LifestyleSocialWritings

โลกไอที – Cryptocurrencies 101 วิชาหน่วยเงินของอนาคตเบื้องต้น

เรื่องและภาพ : กิตติธัช วนิชผล

           “Bitcoin ขึ้นราคาอีกแล้ว ยังไม่ทันช้อนเลย”
            “โห ไม่ได้ช้อนนี่ยังดี นี่ซื้อตอนมันขึ้นนิดหน่อย ดอยเฉยเลยเนี่ย”
            “แล้วนี่ก็ทำเหมืองขุดไว้อีก ขุดไม่คุ้มค่าไฟซักที”

การเทรดบิตคอยน์ (Bitcoin) รวมถึงสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrencies) นั้นเป็นเหมือนอีกหัวข้อหลักให้เราได้พูดคุยกันไปเสียแล้ว โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลาย ๆ คนที่น่าจะทราบกันแล้วว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาของ Bitcoin นั้นพุ่งสูงสุดถึงกว่าเหรียญละ 2,045,947 บาทเลยทีเดียว (ข้อมูลวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564) แต่ที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ คือเบื้องลึกเบื้องหลังของสกุลเงินดิจิทัลนี้ ว่าเทคโนโลยีนี้คืออะไร พื้นฐานการทำงานของมันเป็นอย่างไร และคำถามที่น่าจะอยากรู้กัน นั่นก็คือ “แล้ววงการคริปโตฯ นี้น่าลงทุนอยู่หรือไม่ ?”

ในครั้งที่แล้ว ‘โลกไอที’ ได้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘NFT’ 1 สินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่บนระบบบล็อกเชน พร้อมปัญหาของมัน รวมถึงได้กล่าวถึงเรื่องที่เราจะพูดกันวันนี้ไปบ้างแล้ว ในวันนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับโลกอันกว้างใหญ่อีกด้านหนึ่งของบล็อกเชนกับ cryptocurrencies กัน !

ทำความรู้จักกับ blockchain

อ้าว ถ้าเรากำลังพูดถึงเรื่องของคริปโตเคอร์เรนซี ทำไมถึงเริ่มที่คำว่าบล็อกเชน (blockchain) ซะอย่างนั้นล่ะ ? บล็อกเชนคือ ‘เทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (decentralized) หรือที่เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT)’ ซึ่งทำให้ข้อมูล digital transaction  แต่ละคนสามารถส่งต่อไปยังทุก ๆ คนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (chain) ที่ทำให้บล็อก (block) ของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังทุก ๆ คน โดยที่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิ์ในข้อมูลนั้นจริง ๆ เหมือนมีเลขทะเบียนตายตัว ล็อกเอาไว้ในข้อมูลแต่ละบล็อกแล้ว

เมื่อบล็อกของข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชนนี้แล้ว ก็จะเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรใด ๆ เวลาที่มีใครต้องการจะเพิ่มข้อมูล ทุก ๆ คนในเครือข่ายซึ่งล้วนมีสำเนาของบล็อกเชน จะสามารถรัน algorithm  เพื่อตรวจสอบ digital transaction  (การทำรายการ) โดย digital transaction ใหม่นี้จะได้รับอนุญาต ต่อเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง กล่าวคือ เป็นการเก็บข้อมูลและส่งต่อข้อมูลที่มีการตรวจสอบกันเอง และไม่มีศูนย์กลางมากำกับอย่างแท้จริงนั่นเอง

ภาพจำลองการทำงานของ blockchain (ภาพประกอบโดย freepik)

ให้ลองนึกภาพว่าเราแต่ละคนมีบล็อกเป็นของตัวเอง รับรู้ว่าทุกคนมีบล็อกของตัวเอง และทราบว่ามันหน้าตาเป็นอย่างไร การจะส่งต่อบล็อกนั้น ๆ ให้กับผู้อื่น ก็จะสามารถตรวจสอบกันเองได้ว่าบล็อกนั้นมีการปลอมแปลง ทำซ้ำ หรือแอบแก้ไขอะไรลงไปก่อนหรือไม่ได้โดยไม่ยากมากนัก

บล็อกเชนนั้นเป็นเหมือนเทคโนโลยีทั้งหมดในภาพรวม หมายถึงการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้มีความหลากหลายอย่างมาก อย่างเช่น วงการอสังหาริมทรัพย์ สามารถประยุกต์ใช้ทำ smart contract หรือสัญญาแบบดิจิทัล โดยถ้าสัญญาอยู่ในบล็อกเชน ทุกคนจะเห็นข้อมูลตรงกัน เราจึงสามารถไว้ใจให้ระบบปฏิบัติงานใดๆ ตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้อย่างอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ได้อีกมากมาย ดังที่มีการสรุปไว้ในแผนภาพนี้

การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนไปประยุกต์ใช้ (ภาพโดย techsauce.co)

อีกประโยชน์ที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ของการประยุกต์ใช้บล็อกเชน คือ ‘NFT’ หรือ non-fungible token ซึ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้น ‘โลกไอที’ ได้กล่าวเอาไว้แล้วใน “โลกไอที – ดราม่าวงดนตรี NFT กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังแก้ไม่ตก” นะ !

แล้วบล็อกเชนจะเชื่อมโยงไปยัง Bitcoin ได้ยังไงกัน ? ถ้าให้พูดถึงเรื่องนี้ ต้องเล่าย้อนไปจนถึงประวัติของ Bitcoin กันก่อน คือเมื่อปี 2551 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เราเรียกว่า global financial crisis หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เกิดจาก เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ยื่นขอล้มละลายอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กันยายน 2551 ซึ่งต้นตอแท้จริงของวิกฤตครั้งนั้นมาจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากการเก็งกำไรในตลาดที่อยู่อาศัย เพราะธนาคารปล่อยสินเชื่อที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือด้อยคุณภาพ (subprime) มากจนเกินไป (เป็นที่มาของชื่อวิกฤต ‘วิกฤตซับไพรม์’) สะท้อนว่าการให้สถาบันการเงินบางสถาบันคุมเงินทุนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้นั้น หากสถาบันนั้นเกิดล้มขึ้นมา เศรษฐกิจของโลกจะล้มตามกันมาได้โดยง่าย ทำให้ Satoshi Nakamoto (นามแฝง) ก่อตั้งเว็บไซต์ที่ชื่อ Bitcoin.org ขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม และต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม ปีเดียวกัน ก็ได้เผยแพร่เอกสาร white paper ออกสู่สาธารณะชนเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อเอกสารว่า ‘Bitcoin : A Peer-to-Peer Electronic Cash System’ เป็นการประกาศเปิดใช้งานระบบเงินดิจิทัลนามว่า ‘Bitcoin’ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ในเวลาที่ไล่เลี่ยกันกับที่ระบบการเงินแบบเก่ากำลังจะล่มสลาย โดยออกแบบให้ Bitcoin เป็นเงินดิจิทัลสกุลแรกในประวัติศาสตร์ที่ใคร ๆ ก็สามารถใช้ได้ ทุกคนสามารถถือเงินและโอนเงินหากันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางใด ๆ เช่น ธนาคาร และที่สำคัญ มันไม่ได้ถูกสร้างหรือควบคุมโดยรัฐหรือองค์กรใด ๆ เหมือนทุกคนก็สามารถเป็นเจ้าของธนาคารได้เอง

