InterviewSocialWritings

ความสัมพันธ์จีน-ฏอลิบาน เส้นทางสายไหมใหม่ และท่าทีของไทยในการเปลี่ยนผ่านนี้

เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา
ภาพประกอบ : วีริสา ลีวัฒนกิจ

ขณะที่ในประเทศไทย ณ ตอนนี้ สิ่งที่หลายคนอาจคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกคงเป็นการพยายามเอาตัวรอดจากมหาวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 และตั้งตารอว่าเราจะสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้เมื่อไรและอย่างไร ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งของแผนที่โลกอย่างประเทศอัฟกานิสถานกลับมีประชาชนส่วนหนึ่งกำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหนีออกไปจากประเทศของตัวเอง ไม่ใช่เพราะการมีอยู่ของเชื้อไวรัสร้ายนี้ แต่เป็นเพราะการตัดสินใจถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากประเทศของพวกเขา จนทำให้กลุ่มที่อ้างว่าเป็นอดีตรัฐบาลอย่างกลุ่มฏอลิบานกลับเข้ามาอยู่ในอำนาจ การกลับเข้ามาอยู่ในอำนาจของกลุ่มคนเหล่านี้ ทำให้ทั่วโลกได้เห็นภาพประชาชนในประเทศอัฟกานิสถาน พยายามวิ่งไปพร้อม ๆ กับเครื่องบินลำเลียงของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ สนามบินนานาชาติ ในกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน ภาพที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกสลดใจ ภาพของคนจำนวนหนึ่งในทวีปเอเชียเหมือนกับเรากำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะวิ่งหนีออกจาก “บ้าน” ของตัวเอง

ประชาชนในประเทศอัฟกานิสถานวิ่งไปพร้อมกับ เครื่องบินลำเลียง Boeing C-17 ของสหรัฐฯ ที่สนามบินนานาชาติ ณ กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อวันจันทร์ ที่ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา ภาพจากสำนักข่าวของกองทัพสหรัฐฯ stars & stripes

ภายใต้การตัดสินใจถอนกำลังพลกว่าแสนนายของสหรัฐออกจากประเทศอัฟกานิสถาน นักวิชาการจำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่า ภาพการเจอกันระหว่างนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนและนายมุลลาห์ อับดุล กานี บาราดาร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกตนเองว่าฏอลิบานเมื่อวันพุธที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ เมืองเทียนจิน สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นภาพที่น่าสนใจ และอาจสะท้อนบางสิ่งบางอย่างออกมา

ภาพการเจอการเจอกันระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศจีนและหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกตนเองว่าฏอลิบาน  ภาพจากไทยรัฐออนไลน์

วันนี้วารสารเพรสชวนทำความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ผ่านการพูดคุยกับ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลางที่เชี่ยวชาญด้านมุสลิมศึกษา และอดีตที่ปรึกษาของ อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กรรมการในคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการลอบวางระเบิด และก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบลศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

จุดกำเนิด “ฏอลิบาน” และที่มาความขัดแย้ง สหรัฐฯ-ฏอลิบาน

ในอดีตประเทศอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่หลายชาติมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ อังกฤษ หรือสหภาพโซเวียต ต่างต้องการเข้ามามีบทบาทร่วมและเข้ามายึดครองทั้งสิ้น เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจมาโดยตลอด รวมทั้งอัฟกานิสถานมีทางผ่านไปสู่หลายประเทศ และหนึ่งในนั้นเป็นประตูเข้าสู่ยุโรป ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม เล่าต่อว่าจุดกำเนิดกลุ่มฏอลิบาน และจุดเริ่มต้นของความไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่มฏอลิบานมาจากการเข้ามายึดครองประเทศอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียต ในปี 1979โดยขณะนั้นมีกลุ่ม “มุจญาฮีดีน” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่านักรบอิสลามประมาณ 8 กลุ่มออกมาต่อต้านการเข้ามาของสหภาพโซเวียต

