Interview

บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์ผู้พิการกับการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

เรื่อง: ชนิสรา หน่ายมี

ภาพ: บุญรอด อารีย์วงษ์

บุญรอด อารีย์วงษ์ ยูทูบเบอร์แนวไลฟ์สไตล์ชื่อดัง ช่อง poocao channel ที่มีคนติดตามนับแสน จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ชายหนุ่มผู้พิการทางการเคลื่อนไหวตั้งแต่เด็กเนื่องจากเป็นมะเร็งตับตั้งแต่อายุ 3 เดือน ทำให้ต้องนอนรักษาตัวเป็นเวลา 1 ปี ส่งผลให้กล้ามเนื้อยึดทั้งร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาด้านการเดิน การพูด และการเขียน เขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ใครผ่านเข้ามาชม จะต้องชอบในความตลก สนุกสนาน และความเป็นธรรมชาติของเขา 

หนุ่มผู้นี้มีแววตาสดใส ใจดี มีเสียงหัวเราะและรอยยิ้มตลอดระยะเวลาการให้สัมภาษณ์เกือบหนึ่งชั่วโมงเต็ม เราได้พูดคุยกับเขา ซึ่งเรียกแทนตัวเองว่าพี่ในการสัมภาษณ์ เขามีความสนุกสนานและเป็นกันเอง ปัจจุบันเป็นคนที่มีหน้าที่การงานที่มั่นคง ทำงานหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำอยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดร้านคาเฟ่ รวมถึงการเป็นยูทูบเบอร์ ถ่ายโฆษณาและกำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อไม่นานมานี้เขาได้เป็นตัวแทนไปถ่ายวิดีโอโปรโมตหรือ VTR เปิดตัวพาราลิมปิกเกมส์ 2021 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เราเห็นถึงความสามารถที่หลากหลายของเขา

วันนี้วารสารเพรสจึงอยากชวนคุณบุญรอดมาพูดคุยเกี่ยวกับมุมมองการใช้ชีวิตและมุมมองเกี่ยวกับทัศนคติที่ผู้พิการและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกเหมารวม (stereotype) ในสังคม

การใช้ชีวิตในแบบบุญรอด

ความไม่แข็งแรงนี้มีอุปสรรคต่อการเรียนหนังสือบ้างไหม

ความจริงก็แอบยาก เพราะพี่เขียนหนังสือไม่ค่อยได้ ต้องใช้การพิมพ์แทนการเขียน ต้องใช้การอัดเสียงและกลับมาพิมพ์ หรือไม่ก็ยืมเลกเชอร์เพื่อนมาดูบ้าง

พี่บุญรอดทำงานอะไรบ้าง

ตอนนี้ทำงานประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นนักประชาสัมพันธ์ของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ทำงานในส่วนประชาสัมพันธ์ การตลาด และงานรับเข้านักศึกษา เป็นภาคอินเตอร์ทำให้ต้องใช้ภาษาอังกฤษด้วย แต่ภาษาอังกฤษพี่ไม่ได้แข็งแรงมาก ส่วนยูทูบเบอร์และร้านกาแฟเป็นอาชีพเสริม ร้านชื่อ ‘ปั้นหยา คาเฟ่’ ขายกาแฟและอาหารจานเดียว อยู่ในซอยเพชรเกษม 68

การใช้ชีวิตในแบบฉบับพี่บุญรอดเป็นอย่างไร

พี่เป็นคนชอบเข้าสังคม ชอบไปหาเพื่อน ชอบออกไปเที่ยว พี่จะไม่ค่อยชอบอยู่บ้านคนเดียว ชอบมีกิจกรรมทำ ชอบออกไปข้างนอกบ้านและจะมีแพลนออกไปข้างนอกบ้าน ไปหาสังคมใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ 

สิ่งที่พี่บุญรอดภูมิใจมากที่สุดในชีวิตคืออะไร 

(ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม)  เป็นสิ่งที่ตอบยากมากเลย เพราะมีโมเมนต์ภูมิใจมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่เกิดมา เรียนจบมัธยมศึกษา สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ เรียนจบมหาวิทยาลัย บวชให้พ่อแม่ หางานที่ดีได้ มันก็มีความภูมิใจมาเรื่อย ๆ ไม่มีเรื่องไหนที่ภูมิใจมากที่สุด เพราะภูมิใจในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ 

จุดเริ่มต้นของการเป็น YouTuber ช่อง poocao channel 

จุดเริ่มต้นของการเป็น YouTuber ช่อง poocao channel ที่มีคนตามนับแสน มีที่มาอย่างไร 