ในวันเดียวกันนี้แหละ ที่เทคโนโลยีบล็อกเชน ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับ Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลแรกของโลก !

หากยังไม่เห็นภาพ สามารถดูวีดีโอด้านล่างนี้ เพื่อทำความเข้าใจแบบสรุปอีกรอบก็ได้นะ

ค่าเงินของสกุลเงินเหล่านี้ ตามปกติ จะเพิ่มขึ้นและลดลงได้ตามกลไกการตลาด ถ้ามีคนต้องการมาก ราคาก็จะเพิ่มขึ้น หากมีคนต้องการน้อย ราคาก็จะถูกลงตามกลไก

สกุลเงินดิจิทัลนี้ เมื่อถูกสร้างขึ้นมาให้เข้าสู่ระบบบล็อกเชนจะมีปริมาณจำกัด โดยเป็นไปตามสกุลเงินแรกอย่าง Bitcoin ซึ่งผู้สร้างได้จำกัดจำนวนไว้เพียงแค่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น เพราะเขาคาดการณ์ไว้แล้วว่า หาก Bitcoin มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีจำกัด (จากการขุด ซึ่งจะพูดถึงต่อไป) อาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และทำให้มูลค่าของ Bitcoin ลดลง จนหายไปจากตลาดได้ ดังนั้นการจำกัดจำนวนเหรียญ Bitcoin จึงเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคต

แม้จะมีปริมาณจำกัด แต่อย่างที่บอกไว้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเป็นเงินในระบบบล็อกเชนที่ไม่มีศูนย์กลาง แปลว่าสกุลเงินเหล่านี้ ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ แม้จะไม่มีธนบัตร หรือเหรียญเป็นที่จับต้องได้ชัดเจน แต่ก็สามารถใช้จ่ายหรือใช้ลงทุนเหมือนการลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศก็ยังได้ โดยเงินเหล่านั้นจะอยู่ใน wallet (กระเป๋าสำหรับเก็บสกุลเงินดิจิทัล) ให้นึกภาพเหมือนเป็นบัญชีที่เราเป็นเจ้าของอยู่ กระเป๋าเงินนี้ ก็จะทำหน้าที่เก็บเงินของเรา เข้ารหัสเอาไว้เพื่อความปลอดภัย และสามารถใช้จ่ายได้แบบออนไลน์ เหมือนแอปพลิเคชันธนาคารในสมาร์ทโฟนของเราเป๊ะ ๆ เลย !

แล้วทำไมสกุลเงินดิจิทัลถึงมาฮิตกันเอาเวลานี้ล่ะ ?

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะมีคำถามว่า ถ้าสกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ทำไม Bitcoin หรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ถึงเพิ่งมาฮิตกันเอาเวลานี้ล่ะ ? นั่นก็เพราะว่ามีผู้ที่สนใจเทคโนโลยีนี้และนำไปใช้ซื้อขาย และลงทุน แลกเปลี่ยนกันมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มมีการใช้ 10,000 BTC (Bitcoin) เพื่อแลกกับพิซซ่าจำนวน 2 ถาด ในปี 2552 ซึ่งขณะนั้น 1 BTC นั้นมีมูลค่าน้อยกว่า 0.01 ดอลลาร์สหรัฐซะอีก ! หลังจากนั้นเป็นต้นมา Bitcoin ก็เป็นสกุลเงินที่มีคนให้ความสนใจ และลงทุนซื้อขายมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ราคาของมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกแล้ว ‘Bitcoin’ ได้กลายเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อสกุลเงินดั้งเดิม เพราะทางการไม่สามารถควบคุมได้ ไม่สามารถกำหนดทิศทางการแข็งค่า หรืออ่อนค่าได้ ไม่ได้เป็นผู้ปล่อยเงินเข้าสู่ระบบ ไม่ได้เป็นผู้ดึงเงินกลับเข้าสู่ท้องคลัง และไม่ได้มีสินทรัพย์ค้ำประกันใด ๆ ขณะที่ธนาคารหลายชาติต้องถือทองคำเอาไว้ เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันค่าเงินของชาตินั้น ๆ กล่าวคือการที่จะกำหนดค่าเงินเองได้ จะต้องสามารถควบคุมเงินเหล่านั้นในระบบกลาง ซึ่งเป็นระบบที่มีศูนย์กลาง (centralized) ได้ แต่สกุลเงินดิจิทัลเป็นการเก็บเงินแบบกระจายศูนย์ หรือกระจายอำนาจออกไป แปลว่าไม่มีใครสามารถไปคุมค่าเงินได้ นั่นเป็นเหตุให้ใคร ๆ ก็สามารถ ‘ทำเหมืองดิจิทัล’ คือ ขุดเจาะเศษเหรียญบิตคอยน์ออกมาซื้อขายได้ และใช้จ่ายได้โดยไม่พึ่งพาสถาบันทางการเงินใด ๆ เนื่องจากการซื้อขายจะบันทึกเอาไว้ในระบบบล็อกเชนแทน

ในช่วงแรก ทางการแต่ละประเทศเพียงปิดเว็บไซต์ที่ซื้อขายบิตคอยน์ไปอย่างเงียบ ๆ แต่เมื่อ ‘Bitcoin’ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลจนราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทางการจึงต้องออกมาจัดการขั้นเด็ดขาด