สาเหตุหลักของการออกมาต่อต้านดังกล่าวเกิดจากความไปกันไม่ได้ของหลักการคอมมิวนิสต์ที่เป็นระบอบการปกครองของสหภาพโซเวียต ซึ่งเชื่อว่าชีวิตเราสิ้นสุดลงที่ความตาย ไม่มีแนวคิดเรื่องโลกหน้า ทว่าชาวอัฟกานิสถานส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวคือพระอัลลอฮ์ และมีแนวคิดเรื่องชีวิตหลังความตาย (life after dead) ดังนั้นจึงไม่ยอมรับแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีศาสนา “ถ้าเราไปดูใน fundamental rights (สิทธิพื้นฐาน) ไม่ว่าจะเป็นจีนหรือสหภาพโซเวียตเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซีย เขาอนุญาตให้ต่อต้านศาสนาได้ด้วย อย่างในรัสเซียยังมีคำกล่าวที่ว่าศาสนาเป็นยาเสพติด เหล่านี้ทำให้กลุ่มมุจญาฮีดีนในอัฟกานิสถานต้องออกมาต่อต้านการเข้ามาของสหภาพโซเวียต” นักวิชาการตะวันออกกลางกล่าว

ศ.ดร.จรัญยังบอกอีกว่ากลุ่มมุจญาฮีดีนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เนื่องจากในตอนนั้น สหรัฐฯ ต้องการคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต และหนึ่งในคนสำคัญที่สนับสนุนกลุ่มนักรบอิสลามคือ นายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ที่ขณะนั้นเป็นวิศวกรจากซาอุดิอาระเบีย และบิน ลาดินก็ร่วมกับนักรบอิสลามต่อต้านการเข้ามาของสหภาพโซเวียต จนสุดท้ายกลุ่มนักรบอิสลามเหล่านี้สู้จนมีชัยชนะเหนือสหภาพโซเวียต แม้ว่าในความเป็นจริงนักวิชาการรายนี้จะอ้างว่าเป็นสหภาพโซเวียตเองที่ตัดสินใจออกจากประเทศอัฟกานิสถาน

รูปภาพของนายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน จากเว็บไซต์ postjung

ศ.ดร.จรัญยังชวนมองประเด็นที่น่าสนใจว่า “หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว กลุ่มมุจญาฮีดีนไม่สามารถรวมตัวกันได้อย่างเหนี่ยวแน่น จนนับว่าเป็นรัฐบาลที่มีความเปราะบาง เหตุการณ์ทั้งหมดนำไปสู่การรวมกลุ่มกันของนักรบนักเรียนหรือกลุ่มฏอลิบาน ที่นำโดยมุฮัมมัด อุมัร ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นผู้นำทางความคิดของกลุ่มดังกล่าว หลังจากนั้นฏอลิบาน ค่อย ๆ รวบรวมกองกำลังของตัวเองจนเข้มแข็ง เข้ายึดกรุงคาบูล (เมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถาน) ได้สำเร็จ และประกาศว่าประเทศอัฟกานิสถานเป็น Islamic Emirate of Afghanistan  หรือรัฐที่ปกครองโดยใช้หลักการของอิสลาม โดยปราศจากอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา มากไปกว่านั้นกลุ่มคนที่เข้ามาสนับสนุนกลุ่มฏอลิบาน ในเรื่องการปกครองก็มีตั้งแต่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และปากีสถาน ที่สำคัญมิตรหลักของปากีสถานก็คือจีน”

นักวิชาการด้านตะวันออกกลางรายนี้กล่าวว่า แม้ว่านายอุซามะฮ์ บิน ลาดินจะเป็นชาวซาอุดิอาระเบีย แต่ก็ร่วมรบเคียงบาเคียงไหล่กับกลุ่มมุจญาฮีดีน กลุ่มที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเพื่อต่อต้านการเข้ามาของสหภาพโซเวียตอย่างแข็งขัน ทว่าจากเหตุการณ์การจู่โจมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างสหรัฐฯ กับนายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน

“ทั้งหมดเกิดขึ้นแค่เพราะว่าสหรัฐฯ เชื่อว่าบิน ลาดินอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งบิน ลาดินให้      สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะดอนน์ (the dawn newspaper) ของปากีสถานว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำแต่เขาเห็นด้วยกับผู้ที่กระทำ อย่างไรก็ตามบิน ลาดินก็ถูกไล่ล่า และเสียชีวิตในสมัยที่ บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี ในปี 2011จนมาถึงปัจจุบันเราก็ไม่ทราบว่าบิน ลาดินนั้นเสียชีวิตอย่างไร การฝังศพก็เป็นการโยนลงทะเล ซึ่งไม่ใช่การฝังแบบอิสลามทั่วไป นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ชื่นชมในตัวบิน ลาดินโกรธเคือง หนึ่งในนั้นคือกลุ่มฏอลิบาน” นักวิชาการรายนี้กล่าว