พี่ทำกับเพื่อนครับ เป็นรุ่นน้องที่คณะวารสารศาสตร์ฯ นี่แหละ ชื่อภูเขา (คุณพิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ) ตอนแรกภูเขาทำก่อนแล้วชวนพี่ คลิปแรกแค่ตั้งกล้องถ่ายตอนกินส้มตำและคุยกัน คนก็ชอบแล้วก็กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงหรือไวรัล คอนเทนต์ส่วนใหญ่เป็นไลฟ์สไตล์ของพี่กับภูเขามากกว่า ไปเที่ยว ไปกิน แต่งหน้า แต่ถามว่าชอบคลิป ep. ไหนมากสุด พี่ชอบคลิป ep.2 มากที่สุด ที่ภูเขาไปบ้านพี่แล้วไปนั่งแต่งหน้า และเป็นคลิปแรกที่ไวรัลมากและคนก็จำเราได้จากคลิปนั้นเยอะมาก เป็นคลิปพูดคุยกับภูเขา มีการเล่นมุกตลกและรีวิวเครื่องสำอาง

คอนเทนต์แต่ละอาทิตย์ของช่อง poocao channel มีวิธีคิดอย่างไร

ส่วนใหญ่เวลาคิดเรากับภูเขาช่วยกันระดมสมอง จะแบ่งเป็น 2 อย่าง ถ้ามีสปอนเซอร์ เราก็จะไปคิดคีย์เวิร์ดมา ว่าเราจะคิดคอนเทนต์ยังไงให้เข้ากับสินค้าของเขา ถ้าคลิปที่ไม่มีสปอนเซอร์ คิดอะไรทำเลย ไลฟ์สไตล์เราเต็มที่ แต่คลิปส่วนใหญ่จะมีสปอนเซอร์ 80 เปอร์เซ็นต์ครับ

ถ่าย VTR เปิดตัว พาราลิมปิกเกมส์ 2021

การถ่าย VTR เปิดตัวพาราลิมปิกเกมส์ที่ประเทศญี่ปุ่น มีความเป็นมาอย่างไร

เริ่มต้นจากมีคนทักมาหาพี่ว่า ‘สวัสดีค่ะ พอดีเอเจนซีที่แคสต์โฆษณาถ่าย VTR พาราลิมปิกเกมส์ อยากให้น้องมาแคสต์โฆษณา น้องสนใจไหมคะ’ สนใจครับ พี่ก็ตอบตกลงอย่างไม่คิดเลย แต่เขามีแคนดิเดตนะ สรุปพี่ก็ได้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้ร่วมงานกับคนต่างประเทศ โปรดักชันก็ของต่างประเทศหมดเลย และเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทน 1 ใน 3 ของประเทศไทย ซึ่งเขาก็จะเลือกผู้พิการที่มีคาแรกเตอร์ตรงกับบทที่เขาเขียน เขาจะคัดเลือกผู้พิการจากทั่วทุกมุมโลก ใน VTR เรารับบทเป็นนักธุรกิจที่รวยมาก จะมีคนมาจอดรับอยู่หน้าตึกแล้วกำลังจะขึ้นรถ ถึงจะออกแค่ 3 วินาที แต่ถือว่าเป็นวินาทีที่เราภูมิใจ

มุมมองของบุญรอดต่อผู้พิการที่ถูก stereotype ในสังคม

 ทุกวันนี้ในสังคมมีมุมมองต่อผู้พิการอย่างไร

เรามองว่าปัจจุบันสังคมเปิดรับคนพิการมากขึ้น แต่จะมีคนบางส่วนยังคงเชื่อว่าคนพิการดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วยเหลือตลอดเวลา ซึ่งสังคมส่วนใหญ่ก็ยังมองแบบนั้นอยู่ น้อยคนที่เปิดใจรับคนพิการ ซึ่งก็แย่ลงไปอีก คนพิการในกรุงเทพฯ กับคนพิการต่างจังหวัดแตกต่างกัน คนพิการในต่างจังหวัดไม่มีโอกาสออกจากบ้านเลย เพราะคิดว่าเป็นภาระสังคม แต่คนพิการในกรุงเทพฯ จะมีโอกาสได้ออกมาข้างนอกมากกว่า อาจเป็นเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วย 

ทำไมครอบครัวของผู้พิการถึงไม่ให้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกบ้าน

