InterviewSocialWritings

จากพฤษภา 35 ถึง พฤษภา 53 กับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์

เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา, วรลดา ถาวร
ภาพประกอบ : ปวันรัตน์ แสงไสว

กว่า 80  ปีมาแล้วที่คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จากอดีตสู่ปัจจุบัน หลายครั้งที่เรื่องราวบนหน้าประวัติศาสตร์มีมวลชนเป็นผู้ขับเคลื่อนและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมในที่สุด ทว่าก็มีหลายครั้งที่เหตุการณ์เป็นไปในทางที่ไม่คาดคิด วันนี้เราจึงชวนย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์บาดแผลในความทรงจำของมวลชนที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อย่าง เหตุการณ์พฤษภามหาโหดใน พ.ศ. 2535 และเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2553

ผ่านมาแล้ว 29 ปี และ 11 ปีตามลำดับเราจึงชวน รศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน รวมถึงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทั้งสองเหตุการณ์ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ได้กระจ่างมากขึ้น และก็ไม่ลืมที่จะชวน รศ. ดร. พวงทอง สะท้อนมุมมองของเธอที่มีต่อเหตุการณ์การเมืองในปัจจุบัน

พฤษภา ‘35’

ถ้าพูดถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2535 ต้องเล่าย้อนไปถึงบ่อเกิด คือการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ต่อรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และการล้มรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521 โดย รสช. อ้างว่ามีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นภายในรัฐบาลของพลเอกชาติชาย หลังจากนั้นพวกเขาจึงประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 ของตัวเอง

หลังรัฐประหาร พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร สัญญากับประชาชนในประเทศว่าพวกเขาจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง และขอให้ นายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวก่อนจะจัดการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน รสช. ก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งว่ากันว่าเป็นฉบับที่สืบทอดอำนาจของคณะผู้ก่อการจากธรรมนูญการปกครองก่อนหน้า

หลังการเลือกตั้ง พรรคสามัคคีธรรมซึ่งเป็นพรรคที่ว่ากันว่าสืบทอดอำนาจมาจาก รสช. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534  ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดและได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือ นายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของสหรัฐอเมริกา นายณรงค์ตัดสินใจไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สุดท้ายพลเอกสุจินดาต้องจำใจยอม ‘เสียสัตย์เพื่อชาติ’ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

การเข้ามารับตำแหน่งของพลเอกสุจินดาครั้งนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การลงถนนประท้วงเพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่ง และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

บทบาทของคนกรุงเทพฯ

รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่าหนึ่งปัจจัยประกอบเล็กๆ ที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีเสียงดังมากที่สุดขณะนั้นไม่พอใจและออกมาประท้วงลงถนนเรียกร้องคือ บุคคลที่สังกัดพรรคที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา เป็นกลุ่มคนเดิมที่เคยทำงานอยู่ในรัฐบาลของพลเอกชาติชายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายณรงค์ วงศ์วรรณ พลอากาศเอก สมบุญ ระหงษ์  (พรรคร่วมรัฐบาล) หรือนายมนตรี พงษ์พานิช (เจ้าของโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับของบริษัท โฮปเวลล์ ที่ได้รับการอนุมัติงบไปในช่วงปี 2533 ถึง 80,000 ล้านบาท แต่ก็สร้างไม่เสร็จจนต้องชำระเงินค่ายกเลิกสัญญาพร้อมดอกเบี้ยไปเมื่อปลายปี 2562)

“รายชื่อที่เอ่ยมา คือคนที่ร่วมเป็นรัฐบาลกับรัฐบาลของพลเอกชาติชายทั้งนั้น แล้วทํารัฐประหารมาทำไม เพราะในที่สุดแล้วคุณก็ไปเอานักการเมืองแบบเดิมเข้ามา”

หลังการลงถนน มีการปราบปรามอย่างรุนแรงจนมีคนเสียชีวิตมากมาย ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเรียกให้พลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ศรีเมือง แกนนำฝ่ายตรงข้าม เข้าพบเพื่อขอให้ยุติความรุนแรงทั้งหมด และหลังการนองเลือดยุติ พลเอกสุจินดาจึงต้องลาออกจากตำแหน่ง

เมื่อต้องมีการเสนอชื่อนายกคนใหม่ ตอนนั้นความคาดหวังของหลายๆ ฝ่ายคือจะได้ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เนื่องจากเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงรองลงมา แต่ปรากฏว่าคนที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีกลับเป็น นายอานันท์ ซึ่งคนกรุงเทพฯ ขณะนั้นก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านหรือปฏิเสธการกลับมา ซึ่งจุดนี้เองเป็นจุดที่อาจารย์มองว่าน่าสนใจ ทั้งเรื่องวิธีคิดและบทบาทของคนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ 

“การที่คุณต้องสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่าคุณสนับสนุนใครก็ได้และเข้ามาอย่างไรก็ได้มาเป็นนายก ขอแค่เป็นคนที่คุณพอใจก็เป็นอันจบ อันนี้คือความไม่อยู่กับร่องกับรอยของคนกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน มันนำมาซึ่งการที่พวกเขาสามารถสนับสนุนรัฐบาลจากการรัฐประหารได้อยู่เรื่อยๆ ทั้งช่วง 2549 และ 2557”

บทบาทของนักศึกษาและประชาชน

รศ.ดร.พวงทองเล่าว่า นักศึกษาคือคนกลุ่มแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล รสช. ไม่ว่าจะเป็นธรรมศาสตร์ มหิดล รามคำแหง หรือกลุ่มรุ่นพี่คนเดือนตุลาคม และนักศึกษายังทำงานร่วมกับกลุ่มคนอื่นๆ อย่างองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGOs ด้วย โดยชื่อคุ้นหูคงหนีไม่พ้น อาจารย์โคทม อารียา ที่ตอนนั้นจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า ‘คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย’ (คปร.) ขึ้นมา โดยภายหลังพลตรีจำลองก็เข้ามาร่วมกับกลุ่มนี้ด้วย