สหรัฐฯ และการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน

ศ.ดร.จรัญ มองว่า ถ้าตามมุมมองของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยสหรัฐฯ ก็ได้บรรลุเป้าหมายในการสังหารนายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน ซึ่งขณะนั้นเอาอัฟกานิสถานเป็นฐานทัพเพื่อการโจมตีสหรัฐหรือโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในที่ต่าง ๆ ของโลก

โจ ไบเดนอาจมองว่าในปัจจุบันกลุ่มฏอลิบาน ไม่มีความสามารถในการทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐในที่ต่าง ๆ ได้แล้ว อีกทั้ง 20 ปีในประเทศอัฟกานิสถาน เป็นเวลามากพอแล้วที่จะปล่อยให้ประเทศดังกล่าวต่อสู้ต่อไปด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามบางคนก็มองว่าเป็นการทิ้งไปแบบไม่ได้เหลือความช่วยเหลือไว้มาก เนื่องจากสหรัฐฯ เหลือกองกำลังทหารไว้เพียง 900 กว่านาย จากแต่ก่อนที่ประจำการอยู่นับ 2 แสนกว่านาย โดยทหารส่วนใหญ่ที่ยังคงอยู่ก็ประจำการเพื่อปกป้องสถานทูตสหรัฐฯ เท่านั้น

ศาสตราจารย์รายนี้ชี้ว่าในช่วงที่รัฐบาลสหรัฐฯ มาช่วยรัฐบาลอัฟกานิสถานรบกับกลุ่มฏอลิบาน มีความรุนแรงมาก ระเบิดที่สหรัฐฯ นำมาใช้มีความรุนแรงน้อยกว่าระเบิดนิวเคลียร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นปัจจุบันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงสงครามที่สหรัฐฯ ทำลงไปว่าเป็นสงครามที่ไม่สมคุณค่า ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์เห็นว่าทั้งหมดเป็น 20 ปีที่ทำให้ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษเสียชีวิตหลายร้อยคน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก แม้กระทั่งประชาชนธรรมดาก็เสียชีวิตไม่น้อย  ถึงที่สุดแล้วสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถต้านทานการโต้กลับของอดีตรัฐบาลฏอลิบานได้ “น่าสังเกตว่า อเมริกันเรียกฏอลิบานว่ากลุ่มก่อการร้าย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตีความ แต่ฏอลิบานเขามองว่าตนเองเป็นอดีตรัฐบาล เป็นคนปกป้องประเทศ”

“จากข้อตกลงนำสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ และฏอลิบาน ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2020 ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าจะต้องมีการประนีประนอม และจะต้องมีข้อตกลงใช้อำนาจร่วมกันระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานปัจจุบันและกลุ่มฏอลิบาน แน่นอนว่าทันทีที่ทหารสหรัฐฯ ออกไป ฏอลิบานก็มีความรู้สึกว่าพวกเขาจะต้องเอาพื้นที่ที่พวกเขาเคยครอบครองคืนมาหลังจากสูญเสียไป” ศ.ดร.จรัญออกความเห็น

ด้าน รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอทัศนะว่า หลังจากที่สหรัฐฯ เพลานโยบายเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน คือหลังเหตุการณ์ที่บิน ลาดินถูกสังหาร สหรัฐฯ ก็หันไปเล่นงานจีนในด้านต่าง ๆ แทน ทุกวันนี้จะเห็นว่าสหรัฐฯ มีความขัดแย้งกับจีนในเรื่องของสงครามการค้าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา “ถ้าพูดภาษาแบบชาวบ้านก็คือ สหรัฐฯ ล้างแค้นบิน ลาดิน ได้สำเร็จแล้ว”

รศ.วรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน เป็นนโยบายที่เข้าใจได้ โดยสหรัฐฯ อาจมองว่า อัฟกานิสถานหมดประโยชน์แล้ว ที่น่าสนใจคือการออกไปของสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีสหรัฐฯ เสียแล้ว กำลังรัฐบาลอัฟกานิสถานก็ไม่สามารถสู้กับฏอลิบานได้เลย

