Ready-to-readUncategorizedWritings

ศาสนา ป้ายหาเสียง การเลือกตั้ง

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี

ภาพโดย จิรัชญา นุชมี

ใกล้เข้ามามากแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟ กำแพง ตามท้องถนน โดยแต่ละพรรคการเมืองก็เลือกใช้สีที่โดดเด่นและเขียนชูนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน

พรรคพลังธรรมใหม่ ภายใต้การนำของนายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ที่ชูนโยบายเรื่องการทำให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธของโลกก็เช่นกัน 

การเห็นป้ายหาเสียงซึ่งชูนโยบายเด่นเรื่องศาสนาพุทธขึ้นมาแบบนี้ ตั้งคำถามให้กับผู้เขียนที่เป็นคนต่างศาสนาว่า ทำไมพรรคดังกล่าวจึงเลือก ชูนโนบายนี้ขึ้นมา ทั้งที่ไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายทั้งในด้านวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา เรามีประชากรที่นับถือทั้ง ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาฮินดู ศาสนาซิกข์ รวมไปถึงศาสนาอื่น ๆ และคนไม่นับถือศาสนาอีกมาก 

อีกทั้งในฐานะผู้นับถือศาสนาอิสลามที่ อาศัยอยู่ในละแวกชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม และชาวคริสต์ และเห็นป้ายหาเสียงดังกล่าวรอบ ๆ บริเวณชุมชนจนชินตา ก็สงสัยว่า ทำไมเขาถึงกล้าเอาป้ายที่มีความชัดเจนในกับนโยบายด้านศาสนาพุทธมาแปะในชุมชนที่มีความหลากหลาย กระทั่งไปถามไถ่คนในชุมชน จึงได้ความว่าคนติดป้ายก็มาติดตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รู้เพียงจะติดให้คนผ่านไปผ่านมาเห็นมากที่สุด อาจไม่ได้รู้หรือนึกคิดไปถึงความเหมาะสม

ผู้เขียนจึงมองว่าการชูนโยบายอยากให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก็คงมีผลต่อความรู้สึกของผู้ที่มีความเชื่อที่ต่างออกไปไม่มากก็น้อย อีกทั้งยังตั้งคำถามต่อว่าในโลกยุคปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้ามากพอสมควร และผู้คนก็ก้าวผ่านเรื่องศาสนาและความมั่นคงของประเทศไปแล้ว ทำไมยังมีการชูนโยบายนี้อยู่ ทั้งที่เป็นการแสดงภาพลักษณ์และวิสัยทัศน์ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความล้าหลัง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ตั้งคำถามกับพรรคได้

ทว่าเมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ พบว่า พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่ใช่พรรคเดียวที่มีการชูนโยบายเรื่องพุทธศาสนา แต่ยังมี พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคแผ่นดินธรรม พรรคเสมอภาค พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคเพื่อฟ้าดิน ที่ชูนโยบายพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาเป็นนโยบายเด่นของพรรคตนเอง

 จากกรณีนี้ทำให้ผู้เขียนต้องการความเห็นและความรู้เพิ่มเติมจากนักวิชาการ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับ นโยบายพุทธศาสนานี้ โดยได้ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาอิสลาม ผศ.ดร.อดิศักดิ์ นุชมี อาจารย์ประจำภาควิชามนุษยศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ

อาจารย์เห็นป้ายหาเสียงแล้วรู้สึกอย่างไรคะ 

ไม่รู้สึกอะไรเลย เป็นความพยายามที่จะชูนโยบายให้เกิดความน่าสนใจเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

คิดเห็นอย่างไรกับการนำมาติดในบริเวณชุมชนมุสลิม

–       คิดว่าคนที่เอามาติดเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มีข้อมูลว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนที่มีความหลากหลาย และเชื่อว่าพรรคดังกล่าวคงไม่มีเจตนาเอาป้ายมาติดในชุมชนที่มีความหลากหลายเสียทีเดียวหรอก ผมมองว่าพรรคอาจจะได้คะแนนจากคนที่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ก็ได้ อาจเป็นส่วนน้อย แต่ก็อาจมี แต่มองในแง่ลบคือจะไม่ได้คะแนนจากคนมุสลิมเลยไม่ว่าในแง่ไหนก็ตาม ไม่ใช่แค่ชาวมุสลิมในโซนนี้ แต่หลายพื้นที่ เพราะคนมุสลิมเป็นความสัมพันธ์แบบเครือญาติ เป็นสังคมกว้าง

ป้ายหาเสียงแบบนี้ส่งผลกระทบต่อความคิดของคนในประเทศหรือไม่คะ

ไม่ส่งผลกระทบแน่นอน พรรคเหล่านี้ไม่ได้ต้องการชนะ แค่ต้องการคะแนนนิยมจากคนที่มี mindset เดียวกัน จึงชูนโยบายนี้ขึ้นมา อีกทั้งตามหลักกฎหมายก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า คนไทยมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ 

อาจารย์รู้สึกอย่างไรกับนโยบายที่ ต้องการให้ พุทธศาสนา ในไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกคะ

ในฐานะวิชาการมุสลิม การตั้งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร เพราะเป็นเรื่องของชาติ หากไม่ได้กระทบต่อความเป็นอยู่ของความเป็นอยู่ของศาสนาอื่น เรื่องของการดูแลศาสนา ก็เป็นศาสนาพุทธที่ได้รับการดูแลมากที่สุดอยู่แล้ว แค่ไม่ได้เป็นรูปธรรม แต่หากเป็นรูปธรรมมากเกินไป อาจเกิดความรู้สึกกับคนในศาสนาอื่นมากกว่า ตามรัฐธรรมนูญแล้วประเทศไทยให้อิสระในการนับถือศาสนา อีกทั้งกษัตริย์ยังเป็นองค์พระอุปถัมภ์ของศาสนาต่าง ๆ และมีกรมศาสนาที่คอยสนับสนุนทุกศาสนาอีกด้วย

หากเทียบกับประเทศอื่นที่มีการบัญญัติศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ประเทศมุสลิมบางประเทศยังดูเอาเปรียบคนศาสนาอื่นมากกว่าด้วยซ้ำ

ถ้าไทยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกจะเป็นอย่างไรคะ

อาจเป็นเรื่องที่ดีก็ได้ เพราะศาสนาพุทธที่ไทยตอนนี้ไม่มีความแข็งแรงเท่าที่ควร บางคนแค่มีศาสนาพุทธไว้ในบัตรประชาชน ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ ตามคำสอนอะไรเลย หากคนไทยพุทธได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างแท้จริง อย่างน้อยแค่ศีล 5 คงทำให้ประเทศไทยสงบและพัฒนาบุคลากรมากกว่านี้ก็ได้ ดีเสียอีกที่จะทำให้ชาวไทยพุทธมีความกระตือรือร้นที่จะสนใจในการศรัทธาและปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาพุทธบ้าง

ชาวพุทธเองก็ไม่ได้เห็นถึงความจำเป็นต่อการยกศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้วเป็นทุนเดิม

ถูกต้อง คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจการนำนโยบายดังกล่าวมาชูอยู่แล้ว ส่วนมากทุกคนก็จะโฟกัสไปที่นโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจ นโยบายที่มีผลต่อปากท้องของตัวเองมากกว่า ไม่ใช่แค่ชาวพุทธ แต่คนทุกศาสนาเลือกที่จะก้าวผ่านเรื่องศาสนาไปตั้งนานแล้ว

มันก็เหมือนประเทศมุสลิมหลายประเทศ เช่น ตุรกี มาเลเซีย ที่ถึงแม้จะยกศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และคนส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมของศาสนา มีกินเหล้า มีการทำกิจกรรมที่ผิดหลักศาสนาให้เห็นอย่างทั่วไป

เทียบกับประเทศทางตะวันตกล่ะคะ

ประเทศทางฝั่งตะวันตกไม่เอาศาสนามาเป็นนโยบายอยู่แล้ว ยกเว้น คริสเตียนคาทอลิค ในนครรัฐวาติกัน ดังนั้นจึงไม่เคยมีเรื่องศาสนามาเป็นประเด็นในการทำนโยบาย มีแต่ปัญหาทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติที่ต้องแก้ไข

เท่าที่หาข้อมูลมีพรรคการเมืองต้องการจะบัญญัติวิชาพุทธศาสนาให้เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษาไทย ซึ่งในปัจจุบันการศึกษาไทยที่ไม่ใช่โรงเรียนอินเตอร์เนชั่นนอล หรือ โรงเรียนหลักสูตรสองภาษา ก็แทบจะบังคับให้เด็กนักเรียนทุกคนเรียนวิชาพุทธศาสนาอยู่แล้ว 

การบัญญัติวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาบังคับก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ในพระราชบัญญัติกฎกระทรวงศึกษาธิการ ในโรงเรียนใดก็ตามที่มีสัดส่วนศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาก ก็ให้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรศาสนานั้นไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การบัญญัติวิชาพุทธศาสนาเข้าไปในหลักสูตรอาจเป็นเรื่องดีที่เด็กพุทธจะได้เรียนศาสนาอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาไปเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ทั้งนี้การให้เด็กศาสนาอื่นมาเรียนด้วยก็เป็นเรื่องดี ที่จะได้เข้าใจศาสนาของกันและกัน หากทว่าก็ควรให้เด็กพุทธเรียนวิชาของศาสนาอื่นด้วยเช่นกัน 


ดังนั้น ไม่ใช่แค่ควรบัญญัติศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ควรมีวิชาศาสนาตรงกลางหรือวิชาใหม่ที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทุกศาสนาเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

ประเทศไทยเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมหรือไม่

แน่นอน เป็นประเทศที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง มีคนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ในประเทศไทย

ยกตัวอย่าง ชุมชนสี่แยกบ้านแขกถูกยกให้เป็น ชุมชนตัวอย่าง ด้านพหุวัฒนธรรม เพราะประกอบไปด้วย 7 ศาสนา คริสเตียน คริสตัง (คริสคาทอลิค) ไทยจีน ไทยพุทธ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ ซึ่งทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้