ในช่วงถัดมา นอกจากนักศึกษา ก็มีกลุ่มคนชนชั้นกลางและกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ มาร่วมด้วย จนหลายคนเรียกการรวมตัวครั้งนี้ว่า ‘ม็อบมือถือ’ เนื่องจากสมัยนั้นมือถือมีราคาแพง มีเพียงคนชนชั้นกลางเท่านั้นที่สามารถมีโทรศัพท์มือถือใช้ได้      

“คนเงินเดือนน้อยๆ หรือเพิ่งจะเริ่มทำงานอาจจะไม่มีเงินไปซื้อมือถือมาใช้ ซึ่งประชาชนที่ไปชุมนุมแล้วมีมือถือส่วนหนึ่ง ก็คือคนในช่วง 14 ตุลา และ 6 ตุลา”

อาจารย์ยังกล่าวเสริมว่า ถ้าเปรียบเทียบความยากลำบากในการเรียกร้องของนักศึกษาในช่วงพฤษภามหาโหดกับนักศึกษาปัจจุบัน เธอเห็นว่านักศึกษาปัจจุบันมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่านักศึกษาในอดีต การชุมนุมปี 2535 คือการต่อสู้ระหว่างมวลชนกับรัฐบาลที่แบ่งเป็นสองกลุ่มชัดเจน

“ในตอนนั้นนักศึกษา ประชาชน สื่อมวลชน ต่างร่วมมือกันต่อสู้กับรัฐบาลของคณะก่อการรัฐประหาร ความสามัคคีเหล่านั้นมีพลังมากจนกระทั่งทำให้รัฐบาลของพลเอกสุจินดาไม่มีความชอบธรรม จนแทบจะไม่มีเสียงสนับสนุนจากใครเลย”

ขณะที่ปัจจุบันนั้น อาจารย์เห็นว่ามีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มต่างๆ มากมาย สื่อมวลชนก็แบ่งข้างกันเอง นักศึกษาก็แยกออกมาจากประชาชนทั่วไป และประชาชนทั่วไปเองก็มีการแบ่งแยกเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทำให้การต่อสู้ของนักศึกษาในปัจจุบันยากกว่าเมื่อก่อน รวมทั้งในปี 2535 ยังไม่มีการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือของฝ่ายรัฐอีกด้วย วิธีที่พลเอกสุจินดาใช้ในตอนนั้นมีเพียงการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันกฎหมายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผู้มีอำนาจใช้เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุม

กษัตริย์นักประชาธิปไตย

เราถามรศ.ดร.พวงทองถึงบทสรุปของเหตุการณ์พฤษภา 35 ว่าการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านการเรียกให้สองแกนนำเข้าพบ จนท้ายที่สุดนำไปสู่การยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนและทำให้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้นหรือไม่ อาจารย์ให้ความเห็นว่า เธอไม่แน่ใจว่าเป็นหนทางที่ดีที่สุดหรือไม่ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก จึงอาจแสดงความคิดเห็นอะไรมากไม่ได้

อย่างไรก็ตามเธอกล่าวเสริมว่า “การที่ในหลวงเรียกแกนนำทั้งสองเข้าไปเพื่อพูดคุยขอให้ยุติความรุนแรง ทำให้สถานะของในหลวงได้รับการยกย่องเชิดชูมากยิ่งขึ้น หลายๆ คนมองว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเหมือนคนกลางที่สามารถไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง จนทำให้สังคมไม่ต้องตกอยู่ภายใต้ความรุนแรง เพราะอย่างนั้นในภายหลัง ในหลวงจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น mediator หรือว่า the peacemaker ในภาษาอังกฤษ ท่านถูกมองว่าสนับสนุนประชาธิปไตย”

ผู้มีอำนาจกับการอดอาหาร

ในประวัติศาสตร์การเมือง การอดอาหารเป็นหนึ่งในอารยะขัดขืนที่ผู้มีอำนาจน้อยใช้ต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจมากอย่างรัฐบาล หนึ่งสิ่งที่ผู้มีอำนาจกลัวคือ หลายครั้งการทำอารยะขัดขืนของคนจำนวนน้อยสามารถเป็นแรงกระตุ้นให้ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาชุมนุมได้ ในกรณีที่มีคนทำอารยะขัดขืนด้วยการอดอาหารแล้วเสียชีวิต ผู้มีอำนาจมักยอมทำตามข้อเสนอของผู้ที่ทำอารยะขัดขืน เพราะกลัวว่าการเสียชีวิตของผู้ที่อดอาหารจะเป็นต้นเหตุให้เกิดการชุมนุมใหญ่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ มหาตมะ คานธี ที่อดอาหารกว่า 21 วันเรียกร้องให้อังกฤษคืนเอกราชให้อินเดีย จนอังกฤษยอมทำตามข้อเรียกร้อง หรืออเล็กเซ นาวัลนี นักกิจกรรมทางการเมืองชาวรัสเซีย ที่ประท้วงอดอาหารในคุก เรียกร้องให้ประธานาธิบดี วาลาดีมีร์ ปูตินปล่อยตัวเขา จนในที่สุดปูตินยอม

“คือเราคิดว่าอารยะขัดขืนที่ไม่สามารถจะเป็นเงื่อนไขในการระดมคนออกมาได้มากๆ ผู้มีอำนาจจะไม่แคร์ แต่ถ้าเขามองว่า มีคนทำอารยะขัดขืนแล้วกลายเป็นปัจจัยที่ระดมคนให้ออกมาต่อต้านเขามากยิ่งขึ้น เขาก็จะฟัง เขาก็จะหาทางที่จะหยุดการกระทำนั้นค่ะ”

