InterviewWritings

ภาพจำการแต่งตัวของนักการเมือง ก่อนเก็บป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 2566

เขียน        สมิตา พงษ์ไพบูลย์

ภาพ         กัญญาภัค วุฒิรักขจร

ภาพจำการแต่งตัวของนักการเมือง 

ก่อนเก็บป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 2566

การเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2566 กำลังจะมาถึง ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ 

ภาพที่เห็นข้างถนนแทบทุกวัน จึงไม่ใช่เพียงเสา หรือต้นไม้ แต่เป็นป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ตั้งติดกัน 

นอกจากตัวอักษร ใบหน้ายิ้มแย้ม ยังเห็นการแต่งกายของนักการเมือง ที่กว่าจะถูกกดชัตเตอร์ถ่าย แล้วสั่งพรินต์เป็นหลายร้อยหลายพันป้าย ก็คงผ่านการคิดมาแล้ว (ไม่มากก็น้อย) หาใช่เพียงความบังเอิญของวันนั้น

ในยุคที่คน มีอำนาจในการเลือกแต่งกายตัวเองได้ เสื้อผ้าของนักการเมืองอาจไม่สลักสำคัญเท่านโยบายที่ส่งผลต่อปากท้อง แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในเนื้อผ้าที่ปกปิดความเปลือยเปล่าของร่างกาย บุคลิกที่สะท้อนผ่านการแต่งกายของนักการเมืองยังคงทำหน้าที่สื่อสารกับคนที่มอง

เพราะอยากเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น Varasarn Press จึงติดต่อไปขอพูดคุยกับหนึ่งในผู้ที่มองลงไปใน‘ความหมาย’ ของเสื้อผ้าที่เป็นมากกว่าแค่สิ่งปกปิดร่างกาย นั่นคือ ดร.ศิบดี นพประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เขียนหนังสือ ‘ขวาพิฆาต(?)ซ้าย อนุรักษนิยมไทยบนทางสองแพร่งของการเมืองโลกยุคสงครามเย็น’

อาจารย์ศิบดีเริ่มจากความสนใจเรื่องการแต่งกายที่เริ่มขึ้นตอนสมัยเรียนปริญญาโท บวกกับพื้นฐานความชอบเรื่องผ้าไหมไทย และจิวเวอรี่ ที่เป็นความชอบส่วนตัว แล้วต่อยอดความสนใจนี้ไปประกอบกับความรู้ทางรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ เกิดเป็นผลงานวิจัยชื่อ ‘สัตตมรัช พัสตราภรณ์ : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กับแบบแผนการแต่งกายของสตรีสยาม’ และบทความ ผ้าไหมไทยกับ “ความมั่นคงของมนุษย์” ในสมัยสงครามเย็น’ ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ


และนี่คือบทสนทนาเรื่องการแต่งกายของนักการเมืองไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ที่ใกล้จะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลยุคต่อไปแล้ว

การแต่งกายของนักการเมืองไทย 


นักการเมืองไทยยุคแรกๆ แต่งตัวอย่างไรคะ
นักการเมืองยุคคณะราษฎรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของผู้ชาย ถ้าไม่นับการใส่เครื่องแบบทหาร การแต่งตัวก็เป็นแบบตะวันตก จอมพลป. (พิบูลสงคราม) จบจากไหน อาจารย์ปรีดี (พนมยงค์) จบจากไหนล่ะ ฝรั่งเศสไง

พี่ว่าเป็นแฟชั่นจากเมืองนอกเลย ใส่สูท เพียงแต่กระแสแฟชั่นตะวันตกที่อยู่ในตะวันตกเอง กับกระแสแฟชั่นตะวันตกในไทยอาจจะห่างกันประมาณหนึ่ง เพราะมันมาผ่านสื่อแม็กกาซีน ผ่านชนชั้นนำที่ได้อ่าน คณะราษฎรก็เป็นชนชั้นนำนะ ชื่อคณะราษฎรจริง แต่เป็นชนชั้นนำ

นักการเมืองไทยหลัง 2475 ก็แต่งตามตะวันตก ถ้าไปดูภาพเก่าๆ นักการเมืองชายก็ใส่สูท พลเรือนก็ใส่สูท ซึ่งสูทสมัยนั้นน่าจะสีอ่อนๆ 

ไม่ใช่โทนเข้มเหมือนสมัยนี้

ใช่ เป็นสูทแบบสีขาว สีครีม สีงาช้าง แต่ถ้าเป็นนายทหารก็อาจจะใส่สูท ใส่เครื่องแบบกองทัพบ้างตามสังกัด มันเลยจะดูแข็งๆ หน่อย 

ในยุคปัจจุบัน นักการเมืองแต่งตัวเปลี่ยนไปบ้างไหมคะ

ในยุคลุงตู่ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีหลายแบบ เช่น คนที่อยู่ในรัฐบาล ก็มีใส่เสื้อพระราชทาน ผ้าไหมที่ลุงตู่กับคณะรัฐบาลใช้ตัดเสื้อมันสวยนะ แต่มันไม่มีแบบอื่นแล้วหรือ

นักการเมืองควรจะนำเสนอรสนิยมของตนเอง และยึดโยงกับประชาชนซึ่งเลือกเข้ามา คือโอเค การใช้ผ้าไทยมันเป็นการแสดงว่ายึดโยงอยู่กับประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่พอเอาผ้าไทยไปตัดเป็นทรงพระราชทาน มันให้ความหมายไปอีกอย่าง แทนที่จะไปยึดโยงกับผ้าซึ่งประชาชนเป็นคนทอ

