News

นักวิชาการเผยผู้ติดเชื้ออาจเพิ่ม 90,000-180,000 คน เหตุเปิดประเทศก่อนได้วัคซีนครบโดสถึงร้อยละ 70

เรื่อง ตติยา ตราชู

ภาพ สาธิต สูติปัญญา

นักวิชาการเผยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจเพิ่มขึ้น 90,000-180,000 คน จากการเปิดประเทศเร็วขึ้นก่อนเดือน ธ.ค. ที่คาดการณ์อัตราผู้ได้รับวัคซีนไว้ที่ร้อยละ 70 แนะต้นทุนในการระบาดสูงกว่าผลได้ทางเศรษฐกิจ

จากกรณีเปิดประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การเปิดประเทศมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าเปิดเร็วเกินไป จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าเปิดช้าไป ธุรกิจจะล้มหายตายจาก โดยหลายประเทศ ใช้จำนวนประชากรที่ได้รับฉีดวัคซีนครบโดสไม่น้อยกว่าร้อยละ 60-70 ของประชากรทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการเปิดประเทศ

“จากการคาดการณ์ ประเทศไทยจะฉีดวัคซีนครบโดสได้ถึงร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร ประมาณเดือน ธ.ค. หมายความว่า เราเปิดเร็วไปประมาณ 1 เดือน ในทางเศรษฐศาสตร์ หัวใจหลักสำคัญ คือจะต้องดูว่ารายได้ที่จะได้จากที่ควรจะเปิดปลาย ธ.ค. กับเปิด 1 พ.ย. ต่างกันอย่างไร” นายนณริฏกล่าว

นายนณริฏ กล่าวว่า การเปิดประเทศเร็วขึ้นจะทำให้ประเทศเปิดรับความเสี่ยงจากภายนอก ซึ่งคำนวณแล้วจะส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงกว่ากรณีที่เปิดประมาณปลาย ธ.ค. จำนวน 90,000-180,000 คน เป็นผู้ป่วยอาการไม่หนัก 86,000-170,000 คน ผู้ป่วยอาการหนัก 2,700-5,300 คน และจะมีผู้เสียชีวิต 600-1,300 คน คิดเป็นต้นทุนทางระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 10,000-22,000 ล้านบาท “ถ้าเปิดประเทศเดือน ธ.ค. คนจำนวน 600-1,300 นี้จะไม่เสียชีวิต แต่จะเสียชีวิตเพราะว่าเปิดประเทศเร็ว”

นักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางเข้ามาประเทศไทยหลังมาตรการผ่อนปรนเมื่อวันที่ 1 พ.ย.

นายนณริฏ กล่าวว่า รายได้ของโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่ 2,200 ล้านบาท และโครงการสมุย พลัส 60 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่เปิดมาก่อนประมาณ 3 เดือนแล้ว นั่นหมายความว่า จริง ๆ รายได้จากการเปิดประเทศครั้งนี้อาจจะไม่ได้สูงนักหรือไม่ 

“การเปิดประเทศครั้งนี้ ได้เพิ่มจำนวนพื้นที่มากขึ้นและอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว รายได้ที่จะได้จาก 1- 2 เดือนนี้ คำตอบที่ออกจากโมเดลอยู่ที่ 3,700-11,000 ล้านบาท” นายนณริฏกล่าวและว่า การเปิดประเทศที่เร็วขึ้น จะทำให้ได้รายได้ประมาณการอยู่ที่ 3,700-11,000 ล้านบาท แต่จะเกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจประมาณ 10,000-22,000 ล้านบาท 

สำหรับทิศทางของมาตรการและนโยบายภายหลังการเปิดประเทศ นายนณริฏ กล่าวว่า ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาให้กับผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่คาดการณ์ไว้จำนวน 90,000-180,000 คน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบและเป็นผู้เสียประโยชน์จากการที่รัฐอยากให้ธุรกิจได้กำไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อก้าวกระโดดมากขึ้น และถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงจนเกินไป ก็ควรพิจารณากลับมาปิดอีกครั้ง เพราะต้นทุนในการระบาดสูงกว่าผลได้ทางเศรษฐกิจ

นายเดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แม้การเปิดประเทศจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวมได้บ้างแต่ไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีนโยบายอื่น เช่น การแก้ปัญหาด้านการส่งออก และการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น เพราะคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วนัก โดยจะฟื้นตัวได้เต็มที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หรืออีก 1 ปีครึ่ง

กระทรวงการต่างประเทศประกาศรายชื่อ 63 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว ตามนโยบายเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 พ.ย. จาก https://www.mfa.go.th/th/content/updatelist301064-2?cate=5f069ee372a783584326eb23)

“ในช่วงที่ปิดตัวไป ผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวอาจทำธุรกิจบางอย่างหลุดมือไปแล้ว มันคงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง ที่จะหาวิธีการในการจัดการและฟื้นฟูธุรกิจของตัวเองกลับคืนมา อย่างน้อยก็คงครึ่งหลังของปี 65 ที่จะเริ่มกลับมาเต็มที่มากขึ้น” นายเดชรัตกล่าว

นายเดชรัต กล่าวว่า ในระหว่างนี้ประเทศต้องมีการกระตุ้นหรือเติมความต้องการ (demand) กำลังซื้อโดยทั่วไปของคนในประเทศ ด้วยการทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ ก่อนที่เศรษฐกิจจากต่างประเทศจะกลับมา 

“พอเข้าสู่ช่วงกลางปี 2564 ประเทศที่เป็นแหล่งตู้คอนเทนเนอร์ แหล่งท่าเรือสำคัญ ติดโควิดเยอะ ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ภาคการส่งออกในประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างการส่งออกข้าวในปีนี้ ก็ลดลงกว่าทุก ๆ ปีเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ราคาข้าวตกต่ำด้วย” นายเดชรัตกล่าวและว่า เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแล 2 เรื่องนี้ไปควบคู่กัน เพราะแม้ว่าจะเปิดประเทศแล้ว แต่นักท่องเที่ยวก็คงยังไม่เข้ามามากนัก ด้วยนโยบายต่างประเทศที่ยังคุมเข้ม โดยเฉพาะประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของไทย

สำหรับความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้นอีกครั้งภายหลังเปิดประเทศ นายเดชรัต กล่าวว่า ความเสี่ยงนี้จะไม่หมดไป แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจสอบเป็นระยะ ไม่ใช่ด้วยการเปิดหรือปิดประเทศ “คิดว่ามาตรการไม่จำเป็นต้องเข้มงวดในแง่ปิดประเทศหรือเคอร์ฟิว แต่มันควรจะเข้มข้นในแง่ของการติดตาม ทำอย่างไรให้สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วว่าเกิดการแพร่ระบาดขึ้นที่จุดไหนมากกว่า”

นายวัชรพงศ์ รติสุขพิมล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐบาลควรมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ ธุรกิจท่องเที่ยว ภาคส่วนให้บริการที่ยังอยู่ เพราะบางสถานประกอบการอาจประสบภาวะขาดทุน ล้มละลาย ไม่สามารถกลับมาเปิดกิจการได้ “โรงแรม ร้านอาหาร ผับบาร์ ร้านขายของที่ระลึก สถานที่ท่องเที่ยว ต้องเตรียมความพร้อมหลังถูกปิดไปนาน ต้องทำความสะอาด จ้างคนเพิ่มเพื่อรองรับให้บริการนักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ”

ธรรมชาติใต้ทะเลอันดามันเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์หลังปิดประเทศเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 (เข้าถึงเมื่อ 7 พ.ย. จาก https://www.thairath.co.th/news/local/south/1845844)