ในส่วนของประเทศไทย รศ.ดร.พวงทองยังให้ความเห็นว่า ทั้งในช่วงการอดอาหารของเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดาลาออก ในปี 2535 และของเพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ ผู้ต้องขังคดี ม.112 จากการชุมนุม 19 กันยายน ผู้มีอำนาจในทั้งสองเหตุการณ์ต่างไม่สนใจการกระทำอารยะขัดขืดดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กรณีของเพนกวินอาจสร้างความกังวลให้รัฐบาลปัจจุบันอยู่บ้าง เนื่องจากสุขภาพของเพนกวินค่อนข้างแย่ อีกทั้งยังมีการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ จึงนำมาสู่การรวมตัวกันของประชาชน อย่างการยืนหยุดขัง 112 นาที เมื่อประกอบกับการที่ศาลไม่ยอมให้ประกันตัวเพนกวินและแกนนำหลายคนในช่วงแรก ก็ทำให้ผู้พิพากษาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ออกมาบอกแสดงทัศนะว่า ‘ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ศาลตกต่ำมากที่สุด’ และเหล่านี้อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนให้รัฐบาล จนนำมาสู่การปล่อยตัวแกนนำบางคนในที่สุด

อย่างไรก็ตาม อาจารย์อธิบายว่าการทำอารยะขัดขืนมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ เช่น ในประเทศอังกฤษ ยุครัฐบาลมาร์กาเรต แธตเชอร์ ตอนนั้นแม้ผู้นำสหภาพแรงงานจะออกมาอดอาหารแสดงความไม่เห็นด้วยกับการบริหารประเทศจนเสียชีวิต แธตเชอร์ก็ไม่สนใจแม้แต่นิดเดียว ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย

บทสรุปสู่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

เมื่อพฤษภามหาโหดจบลง แกนนำสองฝ่าย ทั้งพลเอกสุจินดาและพลตรีจำลองต่างก็สิ้นสุดบทบาททางการเมืองตั้งแต่นั้นมา พลตรีจำลองต้องเก็บตัวหายเงียบไปหลายปีเนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นคนที่ ‘พามวลชนไปตาย’ ขณะที่พลเอกสุจินดาก็ถูกเรียกว่า ‘พวกเสียสัตย์’

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ว่ากันว่าเป็นฉบับที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมการทำงานของพรรคการเมืองไม่ให้มีพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นร้อยๆ พรรคเหมือนช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดพรรคการเมืองที่เข็มแข็ง จึงออกมาในรูปแบบของการมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งตามเขตและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ มากไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ 2540 ยังทำให้เกิดองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล (check and balance) อำนาจของรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

แม้หลายคนจะมองว่าดี ทว่า รศ.ดร.พวงทองให้ความเห็นว่า ในปัจจุบัน ไม่มีใครต้องการรัฐธรรมนูญ 2540 แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสร้างให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็มมากเกินไปจนเกิดรัฐบาลอย่างรัฐบาลทักษิณ (นายทักษิณ ชินวัตร) ขึ้นมา เป็นรัฐบาลที่เข็มแข็มจนไม่สามารถมีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบการทำงานได้ และเป็นรัฐบาลที่ปิดปากสื่อมวลชนที่พยายามตรวจสอบการทำงานของพวกเขาอีกด้วย

“10 กว่าปีที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ทำลายความน่าเชื่อถือของตนเองไปมากแล้ว การทำงานของพวกเขามันขัดกับเหตุการณ์ทางการเมือง พวกเขาทำตัวเป็นแค่เครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น”

พฤษภา ‘53’

ก่อนจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 2553 อาจต้องเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนหน้า เพื่อให้เห็นภาพรวมของความขัดแย้งในสังคมขณะนั้นมากขึ้น เริ่มที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในนาม ‘คนเสื้อเหลือง’ ซึ่งได้ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงปี 2548 เรียกร้องให้ นายทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงเกิดการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้ ‘คนเสื้อแดง’ หรือกลุ่มนปช. เริ่มก่อตัวขึ้นเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหาร ก่อนมารวมกลุ่มกันอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดเจนในปี 2551 เนื่องจากพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง โดยมีนายสมัคร สุนทรเวชดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลุ่มพันธมิตรฯ มองว่าพรรคพลังประชาชนน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับนายทักษิณ เช่น การย้ายนายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่กำลังดำเนินคดีต่อนายทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว ให้พ้นตำแหน่งอย่างเร่งด่วน และย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตรมารักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุให้กลุ่มพันธมิตรออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้นายสมัครออกจากตำแหน่ง และในท้ายที่สุดนายสมัครก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความผิดตามมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 กรณีการจัดรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ และรายการ ‘ยกโขยงหกโมงเช้า’

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนจึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ทว่ากลุ่มพันธมิตรก็ยังคงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้าน เนื่องจากยังคงมองว่านายสมชายมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับนายทักษิณ โดยนัดชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเพื่อกดดันไม่ให้คณะรัฐมนตรีของนายสมชายได้แถลงนโยบายต่อที่ประชุม ซึ่งในท้ายที่สุดนายสมชายก็ต้องลาทำเนียบไป เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉันให้ยุบพรรคพลังประชาชน กรณีนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมถึงได้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน เป็นเวลา 5 ปี

จากนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีลักษณะเป็นขบวนการโต้กลับกลุ่มพันธมิตรฯ อันเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันและมีผู้บาดเจ็บ รวมถึงเสียชีวิต ขณะที่ในรัฐสภาก็ได้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยผู้ได้รับเสียงข้างมากให้ดำรงตำแหน่งนายกแทนนายสมชาย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้กลุ่มนปช. เคลื่อนไหวอีกครั้งในปี 2552 เพื่อขับไล่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์เพราะมองว่าไม่ใช่นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่นายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้อง ต่อมาจึงมีการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มนปช. อีกครั้งในปี 2553 เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา และต้องการทำลายระบบ ‘อำมาตย์’ โดยกลุ่มนปช. มองว่ามีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังรวมถึงได้แทรกแซงทางการเมืองทำให้นายสมัครและนายสมชายพ้นจากตำแหน่ง และมีส่วนเกี่ยวข้องให้นายอภิสิทธิ์ได้ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์การชุมนุมในปี 2553 นี้เองที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่กลางกรุงฯ ที่ใครหลายคนจำไม่ลืมแม้เวลาจะผ่านพ้นมานานนับสิบปี