ในปี 2561 หน่วยงานกำกับดูแลจากหลายรัฐบาลได้เข้ามาจัดการ Bitcoin โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีนที่เป็นประเทศมหาอำนาจแรก ๆ ที่จัดการบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ด้วยการปิดเว็บไซต์ซื้อขายหลัก ประกาศห้ามซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล และห้ามระดมทุนผ่านการออกเงินดิจิทัล หรือที่เรียกว่า ‘Initial Coin Offerings (ICOs)’ ด้วย

ไม่ใช่แค่จีนเท่านั้น ทางด้านสหภาพยุโรปยังเห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลเป็นช่องทางการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากปราศจากการกำกับดูแล และเปิดพื้นที่ให้อาชญากรฟอกเงินได้ง่าย ในขณะที่ด้านสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ต่างหาวิธีการมากำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัล ทำให้ Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ จากเดิมที่เป็นช่องทางการลงทุนหรือซื้อขายแบบไม่มีรัฐมาเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าโดนควบคุมเป็นระลอก และโดนคุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็คือหนึ่งในสาเหตุที่ ทำให้ Bitcoin ฟองสบู่แตก และราคา Bitcoin ร่วงหนักมาก จากที่ 1 BTC = ประมาณ 667,800 บาท ดิ่งเหลือเพียง 99,720 บาทในเวลาประมาณ 1 ปีเท่านั้น

แต่อย่างที่เราทราบกัน ราคา Bitcoin นั้นพุ่งกลับไปจนถึง 2,045,947 ได้ในปี 2564 นี้ แปลว่ากระแสการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลนี้มันต้องกลับมา และกลับมาแรงกว่าเดิมแน่ ๆ

ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา PayPal บริษัทชำระเงินยักษ์ใหญ่ที่มีผู้ใช้งานกว่า 345 ล้านบัญชีทั่วโลก ได้ประกาศรับชำระซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ ผ่าน PayPal ได้แล้ว นั่นหมายความว่าการซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin นั้นจะง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้นไม่นาน Apple Pay หนึ่งในบริการชำระเงินผ่านมือถือที่มียอดผู้ใช้งานเกือบ 400 ล้านบัญชีทั่วโลก ก็ประกาศเปิดให้นักลงทุนสามารถซื้อ Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ผ่านแอปพลิเคชันได้

เมื่อ 2 ยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงินเปิดรับและยอมรับสกุลเงินดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ความสะดวกในการใช้งานในการแลกเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้นและน่าเชื่อถือขึ้น ในอนาคต Bitcoin อาจถูกนำมาใช้เป็นสินทรัพย์ทุนสำรองระหว่างประเทศแบบเดียวกับการใช้ทองคำอย่างที่ธนาคารเคยสำรองเอาไว้ก็เป็นได้

แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง ก็มีการเปิดรับให้สามารถใช้จ่ายซื้อของได้ด้วยสกุลเงินดิจิทัลมากยิ่งขึ้นแล้วด้วย อย่างเช่นกลุ่มอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (origin property), แอสเซทไวส์ (assetwise) , แสนสิริ (sansiri) และ สิงห์เอสเตท (singha estate) ฯลฯ หรือกระทั่งร้านค้าทั่วไป เช่น โรงภาพยนตร์ ‘เมเจอร์’ เริ่มทดลองให้จ่ายค่าตั๋วหนังด้วย ‘บิตคอยน์’ โดยนำร่องที่สาขารัชโยธินเป็นแห่งแรก เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวแปรหลักของการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 และช่วงปลายปี 2563 นี้นั้นคือการฮาล์ฟวิง (halving) ของ BTC ที่จะเกิดขึ้นประมาณทุก 4 ปี ซึ่งทุกครั้งที่ BTC เกิดการฮาล์ฟวิง จะส่งผลให้ราคาของ BTC นั้นปรับตัวสูงขึ้นได้

แล้วการฮาล์ฟวิงนี่คืออะไรกันล่ะ ?

ข้อมูลจาก moneybuffalo เว็บไซต์สอนการลงทุนของไทย ได้อธิบายการฮาล์ฟวิงเอาไว้ว่า โดยปกติแล้วกลไกการแลกเปลี่ยนของ Bitcoin ต้องพึ่งการตรวจสอบธุรกรรม ถอดรหัสการทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าการขุด Bitcoin ซึ่งผู้ที่ยืนยันหรือขุด Bitcoin ได้สำเร็จนั้น จะได้ Bitcoin เป็นรางวัลตอบแทน แต่เนื่องจาก Bitcoin ทั่วทั้งโลก รวมทุกบล็อกในระบบบล็อกเชนนั้น มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญเท่านั้น หากมีการขุดไปเรื่อย ๆ ตัว Bitcoin เองก็จะถูกขุดจนหมดในเวลาไม่นาน Satoshi Nakamoto จึงได้คิดเรื่องการฮาล์ฟวิงขึ้นมา

ฮาล์ฟวิง คือการลดทอนผลตอบแทนของการขุดลงครึ่งหนึ่ง โดยในยุคเริ่มต้นของ Bitcoin นั้นผลตอบแทนของการขุดจะได้สูงถึง 50 BTC ต่อการขุด 1 บล็อก แต่เมื่อเกิดการฮาล์ฟวิง ผลตอบแทนของการขุดจะลดลงครึ่งหนึ่ง หรือเหลือ 25 BTC ต่อการขุด 1 บล็อค และในปี 2563 ก็เกิดการฮาล์ฟวิงครั้งที่ 3 ทำให้ผลตอบแทนในปัจจุบันเหลือเพียง 6.25 BTC ต่อการขุด 1 บล็อก เกิดเป็นปัญหาว่า ปัจจุบัน Bitcoin นั้นขุดหายากขึ้นทุกวัน และขุดได้น้อยลงเรื่อย ๆ อีกด้วย

นั่นหมายความว่า ยิ่งเวลาผ่านไป Bitcoin ก็จะยิ่งหายากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปริมาณ Bitcoin ใหม่ที่จะออกสู่ตลาดก็จะน้อยลงและขาดแคลน ซึ่งหลาย คนเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้มูลค่าของ Bitcoin เพิ่มขึ้น และทำให้ทุกครั้งหลังการฮาล์ฟวิง ราคาของ BTC ก็จะปรับตัวและทำจุดสูงสุดในช่วงประมาณ 1 ปีครึ่ง ซึ่งนี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ปัจจุบัน Bitcoin มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำ all time high[kw8]  ได้

ถึงแม้การฮาล์ฟวิงจะทำให้ Bitcoin ขาดแคลนและควรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ทว่า สกุลเงินดิจิทัลนั้นไม่ได้มีแต่เพียง Bitcoin ยังมีสกุลเงินอื่น ๆ (altcoin) อีกมากมาย ทำให้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการฮาล์ฟวิงนั้นทำให้มูลค่าของ Bitcoin เพิ่มขึ้นจริง ๆ หรือไม่

มีสกุลเงินอื่น หรือ altcoin อีกอย่างนั้นเหรอ ?