ครอบครัวบางครอบครัวเขาอาจมองว่า ถ้าคนพิการออกมาข้างนอกจะเป็นภาระของสังคม ส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยให้ออกมา เขาเลยต้องเก็บตัวในบ้าน ทำให้คนพิการส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือและอีกส่วนหนึ่งพี่คิดว่าสื่อมีส่วนปลูกฝังให้ครอบครัวและคนพิการคิดแบบนั้น เช่น ดูจากในละคร จะนำเสนอให้เห็นว่าคนพิการออกไปข้างนอกแล้วเป็นภาระสังคม อย่าออกไปเลย ซึ่งถ้าคนพิการเสพสื่อเขาก็จะจำว่าการออกไปข้างนอกจะทำให้ตัวเองเป็นภาระของสังคม ซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นนั้น เราก็ดูแลตัวเองได้

ครอบครัวต้องมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันผู้พิการไหม

ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังคนพิการ และคนพิการในต่างจังหวัดอาจไม่รู้ก็ได้ว่าคนพิการเรียนฟรี เลยไม่ได้ออกไปเรียน อาจจะกลัวไปเป็นภาระของโรงเรียนหรือไม่มีกำลังในการจ่าย พอไม่ได้เรียน โตไปอาชีพที่ทำได้ คือขายลอตเตอรี่ หรือไปเป็นขอทาน เพราะว่านโยบายภาครัฐก็ไม่ได้เข้มแข็ง ไม่ได้สื่อให้คนพิการและครอบครัวเข้าใจว่า คนพิการเรียนฟรีนะ อย่างเราถ้าไม่ไปหาข้อมูลเราก็จะไม่มีความรู้ คนพิการส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสทำงานดี ๆ เลย ยังมีการกีดกันและสร้างกรอบให้คนพิการ

ทำไมคนพิการถึงไม่ได้ทำงาน

การไม่เรียนคือจุดเริ่มต้นของปัญหาทุกอย่าง เพราะไม่มีองค์ความรู้ในการทำงาน ปากก็บอกว่ายอมรับ แต่ก็ยังตั้งแง่ สร้างกรอบให้กับคนพิการอยู่ดี จริง ๆ แล้วพี่แอบมองว่าความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงาน คนพิการก็เหมือนคนไม่สบายคนหนึ่ง คนทั่วไปทำงานไม่ได้ก็มี ไม่ได้หมายความว่าเราพิการแล้วทำงานไม่ได้ แค่อาจจะมีบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น อาจมีบางอย่างที่เขาทำไม่ได้ แค่ล้มเลิกความคิดว่าคนพิการทำไม่ได้หรอก เพราะจริง ๆ เราทำได้ แต่คนที่คิดเขาก็อาจจะดูในสื่อมา แล้วเขาก็มาตัดสินว่าคนพิการทำงานไม่ได้ ถ้าเขาได้สัมผัสกับคนพิการ เขาก็รู้ว่าคนพิการทำงานได้ ช่วยเหลือตัวเองได้

ทำอย่างไรคนในสังคมถึงจะเข้าใจผู้พิการมากขึ้น

พี่ว่าต้องแก้ไขที่สื่อกับนโยบายภาครัฐ ถ้านโยบายกำหนดมาไม่ดีมันก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรอก พี่รู้สึกว่าการที่ภาครัฐออกสวัสดิการมาแต่ละอย่าง ไม่ได้สื่อสารให้คนพิการรับรู้ อย่างพี่เพิ่งทำบัตรผู้พิการตอนอายุ 18 ปี ตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว พี่เพิ่งรู้ว่าเรียนฟรี ขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ซื้อตั๋วเครื่องบินลดราคา 50 เปอร์เซ็นต์ ของการบินไทย  

(หมายเหตุ นโยบายที่ไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น รัฐออกนโยบายให้ผู้พิการขึ้นรถไฟฟ้า bts ฟรี แต่ทางลาดแคบจนไม่สามารถขึ้นได้ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวก็ไม่สามารถขึ้นได้)

‘โอกาส’ สำคัญสำหรับคนพิการไหม

มองว่าโอกาสสำคัญสำหรับทุกคนทั้งคนปกติและผู้พิการ เพราะโอกาสต่อยอดหลายสิ่งหลายอย่างได้ แต่คนพิการได้โอกาสน้อยกว่าคนปกติค่อนข้างมาก เลยทำให้คนพิการอยากได้โอกาสจากสังคมเพิ่มมากขึ้น ก็เลยมีค่าสำหรับเขา