เส้นแบ่งเหลือง-แดง

จากเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเห็นว่าทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มนปช. ก็ล้วนแต่เป็นมวลชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าหากพิจารณาผลกระทบหรือวิธีการที่รัฐบาลใช้ควบคุมมวลชลจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่

รศ.ดร. พวงทองได้เสนอทัศนะว่าอะไรคือปัจจัยหรือตัวแปรให้รัฐบาลเลือกใช้วิธีในการจัดการและควบคุมการชุมนุมไม่เหมือนกัน โดยกล่าวว่าทั้งหมดเกี่ยวข้องกับจุดยืนทางการเมืองที่สอดคล้องหรือขัดแย้งกับรัฐบาล

“กลุ่มเสื้อเหลืองมีจุดยืน มีอุดมการณ์ที่สนับสนุนกลุ่มที่ยึดครองอำนาจรัฐค่ะ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า the establishment คือกลุ่มชนชั้นนำที่มีอุดมการณ์สนับสนุนอุดมการณ์แบบประชาชาตินิยม แล้วผลักดันการเมืองให้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม อย่างเช่น กองทัพ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ นักการเมืองจำนวนหนึ่ง พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง พรรคการเมืองในปีกอนุรักษ์นิยม หรือกลุ่มประชาสังคม เช่น กลุ่มพันธมิตร กลุ่ม NGOs ที่สนับสนุนการรัฐประหาร แล้วก็องคมนตรีด้วย กลุ่มนี้ถือว่าอยู่ในเครือข่ายกลุ่มทางการเมืองเดียวกัน

“กลุ่มพันธมิตรฯ เขาอยู่ทางปีกนี้ เพราะฉะนั้นประเด็นที่่โจมตีพรรคการเมืองหรือรัฐบาลของคุณทักษิณ ก็จะใช้ประเด็นต่างๆ คือ หนึ่ง ล้มเจ้า มีการออกผังล้มเจ้ามา บอกว่าทักษิณต้องการเป็นประธานาธิบดี ต้องการจะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสาธารณรัฐ ปล่อยข่าวว่ามีการทำปฏิญญาฟินแลนด์ (แผนยุทธศาสตร์ห้าข้อที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวอ้างว่ารัฐบาลนายทักษิณพยายามใช้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) บ้างก็บอกว่าต้องการที่จะยกเขาพระวิหารให้เขมรเพื่อแลกกับผลประโยชน์ของตนเอง จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้เล่นอยู่กับประเด็นเรื่องชาตินิยมกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้นก็จะอ้างอิงสถาบันกษัตริย์อยู่ตลอดเวลา แล้วก็โจมตีอีกฝ่ายว่าล้มเจ้า ขายชาติ แล้วก็สนับสนุนการที่ทหารจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองชัดเจน ตั้งแต่พันธมิตรยัน กปปส. ก็ถือว่าพวกเขาคือกลุ่มก้อนเดียวกันนะคะในทางการเมือง คือมีจุดยืนทางการเมืองที่ตรงกัน แต่ว่าผลประโยชน์ส่วนตัวอาจจะขัดแย้งกันนะคะ

“ขณะที่กลุ่มเสื้อแดง ตั้งคำถามว่าเครือข่ายเหล่านี้ (the establishment) ต้องการที่จะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ที่แสดงออกโดยการเลือกตั้ง คนเสื้อแดงมองว่าเสียงส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ซึ่งก็คือคนจน ทั้งในเมืองและชนบท สนับสนุนพรรคของคุณทักษิณ แต่ก็ถูกล้มครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเครือข่ายผู้มีอำนาจเหล่านี้จะนั่งอยู่ในกลุ่มผู้มีอำนาจ ซึ่งเครือข่ายอำนาจต้องรวมศาลเข้าไปด้วยนะคะ พวกศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอะไรทั้งหลายแหล่ ศาลอาญาที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อเขาคุมอำนาจไว้ เวลาที่ตัดสินก็ให้คุณให้โทษสองฝ่ายต่างกัน คุณก็จะเห็นว่ามันมีความไม่เท่าเทียม”

ถามต่อถึงความชอบธรรมและไม่ชอบธรรม รวมถึงความเหมือนและต่างสำหรับการออกมาเคลื่อนไหวและชุมนุมของมวลชนทั้งสองกลุ่ม อาจารย์กล่าวว่า สิ่งที่ทั้งสองฝ่ายกระทำเป็นสิทธิที่จะเรียกร้องได้ บางคนอาจมองว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่ต่างกัน เพราะชุมนุมประท้วง ยึดถนน และส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่หากพิจารณาที่ข้อเรียกร้องจะเห็นแตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. เรียกร้องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง แต่คนเสื้อแดงทั้งปี 52 และ 53 เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยกลุ่มนปช.ได้บอกว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งก็จะไม่คัดค้าน แต่พวกเขาเชื่อว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์มาจากการสนับสนุนของกองทัพ ซึ่งไปกดดันให้พรรคการเมืองหลายพรรคที่เคยร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาลในปีของทักษิณถอนตัวออกมา  และไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์แทน ฉะนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นวิธีพิสูจน์ว่าในท้ายที่สุดประชาชนจะเลือกใคร โดยเป็นกระบวนการที่ไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง

กระสุนจริงกับการ ‘ขอคืนพื้นที่’