ชุดไทยของเรามันไม่ใช่ชุดประจำชาติในแง่ที่เราใช้กันมาตั้งแต่ในอดีต เรามีแต่ชุดตามประเพณี  ไม่เหมือนส่าหรีของอินเดีย กิโมโนของญี่ปุ่น อย่างน้อยทั่วโลกก็ยังรู้จักกิโมโน กี่เพ้า ส่าหรี แต่เมืองไทยไม่เคยมีชุดประจำชาติเลย เมืองไทยร้อนขนาดนี้ เราแต่งตามสบาย

แล้วนักการเมืองควรแต่งเพื่อความสุภาพ หรือยึดโยงกับประชาชนให้มีความแตกต่าง

คิดว่าเขายึดโยงกับความสุภาพนะ อาจจะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนขนาดนั้น แล้วระหว่างแต่งตัวให้ยึดโยงกับประชาชน กับทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ พี่ว่าอย่างหลังดีกว่าจำนักการเมืองที่เคยอยู่พรรคสีส้มที่ชอบพูดภาษาเหนือ แล้วตอนหลังย้ายพรรคได้ไหม

พี่ว่ามันเป็นการสร้างสีสันมากกว่าที่แกจะเชิดชูล้านนาจริงๆ แบบเจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เจ้าดวงเดือนนี่เชิดชูอยู่แล้ว แต่ว่าในกรณีศรีนวล (บุญลือ) นี่น่าจะใส่แค่ให้เป็นอีเวนต์ 

ในด้านหนึ่ง การเป็นนักการเมืองมีชื่อเสียงอาจทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจเอาผ้าพื้นเมืองมาแต่งในชีวิตประจำวันมากขึ้น แต่มันก็เป็นแค่ทางเลือก มันไม่ใช่เป็นผู้นำทางแฟชั่น ที่จะทำให้คนลุกขึ้นมาแต่งตัวตาม พี่ว่ามันเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคลน่ะ 

การยึดโยงกับประชาชนควรอยู่ที่การทำหน้าที่มากกว่า เหมือนลุงป้อม (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) พยายามปรับลุคการแต่งตัวให้ดูวัยรุ่นขึ้น แต่คนรุ่นใหม่เขาก็ดูออกแล้วไหมว่าเปลี่ยนไปแค่เสื้อผ้า

พลเอกประวิตรอาจต้องการเพิ่มฐานเสียงใหม่

ใช่ เขาอาจจะอยากปรับภาพลักษณ์พรรคพลังประชารัฐใหม่ เพราะว่าลุงตู่ก็ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติแล้วไง กลายเป็นพรรคเกิดใหม่ที่มีความเป็นอนุรักษนิยม ส่วนพลังประชารัฐยังถือว่าอยู่ในปีกอนุรักษนิยม แต่ปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยขึ้น ลุงป้อมคงอยากได้ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ อาจจะอยากแย่งกับก้าวไกล แย่งกับเพื่อไทย ส่วนประชาธิปัตย์ไม่พูดถึงนะคะ พี่ถือว่าหมดอนาคตไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ดับ ดับสนิท

สูทแอนด์ไท

การใส่สูทของตะวันตกกับไทย แตกต่างกันไหมคะ

ชุดสูทเนี่ย แต่เดิมมันอาจจะเป็นชุดสุภาพที่ผู้ชายใส่ออกนอกบ้านเป็นปกติก่อนที่กางเกงยีนส์จะมา เสื้อยืดจะมา ฮิปปี้จะมา ใส่กันมาตั้งแต่ยุค 20s 30s 40s 50s น่ะ เลยคิดว่านัยยะของนักการเมืองตะวันตก เขาใส่ชุดสูทกันเป็นปกติ

เหมือนเป็นเดรสโค้ดไปแล้ว

ใช่ เป็นปกติ มันไม่ใช่ชุดที่วิเศษวิโส หรือพิเศษอะไร แต่กรณีของไทย ถ้าจะใส่สูทไปไหนต้องมีคนถามแล้วว่า ‘ไปไหน’ เพราะดูจากอากาศก็ไม่น่าใส่สูท ในกรณีของนักการเมือง พี่มองว่าถ้าไม่นับประเด็นเรื่องความสุภาพหรือความเหมาะสม ประกอบกับค่านิยมสังคมที่นิยมว่าสูทคือความสุภาพ มันน่าจะมีนัยยะที่บ่งบอกเรื่องความเป็นสากล เป็นชุดที่ทุกประเทศยอมรับ ใส่สำหรับไปงานที่สำคัญได้ แล้วคนไทยค่อนข้างเข้มงวดกับกาลเทศะพอสมควร การใส่สูท ใส่แล้วเซฟน่ะ ใส่แล้วไม่อาย ใส่แล้วเหมาะสมไปได้ทุกที่ สร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ ต่อสายตาบรรดานักการเมืองด้วยกันเอง หรือกับประชาชน 

การแต่งกายของนักการเมืองหญิง

การเมืองซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ส่งผลกับการแต่งตัวของผู้หญิงที่เข้าไปไหมคะ

ส่งผลนะ ในช่วงแรกที่ผู้หญิงยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับมาก การที่จะแทรกตัวเข้าไปในวงการการเมือง ต้องได้รับการยอมรับจากผู้ชายเป็นอย่างมากเลย ถ้าไม่นับเรื่องความสามารถ เรื่องการแต่งตัวก็มีผล อันนี้พี่วิเคราะห์เอง