มหาอำนาจหน้าใหม่ในอัฟกานิสถาน

ศ.ดร.จรัญ เล่าว่าเป็นที่รับทราบกันว่าจีนกับฏอลิบาน ติดต่อกันมายาวนานพอสมควรตั้งแต่ปี 2018 อย่างไรก็ตามจีนก็พยายามรักษาท่าทีและดุลแห่งอำนาจโดยไม่ได้ติดต่อกับกลุ่มฏอลิบานโดยตรง และจะติดต่อผ่านทางสำนักงานของฏอลิบานที่อยู่ในประเทศกาตาร์ ทั้งจีนและฏอลิบานมีการติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจีนยอมรับหากกลุ่มฏอลิบานจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล

รูปภาพแสดงเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่อยู่ติดกับประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานจากเว็บไซต์ OKnation

“สำหรับจีนแล้ว จีนได้ทั้งโอกาสที่จะไปเสริมในกรณีที่สหรัฐฯ ออกไป ในฐานะมหาอำนาจที่ฏอลิบานก็ให้การเคารพ แต่เวลาเดียวกันจีนก็ถูกคุกคามด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากบริเวณที่อยู่ติดกับอัฟกานิสถาน คือดินแดนของจีนที่เรียกว่าเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งมีกลุ่มคนชาวอุยกูร์ที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ ในบริเวณดังกล่าวมีองค์กรที่ชื่อว่าเตอร์กีสถานตะวันออก เป็นกองกำลังที่ต้องการเรียกร้องเอกราชจากจีน กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มต่อต้านประเทศจีน และพวกเขาหวังว่าวันหนึ่งจะสร้างรัฐอิสลามในบริเวณนั้นของประเทศจีน อีกทั้งกลุ่มเตอร์กีสถานตะวันออกยังมีความใกล้ชิดกับอัฟกานิสถานในส่วนของฏอลิบานด้วย และในปากีสถานยังมีอีกหนึ่งกลุ่มของชาวมุสลิมที่ต่อต้านประเทศจีนชื่อว่า เตห์ริก ฏอลิบาน ปากีสถาน (tehrik-i-taliban pakistan) ซึ่งสังหารแรงงานจีนไป 9 คน เหล่านี้ทำให้เห็นว่าจีนยังคงต้องรักษาระยะห่างจากประเทศนี้ไว้ให้ถูกต้อง” ศ.ดร.จรัญกล่าว

ด้าน รศ.วรศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาปูพื้นประวัติศาสตร์ให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์ของจีนและกลุ่มคนเหล่านั้นว่า กลุ่มชนชาติที่อยู่ในอัฟกานิสถานในปัจจุบัน และกลุ่มชนชาติที่อาศัยอยู่บริเวณเอเชียกลาง ซึ่งอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ประเทศเหล่านี้ในเชิงชาติพันธุ์เป็นกลุ่มชนเผ่าที่มีความสัมพันธ์กับชาวจีนมานานนับ 1,000 ปี อย่างชาวอุยกูร์ที่เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ประเทศจีน ก็จัดเป็นอนุชนชาติเติร์กซึ่งมีความเกี่ยวโยงบางอย่างกับกลุ่มคนชนชาติทางเอเชียใต้ที่ได้กล่าวไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประเทศจีนจะมีความสัมพันธ์ใด ๆ กลับกลุ่มฏอลิบาน หรือกับประเทศอัฟกานิสถาน

อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาเสริมว่า ประเทศจีนมีนโยบายการต่างประเทศที่มีมาอย่างช้านานหนึ่งข้อก็คือ ประเทศจีนจะไม่ไปแทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่าง ๆ ในขณะเดียวกันประเทศจีนก็ไม่ต้องการให้ประเทศต่าง ๆ แทรกแซงกิจการภายในของตนเอง เพราะฉะนั้นในกรณีของอัฟกานิสถาน ช่วง 20 ถึง 30 ปี จีนก็มีความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานได้ปกติ ในขณะเดียวกันจีนก็มีความสัมพันธ์กับฏอลิบานได้เช่นกัน เหล่านี้เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าจีนเชื่อว่า ไม่ว่าใครก็ตามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ จีนจะไม่แทรกแซงและสามารถคบหาไปได้กับทุกรัฐบาล อีกทั้ง ถ้าประเทศไหนเกิดการรัฐประหาร เช่นเมื่อเจ็ดปีก่อนประเทศไทยมีรัฐประหาร จีนก็มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของไทย และหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารยึดอำนาจไปจากประชาชน จีนก็มาสานสัมพันธ์กับประเทศไทยอยู่ดี