ในเหตุการณ์การชุมนุมในปี 53 กรณีการใช้กระสุนจริงในการ ‘ขอคืนพื้นที่’ ซึ่งเป็นข้อครหาจนถึงปัจจุบัน เป็นอีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง เนื่องด้วยกลุ่มนปช. ยังคงเห็นว่าบุคคลที่ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ คือ นายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ดำรงตำแหน่งประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในตอนนั้น ยังไม่ได้รับโทษจากความผิดที่สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมและกระชับพื้นที่ทั้งในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมปี 53 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งที่เป็นผู้ชุมนุมและบุคคลทั่วไปที่อาศัยอยู่โดยรอบ

รศ. ดร. พวงทองกล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากเหตุการณ์ในขณะนั้น ไม่มีความจำเป็นใดเลยที่รัฐบาลจะต้องสั่งให้ใช้กระสุนจริงปราบปรามประชาชน และย้ำว่าไม่มีการสลายการชุมนุมที่ไหนที่ใช้กระสุนจริง  การใช้กระสุนจริงจึงถือเป็น ‘การกระทำที่เกิดกว่าเหตุ’

ส่วนในกรณีของการดำเนินคดีในชั้นศาล อาจารย์กล่าวว่ามีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่ในท้ายที่สุด ทั้งนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพต่างก็ไม่ถูกดำเนินคดีหรือได้รับโทษจากกรณีการสลายการชุมนุมในปี 53 แต่ประการใด

“ศาลไม่ได้ยกฟ้องนะคะ ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารขึ้น (ปี 2557) อัยการสูงสุดสั่งฟ้องคุณสุเทพและคุณอภิสิทธิ์ ของคุณสุเทพในฐานะผู้อำนวยการศอฉ. คุณอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ต้องบอกก่อนว่าศาลรับฟ้องนะคะตอนแรก แต่พอรัฐประหารไม่ถึง 3 สัปดาห์ ศาลก็บอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการพิจารณา คดีนี้เป็นเรื่องของการกระทำผิดต่อหน้าที่ ให้ไปฟ้อง ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) นี่เป็นข้อโต้แย้งของฝ่ายอภิสิทธิ์ด้วย ว่าเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่ ก็เหมือนข้าราชการ ถ้ากระทำผิดต่อหน้าที่ก็ให้ไปฟ้อง ป.ป.ช. ซึ่งข้อหามันอ่อนกว่ากันมากนะคะ อันหนึ่งเป็นข้อหาอาญา อีกอันหนึ่งเป็นข้อหาเพียงแค่ข้าราชการทำผิดต่อหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดต่อหน้าที่

“ทีนี้ก่อนจะนำมาสู่กรณีที่อัยการสั่งฟ้องคุณอภิสิทธิ์กับคุณสุเทพ จะต้องเริ่มจากการไต่สวนการตายก่อน ต้องอธิบายให้ฟังก่อนว่าไต่สวนการตายจะเกิดขึ้นในศาลอาญา ในกรณีที่มีการฟ้องร้อง เช่น ญาติหรือทนายของญาติบอกว่าคนในครอบครัวเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือถูกทหารยิง ศาลก็จะต้องจัดให้มีการไต่สวนการตาย ว่าจริงหรือไม่ที่ว่าถูกทหารยิง ซึ่งก่อนรัฐประหาร เรื่องนี้เดินหน้าไปกว่า 17 กรณี ที่ศาลยืนยันว่าเป็นการตายจากกระสุนที่ยิงจากฝั่งทหาร แต่ยังไม่ได้ตัดสินว่าใครผิดใครถูก ทหารอาจจะยิงด้วยความชอบธรรมก็ได้ จะต้องไปตัดสินในระดับชั้นศาลอาญาอีกทีหนึ่ง ในทุกกรณีที่มีการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ จะเป็นตำรวจ ทหาร หรือกรณีทั่วไปที่มีการวิสามัญฆาตกรรม ถ้าญาติฟ้องว่าตำรวจยิง ต้องเริ่มไต่สวนใหม่ ไต่สวนการตายก่อน พอมี 17 คดียืนยัน ศาลบอกว่าเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงจากทหาร อัยการถึงจะฟ้องได้ จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการเอาผิด จึงมีการตั้งข้อหากับคุณสุเทพและอภิสิทธิ์ต่อไปได้

“แต่พอหลังรัฐประหาร อยู่ๆ ศาลก็กลับคำ ศาลไม่รับฟ้องสุเทพกับอภิสิทธิ์ ซึ่งตอนหลังญาติก็พยายามที่จะฟ้องต่อ ฟ้องไปถึงศาลฎีกายืนยันว่ากรณีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา แต่ก็แพ้ ศาลฎีกาบอกว่าอำนาจไม่ได้อยู่ในศาลอาญา ต้องกลับไปที่ ป.ป.ช. พอเรื่องไปถึงที่สุดแล้ว ป.ป.ช. ก็ยกฟ้องโดยที่ไม่มีการเรียกพยานใดๆ มาให้ปากคำเลย ป.ป.ช. บอกว่าไม่มีความผิด แต่ไม่มีการดำเนินคดี ไม่มีการเรียกพยานบุคคล เอกสารข้อมูลอะไรมาให้ปากคำไม่เห็นมี…แค่ที่ทำนี่ก็บิดเบี้ยวแล้ว”

จากกระบวนการดังกล่าว นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพจึงไม่ได้รับโทษ ขณะที่อาจารย์เล่าว่าฝั่งผู้ชุมนุมเสื้อแดงมีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และแกนนำที่ถูกดำเนินคดีจนต้องถูกจำคุก พร้อมเสริมความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้มีอำนาจไว้ว่า