ผู้หญิงยุคแรก อาจจะต้องใส่สูทเลย เป็นสูทตามแฟชั่นของผู้หญิงในแต่ละยุค เพื่อความสุภาพ และแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงก็ทำงานได้ไม่แพ้ผู้ชายในแวดวงการเมือง เพราะเสื้อสูทมันเป็นเสื้อมีปกใช่ไหม มันเป็นเสื้อที่ได้อิทธิพลมาจากของผู้ชายนี่แหละ 

แต่ตอนหลังผู้หญิงเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองมากขึ้น จะเห็นว่าผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองเริ่มผ่อนคลายเรื่องการแต่งตัว พรรณิการ์ (วานิช) ใส่ Poem ดูมีความทันสมัย ความคล่องตัว ดูมีบุคลิกภาพที่มีความมาดมั่น น่าเชื่อถือ พร้อมทำงานให้กับประชาชนที่เลือกเขามา มันแทรกมาในชุด Poem นั้น

การใส่สูท Poem แตกต่างจากสูทปกติอย่างไร
พี่ว่าไม่ต่าง มันอาจจะแค่ดูทันสมัยขึ้น ชุดที่พรรณิการ์ใส่มีคล้ายๆ การเล่นสี แล้วดูชุดอดีตนายกยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) สิ เหมือนใส่สูท แต่สูทไม่ใช่สีดำ หรือสีทะมึนตลอด บางทีมีสร้อยมุก มีจิวเวอรี่เติมบ้าง หรือถ้าเป็นเดรสผ้าไหมก็แฟชั่นเต็มที่เลย และไม่ได้เกินขอบเขต เป็นแฟชั่นที่ยังเหมาะสมกับการเป็นผู้นำประเทศ เป็นเสื้อ กระโปรงชุดทำงาน แต่ตัดเย็บจากผ้าไหม  อาจจะมีลูกเล่นบ้าง ถ้าไปเป็นแขกต่างประเทศก็ชุดผ้าไหมเต็มที่เลย 

มีความหมายทางการทูตไหมคะ

อาจจะอยากส่งเสริมให้ผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น ส่งเสริมกิจการการทอผ้าไหมของไทย หรืออาจจะเป็นรสนิยมส่วนตัวด้วยก็ได้อีก ตระกูลชินวัตรทำอะไรล่ะ ชินวัตรไหมไทย และอาจจะมีนัยยะว่าแกก็ต้องอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วย

ยุคหลังๆ การแต่งกายของนักการเมืองหญิงมีความเฟมินีนมากขึ้น 

ถ้ามองในแง่เทรนด์ ผู้หญิงที่เป็นนักการเมืองรุ่นหลังๆ เริ่มรู้สึกดีมากขึ้นในแวดวงการเมือง การเหยียดหยามดูถูกในความแตกต่างทางเพศน้อยลง ทำให้เขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแต่งตัวอย่างชายอีกต่อไปเพื่อได้รับการยอมรับจากนักการเมืองเพศชาย เขาก็อาจจะแต่งตัวแบบหญิงได้มากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องแต่งตัวเพื่อให้ได้รับการยอมรับอีกต่อไปแล้ว คนเราแต่งตัวแบบไหนก็ทำงานได้ไหม

อย่างการเรียน ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบมาเรียนก็เรียนได้ ไม่ใช่ว่าวันไหนใส่เครื่องแบบแล้วตั้งใจเรียน วันไหนใส่กางเกงช้างมาแล้วหลับ แต่งตัวอย่างไรก็ได้ ที่จริงแต่งสวยๆ นี่ยิ่งทำให้มีกำลังใจในการเรียนมากขึ้นนะ ม้วนผมแล้วหนึ่ง (ยิ้ม) มันจะมีพลังงาน จะรู้สึกว่าวันนี้ฉันมีความมั่นใจในความสวยของฉัน พร้อมออกมาทำงาน ออกมาเรียน ออกมาเจอผู้คน 

พี่ว่านักการเมืองผู้หญิงก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน โลกในยุคที่ยอมรับบทบาทผู้หญิงมากขึ้น ตอนหลังไปไกลถึงยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เลยยิ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้การแต่งตัวมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อย่างพี่เอง กางเกงที่นุ่งวันนี้ก็กางเกงผู้หญิงนะ เราอยากแต่งยังไงก็แต่ง ให้เหมาะสมกับสถานที่นิดหนึ่ง แต่อาจจะไม่ถึงกับเคร่งครัดขนาดนั้น

มีนักการเมืองชายที่แต่งแบบเฟมินีนไหมคะ

พี่ว่า ส.ส. ผู้ชายที่คิดจะแต่งเฟมินีน ส่วนใหญ่จะเป็น LGBT เช่น ธัญญ์วาริน (สุขะพิสิษฐ์) บางคนก็เลือกที่จะแต่งแบบชุดกึ่งหญิง ไม่ก็หญิงไปเลย แต่ถ้าเราก้าวข้ามเส้นแบ่งทางเพศ เราจะไม่บอกเลยว่าผู้ชายที่ใส่กระโปรงเท่ากับแต่งหญิง ทีผู้หญิงใส่กางเกงยังไม่บอกคนนั้นแต่งแมนหรือแต่งชายเลย 