มุมมองของบุญรอดต่อ LGBTQ+ ที่ถูก stereotype ในสังคม

ทุกวันนี้ในสังคมมีมุมมองที่ stereotype ต่อ LGBTQ+ อย่างไร

เวลาสังคมมอง LGBTQ+ เขาจะมองว่าคนที่เป็น LGBTQ+ ต้องเก่งกว่า ต้องรวยกว่า ต้องฉลาดกว่าคนทั่วไป แต่แอบมองว่าคนทุกคนมีสิทธิ์ไม่เก่ง มีสิทธิ์จนเหมือนคนทั่วไป อย่าบีบคั้นว่าเขาต้องเก่ง ทำไมเพศทางเลือกต้องเป็นคนที่เก่งกว่า ทำไมถึงเป็นคนปกติไม่ได้ อาจจะแบบต้องเป็นตลก ซึ่งอาจไม่ต้องตลกก็ได้ ภาพที่คนส่วนใหญ่มองก็เกิดจากที่สื่อปลูกฝัง

เริ่มรู้ใจตัวเองต้องแต่ตอนไหน

ตั้งแต่ ป.5 ป.6 มีญาติที่โตมาด้วยกันเป็นเพศทางเลือกเหมือนกัน เล่นกันมาตั้งแต่เด็ก เลยสนิทกัน ก็เลยเริ่มรู้ตัว

เริ่มแต่งหญิงครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไหร่

แต่งหญิงตอนปี 1 งานเฟรชชี่เกมส์ ไม่ได้แต่งทุกวัน จะแต่งเมื่อมีโอกาสหรือเวลามีงาน การแต่งหญิงเหมือนเป็นการระบายความเครียดให้พี่มีความสุขมากขึ้น แต่งแค่บางโอกาส

ในมุมมองของพี่บุญรอด LGBTQ+ ถูกยอมรับมากขึ้นในสังคมหรือยัง 

gen baby boomer ยังไม่เปิดรับขนาดนั้น แต่ gen x gen y เปิดรับ LGBTQ+ มากขึ้น มีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้เปิดรับ ยังมีการเหยียด ยังมีการบูลลี่อยู่ บางคนยังต้องปิดเพราะที่ทำงานยังไม่ยอมรับ ครอบครัวยังไม่ยอมรับ มันก็เป็นความเหลื่อมล้ำ ทำให้เราต้องใช้ชีวิตลำบาก ต้องระวังตัวในการพูด ไม่ทำให้กระทบกระทั่ง กัน แต่โชคดีที่พี่อยู่ในสังคมที่ยอมรับ เลยไม่โดนบูลลี่ แต่ถ้าไปอยู่ในสังคมที่เขาบูลลี่ก็อาจใช้ชีวิตลำบากขึ้น

ในฐานะที่เป็นคนพิการและ LGBTQ+ เหมือนถูกกดทับสองต่อไหม

เหมือนโดนสองต่อ มันก็มีความซับซ้อนในการใช้ชีวิต แต่พี่ไม่แคร์ว่าใครมองว่ายังไง แค่พี่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขก็พอแล้ว ใครจะด่าจะว่ายังไงพี่ไม่แคร์เลยเพราะมันคือตัวพี่ พี่มีสิทธิ์ใช้ชีวิตของพี่แบบนี้

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้พิการ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้พิการในด้านใดบ้าง

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่แรกที่เปิดรับนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยทำเต็มที่ในการสนับสนุนนักศึกษาทุกคน เพราะเราก็มีศูนย์นักศึกษาพิการคอยสนับสนุน ในส่วนของการเป็นพนักงาน พี่ก็ได้รับการดูแล หลายบริษัทจะไม่รับคนพิการทำงาน แต่ธรรมศาสตร์เปิดรับคนพิการเหมือนคนทั่วไป สวัสดิการเหมือนคนทั่วไป ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป มีการสอบข้อเขียนสอบสัมภาษณ์เหมือนกัน ซึ่งเป็นนโยบายมหาวิทยาลัยที่เปิดรับคนพิการ พี่รู้สึกว่าอุ่นใจที่ได้เรียนธรรมศาสตร์ อาจารย์ซัปพอร์ตเราในการเรียน เพื่อนซัปพอร์ต ตอนทำงาน พี่ที่ทำงานก็ซัปพอร์ต แต่เราพัฒนาตัวเองด้วย ไม่ใช่ว่าเห็นตัวเองพิการแล้วไม่ตั้งใจทำงาน เราต้องทำให้เขาเห็นว่า เราทำงานได้นะ

ถ้าหากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้าถึงได้ แล้วที่อื่น ๆ ในประเทศไทยทำให้ผู้พิการเข้าถึงได้ไหม

