SocialWritings

แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อ บนเพดานจริยธรรมที่กำลังขยับสูงขึ้น

เรื่องและภาพ: ปาณัสม์ จันทร์กลาง

เหตุการณ์การกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภูในวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำในสังคมไทย หลังจาก ‘เหตุกราดยิงโคราช’ ครั้งก่อนที่ห้างสรรพสินค้า Terminal21 จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 ที่นอกจากจะสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับคนไทยมาแล้ว ยังสร้างความตื่นตัวต่อมาตรฐานจริยธรรมของสื่อในการนำเสนอข่าว

เหตุการณ์ที่โคราช ผู้ที่ไม่ใช่นักข่าวหรือทำงานด้านสื่อสารมวลชนก็น่าจะรับรู้ได้ถึงจริยธรรมในการนำเสนอข่าวเหตุกราดยิงโคราชที่ผ่านมา ว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินเพียงใด จากการที่สื่อแทบทุกสถานี ‘หิวข่าว’ และต้องการเพียง ‘เรตติ้ง’ จากผู้ชมกันแทบทุกสถานี ซึ่งผลที่ได้รับคือ ‘สื่อ’ โดนด่า ‘อย่างถล่มทลาย’

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สื่อหลายสำนักในประเทศไทยก็ได้รับบทเรียนอันทรงคุณค่าจากเสียงสะท้อนของประชาชน แต่แล้วเวลาผ่านไปเพียงแค่ 2 ปี ก็มีเหตุการณ์น่าสลดใจเกิดขึ้นซ้ำ ทำให้จริยธรรมของสื่อถูก ‘ทดสอบ’ อีกครั้ง และยากกว่าครั้งก่อน เพราะ ‘เด็ก’ เป็นโจทย์หลักของการรายงานข่าวในรอบนี้


บรรทัดฐานดีขึ้นมาก เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในครั้งก่อน

กานตชาติ เรืองรัตนอัมพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาภาพยนตร์และภาพถ่าย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ผู้สื่อข่าวหน้างานทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองได้ดีมากขึ้น มีความระมัดระวังมากขึ้น เมื่อเทียบกับเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่มีการถกเถียงกันในเรื่องเนื้อหาและรูปภาพ ว่าอันไหนใช้ได้หรือไม่ได้ แต่ปัจจุบันมาตรฐานจริยธรรมของสำนักข่าวไทยสูงขึ้น อย่างกรณีที่สำนักข่าว CNN เข้าไปรายงานข่าวใน crime scene คนที่โวยเรื่องนี้เป็นคนแรกๆ ก็คือสำนักข่าวของไทย


ไม่ใช่เรื่องการทำได้หรือไม่ได้ เพราะคำถามคือทำแล้วได้อะไร

กานตชาติ กล่าวว่า กรอบของจริยธรรมเน้นเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งต้องตอบให้ได้ว่าการสูญเสียต่างๆ ให้ประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร ถ้าชั่งน้ำหนักแล้วคุ้มค่าก็สามารถทำได้ อย่างกรณีเหตุการณ์ ‘Napalm Girl’ เด็กหญิงชาวเวียดนามที่หลบหนีการโจมตีทางอากาศที่ประเทศเวียดนามเมื่อ 50 ปีก่อน ที่การเผยแพร่ภาพเด็กผู้หญิงเปลือยกายนั้นผิดหลักการ แต่พอเผยแพร่ไปแล้ว เหยื่อก็ได้รับการช่วยเหลือ

“สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามก็คือ การรายงานหรือการใช้ภาพต่างๆ ในตอนนี้มีประโยชน์มั้ย เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถขีดเส้นได้ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ แต่มันคือการบอกให้ได้ว่าทำแล้วได้อะไร เกิดผลกระทบอะไร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้าเราชั่งน้ำหนักแล้วมันไม่คุ้มค่า ก็ต้องไม่ทำ”


