SocialWritings

สิ่งที่หลงเหลือจาก 6 ตุลา : ทำไมเราถึงกลัวการไปม็อบ

เรื่อง: จักษณา อุตราศรี

“อย่าไปม็อบเลย อันตรายเปล่าๆ”

“ไม่กลัวตายเหรอ”

“ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำยังไง”

ทั้งหมดนี้อาจเป็นคำพูดของผู้ใหญ่ที่พูดกับเรา หากเราบอกว่าจะไปม็อบ ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ซึ่งเป็นการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินทางไปปักหลักอยู่ที่สนามหลวง หรือว่าจะเป็นการชุมนุมครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งมีการนัดแนะให้หยุดงานและหยุดเรียนประท้วงด้วย

เราอาจจะคิดว่าทำไมเขาต้องกลัวขนาดนั้น แต่หากพูดถึง ‘การประท้วง’ แล้ว สิ่งที่ประชาชนจำนวนมากมักนึกขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ คือ ความรุนแรงและความสูญเสีย เพราะเรานั้นซึมซับมาจากภาพเหตุการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้นในอดีตของประเทศไทย นับตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึง ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่จนเกิดความรุนแรงขึ้น

เห็นได้จากกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ที่มักยกวลี ‘กระสุนฟรีจากภาษีประชาชน’ มาพูดถึงในช่วงที่มีการจัดการประท้วงตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อต่อต้านรัฐบาลและแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการชุมนุมประท้วงที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชนปลดแอก หรือ Free YOUTH ที่ร่วมกับกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ก่อนลุกลามกลายเป็นการประท้วงทั่วประเทศจนมาถึงปัจจุบัน

ในขณะที่มีการชุมนุม คนบางส่วนจะคอยส่งข้อความให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนปลอดภัย แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วการประท้วงไม่จำเป็นต้องมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น แต่ภายในจิตใต้สำนึกของทุกคนก็เชื่อว่ามันอาจเกิดขึ้น

เหตุการณ์ 6 ตุลาเอง ก็ดูเป็นหนึ่งในต้นตอของการสร้างความกลัวต่อการออกมาประท้วงด้วยหลายๆ ปัจจัย 

ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างการแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนครปฐมในปี พ.ศ.2519 หลังจากออกมาต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่ไปในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา จากเหตุการณ์ครั้งนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์จึงได้จัดการแสดงละครล้อเลียนเพื่อชี้ให้เห็นถึงความรุนแรงที่รัฐทำกับประชาชน แต่กลับมีหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาอย่างดาวสยามบิดเบือนข้อมูล กล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากภาพที่ตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้แสดงมีใบหน้าคล้ายกับเจ้าฟ้าชาย(ยศในตอนนั้น) จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มฝ่ายขวาใช้กำลังปราบปรามและสังหารนักศึกษารวมถึงประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลักฐานในอดีตที่ยังคงย้ำเตือนความกลัว

ภาพถ่ายบันทึกเหตุการณ์มากมายนับไม่ถ้วนนั้นเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้ความรุนแรงขึ้นจริงในอดีต  เช่น ภาพการปราบปรามการชุมนุมอันรุนแรงของทหาร ภาพที่นักศึกษาโดนบังคับให้เปลือยกายท่อนบนลงนอนบนสนามหญ้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือแม้แต่ภาพร่างไร้วิญญาณของผู้ชุมนุม

หากแต่ภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุดอย่างภาพชายผู้เอาเก้าอี้พับฟาดใส่ศพนักศึกษาซึ่งถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามและมีผู้คนยืนดูล้อมรอบของ Neal Ulevich ช่างภาพชาวอเมริกาจากสำนักข่าวเอพีในตอนนั้น ก็อาจจะยังคงเป็นภาพที่สามารถสร้างความกลัวได้ที่สุด เพราะมันแสดงให้เห็นว่าประชาชนก็สามารถกระทำความรุนแรงได้เช่นเดียวกัน

การกระทำที่รุนแรงของประชาชน

แล้วประชาชนจะกระทำความรุนแรงได้อย่างไร หากไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากสังคมโดยรอบ การสนับสนุนที่เด่นชัดในช่วงนั้นคงหนีไม่พ้นคำพูดของกิตติวุฑฺโฒภิกขุ หรือพระเทพกิตติปัญญาคุณ พระสงฆ์ที่มีบทบาทในกลุ่มฝ่ายขวา จากการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารจัตุรัสซึ่งมีคำโปรยอยู่บนหน้าปกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ได้บุญมากกว่าบาป”

พระเทพกิตติปัญญาคุณ ได้นำคำสอนของศาสนาพุทธมาเป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม บอกว่าการเข่นฆ่าฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องที่ควรกระทำเพื่อจะรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ไว้ แล้วเปรียบเปรยการฆ่าว่าเหมือนกับการฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ทำให้กลุ่มฝ่ายขวาที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจในยามนั้น เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ นำมาใช้เป็นวาทกรรมเพื่อโจมตีกลุ่มนักศึกษา

สิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา จึงกลายเป็นตัวอย่างที่อาจเรียกได้ว่าเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นหากออกไปประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย ดังนั้นแทบทุกครั้งที่มีการพูดถึงการประท้วง เหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา มักจะต้องถูกหยิบยกมาพูดควบคู่กับเหตุการณ์ 14 ตุลา ซึ่งฝ่ายประชาชนได้รับชัยชนะหลังออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลทหารเผด็จการในตอนนั้น