“สำหรับบ้านเรา การเอาผู้มีอำนาจมารับผิดในสิ่งที่ตัวเองทำเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะกลไกอำนาจรัฐเป็นเครือข่ายพันธมิตรกันและกัน ช่วยเหลือสนับสนุนกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณอยู่ในปีกการเมืองของเขา ในปี 35 เป็นปีที่ทหารสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองที่สุดแล้ว ก็ยังไม่มีความพยายามที่จะเอา รสช. มาลงโทษเลย นิรโทษกรรมแล้วก็แล้วกันไป กลุ่มเครือข่ายอำนาจก็ไม่พยายามที่จะเอาคนผิดมาลงโทษ เพราะยังเห็นความสำคัญของการที่จะรักษากองทัพไว้ในฐานะสถาบันทางการเมืองด้วย

“สมมติปี 53 ถ้าเรื่องดำเนินไปในชั้นศาล ต่อให้ฟ้องแค่คุณอภิสิทธิ์และสุเทพ กองทัพต้องสะเทือนแน่ เพราะจะต้องมีการเรียกบรรดาผู้นำทางกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนในการสลายการชุมนุม ซึ่งก็จะมีพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ซึ่งเป็น ผบ.ทบ. ในขณะนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ซึ่งตอนนี้เป็นรัฐมนตรี ก็จะถูกเรียกมาให้ปากคำหมด คนกลุ่มนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนการสลายการชุมนุมด้วย แล้วเขาจะต้องถามไปจนถึงทหารในระดับปฏิบัติการว่าเขาบอกคุณว่ายังไง เขาบอกคุณว่าให้ยิงทุกคนที่เคลื่อนไหวหรือไม่ เพราะมีประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเลยถูกยิงด้วย ถ้าไต่สวนไปเรื่อยๆ กองทัพ ผู้นำกองทัพ ก็จะต้องถูกสอบสวนว่า อ้าว แล้วคุณสั่งแบบนี้ได้ยังไง นี่เป็นสลายการชุมนุม แต่สิ่งที่คุณทำคือปฏิบัติการรบทางการทหาร

“มีบทความของกองทัพที่ตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ซึ่งเป็นวารสารของโรงเรียนเสนาธิการทหารบกและวิทยาลัยทหารบก พูดถึงการสลายการชุมนุมในช่วงพฤษภา 53 ว่านี่คือความประสบความสำเร็จของการทำปฏิบัติการการรบในเมือง ดังนั้น กรณีปี 53 สิ่งที่คุณอภิสิทธิ์ฉลาดกว่ากรณี รสช. คือเขาไม่ได้นิรโทษกรรมตัวเอง ด้านหนึ่งเพราะว่าคุณอภิสิทธิ์มองว่าเครือข่ายอำนาจจะปกป้องเขา ทั้งศาล ทั้งองค์กรอิสระทั้งหลายอยู่ข้างเขา เขาจึงไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมตัวเอง

“ถ้ามีสักครั้งหนึ่งที่เราสามารถเอาคนที่เกี่ยวข้องมาลงโทษได้ ซึ่งในกระบวนการลงโทษนี่จะต้องมีกระบวนการอื่นตามมาด้วยนะคะ ไม่ใช่อยู่ๆ ตัดสินโดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่องว่าเขาผิดอะไร ในกระบวนการไต่สวน สิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญมากกว่าการตัดสินว่าผิด คือวันที่มีการให้คำตัดสิน เพราะข้อมูลต่างๆ จะออกมาให้เห็น แล้วจะชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของฝ่ายที่ทำ ซึ่งจะเป็นบทเรียนว่าคุณทำแบบนี้อีกไม่ได้ ถ้าคุณทำคุณจะต้องถูกลงโทษ”

โดย รศ.ดร. พวงทองได้ยกตัวอย่างถึงกรณีการไต่สวนการตายของผู้เสียชีวิต 6 คน ในวัดปทุมวนารามว่า กรณีดังกล่าวทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ไม่พอใจ เนื่องจากรายละเอียดการไต่สวนสืบความตายเปิดเผยออกมาบนหน้าหนังสือพิมพ์ และเป็นกรณีที่ศาลให้คำอธิบายอย่างละเอียด โดยก่อนมีคำพิพากษาฝ่ายกองทัพกล่าวว่าเหตุที่ใช้กระสุนจริงบริเวณวัดปทุมทั้งที่เป็นเขตอภัยทาน เพราะมีชายชุดดำอยู่ จึงถือเป็นการยิงโต้ตอบเพื่อป้องกันตัวเอง  ทว่าในท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษาออกมาว่ากรณีวัดปทุมฯ ไม่มีชายชุดดำ และมีประชาชน 6 คนเสียชีวิตจากกระสุนที่ยิงมาจากเจ้าหน้าที่ ดังนั้น การที่กองทัพกล่าวว่ามีชายชุดดำใช้กระสุนกับเจ้าหน้าที่ก่อน เป็นเหตุให้ต้องยิงตอบโต้ จึงไม่เป็นความจริง  นอกจากนี้หลังจากมีคำพิพากษาพลเอกประยุทธ์ได้เสนอให้มีการพิจารณาลับด้วย อาจารย์พวงทองจึงทิ้งท้ายว่าหากกระบวนการเอาผิดเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง สิ่งสำคัญคือประชาชนจะได้เห็นข้อเท็จจริงและรายละเอียดในคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง

ภาพจำที่ลบไม่ออก

แม้มีคดีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากลุ่ม นปช. ไม่ใช่ผู้กระทำผิด บางคดีที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และบางคดีที่ก็มีหลักฐานว่า นปช. ทำผิดจริง ทว่าคนจำนวนหนึ่งกลับมีภาพจำต่อกลุ่ม นปช. ในเชิงลบเป็นหลัก เราจึงชวนอาจารย์สนทนาต่อว่า เพราะเหตุใดภาพเหล่านั้นจึงยังคงตราตรึงในสายตาของคนในสังคม

