Lifestyle

จะตายตอนไหน ยังไง เมื่อไหร่ ไม่มีใครทราบ งั้นเรามาเตรียมตัวก่อนจะถึงเวลานั้นดีไหม

เรื่อง: พรรณรมณ ศรีแก้ว

ภาพ: ปาณัสม์ จันทร์กลาง

ถ้าพูดถึงคนที่ตายโดยธรรมชาติ ภาพที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คงเป็นภาพคนวัยชราที่นอนหลับไป ไม่ใช่ภาพของวัยรุ่นหรือเด็กๆ และสมมติถ้าเราตายในวัยยี่สิบ ก็คงหนีไม่พ้นวลี ‘จากไปก่อนเวลาอันควร’ นั่นชวนตั้งข้อสงสัยว่าคนเรามีช่วงอายุที่เหมาะสมแก่การตายด้วยหรือ แล้วอายุเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ เพราะเราไม่รู้เคยว่าจะตายตอนไหน มันอาจมาเยือนโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว อุบัติเหตุไม่คาดคิด โรคร้ายที่มาโดยไร้สัญญาณเตือน หรืออวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติกะทันหัน ไปจนถึงภัยพิบัติที่ยากจะหลีกหนี ความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถทำนายทายทักได้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน วันดีคืนดีเราอาจหลับไปโดยไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยก็ได้

แต่ความตายไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว

มีคนเคยกล่าวว่า ‘ตอนเกิด เราเกิดมาคนเดียว ตอนตาย เราก็ตายคนเดียว’ แม้ว่าในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนแต่ละคนนั้นมีผู้คนมากมายที่เข้ามาในชีวิต บางคนอาจเข้ามาแล้วผ่านไป แต่บางคนก็เข้ามาเพื่อเป็นคนสำคัญและเคียงข้างเรา วันหนึ่งเมื่อมีใครสักคนจากไป ก็ต้องมีคนรับช่วงจัดการร่างอันไร้วิญญาณนั้นต่อ อาจจะเป็นคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหาย คนรู้จัก หรือใครสักคนที่ไม่เคยรู้ว่าเราเป็นใคร แต่สุดท้ายการตายของใครคนหนึ่งก็ต้องกลายเป็นหน้าที่ให้ใครสักคนมารับผิดชอบอยู่ดี

ในวันสุดท้ายของชีวิต หากเลือกได้ หลายๆ คนก็คงอยากให้เป็นวันที่เราได้จากไปอย่างสงบ และไม่ทำให้ใครต้องมาเดือดร้อนหรือวุ่นวายกับการจากไปมากนัก ใครเคยผ่านประสบการณ์ที่ต้องจัดการเรื่องราวความตายก็คงเข้าใจดีว่ามีขั้นตอนยุ่งยากมากมาย ตั้งแต่การแจ้งตายกับทางราชการ การจัดงานศพ การจัดการเอกสารต่างๆ การจัดการมรดก ไปจนถึงการจัดการความรู้สึกของตัวเองที่แม้จะโศกเศร้า แต่ก็ต้องใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งแต่ละอย่างล้วนแต่เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้พลังงานกายและพลังใจอย่างมากที่จะข้ามผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย

การรับมือกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นก็หนักหนามากสำหรับคนหนึ่งคนแล้ว บางคนต้องเตรียมจัดงานศพ ติดต่อคนนั้นคนนี้ แล้ววิ่งเคลียร์ธุระต่างๆ ของผู้ตายให้เสร็จโดยที่ไม่ทันได้เสียใจเสียด้วยซ้ำ ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยผ่านประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน

การเป็นคนข้างหลังที่ต้องจัดการเรื่องราวหลังการตายของคนในครอบครัว นอกจากความโศกเศร้า เราก็เริ่มตระหนักได้ถึงความสำคัญของคนที่ยังอยู่ และของคนที่กำลังจะจากเราไป หากในวันหนึ่งเราจะต้องลาโลกนี้ไป แล้วยังมีเรื่องค้างคาไม่อาจปล่อยวาง เราก็คงเป็นห่วงคนที่จะต้องจัดการเรื่องราวเหล่านั้นต่อจากเรา แต่ในทางกลับกัน ในฐานะคนข้างหลัง เราก็อยากให้คนที่เรารักได้จากไปอย่างสงบโดยไม่มีอะไรต้องห่วงอีก

ความตายจึงเป็นเรื่องที่ยึดโยงเราเข้ากับคนสำคัญในชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถจัดการได้เพียงคนเดียว เมื่อคนที่กำลังจะต้องตายไม่อยากให้คนข้างหลังต้องลำบากกับการจัดการเรื่องราวของตัวเอง คนข้างหลังเองก็ไม่อยากให้คนที่รักต้องจากไปแบบยังมีเรื่องติดค้างเช่นกัน หากเราได้วางแผนการตายไว้บ้าง นอกจากจะลดภาระงานของคนข้างหลังแล้ว มันก็ทำให้เราสามารถเผชิญหน้ากับความตายในอนาคตได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

เตรียมตัวตายแปลว่าไม่อยากมีชีวิตแล้ว?