ประเด็นคือ ถ้าเราก้าวข้ามเส้นแบ่งตรงนี้ เราจะมองว่า ไม่ว่าเสื้อผ้าแบบไหนก็ตามมันคือเสื้อผ้าชนิดหนึ่งในการสวมใส่ปิดบังร่างกาย เราไม่สามารถจะ ‘นี่กางเกงผู้หญิง นี่เสื้อผู้ชาย’ อยากใส่ก็ใส่สิ ใส่เลย

ส.ส. ควรนำเสนอความแตกต่างไหมคะ

ถ้าหมายถึงความเท่าเทียมกันทางสังคม ก็ควรนะ นี่คือสังคมประชาธิปไตย มันคือการยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและสำเนียงการพูด 

สังคมปัจจุบันมันเปิดมากขึ้น เมื่อสังคมมันเปลี่ยนขนาดนี้ กลไกหรือนโยบายของภาครัฐก็ควรจะปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย อย่างเช่น การได้รับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทำไมคนสมรสได้ต้องมีแต่ผู้ชายกับผู้หญิงล่ะ ในเมื่อทุกวันนี้ยังมีอีกหลายคนที่เลือกใช้ชีวิตคู่แบบอื่น คนซึ่งมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน มันต้องมีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบอะไรร่วมกัน ไม่ต่างกับคู่ชายหญิงเลย

ภาพลักษณ์นักการเมือง

เมื่อมีภาพลักษณ์ของพรรคเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งพรรคอนุรักษนิยมและเสรีนิยม นักการเมืองควรแต่งตัวให้เข้ากับพรรคไหมคะ

พี่ว่าอาจจะไม่ขนาดนั้นนะ อย่างพรรคสมัยใหม่ อาจจะไม่สนใจเรื่องการแต่งตัวของสมาชิกพรรคก็ได้ สนใจแค่ว่าคุณมีอุดมการณ์ร่วมกับพรรค ตั้งใจทำเพื่อประชาชนเหมือนพรรค ปฏิบัติตามกฎของพรรคหรือเปล่า เขาอาจจะมองแค่นั้น 

แต่ถ้าพรรคอนุรักษนิยม พี่ว่าอาจจะมีผล ในแง่ที่ว่าคุณต้องแต่งกายให้เรียบร้อยนะ สร้างความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชน เพราะพรรคเรามีภาพลักษณ์แบบนี้ อาจจะไม่ได้ห้ามผู้หญิงใส่ส้นสูง แต่จะให้แต่งเปรี้ยวไปเลยมันก็คงจะไม่ใช่ แฟชั่นได้ เหยาะรสเปรี้ยวได้ แต่รูปแบบเสื้อผ้าของคุณ อาจต้องมีความเป็นอนุรักษนิยม เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของพรรคที่จะสื่อออกไป

สำคัญกับการมองของประชาชนไหม

ในอดีตมีผล เพราะคนเรามักจะตัดสินจากสิ่งที่เห็นเป็นสิ่งแรก เราเห็นเขาแต่งตัวแบบนี้ แม้เจอกันครั้งแรก ไม่รู้จักกัน แต่เราตัดสินเขาไปแล้ว แต่พี่มองว่าสังคมและยุคสมัยมันเปลี่ยน คนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่คงไม่ตัดสินคนจากภาพลักษณ์ภายนอกแล้ว แต่งตัวโทรมๆ จะไปตัดสินว่าเขาเป็นยาจกไม่ได้ อาจจะเป็นประธานบริษัทท่านหนึ่ง อะไรแบบนี้ ละครคุณธรรมต้องเข้าแล้ว (หัวเราะ) 

ตามป้ายหาเสียง นักการเมืองก็มาในชุดสบายๆ มากขึ้น ไม่ค่อยใส่สูทนะ ก้าวไกลเนี่ย ใส่โปโลแล้วมีตราพรรคเลย สบายๆ ไม่ใช่ชนชั้นนำ เพราะชุดสูทมันเหมือนเป็นภาพลักษณ์ที่ยึดโยงกับชนชั้นนำด้วยไง พอใส่สูทปุ๊บเท่ากับเป็นไฮโซ เป็นชนชั้นสูง ก้าวไกลอาจจะมีภาพลักษณ์ที่ยึดติดกับประชาชน ง่ายๆ สบายๆ เข้าถึงได้ 

นักการเมืองทุกวันนี้แต่งตัวสบายๆ ขึ้น อย่างอดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย ไตรศุลี (ไตรสรณกุล) คนนี้เป็นหนึ่งในเจ้าแม่แฟชั่นชุดผ้าไหมเลยนะ เพราะเป็นคนศรีสะเกษ แถวบ้านเป็นแหล่งผ้าไหมทั้งนั้น ชุดเลยจะสวยเลย ถ้าไม่นับยิ่งลักษณ์ ไตรศุรีคือนักการเมืองคนหนึ่ง ที่เอาผ้าไหมไทยมาตัดเป็นชุดแล้วเก๋ มีความเป็นเฟมนินีนนิตี้ ใส่ชุดผ้าไหม พี่เห็นแล้วสวยทุกชุด ช่างเก่ง คนออกแบบเก่ง

