Ready-to-readWritings

‘เวลา’ เรื่องราวของความรัก ใต้เวรกรรมทางการเมือง

เรื่อง สมิตา พงษ์ไพบูลย์

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

ภาพยนตร์เป็นสื่อที่บันดาลใจใครหลายคน หากเปรียบสื่อนี้เป็นอาหาร การได้เดินผ่านโรงภาพยนตร์ ก็นับเป็นหนึ่งรสชาติที่ทำให้ก้อนเนื้อในอกเริ่มเคลื่อนไหวด้วยจังหวะที่รวดเร็วขึ้น แต่ความรู้สึกสงบหลังภาพสีฉูดฉาดของหนังจบลง แล้วทาบทับด้วยผืนภาพสีดำเข้มใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชื่อของผู้มีส่วนร่วมในการสร้าง นี่สิที่ยิ่งกว่า…นี่เป็นช่วงเวลาได้ตกผลึก และไตร่ตรองถึงเนื้อเรื่องที่ถูกขมวดเล่าผ่านกรรมวิธีที่งดงาม ได้นั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วมันส่งผลอย่างไร คงเป็นรสชาตินี้แหละ ที่อร่อยที่สุด

Anatomy of Time มีชื่อภาษาไทยว่า “เวลา” เป็นผลงานกำกับและเขียนบทโดย จักรวาล นิลธำรงค์ เริ่มฉายในไทยในปีนี้เอง ภายหลังจากการเดินสายโปรโมทบนจอหนังต่างประเทศ กวาดรางวัล Bisato Award สำหรับบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาล Venice International Film ประเทศอิตาลี รางวัล Grand Prize สำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาล TOKYO FILMeX ประเทศญี่ปุ่น และ รางวัล Special Mention Award อันดับสอง จากเทศกาล Five Flavours Film ประเทศโปแลนด์

ภาพยนตร์เรื่อง เวลา เป็นเรื่องราวผ่านมุมมองของผู้กำกับ จากการสังเกตการณ์ชีวิตของภริยานายทหารในบริบทการเมืองไทย ผนวกกับมุมมองการดูแลผู้คนยามแก่เฒ่าที่เชื่องช้าและน่าเบื่อ จากหนังสือชื่อ เวลา เผยแพร่ปี 2536 โดย ชาติ กอบจิตติ เจ้าของรางวัลซีไรต์

นอกจากที่มาอันน่าสนใจแล้ว ภาพโปสเตอร์หญิงชรานอนเปลือยกายกลับหัวที่ไร้ซึ่งคำกล่าวนำใดๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ภาพที่เปิดเผยความโดดเดี่ยว เหี่ยวชรา และเคว้งคว้างนั้น ทำให้แอบกลัวว่าภาพยนตร์จะมีความกระตุกขวัญ น่าหวาดกลัวหรือเปล่า แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย เมื่อเสียงปืนในตอนต้นกระชากจิตคนดูให้เดินทางเข้าสู่องก์แรกของเรื่องได้อย่างอยู่หมัด

ตอนต้นของภาพยนตร์นั้นเริ่มด้วยความเงียบ แล้วต่อเนื่องด้วยความตกใจ นอกจากเสียงที่ดังขึ้น ยังมีบทสนทนาของคนสองคนที่ขัดกันในความคิดทางการเมือง ฝ่ายหนึ่งดูเหมือนจะกล่าวสิ่งที่ถูกต้อง ดูมีน้ำหนักหากจากนั้นเปลี่ยนเป็นผิดอย่างพลิกผัน ทำให้เห็นถึงการไร้ความจีรังในวาจาและความเชื่อ

ความขัดแย้งถูกวางพักไว้ตรงจุดนั้น แล้วนำคนดูเดินทางสู่ความโรแมนติกของหลายรัก หลายลมหายใจ หลายการสัมผัส ซึ่งร่วมขมวดตึงความรู้สึกที่เรียกว่า “รัก” ของแหม่ม ตัวละครหลักให้เข้มข้นขึ้น

หนึ่งรัก หนึ่งความขัดเขิน และไว้ใจ เป็นดั่งที่พึ่งพิง สามารถยื่นมือไปจับได้ยามตกใจกลัว กับอีกรัก อีกความขัดเขินที่เธอมีฐานะเป็นรอง พ่ายแพ้ให้แก่ความฉาบฉวย แต่คนใดที่ชอบ คนใดที่รอ สุดท้ายหาใช่เธอเลือกไม่ อำนาจและความรุนแรงจากผู้มากอิทธิพลกลับทำลายความรักนั้นไป