“ดิฉันว่าสื่อมวลชนไม่ทำงานค่ะ สื่อมวลชนหลังปี 49 จำนวนมาก ดิฉันพูดได้เลยว่าเกือบทั้งหมดไปยืนอยู่ในปีกของการสนับสนุนการรัฐประหารและต่อต้านทักษิณ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘วิทยุชุมชน’ แล้วก็ทีวีดาวเทียมของกลุ่มต่างๆ กลายเป็นว่าใครชื่นชอบจุดยืนในทางการเมืองไหนก็รับฟังรับชมแต่ในปีกของตัวเอง พอสื่อมวลชนแตกกันแล้วไม่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคนเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงหลายกรณีที่บิดเบือนข้อมูลเพื่อที่จะโจมตีรัฐบาลที่ตัวเองเกลียดชัง คือรัฐบาลคุณทักษิณ ข้อเท็จจริงที่ออกมาคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับรู้ เช่น กรณีเผาบ้านเผาเมือง คนก็ยังเชื่อว่าคนเสื้อแดงเผา central world ยังเชื่อว่าคนเสื้อแดงฆ่าพลเอกร่มเกล้า (ธุวธรรม) ทั้งๆ ที่พลเอกร่มเกล้าตายด้วยระเบิดแบบขว้าง ซึ่งหมายความว่าคนที่จะขว้างได้ต้องรู้ว่ากองบัญชาการการสลายการชุมนุมในคืนวันที่ 10 เมษายนตั้งอยู่ที่ไหน และต้องสามารถที่จะเข้าไปได้ลึกมากด้วยถึงจะขว้างระเบิดเข้าไปในจุดที่เขายืนอยู่ได้ ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้หรอกค่ะ

“ถ้าคุณไปเปิดหนังสือพิมพ์ดูนะคะ อย่างบางกอกโพสต์ ภาษาอังกฤษ มีแต่รูปทหารบาดเจ็บ ไม่มีรูปคนเสื้อแดง อาจจะมีรูปคนเสื้อแดงอยู่แค่รูปเดียวในบรรดาทั้งหมดจากหน้าหนึ่งเต็มๆ แล้วรูปก็โจมตีว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย มีชายชุดดำโผล่ขึ้นมา ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าชายชุดดำคือใคร แต่โอเคแหละ ชายชุดดำที่โผล่มาเมื่อวันที่ 10 เมษายน เข้ามาช่วยคนเสื้อแดงจริง แต่ว่าคนเสื้อแดงเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ถ้าคุณเคยเห็นคลิปชายชุดดำ จะเห็นว่าพวกนี้เป็นมืออาชีพนะคะ ไม่ใช่คนทั่วไป หรือแม้กระทั่งข้อมูลเรื่องความยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากที่ถูกจับกุมหลังปี 53 ก็ไม่ถูกเปิดเผย ในช่วง 53 ที่เขาประกาศ พรก. ฉุกเฉิน มีคนถูกจับ 1,000 กว่าคน จำนวนมากยังเป็นนักศึกษาอยู่นะคะ ถูกจับข้อหาละเมิด พรก. ฉุกเฉิน แล้วศาลก็ตัดสินภายในวันเดียว ตำรวจยื่นอะไรมาก็ตัดสินเลย ปัญหาก็คือว่าคนพวกนี้รับราชการไม่ได้อีกตลอดชีวิตทันที ผลกระทบมันเยอะมากนะคะ

“หรือการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แล้วก็ ศอฉ. ขนอาวุธจำนวนมากออกมา เบิกกระสุนจริงมาตั้งหลายแสนนัด กระสุนสไนเปอร์ 2,000 นัด ใช้กำลังทหาร 6 หรือ 8 พัน เหล่านี้เป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รายงานของเราที่ออกมาก็ยืนยันว่าคนที่ถูกยิง 20% ถูกยิงที่หัว ถ้านับคนที่ถูกยิงช่วงบนของร่างกายด้วย ประมาณ 50% คนกลุ่มนี้เสียชีวิตทั้งหมด เรายืนยันว่าคนที่เสียชีวิตไม่มีใครมีอาวุธอยู่ในมือเลย ซึ่งการชันสูตรพลิกศพก็ไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตคนไหนมีร่องรอยของเขม่าปืนอยู่ในมือ ดังนั้นการยิงแบบนี้มันผิดหลักของการสลายการชุมนุม”

โดยอาจารย์ได้เสริมต่อในประเด็นของสื่อมวลชนว่า ในมุมของอาจารย์ พื้นที่ในการรายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงไม่เท่ากัน มีสื่อไม่กี่ฉบับที่ให้พื้นที่กับข่าวของคนเสื้อแดง จึงมีผลต่อการสร้างภาพจำเชิงลบในขณะนั้น นอกจากนี้ยังบอกว่าสื่อยุคใหม่ว่าควรนำเสนอข่าวอย่างรอบด้านและหลากหลายแง่มุมให้มากขึ้นด้วย

“การสร้างภาพจำเกิดขึ้นเพราะสื่อมวลชนรายงานข่าวเพียงด้านเดียวนะคะ ถ้าดูเครือใหญ่ๆ อย่างเนชั่น เขามีสื่ออยู่ในมือเยอะมาก ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รายวัน รายสัปดาห์ หรือว่าสื่ออื่นที่ไม่ถึงกับเกลียดชังคนเสื้อแดงมากก็รายงานข่าวอย่างจำกัด เช่น ไทยรัฐ ซึ่งก็ระวังตัวมากและไปตามกระแสผู้มีอำนาจเพื่อปกป้องตนเอง พื้นที่ในการรายงานข่าวให้กับการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงก็ไม่เท่ากัน มีสื่อไม่กี่ฉบับ เช่น มติชน ข่าวสด ที่ให้พื้นที่กับข่าวของคนเสื้อแดงบ้างมากกว่าที่อื่น แต่ว่าโดยสัดส่วนแล้วมันเทียบกันไม่ได้ แล้วยิ่งสื่อในยุคใหม่ซึ่งเป็นสื่อที่ตอบสนองกับกลุ่มลูกค้าตัวเอง ฉะนั้นคนก็เสพข่าวอยู่อย่างเดียว ฟังในสิ่งที่อยากฟัง ซึ่งไม่หลากหลาย