ตลอดทั้งบทความที่ผ่านมา เราได้ทำความรู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกอย่าง Bitcoin ไปแล้ว แต่ที่จริง สกุลเงินดิจิทัลในโลกนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ Bitcoin เท่านั้น แต่เพราะ Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลแรก จึงทำให้มีคนรู้จักเยอะ ปลอดภัยสูงสุด และมีราคาสูงที่สุดในเวลานี้ โลกเรายังคงมีสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ อีกมากมายเลย ซึ่งเรียกรวมกันทั้งหมดว่า altcoin หรือ อัลท์คอยน์

แล้วเจ้า altcoin นี้คืออะไรกันบ้างล่ะ ?

altcoin หรือ อัลท์คอยน์ นั้นเกิดจากการรวมคำ 2 คำ นั่นก็คือ alternate ที่แปลว่าทางเลือก และคำว่า coin ซึ่งในที่นี้หมายถึงเหรียญสกุลเงินดิจิทัล จึงกลายเป็น “เหรียญทางเลือก” นอกเหนือจาก ‘Bitcoin’ ที่เป็นเหรียญพี่ใหญ่สุดของวงการสกุลเงินดิจิทัล ในกลุ่ม altcoin บางเหรียญก็มีคุณสมบัติที่คล้ายกับ Bitcoin ในขณะที่บางเหรียญก็แตกต่างจาก Bitcoin ไปอย่างสิ้นเชิงเลย

คริปโตเคอร์เรนซีหลัก ๆ ที่มีอยู่ตอนนี้ ซึ่งนอกจาก Bitcoin แล้ว ที่เหลือเป็น altcoin ทั้งสิ้น
ประเภทของ altcoin

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ ได้แบ่งประเภทของ altcoin เอาไว้ 4 ประเภทด้วยกัน โดยพิจารณาจากกลไกการทำงาน จุดประสงค์ และ รูปแบบของตัวเหรียญ ได้ดังนี้

  • mining-based

เหรียญในกลุ่ม mining-based altcoins นั้น ต้องใช้การ ‘ขุด’ ในการสร้างเหรียญขึ้นมาตามชื่อ ที่ใช้คำว่า mining หรือก็คือการตรวจสอบธุรกรรม ถอดรหัสการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของแต่ละคน ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญสกุลเงินนั้น ๆ โดยเหรียญประเภทนี้มักใช้ฉันทามติแบบ proof of work (ผลจากการทำงาน) โดยผลจากการทำงานนี้ เป็นเหมือนรางวัลจากการแข่งขันการขุดเหรียญนั้นขึ้นมา ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ตัวอย่างของเหรียญประเภทนี้ได้แก่ : Ethereum (ETH), Litecoin, Dogecoin, Bitcoin Cash เป็นต้น

  • stable coins

stable coins เป็นเหรียญที่มีจุดประสงค์เพื่อลดความผันผวนของราคา ด้วยการผูกมูลค่าของมันไว้กับสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริง เช่น เงินดอลลาร์, ทองคำ หรือแม้แต่เงินดิจิทัลสกุลอื่น เมื่อมีสิ่งที่จับต้องได้ ประกอบกับความคุ้นเคยของผู้คน ทำให้ราคาของ stable coins มักจะมีความผันผวนต่ำ เหมาะกับการแลกเปลี่ยน เพื่อเก็บเป็นมูลค่าจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ

ตัวอย่างของเหรียญประเภทนี้ได้แก่ : USDT, USDC, และ DAI เป็นต้น  

  • utility tokens

utility tokens ก็คือเหรียญที่เอาไว้ใช้แลกเปลี่ยนบริการต่าง ๆ ตามที่ผู้สร้างโทเคนกำหนดไว้ ซึ่งสามารถเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ ‘Initial Coin Offering (ICO)’ ซึ่งเป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งบนบล็อกเชน เราสามารถเปรียบเทียบ utility tokens ได้กับ ‘น้ำมันดิจิทัล’ ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนบริการหรือขับเคลื่อนกิจกรรมบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ ซึ่งมูลค่าของ utility tokens มักจะมาจากบริการหรือความนิยมของแพลตฟอร์ม ที่ทำให้ความต้องการโทเคนเพื่อนำไปใช้แลกเปลี่ยนกับบริการหรือเพื่อเก็บไว้เก็งกำไรสูงขึ้น

ตัวอย่างของเหรียญประเภทนี้ได้แก่ : Bitkub Coin (KUB), Binance Coin (BNB), Uniswap, Filecoin, Civic และ Siacoin เป็นต้น

  • security tokens

security tokens คือหลักทรัพย์ทางการเงินที่ถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของเหรียญดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนสัญญาการลงทุนที่แสดงความเป็นเจ้าของตามกฎหมายของทรัพย์สินทางกายภาพหรือดิจิทัลอีกด้วย นี่จึงเป็นเหมือนการสร้างหลักทรัพย์ทางการเงินชนิดใหม่สำหรับโปรเจคหรือธุรกิจ ซึ่งบริษัทหรือผู้พัฒนาสามารถเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ security tokens offerings (STO) โดยให้สัญญาแก่ผู้ซื้อว่าจะให้ผลตอบแทนในรูปแบบของ หุ้นส่วน, สิทธิในการโหวต (เหมือนผู้ถือหุ้น), เงินปันผล ฯลฯ ดังนั้นมูลค่าของ security tokens จึงขึ้นอยู่กับมูลค่าของบริษัทหรือโปรเจกต์นั้น ๆ รวมถึง ผลประกอบการทางธุรกิจ และแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

เรียกว่า altcoin แต่ละชนิด ก็จะมีประโยชน์ รวมถึงวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปด้วย

การลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัล

เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่าสกุลเงินดิจิทัลคืออะไร ทำงานบนเทคโนโลยีไหน และมีเหรียญหลักอย่าง Bitcoin รวมถึงมีเหรียญประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย อีกคำถามที่น่าจะเกิดตามมาบ้างก็คือ ถ้าเกิดว่าเราอยากลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัล เราควรลงทุนในรูปแบบไหนล่ะ ?