ถ้าเรากำลังเตรียมตัวเรียนต่อ ก็คงไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้อยากเรียนสิ่งที่เรียนอยู่แล้ว แต่เรากำลังจะไปศึกษาสิ่งใหม่ๆ การเตรียมตัวนั้นก็คือการทำให้เรามีความพร้อมและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ดังนั้น การเตรียมตัวตายก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่อยากจะมีชีวิตอยู่แล้ว แต่มันคือการเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร แต่การเตรียมพร้อมนั้นย่อมทำให้เราสบายใจไปเปราะหนึ่งว่า อย่างน้อยเราก็ได้เตรียมการบางอย่างที่ทำให้เราหมดห่วง และไม่ทิ้งภาระการจัดการให้คนข้างหลังมากนัก

ส่งต่อสิ่งของที่รักผ่าน ‘พินัยกรรม’

ถ้าพูดถึงการเตรียมตัวตายที่คลาสสิค และเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการ ‘เขียนพินัยกรรม’ บางคนอาจเข้าใจว่าพินัยกรรมจะต้องพูดถึงทรัพย์สินเงินทองหรือของมีมูลค่าเพียงเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นทรัพย์สินของเราก่อนตายก็สามารถถูกส่งต่อผ่านพินัยกรรมได้ ไม่ขึ้นว่าสิ่งของเหล่านั้นจะมีมูลค่าหรือคุณค่าเท่าใด ทั้งอัลบั้มเพลงจากศิลปินคนโปรด หนังสือที่ไม่ตีพิมพ์ซ้ำ หุ่นโมเดลรุ่นลิมิเต็ด สัตว์เลี้ยงที่เรารักเหมือนคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไหนก็ล้วนสามารถส่งต่อให้กับคนที่เราอยากให้ได้ผ่านพินัยกรรม เพราะเราคงอยากให้สิ่งที่เรารักได้ไปอยู่กับคนที่เข้าใจคุณค่าและสามารถดูแลสิ่งที่เรารักได้ มากกว่าจะให้สิ่งที่เรารักไปจบที่ร้านขายของมือสองแน่ๆ

พินัยกรรมยังมีความสำคัญในการเชื่อมโยงคนสำคัญในชีวิตให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสิ่งของของเรา เพราะคนสำคัญบางคนของเราไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาจัดการข้าวของของเราได้ เช่น คนรักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส คนรักเพศเดียวกัน หรือเพื่อนสนิท คนเหล่านี้อาจเป็นคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเรา แต่มองในทางกฎหมาย พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเราเลย แม้ว่าเราอาจจะบอกออกปากตกลงว่าจะยกสิ่งของบางอย่างให้ แต่เมื่อถึงเวลา คนที่จะตัดสินว่าใครจะเป็นคนรับของเหล่านั้นก็เป็นทายาทของเราที่อาจไม่ยอมทำตามสัญญาปากเปล่านั้นได้ พินัยกรรมจึงเป็นคำสั่งสุดท้ายที่เราจะสามารถฝากไว้บนโลกและมีผลบังคับตามกฎหมายที่จะอนุญาตให้คนสำคัญจริงๆ ของเราได้เข้ามารับช่วงดูแลสิ่งของของเราต่อไป

ในชีวิตคนเราไม่ได้มีเพียงคนสำคัญที่อยากมอบสิ่งบางอย่างให้ แต่มีคนที่เราอาจจะไม่อยากนับญาติ หรือไม่อยากจะเกี่ยวข้อง แต่กลับมีความผูกพันธ์ทางกฎหมายหรือเป็นทายาทโดยสายเลือด หากไม่มีพินัยกรรม ทรัพย์สินของเราก็อาจจะตกไปถึงคนที่เราไม่อยากให้ได้เช่นกัน เพียงคิดว่าของที่เรารักที่สุดจะต้องไปอยู่ในการครอบครองของคนที่เราเกลียดที่สุดก็คงทำให้หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ พินัยกรรมจึงเป็นทั้งสิ่งที่เชื่อมโยงคนสำคัญในชีวิต และเส้นขีดไม่ให้คนที่เราไม่อยากเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทรัพย์สินของเราไปพร้อมๆ กัน