“สื่อบ้านเราเองก็มีไม่หลากหลายด้วย ดิฉันไม่ได้บอกว่าคุณไม่ต้องคิดอะไรเลยทางการเมือง ไม่ต้องมีจุดยืนทางการเมือง แต่ขอให้เสนอข่าวให้หลากหลายก็พอ อย่างกรณีคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ซึ่งเขาไม่เหลืองไม่แดงนะ แต่คนเสื้อเหลือง หรือ กปปส. ไม่พอใจคุณสรยุทธเพราะว่าเวลาเขาเล่าข่าว หรือว่าเชิญสองฝ่ายมานั่งคุยกัน เขาจะเล่าอย่างละเอียด แค่นี้อีกฝ่ายก็ไม่พอใจแล้ว คือคุณให้พื้นที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ด้วยซ้ำ ต้องเลือกที่จะเสนอฝ่ายเดียว ดังนั้น แม้กระทั่งสื่อที่เป็นกลางไม่เหลืองไม่แดงในภาวะวิกฤตแบบนั้นก็ยังทำงานลำบากเลย แล้วคุณจะเห็นว่าพอเสนอข่าวของทุกฝ่ายอย่างละเอียด ให้พื้นที่พอๆ กัน มันส่งผลต่อความรับรู้ของคนนะคะ ในยุคปัจจุบันนักศึกษาเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว คุณเห็นสื่อส่วนใหญ่เขารายงานหรือคะ เขากล้ารายงานประเด็นที่นักศึกษาพูดหรือเปล่า ไม่กล้าหรอกค่ะ เพราะมันแรงมาก”

ทางออกของสื่อมวลชนกับสถานการณ์ความขัดแย้ง

เมื่อเชื่อว่าสื่อเป็นองค์กรหนึ่งที่ส่งผลต่อการรับรู้ของคนในสังคม และมีผลอย่างมากต่อกระบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เราจึงขอให้รศ. ดร. พวงทอง กล่าวทิ้งท้ายเพื่อร่วมกันหาทางออกต่อไป

“สื่อไทยทุกวันนี้ก็ยังเชื่อว่าตัวเองมีหน้าที่ทำสังคมไทยให้ดีขึ้นแต่ปัญหาก็คือเขามีโมเดลของความดีนั้นอยู่แล้ว เขาเอามาตรฐานตัวเองไปตัดสินคนอื่น และยังบังคับว่าคนอื่นจะต้องเชื่อตาม ที่สำคัญคือเขาลืมหน้าที่พื้นฐานในการที่จะเสนอความจริงทุกด้านให้ประชาชนรับรู้”

อาจารย์อธิบายว่าเวลาประชาชนรับรู้หรือเห็นเหตุการณ์ใดในครั้งแรก อาจจะมองเหตุการณ์นั้นว่าไม่ดี แต่พอเวลาผ่านไป มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์มากขึ้น ข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นตัวทำให้เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากสื่อมวลชนมีธงในใจเรียบร้อยแล้วว่า พรรคการเมืองไหนดี-ไม่ดี และรายงานข่าวที่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองที่สื่อคิดว่าเลวออกไปในทางลบ สิ่งนี้นับว่าน่าหนักใจ และไม่น่าแปลกที่หลายคนจะมองว่าสื่อมวลชนเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยยังวนอยู่ในวิกฤตการเมือง

เมื่อถามต่อว่าสื่อมวลชนสามารถเลือกข้างทางการเมืองหรือไม่ อาจารย์เสนอว่า สื่อมวลชนสามารถเลือกข้างได้ ไม่ใช่เรื่องผิด-ถูก โดยเมื่อแบ่งการทำงานของสื่อมวลชนอย่างจริงจัง จะประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนที่ต้องรายงานข้อเท็จจริง ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลที่เป็นความจริงโดยปราศจากการใส่อารมณ์ น้ำเสียง ทัศนคติของผู้สื่อข่าวหรือสำนักข่าวลงไป ขณะที่อีกส่วนคือ การแสดงความคิดเห็นที่ออกมาในรูปแบบของบทความ หรือคอลัมนิสต์ ซึ่งสื่อสามารถแสดงความคิดเห็นและเลือกข้างได้เต็มที่ในพื้นที่นั้น

“คุณ (สื่อ) ต้องไม่ตัดต่อ ไม่มีการเซนเซอร์เรื่องพื้นฐาน เรื่องข้อเท็จจริง จะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของเรา หรืออาจจะเป็นขั้นสูงสุดที่เราเรียกร้องจากสื่อ…แต่สื่อไทย แค่นี้ก็ล้มเหลวแล้วค่ะ”

* กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บอกกับยูงทองว่า ขณะนี้ (23 มิถุนายน 64) จำเลยคดีม็อบ 19 กันยายน ได้รับการปล่อยตัวทุกคนแล้ว เว้นแต่ ‘อาร์ท-แซม สาแมท’ ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่เนื่องจากเป็นบุคคลไร้สัญชาติ และขาดที่อยู่เป็นหลักแหล่งทำให้ติดปัญหาการประกันตัว

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
7
Angry โกรธ
1

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

Writings

กว่าจะได้ทำหนัง และความช่วยเหลือจากอาจารย์ใหญ่

เขียนและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร กลางวัน / ภายใน / คาเฟ่สักที่ บลูนั่งกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่ ท่ามกลางเสียงพูดคุยของผู้คน กำแพงด้านข้างประดับไฟคริสต์มาส XCU ปากที่กำลังจรดขอบแก้วกาแฟ2 SHOT ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save