เรื่อง: อาสา งามกาละ
ภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว
“รู้มั้ยว่า…1 ใน 5 ของผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดจากการรับประทานอาหาร”
เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ และอาหาร คือ ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของเรา หนึ่งในวัตถุดิบหลักสำคัญในมื้ออาหารที่หลายๆ คนนึกถึง คงหนีไม่พ้น “เนื้อสัตว์” ซึ่งรู้หรือไม่ว่า ความต้องการเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภคในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เติบโตขึ้นจาก 50 ปีก่อน ถึง 260% ตามรายงานของนักวิทยาศาสตร์จากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
Photo Series ในรอบนี้ เราจะพาทุกคนไปดูว่าความต้องการรับประทานเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดอะไรบ้าง?

1 ใน 5 คนต้องตายก่อนวัย เพราะกินอาหารไม่ดี
จากงานวิจัยทางการแพทย์ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปี 2017 ระบุว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การรับประทานเนื้อสัตว์มากๆ และรับประทานผักผลไม้น้อย ที่ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อ “โรคติดเชื้อดื้อยา” อีกด้วย

“โรคติดเชื้อดื้อยา” ภัยร้ายที่แฝงมาในเนื้อสัตว์
หนึ่งในวิกฤตสุขภาพที่กำลังคุกคามผู้คนในปัจจุบัน ตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก คือ “โรคติดเชื้อดื้อยา” ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ยิ่งใช้มากเกินจำเป็น ยิ่งทำให้แบคทีเรียมีโอกาสพัฒนาเป็นเชื้อดื้อยา ทำให้ผลของยาปฏิชีวนะลดลง จนอาจคร่าชีวิตของผู้ติดเชื้อได้เลยทีเดียว โดยที่เชื้อดื้อยายังสามารถปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานได้ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ในแต่ละปี มีคนกว่า 700,000 คนทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา และพบการรายงานว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ถึง 38,000 คนต่อปี จากแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560–2564 ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้นร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การผลิตเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมที่ทำโลกร้อน
สภาวะโลกร้อนยังคงเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องเผชิญ ซึ่งรู้หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 15% ของทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลก โดยที่เนื้อวัวคือเนื้อสัตว์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ทั้งจากกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนจากการผายลมของวัว ซึ่งจากงานวิจัยของ Joseph Poore and Thomas Nemecek ที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Science ในปี 2018 ระบุว่า การผลิตเนื้อวัว 1 กิโลกรัม สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 60 กิโลกรัม

สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย เพื่อกลายเป็นอาหารสัตว์
ไม่ใช่เพียงสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ แต่สภาพแวดล้อมในบริเวณที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากสารตกค้าง และน้ำเสียจากระบบอุตสาหกรรม ไปจนถึงพื้นที่ป่าที่ถูกถางแล้วนำไปปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ในระบบอุตสาหกรรม จากบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ National Geographic ฉบับภาษาไทย ระบุว่า แหล่งปลูกข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ที่มากที่สุดในประเทศไทย คือ บริเวณภาคเหนือ ซึ่งใช้เนื้อที่มากถึงประมาณ 4.7 ล้านไร่ นอกจากนี้บทความบนเว็บไซต์ the101 ยังระบุไว้ว่าในแต่ละปีป่าแอมะซอนจะถูกเผาเพื่อปลูกถั่วเหลืองสำหรับเป็นอาหารสัตว์ปีละกว่า 20 ล้านไร่

หรือเราต้องเริ่มสนใจที่มาของอาหารที่กินมากขึ้น
เมื่อเรายังคงต้องรับประทานอาหารกันต่อไป จะดีกว่าไหมถ้าเราได้รู้ที่มาของอาหารพวกนั้น ซึ่งทุกวันนี้เนื้อสัตว์ที่วางขายอยู่ตามที่ต่างๆ ส่วนมากยังไม่มีการระบุที่มา เช่น เนื้อสัตว์เหล่านั้นถูกเลี้ยงที่ไหน เลี้ยงด้วยอะไร มีการใช้ยาไหม และใช้ไปเท่าไหร่ หากเราได้รู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มากขึ้น แม้อาจจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐที่ควรออกนโยบายสนับสนุนให้มีการระบุแหล่งที่มา หรือวงจรต่างๆ ของเนื้อสัตว์ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ควรแสดงข้อมูลของวงจรเนื้อสัตว์ที่ถูกผลิตขึ้น ไปจนถึงพวกเราผู้บริโภคที่อาจจะลองหันไปสนับสนุนเนื้อสัตว์จากปศุสัตว์รายย่อยที่ไม่ได้ทำอุตสาหกรรม ก็อาจช่วยให้เราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย เพราะ เรื่องกินเป็นประเด็นสำคัญของทั้งเรา และโลกใบนี้
Writer: อาสา งามกาละ
Creative: อาสา งามกาละ, เก็จมณี ทุมมา
Photographer: กัญญาภัค ขวัญแก้ว
Photographer’s Assistant: ธันตวัน เจียมเจริญ
Illustrator: พิชญา ใจสุยะ
Makeup : อภิษฐา นิรัตติศัย
Models: วิชญาพร ลิ้มเอิบไทย, ณหทัย จำรัสพงษ์, สุรดิษ ปัทมผดุงศักดิ์, ศศิธร กิจพ่อค้า และ ชนัญญากาญจน์ รักษ์บริษุทธิศรี
อ้างอิง
www.the101.world/meat-industry-and-amazon-fires/
ngthai.com/environment/20219/smogcrisisindepth/3/
ขอขอบคุณภาพประกอบ (ในภาพที่ 3)
www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=1717