ความเลวร้ายในเหตุการณ์ครั้งนั้น ประกอบกับภาพการประท้วงอื่น ๆ ในประเทศที่เกิดขึ้น ดูจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความกลัวเกี่ยวกับการชุมนุมของผู้เป็นพ่อและแม่

ไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ได้ออกมาปราศรัยเรื่องนี้บนเวทีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สนามหลวง โดยกล่าวว่า ผู้ปกครองของนักเรียนหลายคนโทรมาหาเขาว่าลูกของพวกเขาอยากจะออกมาชุมนุม แต่เป็นห่วงเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีต

เขายังกล่าวเสริมอีกว่าวัฒนธรรมความรุนแรงนั้นกดทับคนรุ่นใหม่ให้ไม่มีเสรีภาพพร้อมกับปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งความกลัวไปในตัว “ทำไมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำไมการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประชาชน มันต้องมาคิดว่าจะต้องบาดเจ็บล้มตาย”

คำพูดของไผ่ ดาวดิน คงตอบคำถามของหลายๆ คนได้ว่า ทำไมคนจึงกลัวการไปม็อบ

หากแต่เมื่อเราได้ลองพิจารณาใหม่ในตอนนี้ หลายการกระทำของคนรุ่นใหม่ ก็ดูเป็นสิ่งที่พยายามทำให้คนหมู่มากเริ่มมองการไปม็อบว่าเป็นสิทธิที่ควรทำได้มากยิ่งขึ้น 

การส่งเสริมการรับรู้ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เพิ่มมากขึ้น

ประวัติศาสตร์การชุมนุม 6 ตุลา หรือเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงอื่น ๆ  จนถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย แทบไม่เคยเป็นสาระสำคัญในหนังสือประวัติศาสตร์ในโรงเรียน แต่เมื่อภาวะทางการเมืองเริ่มเข้มข้นในช่วงปีที่ผ่านมา หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองและหนังสือประวัติศาสตร์ร่วมสมัย กลายเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องขวนขวายมาหาอ่าน รวมถึงแนะนำให้คนรุ่นเดียวกันอ่าน พวกเขารับรู้มันและนำมันมาเป็นบทเรียนมากกว่าจะมองว่าเป็นประเทศที่ย่ำอยู่กับที่ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้

การรู้ถึงประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของไทย ทำให้คนเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมใหม่ เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้นอีก เช่น ไม่มีการค้างคืน เป็น Flash Mob หรือม็อบแบบฉับพลันที่รวมตัวกันแค่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อกันเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้ และมีการจัดเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีความโปร่งใส ไม่ให้ข้อครหาว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง

โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปจากอดีต

ตอนนี้เกือบทุกคนรู้ดีว่าโลกในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากโลกในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข่าวสารที่ในปัจจุบันนั้นหากมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นตรงไหนของมุมโลก ทั่วโลกก็สามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันทีด้วยความช่วยเหลือของอินเทอร์เน็ต ยิ่งสื่อต่างประเทศเองก็จับตามองเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงที่ประเทศไทยอยู่เช่นกัน การจับตามองนี้ทำให้พวกเขาเชื่อว่าใครบางคนไม่อาจหาญกระทำสิ่งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในการชุมนุม คนทั่วโลกก็พร้อมจะประณามการกระทำนั้น

ในขณะเดียวกัน เราก็รู้ถึงพลังของโทรศัพท์มือถือและสื่อสังคมออนไลน์ เช่นการนัดแนะจัดม็อบผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือจะเผยแพร่ข้อมูลที่บันทึกบนโทรศัพท์มือถือลงสื่อสังคมออนไลน์ได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์เป็นคนเผยแพร่ ซึ่งอาจเกิดการบิดเบือนได้ หรือแม้กระทั่งหาหลักฐานบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตมาใช้ในการโต้เถียง

ในตอนนี้เราจึงได้เห็นการชุมนุมประท้วงที่ไม่มีความรุนแรงและมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากการชุมนุมประท้วงที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีการชุมนุมของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ซึ่งใช้ความเฮฮาและมุกตลกในการพูดถึงปัญหาของพวกเขา หรือ ม็อบแฮมทาโร่กับการนำธีมเพลงของการ์ตูนเรื่องนี้มาดัดแปลงให้เข้ากับบริบททางการเมือง เป็นต้น 

แน่นอนว่าความรุนแรงที่เกิดจากการประท้วงอาจยังมีความเป็นไปได้อยู่ เนื่องจากผู้มาชุมนุมประท้วงก็ต่างคนต่างนิสัยกันไป รวมถึงอาจมีผู้ไม่หวังดีปะปนอยู่ในกลุ่ม แล้วทั้งนี้บางทีผู้สร้างสถานการณ์ความรุนแรงอาจไม่ใช่ผู้ที่มาประท้วงแต่เป็นฝ่ายตรงข้าม การเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาวิธีการไปม็อบอย่างปลอดภัยจึงยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น สุดท้ายนี้ แม้ว่าความกลัวต่อการไปม็อบอาจจะยังไม่หายไปโดยง่าย แต่หลายคนก็มีความพยายามบรรเทาให้ความกลัวนั้นลดน้อยลง เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น ถ้าพวกเขาไม่ออกไปเรียกร้องมัน

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

2 Comments

  1. Your article helped me a lot, is there any more related content? Thanks!

  2. Can you be more specific about the content of your article? After reading it, I still have some doubts. Hope you can help me.

Leave a reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save