การครอบครอง บางครั้งนำมาซึ่งการดับลง

ตลกร้ายไม่ต่างจากผึ้งเพศผู้ ที่จะต้องตกตายหลังจากได้ครอบครองผึ้งเพศเมีย ภายหลังความเสียใจหนึ่งเริ่มต้น หลายความสงสัยในการดำรงอยู่ของชีวิตก่อขึ้นในจิตใจ นำพาศาสนาและปรัชญามาเกี่ยวข้อง เวรกรรมมีจริงหรือไม่ แล้วนิพพานมันเป็นเช่นไร

เวลา ทำหน้าที่ได้ดีในการบอกเล่า ว่าเวรกรรมนั้นไม่แน่นอนเสียทีเดียวที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกคน บางคนอาจหลุดรอดไปได้ แต่ก็ไม่แน่นอนอีกเช่นกันว่าจะไม่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการไร้การันตีว่าอำนาจจะคงอยู่ไปตลอด วันหนึ่งรุ่งโรจน์ วันหนึ่งตกต่ำ วิหนึ่งสุขสันต์ วิหนึ่งร่ำไห้

สิ่งที่มั่นใจได้แน่นอนที่สุดว่าจะเดินไปไม่จบสิ้น และไม่ไหลกลับจึงคือ เวลา

องก์ต่อมาในอีกหนึ่งช่วงเวลาของเนื้อเรื่อง เป็นมุมของตัวละครหลักผู้ซึ่งในอดีตเคยอยู่บนจุดสูงของอำนาจ แต่กาลเวลาได้พาเขาไปสู่การหลงทางในจิตใจ ซ้ำยังหลงทางในชีวิต เร่ร่อนออกสู่ถนนกว้างที่ไม่คุ้นชิน สูญสิ้นซึ่งอำนาจที่เคยครอบครอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงเวลานี้ที่อาจหดหู่สำหรับบางคน แต่ผู้เขียนบทความกลับนั่งยิ้มอย่างเข้าข้างตัวเอง ว่าจริงสิ อำนาจนี้มีจุดจบอันแสนอดสู อำนาจอื่นๆ ที่กำลังตามมาก็คงมอดไหม้จนดับลงเช่นเดียวกัน กลายเป็นแสงสว่างของความหวัง

สำหรับภาพยนตร์นี้ การชดใช้เวรกรรมจากการเมือง ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ตัวผู้กระทำ แต่ยังส่งผลเผื่อแผ่ไปถึงคนใกล้ตัวที่ยากจะตีจาก คนที่ต้องร่วมรับผิดชอบ เหตุเพราะใจที่เคยรักเคยภักดี จากอดีตที่อยู่เคียงข้างแม้ดีร้าย สู่ปัจจุบันที่เชื่องช้า วกวน ซ้ำไปซ้ำมา บิดผ้าชุบน้ำเช็ดย้ำบนล่าง เอี้ยวตัวพลิกกายผลัดผ้า โดยคนที่ถูกเรียกว่าภริยา

จากเรื่องราวของเวรกรรมที่ตามทันเพียงใครบางคน สู่การตายที่เป็นปลายทางของคนทุกคน ช่วงเวลาแห่งการตาย ลมหายใจเฮือกสุดท้ายนั่นเองที่ผู้ซึ่งกำลังดับหายจะได้กลับมาย้อนมองเรื่องราวอีกครั้ง แล้วจากไปอย่างไม่ย้อนคืน เหลือเพียงเป็นความทรงจำในห้วงคะนึงผู้อื่น ขึ้นอยู่กับผู้ที่เหลืออยู่ว่าจะจำหรือไม่ จะเลือกจำส่วนใด สุดท้ายล้วนอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ที่กายหยาบถูกเผาทำลายหรือฝังลึกลงใต้ดิน เหลือเพียงเถ้ากระดูกและป้ายชื่อรอวันถูกลืม

อาหารคำท้ายของจานนี้ เป็นภาพจบของร่างที่เปล่าเปลือยเปิดเผยอย่างไร้ซึ่งความเศร้าหรือความสุข เอนกายลงเนิบนาบอย่างไร้กังวลใด คงใกล้ชิดที่สุดแล้วกับคำว่านิพพานที่ตัวละครตั้งคำถาม สร้างความรู้สึกที่ใจอย่างประหลาด จนถูกจดจำว่าเป็นช่วงที่ทำให้กล้ามเนื้อบนใบหน้าส่วนมุมปากนั้นแปรเปลี่ยนเป็นรูปร่างอันน่ายินดีที่ยากจะเกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่องอื่น

ตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้เล่าเลือกละเล่นกับช่วงเวลาอันแตกต่างกันของเนื้อเรื่องได้สวยงาม บวกกับกลิ่นอายของความเป็นปัจจุบันที่ดูไม่ปัจจุบันเอาเสียเลย คล้ายว่าจะจับต้องได้ แต่ห่างไกลเหลือเกิน ทำให้คนดูหลงใหลไปกับการปรุงอาหารมื้อนี้ ผลงานได้ทำงานกับจิตใจคนดูอย่างสำเร็จแล้ว

ขอบคุณกับความบังเอิญที่ได้ไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ขอบคุณกับผลงานที่สลักลึกลงในใจ

แม้สักวันจะถูกลืมอย่างไม่ตั้งใจ ไปตามกาลเวลา

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
3
Love รักเลย
5
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Ready-to-read

ศาสนา ป้ายหาเสียง การเลือกตั้ง

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี ภาพโดย จิรัชญา นุชมี ใกล้เข้ามามากแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟ กำแพง ตามท้องถนน โดยแต่ละพรรคการเมืองก็เลือกใช้สีที่โดดเด่นและเขียนชูนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน ...

Writings

สิ่งที่ “เห็น” ในข่าว อาจไม่ใช่สิ่งที่ “เป็น”

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร ภาพ เก็จมณี ทุมมา เมื่อผู้บริโภคเปิดรับข่าว ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะคาดหวังจะได้รับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างรอบด้าน ชัดเจน และสามารถนำพาสังคมไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าได้ ทว่าในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อาจสังเกตเห็นได้ว่าเรากำลังได้รับข่าวที่เจือปนไปด้วยข้อมูลเท็จ ปราศจากการตรวจสอบ เป็นข้อมูลด้านเดียว ...

Writings

มนต์รักทรานซิสเตอร์: การเกณฑ์ทหารที่ทำให้ชีวิตต้อง “ผิดแผน”

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์คือเครื่องบันทึกร่องรอยของสภาพสังคมที่เรื่องราวนั้นถูกสร้างขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงทำให้คนหวนคิดถึงวันวาน หลายเรื่องสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายเรื่องก็ชวนฝันถึงอนาคต แต่จะมีภาพยนตร์สักกี่มากน้อยที่สามารถตีแผ่สังคมได้ตั้งแต่วันที่เข้าฉาย แล้วยังลอยละล่องเหนือกาลเวลา ทำหน้าที่สะท้อนสังคมซึ่งให้หลังไปอีกกว่า 20 ปี ...

Writings

วันสงกรานต์ที่ไม่ได้กลับบ้าน

เรื่อง ปาณัสม์ จันทร์กลาง ภาพ เก็จมณี ทุมมา ในคืนของวันที่ 10 เมษายน ผมกลับห้องมาด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ตลอดทั้ง 3 วันที่ต้องเป็นสตาฟฟ์จัดงานกีฬาของมหาวิทยาลัย แม้งานจะจบไปได้ด้วยดีทำเอาชื่นใจ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความอยากนอนของผมได้ ...

Writings

สังคมที่บีบให้ดอกหญ้าต้องโตในป่าปูน

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา เพลงคือผลผลิตจากคนที่เติบโตขึ้นในสังคม เพลงจึงถ่ายทอดความสุข ความทุกข์ และชีวิตของคน กระทั่งสะท้อนถึงสภาพสังคมที่คนต้องเจอ โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความโดดเด่นในการเล่าถึงชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” เพลงดอกหญ้าในป่าปูนเป็นเรื่องราวของผู้หญิงต่างจังหวัดที่ต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ ...

Writings

สิ่งที่ นักเรียนสื่อ – คนสอนสื่อ – คนทำสื่อ ควรหาทำ

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ก่อนจะเปิดเทอมใหม่ ก็มีวาระที่ผมและเพื่อนๆ ที่ทำงานสอนในโรงเรียนสอนคนทำสื่อจะมานั่งสุมหัวกันเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และหาแนวทางปรับปรุงการทำงานของพวกเราให้ดีขึ้น รัดกุมขึ้น มีทิศทางที่แม่นยำขึ้น เช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save