นักการเมืองชายควรมีทีมช่วยไหมคะ

พี่ว่าต้องมีนะ เสื้อผ้าหน้าผม การแต่งตัว รวมไปถึงการจะสื่อสัญญะ สื่อสาระอะไรบางอย่างให้กับประชาชน มันต้องมีทีมนะ แต่อาจไม่ต้องละเมียดละไม พิถีพิถันเท่าผู้หญิงก็ได้ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการเนี่ยควรเปลี่ยนนะ เสื้อพระราชทาน ตัดให้สวยก็ตัดได้ ตัดให้เข้ารูป คอสูงหน่อย อย่าง ชินดนัย มีชัย ผู้ประกาศข่าวช่องไทยพีบีเอส คนนี้เอาผ้าไหมไทยไปตัดเป็นเสื้อพระราชทานแล้วทันสมัย 

นักการเมืองไทยฝ่ายชายยังค่อนข้างอนุรักษ์นิยมอยู่ ในแง่นี้ ต่อให้เป็นพรรคก้าวไกลก็ยังใส่สูทเข้าสภา พิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) เคยแต่งอะไรที่แหวกไปจากสูทไหม…แต่เมืองนอกก็ใส่สูทหมด แม้แต่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แต่งตัวสีสันจริง แต่ก็เป็นสูท อาจเพราะเป็นนายกหญิงคนแรกด้วย นั่งท่ามกลางนักการเมืองชาย 

ถ้าเราดูไม่ดูนักการเมือง แต่ดูควีนเอลิซาเบธที่ 2  นี่ก็ทรงแต่งตัวเก่งเลยนะ แม้ว่าจะดำรงตำแหน่งใหญ่กว่านักการเมือง แต่ก็มีความเป็นผู้หญิงในชุดสูง ไม่ได้พยายามเอาความเป็นชายมาใส่ในชุด แล้วยิ่งอายุเยอะ ชุดยิ่งสีนีออน เขียว ชมพู ช็อคกิ้งพิงค์ แดงก็แดงไปเลย แล้วควีนทรงมีการสื่อภาษาจากการใช้สี ไปแคนาดาชุดต้องโทนแดงขาว ติดเข็มกลัดใบเมเปิล สัญลักษณ์ของประเทศ มาเมืองไทยชุดก็ทรงให้เกียรติกับสถานที่สำคัญในเมืองไทย ออกโทนสีทอง สีที่สะท้อนสถาปัตยกรรมในวัดพระแก้ว มีนัยยะทางการทูต ไปญี่ปุ่นชนแก้วกับจักรพรรดิญี่ปุ่น เครื่องประดับก็เป็นทับทิมกับเพชรสีขาวสีแดงเป็นสีธงชาติญี่ปุ่น มีนัยะทางการทูตหมดเลย ทุกอย่าง 

นักการเมืองควรจะสร้างเอกลักษณ์ให้คนนึกถึงไหม

ควรมีนะ มันเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียงด้วย แต่เอกลักษณ์หรือจะสำคัญเท่านโยบายที่ทำได้จริง ไม่ใช่การขายฝัน ทุกวันนี้พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนมันเปลี่ยนแปลง คนไม่ได้ดูภาพลักษณ์อย่างเดียว คนดูว่าพรรคคุณเสนอนโยบายอะไร 

ต่อให้ลุงป้อมปรับเทสแต่งวัยรุ่น แต่คนรุ่นใหม่ก็ดูออก ว่าเป็นความพยายามเพียงผิวเผิน มันไม่ใช่ความพยายามเชิงนโยบาย ที่จะตอบสนองความต้องการคนรุ่นใหม่เที่อยากให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตย ปฏิรูปกองทัพ

แจ๊คเกตลายเสือ 

พี่ว่าทีมไม่ได้คิดอะไรลึกไปกว่าอยากเปลี่ยนภาพลุงป้อมให้ทันสมัย จุดมุ่งหมายอาจจะหวังให้คนรุ่นใหม่หันมามองภาพลักษณ์พรรคพลังประชารัฐให้มันทันสมัยขึ้นก็ได้ เพราะสมัยที่ลุงตู่อยู่ มันอนุรักษนิยมมากไง 

ไม่ว่าสองคนนี้จะแยกกันจริงหรือแค่เล่นละคร แต่การที่ตู่แยกไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ มันทำให้พรรคพลังประชารัฐมีอิสระมากขึ้นในการที่จะปรับภาพลักษณ์ให้ดูสมัยใหม่ แต่พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนมันเปลี่ยน อย่างที่บอก คนดูนโยบาย  คนไม่ได้ดูภาพลักษณ์หัวหน้าพรรค คุณแต่งตัววัยรุ่น มันก็ไม่ได้ทำให้คนเชื่อได้อยู่ดี


ในขณะที่พิธาอาจจะไม่แต่งตัวแฟชั่น แต่ภาพลักษณ์เขาดูกระฉับกระเฉง ว่องไว คุณพ่อลูกหนึ่ง พร้อมทำงาน มันก็มีความแตกต่างอยู่แล้ว  

การเลือกแบรนด์เสื้อผ้ามีผลในเชิงการเมืองบ้างหรือเปล่าคะ

พี่ว่าไม่มีผล อยู่ที่ฐานะเขา คือมันอาจจะต้องดูที่ดีไซน์กับบุคลิกของคนใส่ด้วย ช่อใส่ Poem มันก็ทำให้ดูทันสมัย  พร้อมทำงาน แล้วก็ยังรักษาความสุภาพเรียบร้อย ซึ่งการนิยามคำว่าสุภาพเรียบร้อย ก็ยังยึดโยงอยู่กับความเป็นอนุรักษณ์นิยมนิดๆ อยู่นะ ในวงการการเมืองไทย