รศ.วรศักดิ์เสริมว่า นโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของเพื่อนบ้านของจีน ทำให้จีนได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่อง ตัวอย่างเช่นในเหตุการณ์หลังวันที่ 11 กันยา 2001 หรือ 9/11 หลังจากที่สหรัฐฯ เข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานเรียบร้อยแล้วจีนก็เข้าไปสานสัมพันธ์กับรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อเข้าไปขอสัมปทานน้ำมัน  อย่างไรก็ตามจีนก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองหรือสงครามเลย

“ในตอนนี้ที่เหตุการณ์เริ่มสงบลงแล้ว ฏอลิบานจะยึดอำนาจได้แล้ว จีนก็คุยกับฏอลิบาน โดยไม่สนใจว่าฏอลิบานจะดีหรือร้าย เพราะจีนบอกแล้วว่าจะไม่แทรกแซง ดังนั้นผลประโยชน์จีนก็ต้องได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง สหรัฐฯ อยู่ก็ได้ประโยชน์ สหรัฐฯ ไปก็ได้ประโยชน์ น่าจับตาดูต่อไปว่า หลังจากที่ฏอลิบานยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้วจีนจะดีล (ตกลง) เรื่องผลประโยชน์ใดต่อไปในอนาคต ผมมั่นใจว่าผลประโยชน์คนจีนต้องได้เพิ่มขึ้นครับ”

จีนกับการตัดเส้นทางสายไหมใหม่เข้าอัฟกานิสถาน

เส้นทางสายไหมใหม่หรือโครงการ one belt one road initiative เป็นโครงการที่จีนต้องการสร้างเส้นทางการค้าขายทั้งทางบกและทางน้ำ จากจีนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ตั้งแต่จีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนยาวไปยังทวีปยุโรป โดยผ่านทางเอเชียใต้ ผ่านไปยังเอเชียกลาง และสิ้นสุดลงที่ประเทศเยอรมนี

ภาพแสดงเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน จากเว็บไซต์ดี-ดับเบิลยู สื่อสารธารณะของประเทศเยอรมนี

ศ.ดร.จรัญกล่าวว่า ในการวางแผนเส้นทางสายไหมใหม่ครั้งแรก จีนไม่ได้ตัดเส้นทางผ่านประเทศอัฟกานิสถานแม้ว่าประเทศนี้จะมีทางออกสู่หลายประเทศ เนื่องจากเส้นทาง 90 กิโลเมตรจากพรมแดนจีนถึงอัฟกานิสถานมีเส้นทางสำคัญที่จีนต้องระวังเรื่องความมั่นคง คือเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ซึ่งมีกลุ่มที่ต้องการเป็นอิสระจากจีน และกลุ่มดังกล่าวก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มฏอลิบานในประเทศอัฟกานิสถานด้วย ดังนั้นนี่อาจเป็นเหตุผลที่จีนไม่ตัดเส้นทางผ่านเข้าไปในประเทศดังกล่าว

ภาพแสดงการเชื่อมต่อกันระหว่างจังหวัดบาดัคชาน และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ บริเวณ ฉนวนวาคาน (wakhan corridor) จาก google earth

รศ.วรศักดิ์ ให้ความเห็นว่าสาเหตุที่จีนไม่ตัดเส้นทางสายไหมใหม่เข้าไปในประเทศอัฟกานิสถานเนื่องจากเกิดความไม่สงบ และวุ่นวายหลายประการในประเทศนี้อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น “การที่จะเข้าไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนองตอบเส้นทางสายไหมใหม่ จีนก็ไม่สะดวกที่จะทำ แต่น่าสนใจว่าตอนนี้ เหตุการณ์ในอัฟกานิสถานใกล้จะสงบลงแล้ว ผมก็เชื่อว่าจีนจะเข้าไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาของจีนและฏอลิบานอนาคต”

วารสารเพรสนำข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสเวิลด์ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา มาเป็นข้อมูลประกอบ เนื่องจากชุดข้อมูลดังกล่าวมีความน่าสนใจและเชื่อมโยงกับประเด็นที่กำลังพูดคุย ความว่า ทางด้านภาคตะวันออกของประเทศอัฟกานิสถานมีจังหวัดบาดัคชาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจีนให้ความสำคัญกับพื้นที่ตรงนี้อย่างมาก เพราะในบริเวณดังกล่าวมีฉนวนวาคาน (wakhan corridor) ที่เชื่อมต่อระหว่างเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์กับจังหวัดบาดัคชานในอัฟกานิสถาน จีนหวังใช้พื้นที่ตรงนี้ในการพยายามที่จะเข้ามาเชื่อมต่อโครงการของจีนเข้าไปในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อิหร่านและปากีสถาน

น่าสนใจว่า ในขณะนี้ฏอลิบานสามารถยึดเมืองหลวงของประเทศอัฟกานิสถานได้แล้ว จีนจะมีการเจรจาผลประโยชน์ของพื้นที่ตรงนี้ต่อไปอย่างไร

เส้นทางการค้าใหม่ของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รศ.วรศักดิ์ มองว่าถึงแม้ความวุ่นวายและไม่สงบในประเทศอัฟกานิสถานจะเป็นปัจจัยที่อาจทำให้จีนตัดสินใจไม่เข้าไปวางโครงข่าย โครงสร้างพื้นฐานอย่างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทว่า ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะที่เป็นภาคพื้นทวีปอย่างไทย เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย จีนได้เข้ามาวางโครงสร้างพื้นฐานไว้เป็นเวลามากว่า 30 ปีแล้ว ดังนั้นความไม่สงบต่าง ๆ หรือความไม่มีเสถียรภาพใด ๆ ทางการเมืองในภูมิภาคนี้จึงไม่มีผลกระทบกับโครงการเส้นทางการค้านี้ของจีน

ภาพแสดงเส้นทางแนวรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน เข้ามาประเทศลาว และผ่านเข้าสู่ประเทศไทย จากประชาชาติธุรกิจ

ในส่วนของประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนอธิบายให้เห็นภาพว่าทำไมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของจีนในประเทศเราจึงเกิดความล่าช้า ทั้งที่โครงการนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2014 “ปัญหาความล่าช้าเกิดจากเรื่องสัญญา ตอนต้นจีนต้องการถือหุ้น 100% แต่ไทยยอมไม่ได้เพราะจีนอาจเข้ามาได้รับประโยชน์เหนือคนไทย การเจรจาถือหุ้นจึงลดสัดส่วนลงมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดประเทศไทยตัดสินใจลงทุนด้วยตัวเอง 100% ซึ่งการเจรจาดังกล่าวใช้เวลามาตั้งแต่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) พอมาถึงรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ก็เป็นเช่นเดิมอยู่ และเพิ่งจะมาตัดสินใจลงทุนเองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา”

ท่าทีของประเทศไทยต่อการเปลี่ยนผ่านนี้

ศ.ดร.จรัญให้ความเห็นว่าประเทศไทยยังไม่สามารถตัดสินใจแสดงท่าทีต่าง ๆ ได้มากนักเพราะการปฏิสัมพันธ์ใด ๆ ของไทยเรามักจะมองสหรัฐฯ เป็นหลัก ดังนั้นต้องรอให้เหตุการณ์ที่คลุมเครือในประเทศอัฟกานิสถานชัดเจนขึ้นก่อน

“อย่างไรก็ตาม เรื่องของอัฟกานิสถานเป็นเรื่องราวระดับโลก ถือว่ามีความสำคัญในแง่ที่ว่า อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่ตกอยู่ในสงครามมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ ใคร ๆ ก็ควรจะสนใจทั้งประเด็นมหาอำนาจอย่างจีนจะเข้าไปปฏิสัมพันธ์อย่างไร หรือมหาอำนาจจะมีท่าทีอย่างไรทางการค้า ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ประเทศไทยต้องจับทิศทางให้ได้ว่าเราจะวางนโยบายอย่างไรกับรัฐบาลใหม่ การมีสถานทูต การค้าขาย หรือว่าการเป็นพันธมิตร” ศาสตราจารย์ด้านตะวันออกกลางให้ความเห็น