โดยสรุปแล้ว การจะลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลนั้นสามารถทำได้หลัก ๆ 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

โฆษณาแอปพลิเคชันเพื่อการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทย Bitkub

การขุดคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency mining)

การขุดคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency mining) นั้นเป็นไปตามที่ได้อธิบายเอาไว้แล้วว่า เป็นการตรวจสอบธุรกรรม ถอดรหัสการทำธุรกรรมต่าง ๆ จากการโอนสกุลเงินเหล่านั้นของผู้อื่น แล้วจะได้รางวัลเข้าไปยัง wallet ของเรา

โดยการจะถอดรหัสเพื่อตรวจสอบธุรกรรมเหล่านั้นได้ จะต้องทำผ่านการ ‘แข่งขัน’ กันถอดรหัสเพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งใครที่ทำได้เสร็จก่อน ก็จะ ‘ชนะ’ และได้รับสกุลเงินนั้นไป ระบบการให้รางวัลนี้เรียกว่า proof of work (pow) ด้วยปัจจุบันที่การแข่งขันสูงมาก และการฮาล์ฟวิงที่ลดทอนผลตอบแทนของการขุดลงครึ่งหนึ่งทุก ๆ 4 ปี ทำให้การจะขุดหาเอาเหรียญใหม่ขึ้นมานั้นเป็นไปได้ยากขึ้นมาก รวมถึงจะต้องใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย

ในปัจจุบัน อุปกรณ์ที่สามารถขุดเหรียญได้เร็วที่สุดคือ ‘การ์ดจอ’ นั่นเอง โดยปกติที่จะเริ่มลงทุนเพื่อขุดเหรียญ เราก็จะต้องหาการ์ดจอประมาณ 5-6 ใบ มาประกอบรวมกันเป็นเครื่องเดียว เปิดเครื่องเพื่อให้ดำเนินการขุดตลอด 24 ชั่วโมง แล้วก็จะได้รับเหรียญสกุลเงินดิจิทัลเป็นผลตอบแทน จากนั้นก็ทำการขายออกเพื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสกุลหลัก (fiat currencies) ของเรา โดยเจ้าเครื่องขุดเหรียญที่ประกอบไปด้วยการ์ดจอเหล่านี้ก็คือ ‘ริกขุดเหมือง’ ประเภทหนึ่ง โดยริกนี้เรียกว่า ‘GPU Mining Rig’ หรือริกขุดเหมืองคริปโตฯ ด้วยการ์ดจอนั่นเอง

ที่จริงแล้ว ยังมีริกขุดเหมืองโดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ประเภทอื่น ๆ อีก เช่น cpu, ram หรือกระทั่ง ssd อีกด้วย แต่การ์ดจอนั้นทำได้เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพ คุ้มกับค่าไฟที่ลงทุนไปมากที่สุดนี่เอง

เมื่อลองเรียงลำดับดี ๆ ถ้าก่อนหน้านี้บอกว่า เหรียญมีปริมาณจำกัด และอาจจะถูกขุดไปจนหมด แล้วจะทำอย่างไรต่อ คำตอบก็คือ หากสกุลเงินหนึ่งถูกขุดไปจนหมด เพราะมีปริมาณจำกัด และราคาจะสูงขึ้นอย่างมากจนไม่อาจลงกลับมาได้อีก ริกขุด ก็จะถูกนำไปใช้ขุดเหรียญสกุลเงินอื่นต่อไป อย่างปัจจุบัน มีคนเลือกที่จะขุดเหรียญ ethereum หรือ dogecoin แทน Bitcoin แล้ว เพราะเหรียญจำพวก altcoin นั้นสามารถทำกำไรได้มากกว่า

ข้อดีของการขุดคริปโตเคอร์เรนซี
  • ไม่ต้องคอยเฝ้าอะไรเลย ขอแค่เตรียมริกให้พร้อม ก็สามารถปล่อยให้ริกขุดเหมือง และรับคริปโตเคอร์เรนซีได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมมากนัก
  • ไม่ต้องใช้ความรู้ด้านการลงทุนมากเท่าการเทรด
  • การ์ดจอที่ใช้ในริก สามารถนำไปขายต่อ เพื่อคืนทุนได้อีกด้วย
ข้อเสียของการขุดคริปโตเคอร์เรนซี
  • การฮาล์ฟวิงที่เกิดขึ้นอยู่ทุก 4 ปี ทำให้การขุดคริปโตเคอร์เรนซีนั้นทำได้ยากขึ้นอย่างมาก
  • ค่าใช้จ่ายในการเตรียมริก รวมถึงค่าบำรุงรักษาเช่นค่าไฟ ค่าซ่อมบำรุง สูงมาก หากจะให้ได้ผลกำไรที่มากพอ (อาจสูงได้ถึงหลักล้านบาทต่อเดือน)
  • การขุดคริปโตเคอร์เรนซีนี้ จะได้เฉพาะการขุดเหรียญประเภท mining-based เช่น Bitcoin ethereum หรือ dogecoin เป็นต้นเท่านั้น
  • ปัจจุบัน การขุดคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อหาเหรียญใหม่นั้น เป็นวิธีการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก

การเทรดคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency trading)

ส่วนการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency trading) นั้น พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนการเล่นหุ้น เราซื้อสกุลเงินดิจิทัลเหล่านั้น ด้วยสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ (เช่น บาทไทย) และถือเอาไว้ใน wallet ของเรา เมื่อมูลค่าของเหรียญเพิ่มขึ้น ก็ขายออก เพื่อแลกเปลี่ยนกลับไปเป็นสกุลเงินหลักของเราแทน

การเทรดสกุลเงินเหล่านี้มักทำผ่านศูนย์ซื้อขาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมในการซื้อ หรือขายสกุลเงินดิจิทัลเหล่านั้นได้ โดยขั้นตอน เติมเงินเข้าระบบ => เลือกซื้อเหรียญในระบบ => เหรียญนั้นจะอยู่ในกระเป๋าของเรา