นายวัชรพงศ์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตภาคการท่องเที่ยวหลังการเปิดประเทศครั้งนี้ วัคซีนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุคลากรที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว เช่น ไกด์ มัคคุเทศก์ พนักงานตามร้านผับบาร์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ที่กลายเป็นบุคลากรด่านหน้านอกเหนือจากแพทย์และพยาบาล 

นายวัชรพงศ์ กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากปิดประเทศมานาน นโยบายต่อจากนี้ อาจต้องควบคุมความหนาแน่น (capacity) หรือจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจไปพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ “นอกจากนี้ ลองฟังเสียงของนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนช่วงโควิดว่าเขาติชมอะไร เช่น การคมนาคมขนส่งที่ยังไม่สะดวกทั่วถึง ราคาที่พัก ค่าเดินทางที่โดนโก่งราคา ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเข้ามาช่วยควบคุมไม่ให้สูงจนเกินไป”

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:News

News

เสวนา “ทบทวนบทเรียนและก้าวต่อไปสู่ความจริงและความเป็นจริง ผ่านมุมมองคน 5 เจเอนเรชั่น ” สะท้อนสภาวะเสรีสื่อถูกริดรอนมานานกว่า 50 ปี

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ : กัญญพัชร กาญจนเจตนีและศิรประภา สีดาจันทร์ วงเสวนา ‘ทบทวนบทเรียนและก้าวต่อไปสู่ความจริงและความเป็นจริง ผ่านมุมมองคน 5 เจเนอเรชั่น’ ชี้ ...

News

รองอธิการฯ มธ. แจงแนวทางจัดซื้อไฟฟ้า แก้ปัญหาค่าไฟหอในแพง

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ : จิรัชญา นุชมี รองอธิการฯ มธ. วางแผนจัดซื้อไฟฟ้าจากบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อแก้ปัญหาราคาค่าไฟหอในศูนย์รังสิต   วันที่ 17 ตุลาคม ...

News

ครบรอบ 47 ปี 6 ตุลา ประชาชนร่วมจุดเทียนรำลึกผู้สูญเสีย

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ : สมิตา พงษ์ไพบูลย์ ประชาชนร่วมจุดเทียนรำลึกผู้สูญเสีย 6 ตุลา 2519 แน่นลานประติมากรรม มธ.ท่าพระจันทร์ ในวันครบรอบ ...

News

สรุปมหากาพย์วิวาทะ “โครงการภาพยนตร์นานาชาติ” ปมขัดแย้งเพื่อเพื่อน อมธ และกกต มธ รังสิต 

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์ อมธ.โวยหลังโดนพรรคเพื่อเพื่อนสภานศ.โหวตคว่ำงบฯ เทศกาลภาพยนตร์ 4 ศูนย์ เผย ต้องการกระจายกิจกรรมไปช่วยธรรมศาสตร์ศูนย์ต่างๆ เพื่อให้ความรู้และความบันเทิงอย่างทั่วถึง ...

News

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ชี้ ไทยไฟเขียวกฎหมายทำแท้ง แต่มีโรงพยาบาลรับทำน้อย เพราะกลัวบาป

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งให้บริการสายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ชี้ไทยแก้กฎหมายให้การทำแท้งเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว แต่มีโรงพยาบาลแค่ใน 39 ...

News

อาจารย์รัฐศาสตร์ แนะก้าวไกล จับเก้าอี้รองประธาน ชี้สำคัญกว่า มีอำนาจ-ตรวจสอบความโปร่งใสได้

เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ : ศิรประภา สีดาจันทร์ อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ติงกรณีก้าวไกลดำเนินการเพื่อให้ได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านควบรองประธานสภาฯ ไปพร้อมกัน อาจกลายเป็นช่องที่ทำให้โดนโจมตีได้แนะก้าวไกลควรเลือกตำแหน่งรองประธานสภาฯ เพราะน่าจะช่วยทำให้ระบบสภาโปร่งใสขึ้น จากกรณีที่ พิธา ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save