นอกจากเงินทองของนอกกาย อย่าลืมจัดการภายในร่างกายตัวเอง

นอกจากเรื่องทรัพย์สินหรือสิ่งของที่มีคุณค่า สิ่งที่เราอาจจะต้องคิดต่อไปก็คือร่างกายของเราที่หมดลมหายใจไปแล้วจะถูกนำไปทำอะไรต่อ จะถูกนำไปทำพิธีตามศาสนาหรือไม่ หากเรานับถือศาสนาไม่หมือนกับคนในบ้าน เราก็อาจจะต้องพูดคุยกับคนในบ้านให้เรียบร้อยว่าอยากให้งานศพออกมาในรูปแบบไหน หากเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนาจะยอมให้คนข้างหลังจัดงานศพอย่างไร หากร่างของเราถูกนำไปประกอบพิธีในสิ่งที่เราไม่ได้ศรัทธา มันก็คงประหลาดและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง นอกจากนี้ บางคนอาจจะลงรายละเอียดถึงสถานที่สุดท้ายที่อยากให้ร่างกายของเราไปอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสุสาน หิ้งในบ้าน ทะเล หรือเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้บนโลกก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละคน

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะไม่อยากให้มีการจัดงานศพ เพราะไม่ได้ต้องการให้วาระสุดท้ายของเราเป็นพิธีวุ่นวายใหญ่โต บางคนต้องการแค่งานเล็กๆ ให้คนสำคัญได้กลับมาเจอหน้ากันก็พอ ยิ่งในปัจจุบันที่ธุรกิจการจัดงานศพมีจำนวนมากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น ก็ทำให้เราสามารถวางแผนงานศพของตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ บางคนอาจจะอยากให้งานศพเป็นงานที่ครึกครื้นไม่มีบรรยากาศความเศร้าเสียใจ เลือกโลงศพที่สีสันสดใสลวดลายโดนใจในแพ็คเกจ เปิดเพลย์ลิสต์เพลงโปรดในงานแทนเพลงธรณีกันแสง หรือมีเดรสโค้ดสีสันฉูดฉาดแทนที่จะเป็นสีขาวดำก็เป็นสิ่งที่เริ่มพบเห็นได้ทั่วไป แต่สิ่งที่เราต้องทำนั้นก็คือการบอกความต้องการให้กับคนที่จะรับช่วงจัดการงานตรงนี้ให้ชัดเจนเท่านั้นเอง

ในกรณีที่เราจะให้ความตายของเราไปต่ออายุขัยของผู้อื่น การบริจาคอวัยวะหรือการบริจาคร่างกายให้กับโรงพยาบาลก็เป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้เช่นกัน เพียงแต่ตัวเลือกนี้อาจเป็นตัวเลือกที่เราต้องบอกญาติหรือคนใกล้ชิดให้พวกเขารับรู้ว่าเราอยากให้ปลายทางของร่างกายของเรานั้นไปที่ไหน และต้องพูดคุยทำความเข้าใจในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่

คนตาย แต่ดิจิทัลฟุตปริ้นต์ไม่ตาย

นอกจากการวางแผนเรื่องทรัพย์สินหรือร่างกายตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องหันมาคิดให้หนักในปัจจุบันก็คือบัญชีโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะบัญชีโซเชียลมีเดียก็เหมือนสมุดบันทึกข้อมูลส่วนตัว หนำซ้ำยังเป็นสมุดบันทึกที่ลบข้อมูลได้ยากที่สุด เพราะเราไม่สามารถตามลบดิจิทัลฟุตปริ้นต์ หรือร่องรอยการกระทำบนอินเทอร์เน็ตได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทั้งบัญชีหลักที่เป็นหน้าเป็นตาของเรา หรือบัญชีลับสำหรับเรื่องเฉพาะที่ไม่อยากให้ใครรู้ก็ตาม