ด้าน รศ.วรศักดิ์เห็นต่างว่า ไม่ว่าเหตุการณ์ในประเทศอัฟกานิสถานจะเป็นอย่างไร นโยบายการต่างประเทศของไทยมักมองความสมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นหลักมากกว่า กล่าวคือ ที่ผ่านมาไทยพยายามทำให้สหรัฐไม่มองว่าไทยลำเอียงไปหาจีน หรือพยายามไม่ทำให้จีนมองว่าไทยลำเอียงไปหาสหรัฐอเมริกามากจนเกินไป อย่างไรก็ตามถ้าเพื่อนบ้านบอกว่าเราสมดุลแล้ว แต่หนึ่งในสองมหาอำนาจบอกว่าเราลำเอียง กรณีนี้ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นนานาทัศนะของแต่ละประเทศ

“ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์มีคำที่ใช้เรียกการทูตแบบบิณฑบาตคือคำว่า ภิกขาจาร เป็นการทูตแบบขอเขากิน ผมคิดว่าประเทศไทยควรสร้างชาติ พัฒนาเศรษฐกิจบนสองขาของเราให้ได้ ไม่ใช่ว่าไปขอความช่วยเหลือจากชาติอื่นตลอดจนกระทั่งไม่เป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นถึงแม้จีนหรือสหรัฐฯ จะเป็นมหาอำนาจและมีท่าทีอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ประเทศไทยก็ควรมีนโยบายการทูตให้เป็นตัวของตัวเอง และไม่หวังพึ่งพาประเทศใดมากเกินไป” รศ.วรศักดิ์ทิ้งท้าย

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
22
Love รักเลย
7
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Writings

LADYS AND (NOT ONLY) GENTLEMEN สนทนาภาษาแซฟฟิกกับ “LADYS” นักเขียนนิยายผู้สร้างตัวละครที่หลากหลายและลื่นไหลมากกว่าเพียงเลสเบียน

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “กลัวเธอมองว่าฉันไม่ใช่ผู้หญิง” พูดจบ ข้าพเจ้ามองหน้าอกแบนราบใต้ผ้าเนื้อบาง เหลือบมองบ่าไหล่ที่กว้างและหนา นึกถึงองคชาติที่อยู่กึ่งกลางร่างกาย ข้าพเจ้านึก ไม่ใช่อย่างแขยงแปลกแยก ...

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Writings

ดารา งานดูหนัง กับคำตอบจาก ‘คนโรงหนัง’

เขียนและภาพ จิรัชญา นุชมี ‘โรงหนังเดี๋ยวนี้ชอบเอาดาราศิลปินมาดูหนังด้วย ทำทำไม’ ‘ก็มัวแต่เอานักแสดงซีรีส์วายมาดูหนังไง’ ‘นายทุนมันก็หากินกับติ่งง่ายเกินเนาะ’ เป็นการตั้งคำถามของชาวเน็ตที่เห็นเป็นข้อถกเถียงในโลกออนไลน์อยู่เสมอ เมื่อค่ายโรงหนังเจ้าใหญ่จัดรอบหนังเชิญศิลปิน หรือ นักแสดง มาดูภาพยนตร์ร่วมกันกับแฟนคลับ และมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันหลังจากดูหนังจบ โดยตั๋วหนังจะมีราคาสูงกว่ารอบหนังปกติเป็น 500-600 ...

Writings

เปิดมุมมองผู้ออกข้อสอบพรีแอดมิชชั่น ข้อสอบที่จริงใจสำหรับ #Dek67 เป็นไง …?

เขียน : จิรัชญา นุชมี ภาพ : ศิรประภา ศรีดาจันทร์ ใกล้เข้ามาอีกครั้งกับช่วงเวลาแห่งการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของชาวมอหก และ ชาวเด็กซิ่ว ทุกคน แน่นอนว่าตอนนี้ต้องเป็นช่วงที่หัวปั่นอยู่กับการอ่านหนังสือ เก็งข้อสอบย้อนหลังกว่าหลายปี อย่างแน่นอน ...

Writings

กว่าจะได้ทำหนัง และความช่วยเหลือจากอาจารย์ใหญ่

เขียนและภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร กลางวัน / ภายใน / คาเฟ่สักที่ บลูนั่งกินกาแฟอยู่ในคาเฟ่ ท่ามกลางเสียงพูดคุยของผู้คน กำแพงด้านข้างประดับไฟคริสต์มาส XCU ปากที่กำลังจรดขอบแก้วกาแฟ2 SHOT ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save