข้าไปอยู่ในโลกที่ได้ทำตามใจตัวเองเต็มที่ ไม่ต้องมีเรื่องราวอะไรมาคอยกวนใจ ไม่ต้องถูกคาดหวัง หรือทำให้เครียด ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันทำอาชีพสอนพิเศษเลือกเข้าไปอยู่ในเกมที่ชื่อว่า ‘Audition’ ซึ่งเป็นเกมประเภทดนตรี โดยมีเหตุผลคือ ไม่ต้องคิดอะไร เพียงแค่เต้นและเเต่งตัว ไม่ต้องแบกรับความคาดหวังจากใคร ไม่ต้องเตรียมการสอน ไม่ต้องยิ้มเวลาสอนในห้อง เเค่เต้นและดูแลเรื่องเสื้อผ้าตัวเองไปวันๆ หรือผู้ที่เลือกเข้าไปในเกม ‘The Sims’ ซึ่งเป็นเกมประเภทจำลอง บอกว่าเกมนี้ทำให้สามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ อยากให้เป็นแบบไหน หรืออยากทำอะไร ถึงแม้ชีวิตจริงทำไม่ได้ แต่เราสามารถเป็นได้ถ้าเราได้เล่น the sims

3.ชอบองค์ประกอบในเกม

          จากคำตอบของผู้ทำแบบสอบถาม พบว่าลักษณะบางอย่างของเกม เช่น ตัวละครบางตัวน่าดึงดูด การเล่าเรื่องของเกมน่าสนใจ รวมไปถึงบรรยากาศในโลกเสมือนที่สวยงาม จะส่งผลต่อความชอบของผู้เล่น เหตุผลของผู้ตอบแบบสอบถามมักจะเป็น การชื่นชอบในตัวละครสมมติในเกม และสิ่งแวดล้อมเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นจนงดงามเกินจริง เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกเข้าไปอยู่ในเกม ‘Warframe’ ซึ่งเป็นเกมประเภทแอคชั่น โดยรายละเอียดของเกมคือ การท่องอวกาศ ต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ตามหาทรัพยากรด้วยน้ำแรง สัตว์เลี้ยงคู่ใจ พลังที่มีเฉพาะแต่ละคน อาวุธสุดไฮเทค และการรวมตัวเป็นสมาพันธ์

4.หลบหนี

          มากไปกว่าการได้ทำตามความฝันคือมีอิสระที่จะ ‘หลบหนี’ นี่เป็นเหมือนคำตอบของผู้เล่นซึ่งเตรียมพร้อมจะละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง และถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากจะกลับมายังโลกความเป็นจริงอีกแล้ว โดยนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษคนหนึ่ง ให้เหตุผลเกี่ยวกับการหลบหนีว่า “ไม่อยากเรียนแล้ว เหนื่อยกับการต้องทำให้เกรดดี ช่วยพาทะลุมิติไปเกมทีเถอะ” ไม่แตกต่างกันกับผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งจากคณะพยาบาลศาสตร์ซึ่งเลือกเข้าไปอยู่ในเกมประเภทจำลองเกี่ยวกับการทำฟาร์ม ด้วยเหตุผลเพราะชอบอยู่คนเดียว จะได้มีชีวิตเป็นของตนเอง ไม่ยุ่งกับใคร โลกนี้มันโหดร้าย รถก็เยอะ มลพิษก็แยะ หรือนักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนที่เลือกเกม ‘The Sims’ เพราะอยากมีบ้านสวย ๆ บ้านที่อบอุ่น มีครบทุกอย่าง แล้วจะไม่ออกไปรับรู้โลกภายนอกอีก

          สิ่งที่สะท้อนออกมาจากคำตอบเหล่านี้ชวนให้คิดและตั้งคำถามต่อว่า เมื่อสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันย่ำแย่เกินเยียวยา จนทำให้คนจำนวนหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งความฝันและการเติบโต อย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักศึกษาระดับอุดมศึกษา และวัยทำงานตอนต้น อยากหนีออกไปให้ไกล แล้วเราจะยังสามารถเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าเป็นสังคมเพื่อคนรุ่นใหม่ได้อยู่หรือไม่?