คนมุสลิมเข้าใจดีว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย เปรียบกับแจกัน ที่หากมีดอกไม้เพียงแค่สีเดียวก็คงไม่มีสีสัน หากมีดอกไม้หลากหลายสีมาประกอบรวมกันก็จะทำให้ทั้งแจกันเกิดความสดใสและสวยงามมีชีวิตชีวาขึ้นการสัมภาษณ์พูดคุยกับอาจารย์ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว ต่อให้นโยบายศาสนาจะเป็นไปอย่างไร ก็อาจไม่ได้มีผลกระทบต่อความคิดของผู้คนอีกต่อไป เมื่อมันเป็นเพียงหนึ่งในกลไกของการสร้างตัวตนและภาพจำของพรรคการเมืองเท่านั้น อีกทั้งในปัจจุบันประชาชนเลือกที่จะมองที่นโยบายทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ สิทธิและเสรีภาพ ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของตนมากกว่า เพราะเราก้าวผ่านนโยบายศาสนาที่ผูกติดกับการเมืองมานานแล้ว

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
6
Love รักเลย
3
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Writings

สิ่งที่ “เห็น” ในข่าว อาจไม่ใช่สิ่งที่ “เป็น”

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร ภาพ เก็จมณี ทุมมา เมื่อผู้บริโภคเปิดรับข่าว ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะคาดหวังจะได้รับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างรอบด้าน ชัดเจน และสามารถนำพาสังคมไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าได้ ทว่าในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อาจสังเกตเห็นได้ว่าเรากำลังได้รับข่าวที่เจือปนไปด้วยข้อมูลเท็จ ปราศจากการตรวจสอบ เป็นข้อมูลด้านเดียว ...

Writings

มนต์รักทรานซิสเตอร์: การเกณฑ์ทหารที่ทำให้ชีวิตต้อง “ผิดแผน”

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์คือเครื่องบันทึกร่องรอยของสภาพสังคมที่เรื่องราวนั้นถูกสร้างขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงทำให้คนหวนคิดถึงวันวาน หลายเรื่องสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายเรื่องก็ชวนฝันถึงอนาคต แต่จะมีภาพยนตร์สักกี่มากน้อยที่สามารถตีแผ่สังคมได้ตั้งแต่วันที่เข้าฉาย แล้วยังลอยละล่องเหนือกาลเวลา ทำหน้าที่สะท้อนสังคมซึ่งให้หลังไปอีกกว่า 20 ปี ...

Writings

วันสงกรานต์ที่ไม่ได้กลับบ้าน

เรื่อง ปาณัสม์ จันทร์กลาง ภาพ เก็จมณี ทุมมา ในคืนของวันที่ 10 เมษายน ผมกลับห้องมาด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ตลอดทั้ง 3 วันที่ต้องเป็นสตาฟฟ์จัดงานกีฬาของมหาวิทยาลัย แม้งานจะจบไปได้ด้วยดีทำเอาชื่นใจ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความอยากนอนของผมได้ ...

Writings

‘เวลา’ เรื่องราวของความรัก ใต้เวรกรรมทางการเมือง

เรื่อง สมิตา พงษ์ไพบูลย์ ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์เป็นสื่อที่บันดาลใจใครหลายคน หากเปรียบสื่อนี้เป็นอาหาร การได้เดินผ่านโรงภาพยนตร์ ก็นับเป็นหนึ่งรสชาติที่ทำให้ก้อนเนื้อในอกเริ่มเคลื่อนไหวด้วยจังหวะที่รวดเร็วขึ้น แต่ความรู้สึกสงบหลังภาพสีฉูดฉาดของหนังจบลง แล้วทาบทับด้วยผืนภาพสีดำเข้มใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชื่อของผู้มีส่วนร่วมในการสร้าง นี่สิที่ยิ่งกว่า…นี่เป็นช่วงเวลาได้ตกผลึก และไตร่ตรองถึงเนื้อเรื่องที่ถูกขมวดเล่าผ่านกรรมวิธีที่งดงาม ได้นั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ...

Writings

สังคมที่บีบให้ดอกหญ้าต้องโตในป่าปูน

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา เพลงคือผลผลิตจากคนที่เติบโตขึ้นในสังคม เพลงจึงถ่ายทอดความสุข ความทุกข์ และชีวิตของคน กระทั่งสะท้อนถึงสภาพสังคมที่คนต้องเจอ โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความโดดเด่นในการเล่าถึงชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน” เพลงดอกหญ้าในป่าปูนเป็นเรื่องราวของผู้หญิงต่างจังหวัดที่ต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ ...

Writings

สิ่งที่ นักเรียนสื่อ – คนสอนสื่อ – คนทำสื่อ ควรหาทำ

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ก่อนจะเปิดเทอมใหม่ ก็มีวาระที่ผมและเพื่อนๆ ที่ทำงานสอนในโรงเรียนสอนคนทำสื่อจะมานั่งสุมหัวกันเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และหาแนวทางปรับปรุงการทำงานของพวกเราให้ดีขึ้น รัดกุมขึ้น มีทิศทางที่แม่นยำขึ้น เช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save