หลังจากนั้นเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินนั้นไปใช้จ่าย หรือขายออก โดยปัจจุบันจะมีวิธีการเทรดด้วยการซื้อสกุลเงินที่เป็น mining-based หรือ utility tokens ซึ่งมีความผันผวนมาก แล้วถือเอาไว้ก่อน เมื่อคิดว่ามันมีราคาที่มากพอ และคิดว่าได้กำไรจากสกุลเงินนั้นแล้ว ก็จะขายออกไปเป็นเหรียญที่เป็น stable coins ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่า แล้วจึงขายเหรียญเหล่านั้นออกมาเป็นสกุลเงินหลักของเราอีกที

แม้ว่าศูนย์ซื้อขายจะเป็นเหมือนธนาคารคนกลางแบบระบบที่มีศูนย์กลางแบบดั้งเดิม แต่ที่จริงแล้ว เงินเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ mining-based, stable coin หรือ utility tokens เป็นของเรา และอยู่ในมือเราตลอด สามารถนำไปใช้ได้เลย โดยไม่มีกฎเกณฑ์แบบระบบดั้งเดิม

ข้อดีของการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี
  • สามารถเทรดได้เลย โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเตรียมอุปกรณ์เพื่อขุดเหมืองคริปโตเคอร์เรนซี
  • สามารถเทรดได้หลายสกุลเงินกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็น mining-based หรือ utility tokens แม้กระทั่ง stable coins ก็สามารถเทรดได้เช่นเดียวกัน
  • ปัจจุบันมีช่องทางในการแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้นเยอะมาก ซึ่งในประเทศไทยให้การยอมรับแล้วด้วย เช่น Bitkub, Binance, Zipmex และอื่น ๆ
ข้อเสียของการเทรดคริปโตเคอร์เรนซี
  • การจะเริ่มเทรดคริปโตเคอร์เรนซีได้นั้น ต้องมีพื้นฐานด้านการลงทุนก่อน ซึ่งอาจจะต้องศึกษานานมาก
  • คริปโตเคอร์เรนซี (โดยเฉพาะ mining-based) นั้นมีความผันผวนมาก วันนี้อาจจะราคาขึ้นได้สูงถึงกว่า 200% ในขณะที่วันต่อมาราคาอาจจะดิ่งจนเหลือมูลค่าเพียง 20% ของวันนี้ก็เป็นได้
  • ราคาของคริปโตเคอร์เรนซีนั้นอาจจะเปลี่ยนกันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง ทำให้แทบต้องนั่งเฝ้าราคาของมันตลอดเวลา
  • หากเกิดการขาดทุนขึ้นมา อาจจะทำให้เกิดการ ‘ดอย’ หรือการซื้อคริปโตเคอร์เรนซีในราคาสูง แล้วไม่สามารถขายออกได้ เพราะราคาตกต่ำเกินกว่าที่จะขายออกได้ แล้วเราไม่สามารถคืนทุนได้ด้วยวิธีไหนเลย

การขุดเหมือง ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ กับการ์ดจอราคาพุ่ง

อาจจะคิดว่าการขุดคริปโตเคอร์เรนซีนั้นมีแต่ข้อดี เพียงแค่ปล่อยให้มันขุด ก็ได้เหรียญ แต่ที่จริงแล้วการขุดคริปโตฯ นั้น ก็มีข้อเสียตรงที่สร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมได้มากมาย

“เมื่อสมการที่ใช้ในการขุดหาเหรียญดิจิทัลมันยากขนาดนั้น คอมพิวเตอร์ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการคำนวณมากไปด้วย ซึ่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้นั้น จะเป็นพลังงานสะอาด ไม่ใช่พลังงานจากการเผาถ่านหินหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบได้ทั้งหมด”

โลกไอที – ดราม่าวงดนตรี NFT กับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยังแก้ไม่ตก

การใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อขุดหาเหรียญสกุลเงินดิจิทัลเข้ากระเป๋าของคนเพียงบางคนนั้น เป็นเหมือนการเร่งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่รุนแรงมาก ในบทความโลกไอทีครั้งที่แล้วได้พูดถึง Memo Akten ซึ่งค้นพบว่าใน ภาพ NFT 1 ชิ้นใช้พลังงานเท่ากับชาวยุโรปคนหนึ่งใช้ไฟฟ้าทั้งเดือนเลยทีเดียว

และมันไม่ได้มีปัญหาเฉพาะกับค่าไฟฟ้าเท่านั้น

การจะขุดคริปโตเคอร์เรนซีขึ้นมาใหม่ จะต้องทำริกที่พร้อมใช้งานซึ่งหมายถึงต้องใช้การ์ดจออย่างน้อย 5–6 ใบ ซึ่งการผลิตการ์ดจอแต่ละใบนั้นจำเป็นต้องใช้ ‘แร่หายาก (rare earth)’ ในการผลิต ซึ่งแร่นี้ เป็นแร่ที่มีวันหมดไปจำนวนมาก

ประจวบเหมาะกับที่ปีนี้ (2564) เกิดเหตุการณ์ global chip shortage ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชิพ ชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีทุกชนิดซึ่งต้องใช้สารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ไม่ว่าจะเป็นบอร์ด คอมพิวเตอร์ รถยนต์ วีดีโอเกมคอนโซล รวมถึง ‘การ์ดจอ’ ขาดตลาดอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลมาจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้พนักงานไม่สามารถไปผลิตสารกึ่งตัวนำมาใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ทันตามความต้องการ ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดสงครามทางการค้า (trade war) ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่ของโลกอย่างจีนอีกต่างหาก ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกชนิดในปี 2564 นี้ ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการ์ดจอ ซึ่งมีปริมาณความต้องการสูงมาก ทั้งกับนักลงทุนที่ต้องการขุดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี และคนเล่นเกม

ราคาการ์ดจอที่พุ่งสูงในตอนนี้ สร้างความบาดหมางระหว่างคนเล่นเกม และเหล่านักขุดเหมืองคริปโตเคอร์เรนซีอย่างมากจนถึงปัจจุบัน ต้องคอยแย่งชิงกันซื้อการ์ดจอกัน คนที่อยากเล่นเกมก็หาการ์ดจอมาเพื่อเล่นเกมไม่ได้ โดนนักขุดเหมืองคริปโตฯ แย่งการ์ดจอไปจนหมด แล้วยังเจอปัญหาการ์ดจอราคาพุ่งสูงอีก จากปกติการ์ดจอมีราคาประมาณ 12,xxx บาท ราคาก็พุ่งไปจนถึงหลัก 3x,xxx บาท และยังไม่มีทีท่าว่าราคาจะลดลงแต่อย่างใด

แล้วการลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทยล่ะ ?