แรงกดดันของผู้สื่อข่าวหน้างาน

กานตชาติ กล่าวว่า กองบรรณาธิการ (บก.) ควรถูกพูดถึงมากกว่านี้ แม้ว่าผู้สื่อข่าวหน้างานจะมีการกำกับดูแลกันเองได้ดีมากขึ้นเพราะแรงกดดันจากสังคม แต่ก็มีแรงกดดันจากผู้บริหารที่ต้องการ ‘ทำยอด’ จากเรตติ้ง เพื่อให้องค์กรอยู่รอดต่อไป จึงมีสองส่วนที่ต้องต่อรองกัน คือ ผู้ปฏิบัติงานกับกองบก. ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะสำนักข่าวก็ต้องอยู่รอด ดังนั้นการนำเสนอข่าวจึงขึ้นอยู่กับหน้างานว่าจะเลือกเล่าแบบไหนให้มันดูดีและเหมาะสมกว่า

“กองบรรณาธิการจะต้องปรับตัวตามขึ้นไป เรารู้ว่าในอุตสาหกรรมข่าวมันต้องมีการแข่งขัน ใครได้ลึกกว่า เร็วกว่า แรงกว่า แต่ในสถานการณ์ที่มีผลกระทบแบบนี้ มันอาจจะต้องลดทอนการแข่งขันลง แล้วดูในสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น”

“ในโลกทางวิชาการ มุมมองด้านจริยธรรมมันมีเส้นแบ่งเป็นขาวกับดำ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นสีเทามากกว่า แล้วจุดสมดุลของมันจะอยู่ตรงไหน ซึ่งมีหลายมิติมาก ความสมดุลในกองบก. กับการรายงานข่าวในอุตสาหกรรม ความสมดุลของผู้ปฏิบัติงานกับสถานการณ์หน้างาน แล้วมีความสมดุลของโลกวิชาการที่อยู่ตรงนี้อีก”


สื่อต้องเรียนรู้เรื่องบาดแผลทางใจ

กุลวดี ทองไพบูลย์ อาจารย์สาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ตอนนี้คนจำนวนมากได้รับบาดแผลทางใจ (trauma) ไปแล้ว ทั้งผู้ปกครองของเด็ก คนที่อยู่ในเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งคนที่ดูข่าวในวันนั้น ทุกคนล้วนถูกกระตุ้นโดยสื่อจากการนำเสนอภาพและเนื้อหาที่กระทบกระเทือนจิตใจ จึงเกิดความรู้สึกหลายอย่าง ทั้งโกรธ เสียใจ ผิดหวัง หากทำซ้ำต่อไปจะทำให้เกิดแผลทางใจซ้ำซ้อน (retraumatization) ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (post-traumatic stress disorder; PTSD) ได้

“ถ้ามองในภาพรวม ในเชิงระบบ มันต้องจัดอบรมในระดับองค์กร ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญว่าสื่อต้องมีความรู้เรื่องของบาดแผลทางใจ ต้องรู้ว่าเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา คนที่มีบาดแผลทางใจ เขาจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร แล้วท่าทีที่เราจะเข้าถึง เข้าไปคุย ควรจะทำอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ตะลุยเอาข่าวอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์หรือภาวะที่เขากำลังเป็นอยู่”


ก้าวข้ามไปประเด็นอื่น นอกเหนือจากการรายงานสถานการณ์

สกุลศรี ศรีสารคาม กรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวารสารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในรายการวิทยุคลื่นข่าว FM 100.5 MCOT News Network เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ว่า ในการรายงานข่าว หลังจากสื่อรายงานประชาชนแล้วว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ประเด็นที่สื่อควรขยับต่อก็คือการตั้งคำถามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อขยายมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กว้างขึ้นอีก

“เรื่องโศกนาฏกรรม หากไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก จึงไม่ควรทำหน้าที่เพียงแค่รายงานว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่ควรตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไรบ้าง ความเป็นไปได้ของสาเหตุ ปัจจัยที่มันส่งเสริมให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เช่น จำนวนปืน การครอบครองปืน แม้กระทั่งความปลอดภัยในการเข้าไปในโรงเรียน สื่อสามารถตั้งคำถามได้อีกหลายอย่างมาก เพื่อสร้างการถกเถียงสาธารณะในสังคม ในประเด็นที่คนมองหาทางออกของเรื่องนี้ร่วมกัน อะไรที่เป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ เราจะได้รีบอุดรอยรั่วนั้น”