5.บันเทิง คลายเครียด

          ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจะเข้าไปอยู่ในเกมเพราะ เป็นพื้นที่ที่สบายใจ ช่วยลดความเครียดจากสิ่งที่เผชิญในชีวิตจริง ตรงกับจากงานวิจัย ‘Searching for Affective and Cognitive Restoration: Examining the Restorative Effects of Casual Video Game Play’ โดย michael rupp ที่ทำการทดลองโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างบุคคลที่อ่อนล้าจากการทำงาน ให้ลองพักผ่อนด้วยวิธีการ 3 แบบ คือ เล่นเกม ทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่นๆ และนั่งเงียบๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ผลสรุปคือ กลุ่มตัวอย่างที่ได้เล่นเกมสามารถฟื้นฟูอารมณ์จากความเครียดได้ดีที่สุด

          และเมื่อมาดูกลุ่มตัวอย่างจากแบบสอบถามชุดนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามจากคณะศิลปศาสตร์เลือกเข้าอยู่ในเกม ‘SuperStar SMTOWN’ ซึ่งเป็นเกมประเภทดนตรี เพราะความสบายใจ ไม่ต่างกันกับนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์คนหนึ่งเลือกเข้าอยู่ในเกมประเภทดนตรีเช่นเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่าสนุกและคลายเครียด

6.อยากทำในสิ่งที่ชอบ

          สิ่งที่ชอบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความชอบที่พลิกจนสุดขั้ว แต่หมายถึงกิจกรรมยามว่างทั่วไป ซึ่งด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องเรียนที่ต้องรับผิดชอบ เป็นผลให้สิ่งที่ชอบเหล่านั้นถูกพับเก็บไป การเลือกเข้าไปอยู่ในเกมครั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามจึงต้องการจะสานต่อให้ความชอบนั้นกลายเป็นกิจกรรมหลักที่สามารถจริงจังกับมันได้มากขึ้น เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเลือกเกม ‘FIFA 21’ ที่เป็นเกมประเภทกีฬา ด้วยเหตุผลที่ว่า ชื่นชอบการเตะบอล

7.ความทรงจำในวัยเด็ก

          การเลือกเข้าไปอยู่ในเกมด้วยเหตุผลเพราะเป็นความทรงจำในวัยเด็ก ทำให้เห็นว่า เกมบางเกมก็เปรียบเสมือนคอมฟอร์ตโซนของคนคนหนึ่ง ไม่ว่าในตอนนี้พวกเขาจะอายุเท่าไร เรียนหรือประกอบอาชีพอะไร แต่ความสุขที่เคยได้จากการเล่นเกมในวัยเด็กยังคงเป็นความทรงจำดีๆ มาจนถึงปัจจุบัน ผู้ตอบแบบสอบถามคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพวิศวกรด้านวิจัยและพัฒนา (r&d engineer) เลือกเข้าไปอยู่ในเกมโปเกม่อนซึ่งเป็นเกมสวมบทบาท โดยให้เหตุผลว่า เคยเล่นนานมาแล้ว เป็นความทรงจำในวัยเด็ก ส่วนตอนนี้ไม่ได้เล่นเกมมาจะ 15 ปีแล้ว

8.เล่นตามบุคคลอื่น

          การเลือกเข้าไปอยู่ในเกมโดยให้เหตุผลเกี่ยวกับบุคคลอื่นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านสังคม การมีปฏิสัมพันธ์ และอิทธิพลระหว่างตัวผู้ตอบแบบสอบถามและบุคคลที่เอ่ยถึง อาทิ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์คนหนึ่งตอบแบบสอบถามว่าเลือกเกม ‘Hay Day’ ซึ่งเป็นเกมประเภทจำลองเกี่ยวกับการทำฟาร์มว่า เห็นเพื่อนเล่นบ่อยมาก หรือนักศึกษาคนหนึ่งจากคณะการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยวเลือกเกมชื่อ ‘PUBG’ ซึ่งเป็นเกมประเภทแอคชั่น เนื่องจากดาราและคนเกาหลีเล่น

ประเภทเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก

ส่วนประเภทเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เกมประเภทจำลอง (simulation) เกมประเภทสวมบทบาท (role-playing) เกมประเภทต่อสู้ (action) เกมประเภทผจญภัย (adventure) และเกมประเภททั่วไป (casual) ที่มีลักษณะทำความเข้าใจได้ง่ายและไม่ซับซ้อน ตามลำดับ

5 เกมที่ได้รับความนิยมจากผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุด

โดยมี 5 เกมที่ได้รับความนิยมจากผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุดได้แก่ ‘The Sims’ เกมประเภทจำลอง ให้ผู้เล่นสามารถสร้างโลกเสมือนของตัวเองได้ เช่น การออกแบบบ้าน การตกแต่งภายใน ร่วมถึงความสัมพันธ์ต่างๆ กับตัวละครในเกม ‘Stardew Valley’ เกมประเภทสวมบทบาท เกี่ยวกับการทำฟาร์มในชนบท โดยเราสามารถออกแบบตัวละคร และสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครในโลกเสมือนได้ ‘Genshin Impact’ เกมประเภทสวมบทบาท สามารถออกแบบตัวละครและทีมผู้เล่นผ่านระบบสุ่ม ซึ่งก็จะได้ไอเทมที่แตกต่างกันไป มีภารกิจให้ผจญภัยและต่อสู้ ‘Hay Day’ เกมประเภทจำลองเกี่ยวกับการทำฟาร์ม การผลิตสินค้า และการค้าขาย มีการรวมกลุ่มผู้เล่นเพื่อแข่งขันทำภารกิจเกี่ยวกับการทำฟาร์มได้ สุดท้าย ‘Pokemon’ เกมประเภทสวมบทบาท ให้เราออกแบบตัวละครเสมือนของตัวเอง และมีภารกิจคือตามจับโปเกม่อน ซึ่งก็จะมีความยากง่ายในการจับแตกต่างกันออกไป