อุ๊งอิ๊ง (แพทองธาร ชินวัตร) นั่นเขาใส่อะไรก็ใส่ได้ ชินวัตรไง มาดามเดีย (วทันยา วงษ์โอภาสี) ก็รวย ยิ่งลักษณ์ก็ใช้แบรนด์เนมสมัยเป็นนายก ส่วนเศรษฐา (ทวีสิน) เริ่มเป็นละ เห็นแล้วไม่นึกถึงแสนสิริ ที่คอนโดหรือบ้านแต่ละหลังนี่แพงมากนะ เขาอาจมีความคล่องตัวในการปรับตัว การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เขาต้องรู้หลักการการตลาด ทำคอนโด เขาต้องรู้แล้วว่าลูกค้าชอบแบบไหน จะเจาะหาลูกค้ากลุ่มไหน พอไปเป็นนักการเมือง ถ้ามองในแง่ลูกค้า ประชาชนกลุ่มไหนจะเป็นลูกค้าของพรรค เขาก็ต้องทำตัวไปตามการตลาดอันนั้น

พรรคการเมืองมีหน้าที่คือ ถ้าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วต้องทำหน้าที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของลูกค้าเหล่านี้ ให้มากที่สุด เพียงแต่การเป็นนักธุรกิจกับนักการเมืองอาจจะต่างกัน นักธุรกิจตอบสนองต่อลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ แต่พอคุณเป็นรัฐบาล คุณไม่สามารถตอบสนองให้แค่กับคนที่เลือกคุณมาได้ คุณต้องมอบผลประโยชน์ให้ประชาชนทุกกลุ่มในสังคม

 นักธุรกิจในการเมือง

เสื้อผ้าของนักธุรกิจกับการเมืองแตกต่างกันอย่างไรคะ

หลักๆ ก็สูทเหมือนกัน แค่พอเป็นนักธุรกิจอาจจะใส่สูทตลอดเวลา แต่นักการเมืองเปลี่ยนชุดไปตามโอกาส ประชุมสภาก็ใส่สูท เข้าเฝ้าก็ใส่ชุดขาว งานผ้าไทยก็ใส่เสื้อพระราชทาน ลงพื้นที่ก็อาจจะชุดสบายๆ ผ้าขาวม้าพันเอว  และอาจจะแต่งตัวตามรูปแบบของชุมชนนั้นๆ แตกต่างกันตรงนี้ นักธุรกิจมักจะเน้นความเรียบร้อย คือสูทไว้ก่อน เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือในทางธุรกิจ ในการติดต่องาน โอกาสของนักธุรกิจในการไปแต่งตัวแบบอื่นก็เลยจะน้อยกว่า ถ้าไม่นับไปตีกอล์ฟนะ

เพื่อความน่าเชื่อถือเป็นหลัก

ใช่ ทั้งสองอาชีพต้องการความน่าเชื่อถือทั้งคู่ นักธุรกิจซึ่งต้องการสายตาที่ดูน่าเชื่อถือจากลูกค้า มันต้องสูทไว้ก่อน แต่นักการเมืองต้องทำงานตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งมีหลากหลายกลุ่ม ความหลากหลายกลุ่มของประชาชน เลยทำให้นักการเมืองต้องแต่งตัวไปตามกลุ่มประชาชนที่เขากำลังจะลงไปหาเสียง หรือลงไปคุยด้วย ลงไปในทุ่งนาแต่ใส่สูทก็ไม่ใช่ เสื้อโปโลแขนสั้นนุ่งยีนส์ก็ยังได้ 

แต่สังเกตว่าลุงตู่ไม่มีภาพแบบนั้นนะ ชุดลำลองของแกก็ยังเป็นเสื้อเชิ้ต แล้วก็ทับด้วยแจ็คเก็ตนายกสีดำๆ

ความสำคัญของเสื้อผ้า

การสนใจแฟชั่นช่วยสร้างมุมใหม่ในการมองการเมืองไหม

เรื่องศิลปาชีพฯ ไง มันคือยุทธศาสตร์ที่ไทยใช้รับมือกับสงครามเย็น เป็นยุทธศาสตร์ที่พี่ว่าคนที่เรียนรัฐศาสตร์ดูแล้วเข้าใจ ผ้าไหมทุกเส้นทุกผืนมีการเมืองแฝงอยู่หมดเลย 

ตอนนั้นรุนแรงมากนะเมืองไทย ปี 2518 อินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์หมด รัฐบาลไทยไปผูกมิตรกับจีน ฝ่ายขวาไทยเริ่มรู้สึกว่า เมืองไทยจะโน้มหาคอมมิวนิสต์จริงหรือ แล้วปี 2519 เหตุการณ์กวาดล้างฝ่ายซ้ายแทบจะกระจายไปทั่ว บริบทแวดล้อมเป็นเหตุเป็นผลในการที่สมเด็จฯ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ทรงตัดสินใจตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้นมา เพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลพยายามแย่งชิงมวลชนจากฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่สมเด็จฯ ทรงใช้วิธีการซอฟท์ เอาประเด็นเรื่องหลักการการพัฒนาซึ่งพัฒนามาจากตะวันตก ลงไปใช้ในพื้นที่ชนบท โดยเริ่มจากอีสานเป็นแห่งแรก การเริ่มจากอีสานก็มีนัยยะ เพราะเป็นพื้นที่สีแดง สีชมพู แล้วอีสานเป็นภาคเดียวที่ติดกับลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์หมดแล้ว มันก็มีเหตุผลตรงนี้ 