สื่อต้องกำกับดูแลกันเองอย่างจริงจัง

สกุลศรี กล่าวว่า หากสื่อเรียกร้องการกำกับดูแลกันเอง ก็ต้องทำกันอย่างจริงจัง ต้องเป็นกระจกสะท้อนตนเองด้วย สะท้อนสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ มีวิธีการเรื่องวารสารศาสตร์ทางออก นำสิ่งที่มันเป็นปัญหาไปสู่ทางออกได้ โดยอาจเริ่มต้นคิดที่จะทำข่าวประเด็นความรุนแรงแบบนี้ให้นำไปสู่ทางออกด้วย ไม่ต้องเป็นข่าวเชิงลึกเพียงอย่างเดียว และสุดท้ายสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุด คือยากให้สื่อมวลชนใช้สามัญสำนึกให้มากขึ้นว่า เราจะไม่ทำร้ายคนในข่าว และจะไม่ทำร้ายสังคม


บทบาทของกสทช. ในการกำกับควบคุม

คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์สาขาบริหารการสื่อสาร คณะวารสารศาสตร์ฯ กล่าวว่า ต้องการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นเชิงรุกเพื่อป้องกัน มากกว่าที่ทำงานเชิงรับที่รอให้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วรอคนร้องเรียนเข้ามา ซึ่งหากสื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะไปแล้ว หมายความว่าเกิดการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เสียหายหรือครอบครัวขึ้นแล้ว กสทช. จึงควรมีแนวทางการนำเสนอข่าวที่ชัดเจน สุ่มตรวจเนื้อหาอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อมีความรับผิดชอบและตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลของบุคลลที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

“ทั้งนี้ยังเห็นด้วยกับการส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพสื่อดำเนินการสอบสวนในประเด็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่าองค์กรวิชาชีพดำเนินการดูแลและตรวจสอบทางด้านจริยธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเห็นด้วยกับแนวทางในการที่ติดตาม ตรวจสอบ นำเนื้อหาที่รุนแรงหรือไม่เหมาะสมออกจากช่องทางต่างๆ แต่อยากเสนอให้มีการทำทัณฑ์บน และเพิ่มโทษถ้ามีการทำซ้ำ จะทำให้สื่อมีความตระหนักมากขึ้น และช่วยลดโอกาสในการทำผิดซ้ำขององค์กรสื่อ”


เพดานจริยธรรมที่ดันสูงขึ้น กับเรื่องใหม่ๆ ที่ต้องถกเถียงต่อไป

ในวันแรกหลังจากเกิดเหตุ แม้จะมีสื่อที่หลุดกรอบไปอยู่บ้าง แต่ก็ใช้เวลาไม่นานในการกลับเข้าสู่มาตรฐานที่ควรจะเป็น เช่น นำเสนอข่าวโดยไม่ใช้ภาพประกอบที่แสดงให้เห็นเลือด ศพ กระบวนการก่อเหตุ นำเสนอประเด็นเนื้อหาโดยคำนึงถึงสภาพจิตใจของแหล่งข่าวและประชาชน หรือขยายประเด็นปัญหาเพื่อช่วยหาทางออกให้สังคม จึงไม่เห็นสังคมออกแรงกดดันสื่อมากเท่าเหตุกราดยิงโคราช แสดงให้เห็นว่าสื่อนำบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งก่อนมาปรับใช้ได้จริง ช่วยกำกับกันและกันมากขึ้น เรื่องที่ต้องถกเถียงกันมันลึกขึ้นกว่าเดิม ไม่มีใครมานั่งเถียงเรื่องตื้นๆ อย่างอะไรทำได้หรือไม่ได้แล้ว

แม้เป็นบททดสอบที่ไม่ได้อยากให้เกิด แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าระดับจริยธรรมมันค่อยๆ ขยับสูงขึ้น ไม่เพียงแค่ผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมาตรฐานในการเลือกรับข้อมูลข่าวสารของสังคมอีกด้วย เมื่อมาตรฐานของสื่อและสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อว่าทั้งสองสถาบันจะเข้าใจ ไว้วางใจ และสนับสนุนกันและกันเพิ่มมากขึ้น

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save