แม้โลกแห่งความเป็นจริงจะโหดร้ายกับความฝันของเราแค่ไหน แต่เรายังมีโลกใบเล็กขนาดเท่าหน้าจอสมาร์ทโฟน และจอคอมพิวเตอร์ ให้เข้าไปพักผ่อน เดินเล่น หรือใช้ชีวิตตามแต่ใจที่เราต้องการ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมีอีกโลกหนึ่งเป็นของตัวเอง เพราะที่แห่งนี้มีราคาค่างวดที่จะต้องจ่ายเพื่อซื้อความสุขระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเครื่องมือที่ใช้เพื่อเข้าสู่โลกเสมือนอย่างโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เสริมต่างๆ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงบางเกมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย จึงทำให้บางคนไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้สัมผัสโลกแห่งนั้น

จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประเทศแห่งนี้จะสร้างสังคมที่เอื้อต่อความสุขและความฝันขึ้นมา โดยไม่ทิ้งใครให้ต้องไขว่คว้าหาโลกใบอื่นตามลำพัง และถึงวันนั้นโลกเสมือนอย่างเกมออนไลน์อาจจะได้รับบทบาทอื่นที่ช่วยสนับสนุนสังคมได้ดียิ่งขึ้น มากกว่าการเป็นพื้นที่หลบซ่อนตัวจากปัญหาและความจริงเช่นในปัจจุบัน

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

Writings

ฉันที่ว่าเก่ง ก็ยังเจ๋งไม่เท่าเธอเลย: ว่าด้วยตัวละครรองที่คอยเสริมพลังให้เหล่าตัวละครหลักคนเก่งจากภาพยนตร์แนว Chick Flick

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี  หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนภาพยนตร์ที่นำมาเล่า เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนว Chick Flick หรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ คือมีผู้หญิงรับบทตัวหลักของเรื่อง มูดแอนด์โทนของงานศิลป์และเสื้อผ้าของตัวละครที่ส่วนใหญ่จะเน้นสีชมพู สีฟ้าเป็นหลัก ...

Writings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส  เมื่อเราฟังดนตรี ...

Writings

เมื่อเหล่าตัวละครรองในอนิเมะอยากลองสมัครงาน

เรื่องและภาพ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ และ ปิยะพร สาวิสิทธิ์ “ถ้าหากไม่มีพวกเรา ไอ้พวกตัวละครหลักที่คนชอบเยอะๆ คงไม่อยู่รอดจนถึงตอนจบหรอก!” คงจะมีอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราวที่เหล่าตัวละครประกอบในอนิเมะนึกคิดประโยคดังกล่าวขึ้นด้วยความน้อยใจ เพราะอันที่จริงแล้ว ตัวประกอบอย่างพวกเขาก็มีบทบาทที่เก่งกาจและสลักสำคัญไปไม่น้อยกว่าตัวละครหลักเลยเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่รัศมีความโดดเด่นของพวกเขาไม่สามารถสว่างเจิดจ้าได้เท่ากับเหล่าตัวเอกเท่านั้นเอง พอเล่นบทคนเก่ง ...

Writings

ผู้ใช้โปเกมอนข้างทาง ผู้สรรสร้างประสบการณ์การผจญภัยให้สมบูรณ์

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง  “Foe Onix used Rock Tomb!” ข้อความสุดท้ายที่ได้รับจากหัวหน้ายิมคนแรกใน Pokémon Red version ที่เคยเล่นบนเกมบอยของคุณลุง ก่อนที่ภาพบนจอจะดับและตัดไปที่โรงพยาบาล ...

Writings

Blue Lock : ขังดวลแข้ง ฉีกทุกกฎฟุตบอล เมื่อฟุตบอลไม่จำเป็นต้องสามัคคี

เรื่อง : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร เราอาจจะคุ้นเคยกับการ์ตูนกีฬาที่มักนำเสนอสายมิตรภาพลูกผู้ชาย น้ำใจนักกีฬา หรือความสามัคคีของผู้เล่นในทีม แต่สำหรับอนิเมะ Blue Lock หรือ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save