ข้อมูลบางอย่างเราก็อาจจะอยากให้กลายเป็นความทรงจำที่ลบไม่ได้บนอินเทอร์เน็ต อาจจะเป็นรูป วิดิโอ สเตตัสที่เคยตั้งไว้ แต่แน่นอนว่าเราก็มีข้อมูลบางอย่างที่อยากจะเหยียบไว้ให้มิดและอยากจะให้มันตายร่วมไปกับเรา แม้ว่ามันอาจจะทำได้ยากก็ตาม เช่น ประวัติการท่องโลกโซเชียล บัญชีลับที่เราเอาไว้ทำเรื่องเฉพาะกิจ หรือข้อมูลส่วนตัวที่เราไม่อยากให้ใครรู้ แค่จินตนาการว่าในวันที่เราจากไปแล้วมีคนมาส่องโพสต์เก่าๆ ของเราแล้วเจอเรื่องน่าอายบางอย่าง เราก็คงอยากจะฟื้นขึ้นมาลบบัญชีทิ้งทั้งๆ ที่ลงหลุมไปแล้วก็ได้

เราคงต้องยอมรับว่าบัญชีโซเชียลมีเดียและดิจิทัลฟุตปริ้นต์เป็นสิ่งที่จัดการได้ยาก ญาติหรือคนใกล้ชิดก็คงคิดหนักเหมือนกันว่าจะเก็บบัญชีโซเชียลมีเดียของคนตายเอาไว้เป็นความทรงจำ หรือลบทิ้งเพื่อป้องกันมิจฉาชีพแอบอ้างดี อย่างน้อยการคิดเผื่อไว้สำหรับอนาคตก็คงช่วยให้การจัดการบัญชีโซเชียลมีเดียง่ายขึ้น การตัดสินใจตั้งแต่เนิ่นๆ ว่า ถ้าเราตาย บัญชีต่างๆ จะตายไปพร้อมกับเราไหม ก็คงช่วยให้เราตายตาหลับ ไม่ต้องห่วงว่าจะมีใครเห็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตก็ได้

การเตรียมตัวขั้นสุดท้าย – ไปใช้ชีวิต

เมื่อเราวางแผนสิ่งต่างๆ ในชีวิตก่อนตายเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่สุดท้ายที่เราควรจะทำก็คือการใช้ชีวิตที่เหลือให้คุ้มค่าในแบบของตัวเอง จะใช้ชีวิตโลดโผนสุดเอ็กซ์ตรีม หรือใช้ชีวิตเรื่อยๆ แบบชาวสโลว์ไลฟ์ก็เป็นตัวเลือกในการใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ไม่มีผิดหรือถูก ใครจะไล่ตามความฝันจนสุดแรง หรือจะค่อยๆ เฝ้ารอดูสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตก็ไม่มีใครมีสิทธิ์มาบอกว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นไม่มีความหมาย  และแม้ว่าเราจะทำตามสิ่งที่ฝันไม่สำเร็จ ชีวิตของเราก็คงไม่ได้หมดความหมายไปเสียทีเดียวหากที่ผ่านมาเราได้ลงมือใช้ชีวิตอย่างดีที่สุดในแบบของตัวเองแล้ว สิ่งที่น่าหดหู่ที่สุดอาจะเป็นการที่เราเตรียมแผนการจัดการเรื่องราวหลังความตายไว้เสียดิบดี แต่กลับหลงลืมสิ่งสำคัญอย่างการใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองอยากจะใช้ จนวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็ได้แต่เสียดายเวลาที่ผ่านมา และความเสียดายนั้นก็คงทำให้แผนการตายที่เตรียมไว้หมดประโยชน์อย่างแท้จริง

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าคนข้างหลังจะยอมรับและทำตามแผนของเรา?

น่าเศร้าที่คำตอบของเราก็คือเราไม่มีทางรู้เลยว่าแผนการตายของเรานั้นจะถูกนำไปใช้จริงได้มากน้อยแค่ไหนพอๆ กับที่เราไม่รู้ว่าเราจะตายตอนไหน เพราะเมื่อเราจากไป เราก็ไม่รับรู้หรือสามารถจัดการอะไรได้ด้วยตัวเองอีกแล้ว ของรักของหวงเราอาจจะไปนอนในรถซาเล้งแทนที่จะได้ไปถึงมือคนดูแลคนใหม่ ญาติอาจจะไม่ยอมรับการบริจาคอวัยวะของเราแล้วไม่ยอมให้โรงพยาบาลเอาอวัยวะเราไป สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดหรือความรับผิดชอบของเราเพราะเมื่อเราตาย ทุกสิ่งทุกอย่างหลังการตายก็อยู่เหนือการควบคุมของเราแล้ว สิ่งที่เราทำได้ก่อนจะจากไปก็คงเป็นการพูดคุยกับคนข้างหลังของเราให้ชัดเจนว่าเราต้องการให้พวกเขาจัดการเรื่องของเราอย่างไร และขอให้พวกเขาช่วยทำตามความต้องการของเราเท่านั้น

แม้ว่าคนข้างหลังอาจจะไม่สามารถจัดการเรื่องราวของเราได้ตามที่เราต้องการได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความสิ่งที่เราเตรียมมาจะไร้ความหมาย การวางแผนการตายคือความพยายามอย่างหนึ่งของเราที่จะสามารถลาโลกนี้ไปได้โดยหมดห่วง และทำให้คนข้างหลังวุ่นวายน้อยที่สุด แต่หากคนข้างหลังจะวุ่นวายกับความตายของเราไปเกินกว่าที่เราอยากให้เป็น เราก็คงต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เหมือนกับความตายนั่นแหละ

.