การทำให้เข้าถึงพี่ว่าทำได้นะ ทำได้ดีด้วย อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้โอกาสทำอะไรหลายอย่าง ทุก ๆ ที่ควรมีศูนย์นักศึกษาพิการที่คอยซัปพอร์ต ถึงแม้ว่าอาจจะยากเพราะคนพิการแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรืออาจจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ถ้าลองเปิดใจก็ทำได้

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
19
Love รักเลย
23
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Interview

Interview

เจ-มังสวิรัติ-วีแกน: 3 วิถีต่างรสชาติที่ไม่มี ‘เนื้อ’ เป็นส่วนประกอบ

เรื่องและภาพ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์ เทศกาลกินเจมาถึงทั้งที ต้องได้กิน…..อยู่ร่ำไป พอจะเดาออกกันมั้ยคะว่าหมายถึง “ผัดหมี่” หรือ “ผัดหมี่ซั่วเจ (斋炒米线; Zhāi chǎo mǐ xiàn)” เมนู signature ประจำเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อคนไทยเชื้อสายจีนผู้ไม่กิน ‘เนื้อ’ โดยเฉพาะ อันประกอบไปด้วยเส้นหมี่ซั่วสีเหลืองที่ผัดเข้ากับเต้าหู้ กะหล่ำปลี แครอท และเห็ดหอม ...

Writings

คุยกับ ณัชพล การวิวัฒน์ : ชีวิตการเรียน โอกาส และความฝันของนักศึกษาพิการผู้รักในคอมพิวเตอร์

เรื่องและภาพ : ปาณิสรา ช้างพลาย คนพิการหลายคนมีความฝัน ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี การถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากคนในสังคม การได้เรียนในสิ่งที่ชอบ ไปจนถึงการมีอาชีพรองรับในอนาคต ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงฝันนั้นได้ ด้วยระบบโครงสร้าง หรือนโยบายทางสังคมที่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับคนพิการได้ไม่เต็มที่ หรือครอบคลุมมากพอ บวกกับทัศนะคติของคนในสังคมบางส่วนที่พร้อมจะปิดประตูความฝันตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม ด้วยแนวคิดที่ว่า ...

Writings

Rape Issue(s) : ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกในกระบวนการ ‘ข่มขืนซ้ำ’ ผู้เสียหาย

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐกมล สิทธิวงศ์ เวลาเกิดปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศในสังคม บทบาท หน้าที่ หรือภาระความรับผิดชอบจะตกอยู่ที่ผู้เสียหายเป็นส่วนใหญ่ เพราะต้องเป็นฝ่ายตามตัวผู้กระทำความผิดเอง ต้องไปแจ้งพนักงาน ดำเนินเรื่องทุกอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวเองถูกข่มขืนจริงๆ นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศหญิงชายก้าวไกล ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ...

Interview

‘จินนี่’ หมอดูเจนซี กับบทบาทผู้เยียวยาบาดแผลทางใจ ที่อยากมอบวันที่สดใสให้กับเพื่อนทุกคน

เรื่อง : ณัฐกมล สิทธิวงศ์ ภาพประกอบ : ปาณิสรา ช้างพลาย “ตอนนี้จินนี่อายุ 21 ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นข้อจำกัดอะไรในการทำอาชีพนี้ หมอดูบางท่านถึงจะอาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์ชีวิต หรือผ่านโลกมาเยอะกว่าเรามากก็จริง แต่เขาก็ไม่ได้เห็นโลกทุกมุมหรอก” คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะได้ยินประโยคมั่น ๆ ...

Interview

ในวันที่ สงกรานต์-รังสรรค์ เป็นมากกว่าศิลปิน

สัมภาษณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2563 “หนักใจ จะรักษามาตรฐานตรงนี้เอาไว้ได้อย่างไร” นั่นคือคำที่ สงกรานต์–รังสรรค์ ปัญญาเรือง ตอบ เมื่อถามถึงความรู้สึกจากการเป็นเจ้าของเพลงไทยเพลงที่ 3 ที่มียอดวิวบนยูทูบถึง 100 ล้านวิว จากเมื่อ 8 ...

Writings

ธรรมชาติ วัฒนธรรม อุตสาหกรรม กับ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

สามทศวรรษ คือช่วงเวลาที่ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ หรือ ‘หม่อมเชน’ ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในโลกแห่งการถ่ายภาพสารคดีสิ่งมีชีวิตในป่า เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม สามทศวรรษ คือช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานกับสื่อ และคนทำงานด้านสื่อในหลายเจเนอเรชัน ไล่มาตั้งแต่การเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารดิฉัน มติชนสุดสัปดาห์ และล่าสุด ร่วมงานกับเดอะคลาวด์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save