สำหรับประเทศไทยเรานั้น ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัลนี้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ออกประกาศที่กธ. 18/2564 เรื่อง ‘หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11)’ โดยสั่งห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ utility token และคริปโตเคอร์เรนซีอีก 4 ประเภท ลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในประกาศดังกล่าว ห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ ‘utility token พร้อมใช้’ หรือคริปโตเคอร์เรนซี ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ มาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย

  • ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล (meme token) อย่างเช่นข่าวที่เคยมี ‘ลุงตู่คอยน์’ ที่เคยปรากฏในตลาดซื้อขายเงินดิจิทัล จนเป็นข่าวในประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่ง
  • เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล (fan token)
  • โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิ์ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้ (non-fungible token : NFT)
  • โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (blockchain)

อีกทั้งยังกำหนดให้ศูนย์ซื้อขาย (เช่น Bitkub, Zipmex และอื่น ๆ) ต้องจัดให้มีข้อกำหนดว่า ในกรณีของโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเอง หรือออกโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขาย หากผู้ออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน white paper และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญ จะเป็นเหตุให้ศูนย์ซื้อขายเพิกถอนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวออกจากการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายได้ ซึ่งต้องมีการลงทะเบียนกับทาง กลต. ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงถือว่าเป็นศูนย์จัดซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยอีกด้วย

สามารถดูรายชื่อศูนย์ซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยได้ที่ลิงก์นี้เลย

กราฟิกสรุปประกาศที่กธ. 18/2564 โดยกลต.

ในขณะเดียวกัน กลต. ก็ได้จัดทำเว็บไซต์ให้ประชาชนได้ทำความรู้จัก รวมไปถึงได้คอยระวังถึงความเสี่ยง ความอันตราย รวมไปถึงความพร้อมในการลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัลนี้แล้วบนเว็บไซต์ เสี่ยงสูง.com

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เช่นเดียวกัน โดยได้เปิดเผยผ่านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า เป็นห่วงนักลงทุนในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ วัยเริ่มทำงาน หลังพบว่ามีการเข้ามาลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุเพราะเข้าถึงได้ง่าย ใช้ระยะเวลาสั้น แต่ได้รับผลตอบแทนที่รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม นายกฯ ฝากเตือนให้พิจารณาถึงความเสี่ยงจากการลงทุนประเภทนี้ เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ เป็นการเก็งกำไรและมีความผันผวนสูง

ส่วนผู้ปกครองที่เปิดบัญชีให้เยาวชน ต้องมีความระมัดระวังในการลงทุนและดูแลอย่างใกล้ชิด จึงขอให้ผู้สนใจที่จะลงทุนทำความเข้าใจในลักษณะความเสี่ยง ต้องแน่ใจว่าสามารถยอมรับการสูญเสียเกือบทั้งจำนวนได้ หาข้อมูลและพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ และอย่าหลงเชื่อคำโฆษณา ต้องเลือกผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแนะนำให้ดูรายชื่อศูนย์ซื้อขายที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยตามลิงก์นี้อีกด้วย

“นายกรัฐมนตรีดีใจที่คนรุ่นใหม่มีความสนใจในการลงทุน แต่การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง จึงอยากให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ปกครอง ศึกษาข้อมูล เรียนรู้ก่อนการลงทุนทุกครั้ง”

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก

สำหรับภาคเอกชนในประเทศไทย ก็ได้มี บริษัท แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (bitkub capital group holdings Co.,Ltd.) ที่ได้สร้างแพลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายของคนไทย ในประเทศไทยขึ้นในนาม Bitkub (บิทคับ) ขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงเป็นที่นิยม และทำการตลาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด วันนี้ (2 พฤศจิกายน 2564) ธนาคารไทยพาณิชย์ รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ว่าได้มีมติอนุมัติให้ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของธนาคารเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งนั่นแปลว่า ภาคธนาคารของประเทศไทยเองก็ให้ความสนใจวงการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นแล้วเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ เหรียญสกุลเงิน Bitkub Coin (KUB) ที่เป็น utility token ของ Bitkub ก็ราคาพุ่งขึ้นจาก 32 บาท เป็นกว่า 99.99 บาทในเวลา 19.35 ที่ผ่านมาเลยทีเดียว !

ภาพโดยแอคเคานท์ Facebook Thanawut Koolatthaporn

แต่ผู้ที่ติดตามวงการคริปโตฯ อยู่ ก็ต่างเกิดความสงสัยว่า หากศูนย์ซื้อขายเป็นของธนาคารแล้ว จากความที่สกุลเงินดิจิทัลเป็นสกุลเงินแบบไม่รวมศูนย์ จะกลับไปเป็นรวมศูนย์แทนหรือไม่ ซึ่งจะเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป

สรุปแล้วสกุลเงินดิจิทัลน่าเล่นไหม

หลังจากที่ได้เห็นมาทั้งหมดตั้งแต่หลักการทำงานอย่างบล็อกเชน สกุลเงินดิจิทัลแรกอย่าง Bitcoin วิธีการลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลอย่างการขุด และการเทรดแล้ว หลายคนก็น่าจะยังเหลืออีกคำถามนึง ก็คือ สรุปแล้วคริปโตฯ มันน่าเล่นไหม ?

ต้องสรุปให้ฟังอีกซักรอบก่อนว่า การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (โดยเฉพาะเหรียญ mining-based) นั้นมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงมาก ๆ เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่ไม่ได้มีหลักทรัพย์ใด ๆ มาควบคุมไว้ เหมือน stable coins เช่น USDT หรือ USDC ทำให้วันนี้จากราคาเหรียญที่กำลังขึ้นอยู่ วันต่อมา หรือกระทั่งชั่วโมงต่อมา ราคาของมันลดลงอย่างรุนแรงเลยก็เป็นได้

ในมุมมองของผู้เขียน และใครอีกหลายคน ก็ยังคงมองว่าสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง คนที่มีความสามารถในการลงทุนมากแล้ว ก็ยังสามารถล้ม เจ๊ง หรือ ‘ดอย’ จากการลงทุนกับสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ได้อยู่