อ้างอิง

https://www.marketingoops.com/campaigns/local-campaigns/let-them-see-love-2016/

https://thematter.co/social/how-to-draft-last-will-or-testament/183345

https://thematter.co/science-tech/new-gen-are-highly-accept-death/91804

https://thematter.co/social/organ-donate-thailand/88477

https://www.youtube.com/watch?v=wDbQ4BNckKI

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
2
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
2
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Lifestyle

Lifestyle

เบื้องหลังความเชื่อ และคำทำนาย: บันทึกลับฉบับ เด็ก Gen Z

เรื่องและภาพประกอบ : ปาณิสรา ช้างพลาย Varasarnpress ชวนคุณมาเปิดบันทึกลับ ฉบับ Gen Z ถึงมุมมองที่มีต่อการ “ดูดวง” ว่าเบื้องหลังความเชื่อ และคำทำนายต่าง ๆ นั้น อะไรคือสิ่งที่ทำให้การดูดวงเป็นที่นิยมในหมู่ Gen Z ตั้งแต่วัยมัธยม ...

Lifestyle

ค่าใช้จ่ายในการมีความรัก ฉบับ GEN Z

เรื่องและภาพประกอบ : ปาณิสรา ช้างพลาย Varasarnpress ชวนคุณมาร่วมสำรวจค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นจากการมีความรัก ฉบับเด็ก Gen Z  จากการเผยแพร่แบบสอบถามทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 21 – 25 กุมภาพันธ์ 2565 ...

Lifestyle

ความสัมพันธ์แบบ ‘ไม่ผูกมัด’ ของคนรุ่นใหม่ กับการค้นหาตัวเองที่ไม่ต้องใช้อิสระมาแลก

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์ ‘รู้ไหม ฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักกับการต้องเป็นคนของใคร ฉันชอบอยู่ตัวคนเดียว ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และผู้คนก็เจ็บปวดเพราะมัน ใครล่ะจะต้องการ พวกเรายังเด็กอยู่เลย ใช้ชีวิตให้สนุกเท่าที่ยังมีโอกาส แล้วค่อยคิดถึงเรื่องจริงจังทีหลังดีกว่า’ นั่นคือสิ่งที่ Summer Finn ตัวละครหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง 500 ...

Lifestyle

เมื่อชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ

เรื่อง ชนิสรา หน่ายมี ภาพ นิชดา พูลเพชร “ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ” หากพูดถึงความผิดพลาด หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี และเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์ทุกคนต้องเคยทำสิ่งที่ผิดพลาด และมีแต่มนุษย์นี่แหละที่แบกความคาดหวังไว้บนบ่า พร้อมคิดว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบจนทำให้เกิดความทุกข์เมื่อสิ่งที่คาดหวังไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราตั้งใจ ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ ความผิดพลาดอาจจะเกิดจากความคิด ...

Writings

เมื่อภาพยนตร์ถูกจำกัด : Censorship ควรมีอยู่หรือทิ้งไป?

วารสารเพรสขอชวนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการและกฎเกณฑ์การพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ในประเทศไทย รวมถึงภาพรวมและผลกระทบในวงการภาพยนตร์ไทย ผ่านมุมมองของคุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

Writings

ทำไมเราต้องปฏิบัติต่อ ‘ก้อนหิน’ อย่างมีจริยธรรม ?

“ทำไมเราต้องปฏิบัติต่อก้อนหินอย่างมีจริยธรรม?” บางคนอาจคิดว่าคำถามนี้ดูคลับคล้ายคลับคลาว่าจะมีคำตอบ เหมือนจะรู้คำตอบ แต่ไม่รู้ว่าจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดอย่างไร ส่วนบางคนอาจหาคำตอบไม่ได้ เพราะคุ้นเคยว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของการปฏิบัติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรืออย่างดีที่สุดก็มนุษย์กับสัตว์ (?)

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save