หรือการแต่งกาย ในรูปที่มีสมเด็จพระพันปีฯ อยู่ ชุดสวย ทุกคนประทับใจ อันนี้พี่เรียกว่าเป็นการประชาสัมพันธ์กับสาธารณชนเลยนะ การที่ท่านสร้างความประทับใจกับคนที่เข้าเฝ้าต่างประเทศ ผ่านเสื้อผ้าหน้าผม 

แล้วอย่างในช่วงเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรสนใจการแต่งกายของนักการเมืองไหมคะ

ดูที่นโยบายเป็นหลัก อีกส่วนหนึ่งอาจจะดูเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ได้ ซึ่งแน่นอนแหละว่าภาพของนักการเมืองแต่ละคนที่ปรากฏอยู่ในสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ป้ายหาเสียง มันส่งผลต่อภาพลักษณ์ของนักการเมืองด้วย เช่น พอเราดูป้ายหาเสียงแล้ว เอ้อ มันเชยจัง ก็อาจจะสงสัยว่านโยบายน่าจะเชยด้วยไหม สีขาวดาดๆ แต่งตัวดาดๆ ยิ้มดาดๆ ขณะที่บางพรรคเน้นความดุดัน บางอันเห็นเลยว่า โห เน้นภาพลักษณ์ที่ดูขรึมขลัง โดยการใช้ สีดำ สีเทาเข้มเกือบดำ มันส่งผลถึงภาพลักษณ์ของตัวเอง ของพรรคเหมือนกันว่า มีความตั้งใจในการทำงานอย่างจริงจัง 

ภาพจำของนักการเมือง

แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรอบนี้ คิดว่ามีภาพจำภายนอกเป็นอย่างไรบ้างคะ  

พี่ว่าตอนนี้จำได้สองคน คือลุงตู่กับอุ๊งอิ๊ง ลุงตู่อะ คนจำได้อยู่แล้ว เพราะว่า 8 ปี แล้วค่ะ 8 ปีที่เหมือนเดิมทุกอย่างทั้งนโยบาย ทั้งกิริยามารยาท ทั้งการแต่งเนื้อแต่งตัว เหมือนเดิม เสมอเกินไป เปลี่ยนบ้างก็ได้ (ยิ้ม) ส่วนอุ๊งอิ๊ง ภาพจำคือ มีความเป็นผู้หญิงกับความเป็นแม่ ชุดส่วนใหญ่มันจะเป็นชุดที่ใส่สบาย เพราะท้อง แต่ก็คลุมด้วยสูทเหมือนกัน เพื่อความเรียบร้อย แต่มีการเล่นสี แต่งหน้าทำผมที่ดูทันสมัย ไม่ได้หวือหวาจี๊ดจ๊าดจนเกินไป แต่ก็ไม่ได้เชยจนน่าเบื่อ เหมือนเป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทำงานการเมือง แม้ว่าจะท้อง หรือเพิ่งคลอดก็ตาม

 ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) พี่รู้สึกว่าป้ายหาเสียง ไม่ได้ชี้ไปให้เห็นอนาคตเลย มีแต่การย้อนอดีตสมัยที่ตัวเองทำงาน ในขณะที่คนไม่ได้มองอดีตแล้ว คนมองไปอนาคตว่าถ้าคุณเข้ามาคุณจะทำงานอย่างไร เหมือนแกย้อนอดีต 30 ปีของการเป็นนักการเมืองมากกว่า แล้วก็เอาพรรคเก่าๆ มาลง ‘8 ปีที่โคตรเหนื่อย’ อันนี้ยังพอได้ แต่ประเด็นคือ แล้วอย่างไร คุณมีอะไรใหม่มานำเสนอ ลบล้างความเหนื่อยของ 8 ปีนี้

พิธาจะมีชุดสูทเข้ารูป ทันสมัย ดูชุดสูทลุงตู่สิ เสื้อตัวใหญ่ กางเกงก็โคร่งมาก (โดนัลด์)รัมป์ กับตู่นี่พอกันเลยนะ ชุดก็พอกัน ไม่ทันสมัย ในขณะที่คนที่แก่กว่าคือ (โจ) ไบเดน ใส่สูทเข้ารูป แม้ว่าไบเดนจะจักรยานล้มต่อหน้ากล้องทีวีมาแล้ว สะดุดบันไดเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันมาแล้ว คนก็คิดว่าลุงจะไหวมั้ย แต่ภาพลักษณ์เขาก็ยังดูทันสมัยอยู่ ถ้าดูนายก ริชี ซูนัค ของอังกฤษ ชุดเขาก็ทันสมัยนะ สูทก็เข้ารูป แต่อย่างลุงตู่ พี่ก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นนักการเมือง แกเป็นทหาร แกแต่งตัวสไตล์ข้าราชการ 

จัดอันดับการแต่งกาย

ของแคนดิเดตนายกฯ บนป้ายหาเสียง

พลังประชารัฐ 5 คะแนน : คะแนนเต็ม 10 ให้ลุงป้อมแค่ 5 ดีที่เรียบร้อยสมวัย แต่ต้องปรับที่สไตล์ คุณใส่สูทสีกรม ผูกเนกไทสีสดใสได้ สีกรมก็คือสีเดียวกับข้อความบัตรประชารัฐ สีน้ำเงินนี้ได้ แต่ก็อาจจะกลมกลืน พี่ว่าลุงป้อมต้องปรับ  จะแต่งตัวให้ทันสมัยไม่จำเป็นต้องแต่งตัวให้ดูวัยรุ่นนะ ใส่สูทแบบ (จัสติน) ทรูโด หรือไม่ต้องเข้ารูปขนาดนั้นก็ได้ แต่ปรับสีเนคไท ปรับสีสูทได้ อยากทันสมัยก็ใส่สูทสีกรมท่า รองเท้าสีน้ำตาลเข้ม 