มีมโดยเพจ Siam Blockchain

ในขณะเดียวกัน สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ แม้จะบอกไว้ก่อนหน้าว่าเป็นสกุลเงินที่ไม่ได้ผูกติดกับอะไรเลยก็ตาม แต่สำหรับสกุลเงินที่เล็กกว่าอย่างเช่น Shiba Inu Coin ก็แทบจะถูกกำหนดโดยเหล่าวาฬ หรือผู้ที่มีเงินทุนมากพอ มีกำลังซื้อ หรือพื้นที่สื่อ ไม่ว่าจะสื่อเก่าหรือสื่อใหม่ที่สร้างการชี้นำให้คนได้ อย่างเช่น Elon Musk เจ้าของบริษัท Tesla ยกตัวอย่างกรณีล่าสุดที่บัญชีผู้ใช้ @ShibaInuHodler ในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นบัญชีผู้ใช้ที่มุ่งเน้นการลงทุนกับเหรียญสกุล Shiba Inu Coin เท่านั้น ได้ทวีตถามไปยัง Elon Musk เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่าเขาได้ถือเหรียญ Shiba Inu Coin เอาไว้เท่าไหร่ เมื่อ Elon ตอบว่าไม่ได้ถือไว้เลย ราคาของเหรียญ Shiba Inu Coin ได้พุ่งลงจากเหรียญละ 0.000044 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 0.000035 ภายในไม่ถึง 6 ชั่วโมง

แม้ราคาจะพุ่งลงอย่างรวดเร็ว แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 4 วันหลังจากนั้น ราคาของมันก็พุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว (ศัพท์เทคนิคใช้คำว่า skyrocket) และอยู่ที่ราคาเหรียญละกว่า 0.00006654 USDT (หรือ ดอลลาร์สหรัฐ) และยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จากการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น และเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก ราคาจึงขึ้นตามกลไกนั่นเอง

ราคาของเหรียญ Shiba Inu Coin 1 เหรียญต่อ USDT ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 21.36

จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า สกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ยังคงมีความผันผวนที่สูงมาก (ยกเว้นเหรียญ stable coin บางชนิด) แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพร้อมที่จะเสี่ยง การเทรดสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ก็เป็นช่องทางที่น่าสนใจ แปลกใหม่ และบางสกุลเงินก็มีอนาคตเช่นเดียวกัน

ส่วนการขุดเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี นอกจากจะเป็นวิธีการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากแล้ว ยังมีเรื่องของเหรียญที่อาจจะหมดไปอีกด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มองว่าเหรียญสกุลเงิน Bitcoin ซึ่งเป็นสกุลเงินแรก และมีเพียง 21 ล้านเหรียญเท่านั้น กำลังจะถูกขุดออกไปจนหมด ภายในปี 2683 ซึ่งแม้ผู้เขียนมองว่าอาจจะใช้เวลานานกว่านั้นด้วยปัจจัยด้านเหรียญสกุลเงินอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา แต่ไม่ว่าจะแบบไหน เหรียญ Bitcoin ก็ยังมีโอกาสที่จะถูกขุดไปจนหมดได้อยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว ดังนั้นการลงทุนเพื่อขุด Bitcoin จึงอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ยั่งยืนมากนัก สิ่งที่ได้มาอาจเป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไปนั้นจะกลายเป็นปัญหาส่วนรวมที่คนทั้งโลกต้องร่วมรับผลต่อไปในอนาคต เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไป

สุดท้ายนี้ อยากจะฝากทุกคนเอาไว้เช่นเดิม อย่างที่เคยบอกมาก่อนหน้านี้ว่า

“การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน”

โฆษณาแอปพลิเคชันเพื่อการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีในประเทศไทย Bitkub

อ้างอิง
finnomena.com
techsauce.co
blueoclock.com
moneybuffalo.in.th/business/why-Bitcoin-all-time-high
moneybuffalo.in.th/business/Bitcoin
thansettakij.com
worldpoliticsreview.com
www.moneybuffalo.in.th
prachachat.net
sec.or.th
เสี่ยงสูง.com
facebook.com/themomentumco
thestandard.co
finnomena.com
เพจเฟซบุ๊ก ลงทุนแมน
siamblockchain.com

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
5
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Lifestyle

Writings

ผู้ดูแลคนพิการคือสมาชิกในครอบครัวของฉัน

เรื่องและภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ฉันกำลังทำความสะอาดข้าวของเก่าๆ ในห้องเก็บของอยู่ สายตาก็พลันเหลือบไปเห็นกล่องพลาสติกใสมีฝาปิด ด้านในอัดแน่นไปด้วยอัลบั้มรูปภาพตั้งเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ  ฉันตัดสินใจนั่งลงบนพื้นแล้วเปิดฝากล่องออก ค่อยๆ หยิบอัลบั้มแต่ละเล่มออกมาเปิดดูด้วยความสงสัย รูปทั้งหมดหลายร้อยใบล้วนเป็นรูปครอบครัวของฉัน มันได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดีในซองพลาสติกใสของอัลบั้ม ทว่าน่าเสียดายที่ไม่มีใครเขียนวันเดือนปีระบุเอาไว้ ...

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

Writings

ห้ามพลาดกับศึกที่ไม่มีครั้งที่ 2 ใน Haikyuu!!  เดอะมูฟวี่ “ศึกตัดสินแห่งกองขยะ”

เขียนและภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ Haikyuu (ハイキュー!!) หรือ ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนักเรียนม.ปลายในญี่ปุ่น ผลงานของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Weekly Shonen ...

Writings

ตุ๊กตาหมีกับการเป็นสัญลักษณ์ความอบอุ่น 

เขียน : จิตริณี แก้วใจ  ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์  หลายคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ชื่นชอบสิ่งที่เรียกว่าตุ๊กตาหมี  เพราะการมีตุ๊กตาหมีให้กอดหรืออยู่เคียงข้างกายนั้น สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย คลายความเหงา และสร้างความรู้สึกอบอุ่นใจได้เป็นอย่างดี  ซึ่งอาจเป็นเพราะความสามารถพิเศษเหล่านี้ของเจ้าตุ๊กตาหมี ทำให้มีวันที่เรียกว่า ...

Writings

Girls And Boys by Jenny Han เด็กหนุ่มเด็กสาวในแบบฉบับของเจนนี่ ฮานส์

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : จิรัชญา นุชมี และ ศิรประภา ศรีดาจันทร์ หากใครเป็นสาวกซีรีส์ฝรั่งก็คงจะเคยได้ยินชื่อ To All The ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save