รวมไทยสร้างชาติ 5 คะแนน : ทำแล้วเหรอ ทำอยู่เหรอ ยังจะทำต่ออีกเหรอ (หัวเราะ) ลุงตู่เหรอ 5 เท่ากันกับพลังประชารัฐ มาแนวเดียวกัน ยังเห็นความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่ 

ภูมิใจไทย 6 คะแนน : อนุทิน (ชาญวีรกูล) ดูสบายๆ ขึ้น การใส่เสื้อพรรคก็ยังเชยอยู่ แต่พอเป็นเสื้อเชิตขาวมันดูสบายๆ ทันสมัยกว่านี้ได้ แต่ก็ดีกว่าลุงป้อม ให้ 6 


ไทยสร้างไทย 6 คะแนน : คุณหญิงสุดารัตน์ยังอนุรักษ์นิยมอยู่ ถ้าเปรียบเทียบกับเพื่อไทย แล้วทรงผมคุณหญิง ไว้หางยาวข้างหลัง คุณหญิงก็ทำอย่างนี้ตลอด แต่งตัวเรียบตลอดมา ไม่ได้หวือหวาอะไร คุณหญิงพี่ยังให้ 6 อยู่ เพราะเหมือนเดิม


เพื่อไทย 7 คะแนน : ของอุ๊งอิ๊งเรียบไป แต่เข้าใจได้ เพราะเล่นใช้ป้ายหาเสียงสีแดง และอาจจะไม่อยากให้คนจำการแต่งตัวมากกว่านโยบาย ซึ่งเขาทำนโยบายตัวใหญ่มากนะ และยังเป็นนโยบายประชานิยมเหมือนเดิม อุ๊งอิ๊งอาจจะมีภาพจำที่คนทั่วไปมองว่าเด็ก อาจจะอยากสร้างภาพลักษณ์ให้ดูน่าเชื่อถือ เป็นผู้ใหญ่ ประมาณว่าฉันพร้อมแล้วที่จะเข้ามาทำงานการเมือง เลยอาจจะต้องใช้ภาพที่ดูน่าเชื่อถือในแง่ทรงผม การแต่งหน้า แต่ก็ยังดูทันสมัย ให้อุ๊งอิ๊ง 7 

เศรษฐาพี่ให้ 7 เหมือนกัน แต่ตอบยาก เพราะนักธุรกิจไง และใหม่อยู่ ยังแต่งตัวนักธุรกิจ ให้ยากจังเลย ให้จากลูกเล่นที่เนกไทสีแดง ในด้านหนึ่งมันก็คือสีของพรรค แต่ด้านหนึ่งคือ อาจจะเริ่มแหวกแนวแล้ว สมัยเป็นนักธุรกิจอาจไม่เคยใช้เนคไทสีแดงก็ได้ เป็นความกล้าที่ยังยึดโยงกับสีของพรรค

ก้าวไกล 7.5 คะแนน : พิธาตอบยาก เพราะมาในชุดสบาย ส่วนใหญ่เขาเน้นความน่าเชื่อถือมากกว่าแฟชั่นนะ แต่ถ้าดูบริบทอื่นด้วย ก็ถือว่าทิมแต่งตัวดี ให้ 7-8 ได้ เขาก็ตั้งใจให้ดูสบาย เข้าถึงได้ พอใส่สูท ก็ใส่สูทที่ดูทันสมัย แต่ยังไม่แหวกแนวเท่าไหร่ เลยให้เพิ่มแค่ 0.5 คะแนน

จากป้ายทั้งหมดนี้ ถ้าเห็นแค่ชุด ไม่เห็นองค์ประกอบอื่น ใครจะได้เป็นอันดับ 1 คะ

ถ้าไม่เห็นอะไรเลย ถ้าไม่มีคำอะไรเลย พี่คงเลือกคุณหญิงสุดารัตน์ มันดูละมุน แต่อย่างที่บอก ภาพลักษณ์เข้าถึงได้อาจไม่สำคัญกับคนยุคปัจจุบัน ซึ่งในป้าย สิ่งที่นำมาเสนอคืออดีต

ขอข้อแนะนำให้พลเอกประยุทธ์ และพลเอกประวิตรที่ได้คะแนนน้อยสุดค่ะ

ไม่ต้องปรับลุคอะไรอีกแล้ว  กลับไปอยู่บ้านค่ะ ทั้งลุงตู่ลุงป้อมเลย กลับไปอยู่บ้าน


ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
4
Love รักเลย
4
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

Writings

กว่าจะได้ทำหนัง และความช่วยเหลือจากอาจารย์ใหญ่

เขียนและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร กลางวัน / ภายใน / คาเฟ่สักที่ บลูนั่งกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่ ท่ามกลางเสียงพูดคุยของผู้คน กำแพงด้านข้างประดับไฟคริสต์มาส XCU ปากที่กำลังจรดขอบแก้วกาแฟ2 SHOT ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save